"...เรื่องบริษัทนอกอาณาเขตนั้นซับซ้อน เราจะต้องทำความเข้าใจกับมัน ต้องเข้าใจกฎหมายด้านภาษีต่างๆที่ไม่เหมือนกัน กฎหมายมรดก โครงสร้างทางการเงินบริษัทใหญ่ๆต่างๆ โดยการอ่านเอกสารไม่ว่าจะเป็นของทั้งปานามาเปเปอร์สหรือว่าแพนโดราเปเปอร์สนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย และต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างยิ่ง แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วก็น่าที่จะสามารถสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งเรื่องนี้นั้นถือว่าเป็นสิ่งที่นักข่าวทั่วโลกก็ต้องทำ และอธิบายให้สังคมเข้าใจ..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) :เมื่อวันที่ 4 ต.ค. เวลา 20.30 น. นางสาวปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง สมาชิกเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ - ไอซีไอเจ (International Consortium of Investigative Journalists: ICIJ) ประเทศไทย ในฐานะผู้สื่อข่าวพิเศษสำนักข่าวอิศรา ให้สัมภาษณ์ใน รายการตอบโจทย์ของไทยพีบีเอส เกี่ยวกับที่มาที่ไปในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการนำเสนอข่าว "แพนโดรา เปเปอร์ส" ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสืบค้นรายชื่อผู้ถือครองบริษัทนอกอาณาเขต (offshore entities) ของตระกูลธุรกิจที่ร่ำรวยในประเทศไทย โดยมีผู้สัมภาษณ์ คือ นายวราวิทย์ ฉิมมณี
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
@แพนโดราเปเปอร์สคืออะไร
ชื่อของคำว่าแพนโดรานั้นมา มาจากตำนานกรีกของ เป็นเรื่องของการเปิดกล่องที่กักเก็บความชั่วร้ายออกมา มันเป็นชื่อของโครงการการสอบสวนซึ่งทาง ICIJ นั้นทำร่วมกับผู้สื่อข่าวจำนวน 600 กว่าคนทั่วโลก และมีองค์กรสื่อประมาณ 150 องค์กร รวมทั้งที่ประเทศไทยซึ่งทำงานร่วมกับสำนักข่าวอิศรา ถามว่ามันคืออะไร แพนโดราเปเปอร์สเป็นการขุดคุ้ยและวิเคราะห์ฐานข้อมูลบริษัทออฟชอร์ หรือบริษัทนอกอาณาเขตที่จดทะเบียน และดูแลบริษัทนอกอาณาเขตซึ่งดูแลบริษัทของคนอื่นทั่วโลกจำนวน 14 แห่งซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่เยอะมาก บริษัทเหล่านี่ทำหน้าที่ว่าถ้าคุณเป็นลูกค้าคุณอยากจะมีบริษัทที่อยู่ในพื้นที่พิเศษซึ่งมีกฎหมายพิเศษคุ้มครองและก็ให้สิทธิพิเศษ ซึ่งเขาก็จะจดทะเบียนไว้ให้ จะขายให้ และก็จะดูแลให้ นี่คือบริษัททั้ง 14 แห่ง และบริษัทเหล่านี้ก็จะมีฐานข้อมูลลูกค้าโดยละเอียด ซึ่งปรากฏว่าแพนโดรา เปเปอร์สนั้นเป็นฐานข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในโลกเกี่ยวกับบริษัทนอกอาณาเขตที่เคยตกถึงมือนักข่าว และใหญ่มากกว่าปานามาเปเปอร์ส ที่ถูกเปิดโปงในปี 2559
@ถือว่าเป็นภาคต่อของปานามาเปเปอร์สได้หรือไม่
