"...ข้อสอง นอกจากใช้อำนาจตามกฎหมายแล้วนักการเมืองยังทำเรื่องอื่นอีกมากโดยใช้อิทธิพลและเครือข่ายจากตำแหน่งหน้าที่ของตน ดังนั้นหากผู้ใดไร้ความรับผิดชอบย่อมสร้างหายนะให้กับบ้านเมืองได้ตลอดเวลา และด้วยเครือข่ายโยงใยของนักการเมืองทำให้พวกเขาสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงกลไกทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองได้อย่างมีนัยยะ..."
คอร์รัปชันทางการเมือง เป็นคอร์รัปชันที่เลวร้ายที่สุดของประเทศไทยขณะนี้[1] เพราะโกงกันเป็นเครือข่าย ใช้ทั้งอำนาจรัฐและอิทธิพล ทำให้เกิดความเสียหายวงกว้างและเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดคอร์รัปชันอื่นตามมาอีกมาก[2]
อธิบายเพิ่มเติมได้ดังนี้
ข้อแรก นักการเมืองในรัฐสภามีอำนาจหน้าที่สำคัญ 4 ประการ
1. กำหนดนโยบายของรัฐผ่านการออกกฎหมายและให้ความเห็นชอบนโยบายของรัฐบาล
2. กำหนดงบประมาณในการบริหารและการลงทุนของประเทศ
3. แต่งตั้งเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงคือนายกรัฐมนตรีและให้การรับรองเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรสำคัญของรัฐ
4. ใช้อำนาจของสภาฯ กมธ. และตัว ส.ส. เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐหรือปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีและหน่วยงานต่างๆ
ข้อสอง นอกจากใช้อำนาจตามกฎหมายแล้วนักการเมืองยังทำเรื่องอื่นอีกมากโดยใช้อิทธิพลและเครือข่ายจากตำแหน่งหน้าที่ของตน ดังนั้นหากผู้ใดไร้ความรับผิดชอบย่อมสร้างหายนะให้กับบ้านเมืองได้ตลอดเวลา และด้วยเครือข่ายโยงใยของนักการเมืองทำให้พวกเขาสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงกลไกทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองได้อย่างมีนัยยะ
ข้อสาม ข้าราชการมักถูกจูงใจให้ร่วมมือกับนักการเมืองเพื่อความก้าวหน้า มั่นคงในตำแหน่งหน้าที่หรือเพื่อรายได้ที่ดีกว่า การได้รับความร่วมมือจากข้าราชการมีความจำเป็นมากเพราะสามารถเข้าถึงข้อมูลของรัฐได้ง่าย มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายที่นักการเมืองต้องการแต่ตัวเองทำไม่ได้ แถมยังช่วยปกปิดข้อมูลความผิดให้ได้[3]
ด้วยอำนาจทั้ง 4 ประการที่กล่าวข้างต้นบวกด้วยอิทธิพลของนักการเมืองกับความร่วมมือของข้าราชการและเครือข่ายผลประโยชน์อื่น การคอร์รัปชันแต่ละครั้งจึงสร้างความเสียหายต่อบ้านเมืองอย่างรุนแรงและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง
สำหรับส่วนแบ่งผลประโยชน์ระหว่างนักการเมือง - ข้าราชการเป็นอย่างไร ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนแต่เชื่อว่า หากได้ส่วนแบ่งข้าราชการจะได้เพียง 5% – 10% [4] ขณะที่ส่วนแบ่งระหว่างพรรคการเมืองกับนักการเมืองเป็นเรื่องของการต่อรองเช่น พรรคได้ 20% นักการเมืองได้ 5% เป็นต้น
ข้อมูลจากรายงานดัชนีคอร์รัปชันไทย 2564 [5] ชี้ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดคอร์รัปชัน 3 อันดับแรกคือ ความไม่เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย กฎหมายเปิดช่องให้ใช้ดุลพินิจที่เอื้อต่อการทุจริต และกระบวนการทางการเมืองขาดความโปร่งใส ตรวจสอบยาก ส่วนรูปแบบที่ทำกันมากสุดคือ การให้สินบน ของขวัญหรือรางวัลต่างๆ (Bribe) สอดคล้องกับผลการสำรวจ Corruption Barometer 2020[6] ที่ชี้ว่า ในปีที่ผ่านมาสถานการณ์คอร์รัปชันของไทยแย่ที่สุดในอาเซียนโดยคนไทย 55% เห็นว่ามีคอร์รัปชันเพิ่มมากขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา
บทสรุป..
