จากการศึกษาของ University College London (UCL) พบว่าสมองส่วนสีเทา(Grey matter) ในสมองของคนขับรถแท็กซี่มีการเพิ่มขึ้นและมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้คนขับรถแท็กซี่เก็บรายละเอียดแผนที่ของเมืองได้มากขึ้น การทดสอบโดยการสแกนสมองคนขับแท็กซี่ด้วยเครื่อง MRI (Magnetic Resonance Imaging) พบว่า ฮิปโปเคมัสของคนขับรถแท็กซี่เหล่านั้นมีขนาดใหญ่กว่าฮิปโปเคมัสของคนทั่วๆไปและยังพบว่ายิ่งคนขับรถแท็กซี่ใช้เวลากับงานของตัวเองมากขึ้นเท่าใด
เทคโนโลยีคือสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์ตลอดมานับตั้งแต่มนุษย์กำเนิดขึ้นในโลก หากมนุษย์ไร้ซึ่งเทคโนโลยี มนุษย์คงไม่สามารถดำรงเผ่าพันธุ์ได้ยืนยาวและต่อยอดเทคโนโลยีต่างๆมาจนถึงทุกวันนี้ ด้วยความที่เทคโนโลยีสร้างประโยชน์มากมายมหาศาลแก่มวลมนุษย์ ทำให้มนุษย์มองเทคโนโลยีในแง่ดีเสมอ มนุษย์จึงมักให้ความเชื่อถือ ไว้ใจ และฝากความหวังไว้กับเทคโนโลยีอย่างสนิทใจ จนทำให้คนจำนวนไม่น้อยตกอยู่ในวงจรความเชื่อว่าเทคโนโลยีสามารถแก้ปัญหาของโลกได้ทุกปัญหา (Technological solutionism) โดยลืมคิดไปว่าเทคโนโลยีทุกชนิดมีข้อจำกัดและต้องการสัญชาตญาณของมนุษย์ในการตัดสินใจในบางกรณี อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่เคยกล่าวประโยคทองที่ตักเตือนถึงการใช้เทคโนโลยีของมนุษย์ที่ยังคงเป็นความจริงมาจนถึงทุกวันนี้ว่า "จิตวิญญาณของมนุษย์จะต้องอยู่เหนือเทคโนโลยีเสมอ"
แผนที่คือสิ่งประดิษฐ์ที่ทำให้มนุษย์เห็นโลกได้กว้างขึ้น ทำให้มนุษย์ย่นระยะการเดินทางไปยังจุดหมายและแผนที่ยังสะท้อนถึงความผูกพันระหว่างมนุษย์กับโลกอีกด้วย วิวัฒนาการของแผนที่ตลอดนับพันๆปีที่ผ่านมาจากแผนที่รุ่นเก่าจนมาถึงยุคของแผนที่ที่สามารถตอบสนองต่อการค้นหาเส้นทางของมนุษย์แบบ เรียลไทม์ (Real time) ทำให้แผนที่นำทางกลายเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการเดินทางที่คนขับรถเกือบทุกคนต้องพึ่งพาอาศัย
แผนที่นำทางอัตโนมัติได้นำพายวดยานมากมายเข้าไปยังชุมชนที่เมื่อก่อนไม่มีใครเคยรู้จัก ในขณะเดียวกันก็ทำลายวิถีชีวิตอันสงบสุขของผู้คนในชุมชนบางแห่งและสิ่งที่ตามมาคืออุบัติเหตุทางถนน จนทำให้ ชีวิตของผู้คนในบางชุมชนเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อแผนที่นำทางถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในการเดินทาง
ก่อนที่มนุษย์จะมีเครื่องนำทางด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำยุค มนุษย์ได้ใช้ความสามารถของตัวเองในการเคลื่อนที่ภายใต้สภาวะแวดล้อมในแต่ละสภาวะและใช้ศักยภาพของสมองบางส่วนในการค้นหาทิศทางอยู่ตลอดเวลา ความสามารถในการรู้จักตำแหน่งแห่งหนของตัวเองและความสามารถในการหาทิศทางของมนุษย์ ที่เรียกว่า Spatial orientation จึงมีความจำเป็นเมื่อมนุษย์ต้องการค้นหาเส้นทางในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย ทักษะเหล่านี้มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง หากมนุษย์ไร้ซึ่งทักษะประเภทนี้มนุษย์คงเดินวนอยู่รอบตัวเองอย่างไม่รู้จบและไม่สามารถเคลื่อนที่ไปยังจุดหมายที่ต้องการได้
ในสมองของมนุษย์มีพื้นที่พิเศษอยู่พื้นที่หนึ่งซึ่งเป็นส่วนที่มนุษย์ใช้ในการนำทางในสภาพแวดล้อมต่างๆ พื้นที่ส่วนนี้เรียกว่า ฮิปโป แคมปัส(Hippocampus) หรือที่รู้จักกันว่าเป็นเครื่องอ่านแผนที่ของสมอง( Map reader of the brain) ฮิปโปแคมปัส ช่วยให้มนุษย์รู้ตัวเองว่าขณะนั้นตัวเองอยู่ที่ไหน มายืนอยู่ในที่แห่งนั้นได้อย่างไรและรู้ว่าจะหาเส้นทางไปยังจุดหมายต่อไปได้อย่างไร การอ่านแผนที่และการใช้ทักษะในการนำทางของมนุษย์จึงเป็นการใช้ความสามารถในทางที่เป็นคุณต่อมนุษย์เสมอมา
จากการศึกษาของ University College London (UCL) พบว่าสมองส่วนสีเทา(Grey matter) ในสมองของคนขับรถแท็กซี่มีการเพิ่มขึ้นและมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้คนขับรถแท็กซี่เก็บรายละเอียดแผนที่ของเมืองได้มากขึ้น การทดสอบโดยการสแกนสมองคนขับแท็กซี่ด้วยเครื่อง MRI (Magnetic Resonance Imaging) พบว่า ฮิปโปเคมัสของคนขับรถแท็กซี่เหล่านั้นมีขนาดใหญ่กว่าฮิปโปเคมัสของคนทั่วๆไปและยังพบว่ายิ่งคนขับรถแท็กซี่ใช้เวลากับงานของตัวเองมากขึ้นเท่าใด ฮิปโปเคมัสในสมองจะมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเพื่อให้รองรับต่อประสบการณ์ในการหาทิศทางที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งคนขับรถแท็กซี่ที่มีประสบการณ์มากกว่า 40 ปีจะมีพัฒนาการของฮิปโปเคมัสมากกว่าแท็กซี่มือใหม่อย่างเห็นได้ชัด เท่ากับว่าประสบการณ์ในการเคลื่อนที่และการหาทิศทางของมนุษย์มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับสมองของมนุษย์
ผลการศึกษาดังกล่าวสอดคล้องกับการวิจัยของมหาวิทยาลัย McGill ในแคนาดา ซึ่งทดลองหาผลกระทบจากการใช้ GPS ที่มีต่อสมองมนุษย์โดยการใช้เครื่องfMRI(functioning Magnetic Resonance Imaging) ทำการสแกนสมองมนุษย์ การทดลองพบว่าการใช้ทักษะการหาเส้นทางด้วยตนเองของมนุษย์จะทำให้เกิดการเพิ่มกิจกรรมของฮิปโปเคมัสในสมองมากยิ่งขึ้นและมีพื้นที่ของสมองสีเทาเพิ่มขึ้นด้วย ในทางกลับกันพบว่าผู้ที่ใช้ GPS เพื่อการนำทางมากจนเกินไปอาจนำไปสู่ภาวะที่ทำให้ฮิปโปเคมัสฝ่อลง(atrophy in the hippocampus) เมื่อมีอายุมากขึ้นและอาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการรับรู้ในภายหลังได้และหนึ่งในปัญหานี้คือโรคอัลไซเมอร์ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้เมื่อมนุษย์ย่างเข้าสู่ภาวะสูงวัย
ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการใช้ทักษะในการค้นหาเส้นทางและการจินตนาการแผนที่จากประสบการณ์และการรับรู้ของมนุษย์อาจจะส่งผลดีต่อสมองของมนุษย์มากกว่าการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยี เช่น GPS เพื่อการนำทาง อย่างไรก็ตามเมื่อเทคโนโลยีแผนที่นำทางอัตโนมัติเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ เราจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มนุษย์กำลังลดกิจกรรมการใช้ทักษะการหาทิศทางของตัวเองลงและพึ่งพาเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้นและมีความเป็นไปได้ว่ามนุษย์กำลังสูญเสียความสามารถในการนำทางและการรู้จักสภาพแวดล้อมรอบตัวไปทีละน้อยโดยไม่รู้ตัว
การใช้แผนที่นำทางอัตโนมัติจึงเป็นเหมือนดาบสองคมที่มนุษย์ต้องเลือกระหว่างความสะดวกสบายกับการสูญเสียความสามารถที่ธรรมชาติมอบให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ตัวเองไม่คุ้นเคย รวมทั้งในระยะยาวอาจนำไปสู่โรคเกี่ยวกับการสูญเสียความสามารถในการรับรู้และการสูญเสียความทรงจำได้ มนุษย์จึงควรฝึกทักษะการรู้จักตำแหน่งที่ตนเองอยู่และใช้ความสามารถในการหาทิศทางโดยไม่ใช้ตัวช่วยอยู่เสมอเพื่อไม่ให้ตนเองสูญเสียความสามารถที่ธรรมชาติมอบให้อย่างถาวร
การใช้แผนที่นำทางอาจไม่ตอบโจทย์ในการค้นหาเส้นทางของมนุษย์เสมอไปเพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่หลงทางจากการใช้ระบบนำทางอัตโนมัตินำทางจนทำให้ครั้งหนึ่งตำรวจในสกอตแลนด์แนะนำให้นักปีนเขาใช้ศักยภาพในการเรียนรู้เส้นทางด้วยตัวเองมากกว่าจะพึ่งพิงเฉพาะเทคโนโลยีในการนำทางแต่เพียงอย่างเดียว เพราะนักปีนเขามักพลัดหลงครั้งแล้วครั้งเล่าจากการใช้เครื่องนำทางอัตโนมัติและเจ้าหน้าที่ต้องใช้ทรัพยากรเท่าที่มีออกตามหาเพื่อช่วยเหลือนักปีนเขาเหล่านั้นให้ปลอดภัยภายในระยะเวลาอันจำกัด เจ้าหน้าที่ตำรวจของสกอตแลนด์ให้ความเห็นที่น่าสนใจต่อการใช้เครื่องนำทางว่า “ การใช้แอปพลิเคชัน บนสมาร์ทโฟนเพื่อการนำทาง อาจนำไปสู่การสร้างปัญหาได้ เพราะผู้คนต่างเชื่อมั่นต่อเทคโนโลยีมากเกินไปจนขาดความเข้าใจสภาพแวดล้อมของพื้นที่รอบๆตัวเอง” ซึ่งนำไปสู่การหลงทางในที่สุด
การนำเทคโนโลยีเพื่อการนำทางแบบอัตโนมัติมาใช้งานนอกจากจะทำให้เกิดการหลงทางซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วในหลายสถานที่และในบางกรณีอาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงแก่ผู้ใช้จนถึงแก่ชีวิตดังที่เป็นข่าวใหญ่ในบ้านเราเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ซึ่งตามข่าวคาดว่าผู้เสียชีวิตอาจใช้ระบบ GPS นำทางจนทำให้รถตกลงไปในแม่น้ำทำให้ผู้ขับรถเสียชีวิตและหากเป็นเช่นนั้นจริงจึงพอประเมินได้ว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากจุดอ่อนอย่างน้อยที่สุด 3 ประการประกอบกันคือ
-เกิดจากจุดอ่อนของระบบนำทางอัตโนมัติเมื่อถูกนำมาใช้โดยคนทั่วไป เพราะระบบยังไม่สามารถเตือนผู้ขับขี่ได้ว่า สถานที่ข้างหน้าคือสุดทางของถนนและเป็นแม่น้ำซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่หากขับต่อไป ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีแผนที่นำทาง GPS ที่ใช้ร่วมกับกับสมาร์ทโฟน ยังมีจุดอ่อนที่ยังไม่สามารถปกป้องชีวิตผู้คนด้วยการจัดให้มีสัญญาณเตือนขั้นวิกฤต(Critical warning signal) ในทุกโหมดของการใช้งาน เมื่อผู้ใช้งานต้องเผชิญกับสถานการณ์คับขันและวิกฤต
-เกิดจากจุดอ่อนของโครงสร้างถนนหนทางที่ไม่มีป้ายแจ้งเตือนหรือมีอุปกรณ์ป้องกันเพื่อให้ผู้ใช้อุปกรณ์นำทางตัดสินใจที่จะหยุดรถหรือเปลี่ยนทิศทางล่วงหน้า สภาวะแวดล้อมลักษณะนี้มักพบเห็นได้ตามถนนในแถบชนบททั่วไป รวมทั้งปัจจัยความมืดและความไม่ชำนาญเส้นทางอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ขับขี่เข้าใจว่าทางข้างหน้าคือทางที่ปลอดภัย
– ความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีมากเกินไปและความเคยชินในการใช้แผนที่ GPS นำทางอาจทำให้ผู้ขับรถสาละวนและจดจ่ออยู่กับเครื่องนำทาง จนลืมนึกถึงสัญชาตญาณการนำทางและการรับรู้ทางภูมิศาสตร์ของสถานที่ที่ตัวเองกำลังขับรถอยู่ซึ่งเป็นคุณสมบัติของมนุษย์ที่มีอยู่โดยธรรมชาติ จนนำไปสู่อุบัติเหตุดังกล่าว
แม้ว่าแผนที่นำทางจะมีคุณต่อมนุษย์มากมายเพียงใดก็ตาม แผนที่นำทางก็เป็นเพียงเทคโนโลยีชนิดหนึ่งที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นและเทคโนโลยีทุกประเภทมักมีจุดอ่อนและข้อจำกัดเสมอ การใช้แผนที่ GPS เพื่อการนำทางก็มิได้ต่างจากการใช้เทคโนโลยีประเภทอื่น เพราะนอกจากจะอำนวยความสะดวกในการเดินทางและนำผู้ใช้ไปสู่จุดหมายปลายทางแล้ว ในอีกด้านหนึ่ง ข้อจำกัดของแผนที่นำทางอัตโนมัติอาจนำไปสู่การสูญเสียครั้งสำคัญของผู้คนจนกลายเป็นแผนที่ที่สามารถเปลี่ยนชะตาชีวิตของคนบางคนรวมทั้งผู้ที่อยู่รอบข้างอย่างคาดไม่ถึงได้เช่นกัน
อ้างอิง
1.https://www.gislounge.com/spatial-orientation-and-the-brain-the-effects-of-map-reading-and-navigation/
2. https://www.sanook.com/news/8470526/
ภาพประกอบ
ภาพจากข่าวช่อง One