เรียกว่าเป็นภาคต่อก็คงได้ เพราะเห็นข้อมูลของมหาเศรษฐีและลูกค้าจากบริษัทที่อยู่ในปานามาเปเปอร์ส ซึ่งก็คือบริษัทมอสแซ็ค ฟอนเซกา ที่โดนเล่นงานไปแล้ว อพยพมาจดทะเบียนอยู่ในผู้รับจดทะเบียนซึ่งก็คือ 1 ใน 14 แห่งเหล่านี้ คือหลังจากปานามาเปเปอร์สถูกเปิดโปง ก็มีการใช้วิธีย้ายบริษัทนอกอาณาเขตของตัวเองไปให้กับตัวแทนอื่นเป็นคนดูแล ก็คือมีความต่อเนื่องกันในลักษณะนี้
@ ICIJ เป็นใครรวมตัวกันได้อย่างไร
ICIJ นั้นมีฐานการทำงานตั้งอยู่กรุงวอชิงตันดีซี เป็นองค์กรสื่อที่ไม่แสวงหาผลกำไร และทำงานมานานเป็นระยะเวลา 10 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้ก็จะมีการทำข่าวเจาะในเชิงสืบสวนอยู่หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการก่อการร้าย การทุจริตอื่นๆเหมือนกับที่เราคุ้นเคย แต่ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ตอนนั้นก็เริ่มมีข่าวที่รั่วไหลต่างๆเกี่ยวกับบริษัทนอกอาณาเขต ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีกรณีปานามา เปเปอร์ส ก็พบกรณีที่มีคนไทย 600 คน เป็นเจ้าของบริษัทนอกอาณาเขต
โดยนี่ถือเป็นการรั่วไหลของข้อมูลครั้งแรกๆ และหลังจากนั้นเมื่อ ICIJ ได้รับข้อมูลมา คือเรามีสมาชิกที่เป็นนักข่าวสืบสวนสอบสวนอยู่ทั่วโลกอยู่แล้ว ทั้งสังกัดองค์กรสื่อต่างๆและเป็นฟรีแลนซ์ด้วย ซึ่งเมื่อเขาได้ข้อมูลใหญ่ๆมา ทาง ICIJ ทำข่าวเองไม่ได้ ก็เลยเปล่ยนวิธีการทำข่าวครั้งใหญ่ คือมีการคุยกับนักข่าวเป็นร้อยๆคนว่ามีข้อมูลแบบนี้ มาทำด้วยกัน ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นครั้งแรกเช่นเดียวกัน หลังจากที่ได้รับฐานข้อมูลมา ว่าสื่อที่บางประเทศนั้นแข่งกันเอาเป็นเอาตาย ในบางครั้งก็มีความจำเป็นว่าจะต้องมานั่งทำงานเดียวกัน เช่นสำนักข่าวอาซาฮี ชิมบุมกับสำนักข่าวอื่นๆเป็นต้น ซึ่งนี่ก็ถือเป็นการทำข่าวข้ามพรมแดนทำให้ ICIJ ได้รับการรู้จักและชื่อเสียงตามา และเมื่อเขาทำได้ก็จะมีข้อมูลหลุดมาหานักข่าวอยู่เรื่อยๆ รวมไปถึงครั้งนี้เป็นต้น
@ต้นทางของข้อมูลก็ยังคงเป็นปริศนา เพราะบริษัทนอกอาณาเขตก็คงต้องปิดข้อมูลของลูกค้าเอาไว้แน่ๆ
ไม่มีทางที่ข้อมูลเหล่านี้จะถูกปล่อยมาจากทางบริษัทเอง พอปล่อยมา เขาลงทันที เพราะนี่คือสิ่งที่เขาขาย ซึ่งก็คือความลับ การปกปิดต่างๆ ดังนั้นถ้าถามว่าข้อมูลเหล่านี้มีต้นทางมาจากไหน อย่างกรณีปานามาเปเปอร์สนั้น ตอนที่ข้อมูลมาถึง ICIJ ตอนนั้นมีนักข่าวเยอรมนี 2 คน ที่เขาเป็นสมาชิก ICIJ เขาได้รับโทรศัพท์จากคนชื่อจอห์น โด (นามสมมติ) ว่ามีข่าวใหญ่มาให้ และหลังจากนั้นข้อมูลก็ถูกส่งมาด้วยวิธีใด ก็ไม่มีใครทราบ เพราะก็ต้องมีการปกป้องแหล่งข่าว พอนักข่าวเยอรมนีเห็นแล้วก็บอกว่ามันเรื่องใหญ่มาก ก็มาหาทาง ICIJ ทาง ICIJ จึงได้มีการจัดการกับฐานข้อมูลอันใหญ่นี้ด้วยเทคโนโลยีที่ ICIJ และก็กระจายข้อมูลของแต่ละประเทศไปให้กับนักข่าวในแต่ละประเทศทำ