คอร์รัปชันทางการเมือง เกิดจากกลุ่ม “ธนกิจการเมือง” ซึ่งเป็นเครือข่ายที่เจตนาทุ่มเทเงินทองเพื่อให้พวกของตนมีตำแหน่งทางการเมืองและวงราชการแล้วใช้อำนาจนั้นไปกอบโกยสร้างความร่ำรวยเพิ่มขึ้น เมื่อถึงจุดหนึ่งอำนาจที่มีและเงินที่ปล้นชาติมาจะถูกใช้เป็นเครื่องมือคดโกงและขยายอิทธิพลทางการเมืองต่อไป
ในทางปฏิบัติการตรวจสอบนักการเมืองที่ฉ้อฉลมักทำได้ยาก จากอุปสรรคสำคัญคือการปิดบังข้อมูลมิให้มีการตรวจสอบและการใช้อิทธิพลแทรกแซงบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระฯ ดังนั้นวิธีการป้องกันที่เป็นไปได้และต้องเร่งทำ ได้แก่
แนวทางแรก สร้างเครื่องมือ (Platform) ที่ใช้เทคโนโลยี่สื่อสารทางอินเตอร์เน็ตให้ประชาชนและข้าราชการสามารถรับรู้ข้อมูลของหน่วยงานรัฐ เพื่อตรวจสอบและร้องเรียนเมื่อพบเห็นสิ่งผิดปรกติได้อย่างเสรี แนวทางนี้ยังช่วยกระตุ้นสื่อมวลชนและสังคมให้คอยจับตาด่าประนามเรื่องไม่ชอบมาพากล หรือส่งเสียงสนับสนุนเรื่องที่ดีมีคุณค่าให้เป็นบันทัดฐานสังคมหรือที่เรียกว่า “โซเชี่ยลแซงชัน”
แนวทางที่สอง สร้างกติกาที่ชัดเจนว่าการกระทำใดเป็นความผิดโดยออก พ.ร.บ. การขัดกันแห่งผลประโยชน์ฯ ปฏิบัติจริงจังเรื่องการเปิดเผยข้อมูล และจัดให้มีเปิดเผยการประเมินความคุ้มค่าของการลงทุนหรือการประกาศนโยบายสาธารณะ เป็นต้น
แนวทางที่สาม ผลักดันให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลที่เข้มแข็งขององค์กรอิสระฯ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน
ดร.มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
อ้างอิงจาก :
[1] รศ.ดร. สังศิต พิริยะรังสรรค์ และ “Combating Corruption: Implication of the G20 Action plan for the Asia-Pacific region” P.136-137 Norman Abjorensen, Konrad Adenaur Stiftung, Dec.2014 (2557)
[2] ผู้เขียนเห็นว่าบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในรัฐบาล ตำแหน่งและใช้อำนาจทางการเมืองทุกยุคสมัยล้วนเป็นนักการเมืองทั้งสิ้น
[3] ธุรกิจ รัฐและคอร์รัปชัน ผาสุก พงษ์ไพจิตรและคณะ, พฤษภาคม 2545, น.2-7
[4] ธุรกิจ รัฐและคอร์รัปชัน ผาสุก พงษ์ไพจิตรและคณะ, พฤษภาคม 2545, น.2-23
[5] รายงานการสำรวจดัชนีคอร์รัปชันไทย, กุมภาพันธ์ 2564 โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
[6] เป็นการสำรวจความเห็นของคนไทย จัดทำปีเว้นปี โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI)