"...คอร์รัปชันในภาครัฐและภาคเอกชนเกิดขึ้นเชื่อมโยงและมีอิทธิพลถึงกัน จึงเป็นภาระกิจใหญ่ที่คนไทยต้องร่วมมือกันสร้างจุดเปลี่ยนประเทศไทย หยุดวงจรอุบาทว์แล้วสร้างค่านิยมที่เข้มแข็งว่า “คนไทยไม่โกงและไม่ยอมให้ใครโกง”..."
การต่อต้านคอร์รัปชัน: การขับเคลื่อนในภาคเอกชน
‘คอร์รัปชันในภาคเอกชน’ กำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลให้ธุรกิจมีต้นทุนและความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น อันเป็นผลมาจากพฤติกรรมคอร์รัปชันในภาพรวมของประเทศที่กำลังวิกฤตอยู่ทั้งในภาคการเมือง หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ ทำให้สภาพแวดล้อมในสังคมเต็มไปด้วยวัฒนธรรมฉ้อฉล โกงกิน เล่นพรรคเล่นพวก และบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม
มีข้อมูลที่ชี้ว่า มาตรฐานธรรมาภิบาลของภาคเอกชนไทยอยู่ในระดับ “ดีพอใช้” อันเป็นผลมาจากการพัฒนามาตรฐานร่วมกันของภาคเอกชนอย่างต่อเนื่องตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา แต่จุดแข็งนี้กำลังถูกท้าทาย จาก “คอร์รัปชันในภาครัฐที่รุนแรงจนสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจเต็มไปด้วยกับดักคอร์รัปชัน” ทัศนคติของผู้คนในสังคมก็เปลี่ยนไปเพราะเรียนรู้จากพฤติกรรมสีเทาและฉ้อฉลของชนชั้นนำทางการเมืองและวงราชการที่มีให้เห็นชินชา
ข้อมูลหนึ่งที่ยืนยันเรื่องนี้ได้คือรายงานผลการสำรวจ “จับตาบรรษัทภิบาล” (CG Watch) โดยสมาคมธรรมาภิบาลแห่งเอเชีย (ACGA) ที่ประเมินและจัดอันดับประเทศในเอเชียแปซิฟิก เกี่ยวกับคุณภาพด้านบรรษัทภิบาลของตลาดทุนไทย (บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์)
ผลการจัดอันดับปีที่แล้ว (2563) ปรากฏว่า ไทยหล่นไปอยู่ในอันดับ 8 ทั้งที่การสำรวจก่อนหน้านี้เคยโดดเด่นในอันดับ 3 เป็นรองแค่สิงคโปร์และฮ่องกงเท่านั้น โดยคณะผู้สำรวจชี้สาเหตุที่น่าสนใจว่า ตัวฉุดรั้งที่สำคัญของไทยคือความตกต่ำของภาคการเมือง การขาดความใส่ใจในการแก้ปัญหาของภาครัฐและสภาพแวดล้อมทางธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ (CG ecosystems) ที่กระตุ้นให้ผู้ประกอบการต้องพัวพันกับวงจรคอร์รัปชันทางใดทางหนึ่ง
ปัจจุบันมีการสำรวจข้อมูลที่สะท้อนภาพปัญหาธรรมาภิบาลและคอร์รัปชันในภาคธุรกิจอย่างน้อยจาก 4 หน่วยงาน แม้ไม่ได้ศึกษาอย่างเจาะลึกแต่ก็ช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นได้พอสมควร ประกอบด้วย 1) รายงานผลการสำรวจ Thai Director Survey จัดทำโดย สถาบัน IOD 2) ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย (CSI) โดยมหาวิทยาลัยหอการค้า 3) CG Watch โดย ACGA 4) PwC’s Thailand Economic Crime and Fraud Survey 2020 โดยบริษัท PwC (Thailand)
เอกชนคือตัวแปรในวงจรคอร์รัปชัน
คอร์รัปชันในภาคเอกชน มีทั้งกรณีโกงกันเอง โกงชาวบ้านและโกงหลวง เช่น ผู้บริหารโกงผู้ถือหุ้น บริษัทโกงลูกค้า พนักงานโกงบริษัท บริษัทโกงราชการหรือติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ บริษัททำธุรกิจโดยไม่รับผิดชอบสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนใกล้เคียง เป็นต้น
ขณะที่คอร์รัปชันในภาครัฐ ภาคเอกชนเป็นตัวแปรสำคัญในวงจรคอร์รัปชัน กล่าวคือ ด้านหนึ่งพวกเขาคือเหยื่อที่ถูกรีดไถ ต้องจ่ายใต้โต๊ะ จ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐ ต้องวิ่งเต้นเส้นสายหรือถูกเอาเปรียบผู้ประกอบการรายอื่นที่มีเจ้าหน้าที่รัฐคอยช่วยเหลือ อีกด้านหนึ่งนักธุรกิจจำนวนมากก็เป็นฝ่ายริเริ่มคอร์รัปชันขึ้นเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ด้วยการเสนอสินบน คอมมิชชั่น ค่าน้ำร้อนน้ำชาให้กับเจ้าหน้าที่ หรือฮั้วกับนักธุรกิจด้วยกันไปโกงราชการ สร้างความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันทางธุรกิจ และนี่คือด้านมืดที่ทำให้การต่อสู้กับคอร์รัปชันเป็นเรื่องยากและซับซ้อนยิ่งขึ้น
สู้ด้วยเครือข่าย
ปัญหาที่หมักหมมรุนแรง ทำให้ภาคเอกชนต้องรวมตัวกันต่อสู้กับคอร์รัปชันโดยการนำของสมาคมวิชาชีพต่างๆ ในการจัดวางระบบและสร้างพลังในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศรวมถึงรณรงค์ชี้นำแนวทางปฏิบัติที่ดีร่วมกัน
เพื่อสร้างความต่อเนื่องและทุ่มเทภาคเอกชนจึงริเริ่มก่อตั้ง “องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)” เพื่อผลักดันพลังสังคมอย่างกว้างขวางในการต่อสู้กับคอร์รัปชันโดยรวมของประเทศ ก่อตั้ง “สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย” (IOD) เพื่อพัฒนาศักยภาพและธรรมาภิบาลของภาคธุรกิจ และจัดตั้งโครงการ “แนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย” (CAC) เครือข่ายบริษัทชั้นนำที่ร่วมลงมือต่อต้านคอร์รัปชันในภาคเอกชนและภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม
บทสรุป
คอร์รัปชันในภาครัฐและภาคเอกชนเกิดขึ้นเชื่อมโยงและมีอิทธิพลถึงกัน จึงเป็นภาระกิจใหญ่ที่คนไทยต้องร่วมมือกันสร้างจุดเปลี่ยนประเทศไทย หยุดวงจรอุบาทว์แล้วสร้างค่านิยมที่เข้มแข็งว่า “คนไทยไม่โกงและไม่ยอมให้ใครโกง”
ความพยายามของภาคเอกชนจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติโดยรวม ภาครัฐจึงควรร่วมมือและสนับสนุนจริงจังโดยเฉพาะกับแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) เพราะเกิดขึ้นด้วยความสมัครใจขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่จำนวนมาก มีแนวทางชัดเจนจับต้องได้และสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้องค์กรธุรกิจอื่นปฏิบัติตาม
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)