ซึ่งทางจอห์นโด เขาก็เขียนสาเหตุว่าที่เขาได้ทำสิ่งนี้ก็เพื่อต้องการให้โลกรับรู้ว่ามีเรื่องแบบนี้อยู่ และความยุติธรรมในทางเศรษฐกิจมันอยู่ตรงไหน โดยจอห์นโดนั้นเป็นเหมือนกับแฮกเกอร์ที่เป็นนักกิจกรรมไปด้วย เพื่อที่จะเปิดโปงสิ่งต่างๆและเรียกร้องความยุติธรรม ดังนั้นถ้าจะถามว่าแพนโดราเปเปอร์สนั้นมาจากไหน ก็ต้องบอกว่าไม่มีใครทราบเลย นักข่าวจำนวน 600 กว่าคนนี้ก็ไม่มีใครทราบอีกเช่นกัน ซึ่งอาจจะมีความเป็นไปได้ทั้งหมดทั้งสิ้น ว่าจะสามารถมาจากจอห์นโดคนเดิมหรือไม่ก็ได้ แต่ว่านับตั้งแต่ปรากฎการณ์ปานามาเปเปอร์สเกิดขึ้นมา ทำให้เห็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งว่ายุคของเรานั้นเป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร ยุคของบิ๊กดาต้า ซึ่งส่วนตัวก็ได้เคยคาดการณ์ไปแล้วว่าหลังจากปานามาเปเปอร์สแล้ว ก็น่าที่จะต้องมีเรื่องแบบนี้อีก และคงจะใหญ่กว่าเดิม เพราะโลกนั้นใช้เทคโนโลยีในการรวบรวมข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ จากที่สมัยก่อนนักข่าวได้แค่ข้อมูลมาชิ้นเดียว แต่ตอนนี้มีข้อมูลมาทีเป็นล้านๆชิ้น จึงทำให้มามองว่าจะทำอย่างไร โดยส่วนตัวแล้วคาดการณ์ว่าการรั่วไหลของข้อมูลนั้นก็คงจะมีต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งนักข่าวและผู้รับสื่อเองก็ต้องเตรียมตัวแล้วเช่นกันว่าจะทำอย่างไร
@บริษัทนอกอาณาเขตคืออะไร ทำไมคนดังและผู้นำประเทศถึงได้ไปตั้งบริษัทอยู่ภายนอกประเทศ
บริษัทนอกอาณาเขตนั้นคือความเป็นมาตั้งแต่สมัยที่อังกฤษล่าอาณานิคม ซึ่งต้องมีการหาความมั่งคั่งกลับไปให้ประเทศตัวเอง และหลังจากจบยุคอาณานิคม อังกฤษก็เลยมีวิธีหาเงิน ก็เลยมีคนคิดคอนเซปต์เรื่องบริษัทนอกอาณาเขตขึ้น ซึ่งก็คือบริษัทที่ตั้งอยู่ในที่พิเศษในที่ต่างๆของโลก โดยพื้นที่เหล่านี้ก็กฎหมายทางพิเศษที่เอื้อกับเรื่องใหญ่ๆ 2 ข้อคือ 1.การไม่เก็บภาษี หรือเก็บภาษีที่ต่ำมากอยู่ที่ 0-5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ภาษีรายได้ของประเทศทั่วๆไปนั้นจะสูงกว่านี้ ประการที่ 2.คือเรื่องการปกปิดข้อมูล
ถ้าหากบริษัทของไทย จดทะเบียนในประเทศไทย ผู้อยากได้ข้อมูลก็สามารถที่จะไปขอได้ที่กระทรวงพาณิชย์ และถ้าหากอยู่ในตลาดหุ้น ทุกอย่างก็จะถูกเปิดเผย แต่บริษัทนอกอาณาเขตเหล่านี้ กฎหมายของเขาคุ้มครองนักลงทุนจากต่างประเทศที่ไปตั้งบริษัทในพื้นที่ของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องบอกข้อมูลอะไรมากและไม่จำเป็นต้องบอกตัวตนเจ้าของที่แท้จริง และเขาก็จะมีโครงสร้างที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ โดยบางกรณีนั้นมีบริษัทนอกอาณาเขตถือครองความเป็นเจ้าของกันไปมาถึง 5 ชั้น และบริษัทสุดท้ายที่โดนถือครองนั้นเป็นผู้ที่ถือครองทรัพย์สินที่แท้จริง หรือใช้ในการทำธุรกรรมที่แท้จริง ถ้าหากบริษัทสุดท้ายนี้โดนจับได้ ก็ยังหาตัวไม่ได้ว่าใครนั้นเป็นเจ้าของเหล่านี้เป็นต้น ดังนั้นสิ่งที่เขาขายก็คือความลับ
สำหรับคนที่ใช้บริการบริษัทนอกอาณาเขตนั้นก็มีเหตุผลด้วยกันหลายประการ อาทิ การประหยัดด้านภาษี อาทิ ในประเทศตะวันตกอาจต้องเสียภาษีถึง 15 เปอร์เซ็นต์ในประเทศของตัวเอง แต่ก็เสียภาษีแค่ไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ในพื้นที่นอกอาณาเขต ถ้าหากเขามีรายได้เป็นหมื่นล้าน ก็จะประหยัดเงินตรงนี้ไปได้มาก
ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่คนของบริษัทนอกอาณาเขตเหล่านี้จะเป็นคนเอาข้อมูลไปให้กับผู้สื่อข่าว ยกเว้นว่าจะมีคนทรยศองค์กรจริงๆ ซึ่งตัวนักข่าวเองก็จะไม่มีใครรู้เลยว่าข้อมูลนั้นมาจากไหน หรือถ้ารู้ก็คงไม่สามารถจะเปิดเผยได้เพราะต้องปกป้องแหล่งข่าวเอาไว้
@กรณีแพนดาร่าเปเปอร์ส คิดว่าข้อมูลไหนเป็นเรื่องใหม่มากที่สุด
การรายงานครั้งนี้ที่ทำกับสำนักข่าวอิศรา สิ่งหนึ่งที่ค้นพบว่าก็คือเป็นหน้าเดิม แต่ก่อนหน้านี้ที่มีการนำเสนอข้อมูลออกมาเราจะพบนักการเมือง รายย่อยต่างๆ พอมาถึงกรณีแพนโดราเปเปอร์สนั้นเราจะพบว่ามีมหาเศรษฐีเยอะมาก โดยเฉพาะในกรณีของประเทศไทย ซึ่งส่วนตัวได้เคยคุยกับนักข่าววอชิงตันโพสต์ เขาก็ถามอยู่ว่าทำไมประเทศไทยถึงได้มีมหาเศรษฐีอยู่ในฐานข้อมูลนี้มาก
แต่เรื่องนี้ก็ต้องมีการพิจารณากันในแต่ละกรณี ก็คือต้องมองว่าเขาทำถูกกฎหมายหรือไม่ ซึ่งคำตอบโดยทั่วไปก็คือการถือครองบริษัทนอกอาณาเขตนั้นไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย โดยแต่ละรายจะใช้ไปในลักษณะไหนก็มีการอธิบายอย่างกว้างๆที่สำนักข่าวอิศราจะทยอยออกมาเรื่อยๆ ถามว่าใครจะเป็นไฮไลท์หรือไม่ ทุกคนก็คงจะเป็นไฮไลท์ได้หมดเพราะ 6 อันดับตระกูลที่รวยที่สุดในประเทศไทยอยู่ในนั้นหมด และบางคนบางรายก็เชื่อได้ว่าอพยพมาจากปานามาเปเปอร์สเข้ามาอยู่ในแพนโดราเปเปอร์ส
@แต่กรณีนี้อาจจะสะท้อนต่อความโปร่งใสและธรรมาภิบาลได้ เส้นแบ่งกรณีนี้นั้นอยู่ตรงไหน
เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผู้สื่อข่าวพยายามจะต้องอธิบายให้เข้าใจ เวลาพูดถึงความโปร่งใสนั้น ทางบริษัทก็จะมีเรื่องธรรมาภิบาลที่มักจะใช้กันอยู่ แต่อย่างไรก็ตามมีประเด็นซึ่งขัดแย้งกันอยู่ว่าถ้าหากถูกกฎหมายแล้วจะว่ากันอย่างไร ไปรายงานข่าวเขาทำไม เขาก็มีสิทธิ์ทำสิ่งที่ถูกกฎหมาย แต่คำถามที่ตามมาในอีกด้านจากหลายๆกลุ่มในโลก ที่เขามองว่าอันนี้เป็นปัญหาของกฎหมายหรือว่าเป็นปัญหาในแง่ของความชอบธรรมหรือความยุติธรรม โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับการเก็บภาษีของประเทศ ซึ่งในหลายกรณีเราจะเป็นว่าบริษัทนอกอาณาเขตได้ช่วยประหยัดเงินทางด้านการจ่ายภาษี และบริษัททั่วโลกนั้นเห็นว่ามันเป็นต้นทุนที่จะต้องประหยัดและต้องจ่ายให้น้อยที่สุด เขาก็มีการใช้กลไกเหล่านี้อย่างถูกกฎหมายเพื่อที่จะประหยัดให้กับตัวเองคำถามก็คือว่าถ้าประเทศๆหนึ่งไม่สามารถเก็บภาษีได้อย่างที่ควรจะเก็บ มันจะส่งผลอย่างไรต่อวิถีชีวิตของผู้คนในประเทศนั้น เราควรที่จะคิดต่อหรือไม่ หรือควรที่จะมีการจัดการให้ระบบนี้มันดีขึ้น
ซึ่งคำถามประการแรกก็คือนี่เป็นเรื่องของคำว่ากฎหมายกับความชอบธรรม คำถามประการที่ 2 ก็คือช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนหรือโอกาสระหว่างคนรายกับคนจนที่เรารู้มาว่ามันกว้างขึ้น ตรงนี้จะสามารถถมให้แคบลงได้หรือไม่ ถ้าเราดูบริษัทนอกอาณาเขตเหล่านี้ ที่เป็นกลไกของทุนนิยม ซึ่งเข้าใจยากจนคนไม่อยากจะพูดถึง เรื่องเหล่านี้ไม่มีทางที่จะทำให้ช่องว่างนั้นแคบลงได้ มันจะถูกทำให้กว้างขึ้นและกว้างขึ้น
ตรงนี้ก็ทำให้เกิดคำถามมาอีกว่าเกี่ยวอะไรกับผู้สื่อข่าวด้วยที่จะต้องมาทำให้ช่องว่างตรงนี้แคบลง ซึ่งส่วนตัวแล้วสิ่งที่นักข่าวจะต้องทำก็คือการรายข่าวของเรื่องต่างๆอันส่งผลกระทบต่อรอบตัว เช่นสวัสดิการของรัฐ นโยบายต่างๆเป็นต้น ดังนั้นคำถามเรื่องนี้มันก็เลยตอบยาก เพราะมีเรื่องของนามธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
@ที่ผ่านมามีกรณีนักการเมืองในต่างประเทศถูกตั้งคำถามเพราะมีทรัพย์สินในต่างประเทศแบบนี้ ถามว่ามันจะสั่นสะเทือนต่อวงการการเมืองอย่างไรบ้าง
เครดิตของนักการเมืองนั้นถือว่าความโปร่งใสเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และในโลกตะวันตก ประเทศที่พัฒนาแล้วมีประเด็นเรื่องภาษีชัดเจนเพราะว่าภาษีเขาจะนำไปใช้เพื่อพัฒนาประเทศ ดังนั้นพอเอา 2 เรื่องนี้มาโยงเข้าหากันมันก็คือเรื่องค่านิยมว่าเขาจะต้องโปร่งใส แล้วจะปิดตรงนี้ทำไม ประการถัดมาก็คือคำถามว่านักการเมืองคนนั้นเลี่ยงภาษีหรือไม่ ซึ่งเรื่องนื้ถือว่าผิดอยู่แล้ว เราจะเห็นว่านายกรัฐมนตรีของไอซ์แลนด์ (นายซิกมุนเดอร์ กุนลอส์สัน)ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งก็เพราะเรื่องนี้ หรอืแม้แต่นักธุรกิจบางรายก็ต้องถูกตรวจสอบจากเรื่องนี้
ทีนี้กรณีของแพนดอน่าเปเปอร์ส แม้เราจะยังไม่เห็นผลของมันเพราะเพิ่งจะเปิดเผยกันวันนี้แต่เมื่อมีการรายงานเรื่องนี้หลายๆครั้ง ประเทศที่พัฒนาก็มีความเคลื่อนไหว โดยเฉพาะที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีโจ ไบเดนก็พยายามที่จะล็อบบี้กลุ่มประเทศจี 7 ในเรื่องของการจัดเก็บภาษาบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ซึ่งใช้วิธีเลี่ยงภาษีด้วยการไปมีบริษัทนอกอาณาเขต โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ๆต่างๆ อาทิ กูเกิ้ลเป็นต้น ซึ่งข้อตกลงที่พยายามจะดำเนินการก็คือว่าจะต้องเก็บภาษีจากประเทศที่บริษัทเหล่านั้นทำเงิน ไม่ใช่ประเทศที่บริษัทเหล่านั้นรับเงิน อาทิ อย่างถ้าเรามีหุ้นจำนวนมหาศาลที่ประเทศอังกฤษ เราก็ไปจดทะเบียนที่บริษัทนอกอาณาเขตที่หมู่เกาะเคย์แมนบอกให้เป็นเจ้าของหุ้นอันนี้แทนตัวเรา แล้วเราก็ไปแอบอยู่หลังบริษัทนอกอาณาเขตแทน พอเวลาหุ้นจ่ายเงินปันผล เขาก็จะโอนเงินปันผลเข้าไปที่หมู่เกาะเคย์แมน ที่เก็บภาษีเราแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเรารับเงินจากที่ประเทศอังกฤษก็อาจจะต้องจ่ายภาษีทั้ง 15 เปอร์เซ็นต์ และต้องจ่ายเงินค่าอื่นๆ มากมายเหล่านี้เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมานั้นมีหลายคนที่รับเงินค่าจ้างผ่านบริษัทนอกอาณาเขตเหล่านี้มากมาย
@แต่สังคมไทยดูไม่ให้น้ำหนักเรื่องนี้มาก เพราะอาจมองว่าไม่ผิดกฎหมาย
สังคมไทยคือยึดอยู่กับกฎหมาย ซึ่งข้อดีก็คือเราตีความทางกฎหมายและก็มาจัดการกันแต่สิ่งที่ไม่ดีก็คือว่าเราจะสิ้นสุดความเข้าใจของเราแค่นี้หรือไม่ โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าสังคมไทยควรจะต้องมาตั้งคำถามกันใหม่ว่าการถูกกฎหมายแต่ผิดจริยธรรมนั้นมีหรือเปล่า หรือจะมีไหมกับกรณีว่าถูกกฎหมายแต่ไม่ยุติธรรม ซึ่งตรงนี้ก็คิดว่าน่าจะต้องเป็นหน้าที่ของสื่อด้วยที่จะต้องทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและคนที่อยู่ในวงการสื่อก็ต้องช่วยมีบทบาททั้งในการตั้งคำถามและก็ค่อยๆให้ความรู้นี้ให้เกิดขึ้น
ซึ่งเรื่องบริษัทนอกอาณาเขตนั้นซับซ้อน เราจะต้องทำความเข้าใจกับมัน ต้องเข้าใจกฎหมายด้านภาษีต่างๆที่ไม่เหมือนกัน กฎหมายมรดก โครงสร้างทางการเงินบริษัทใหญ่ๆต่างๆ โดยการอ่านเอกสารไม่ว่าจะเป็นของทั้งปานามาเปเปอร์สหรือว่าแพนโดรา เปเปอร์สนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย และต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างยิ่ง แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วก็น่าที่จะสามารถสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งเรื่องนี้นั้นถือว่าเป็นสิ่งที่นักข่าวทั่วโลกก็ต้องทำ และอธิบายให้สังคมเข้าใจ
@ของประเทศไทยจะได้เห็นนักการเมืองปรากฏชื่อในเอกสารหรือไม่
ก็มีบ้างเล็กๆน้อยๆ แต่อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่านักการเมืองนั้นหายไปจากฐานข้อมูลของ ICIJ เยอะตั้งแต่ตอนปานามาเปเปอร์ส ซึ่งประเด็นนี้ก็น่าสนใจว่าเขามีการจัดการอย่างไร เพราะก่อนหน้านี้ก็เจอนักการเมืองพอสมควรทีเดียว
@ข้อมูลชุดนี้จะกลายเป็นการโจมตีต่อฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองหรือไม่
การทำข่าวทุกข่าว ข้อมูลนั้นถูกนำไปใช้ประโยชน์ทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นทั้งทางที่ดีหรือว่าไม่ดี แต่ว่ามันก็เป็นหน้าที่ของคนที่ถูกพาดพิงที่จะชี้แจงเรื่องเหล่านี้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage