"...ความมักง่ายและสภาพแวดล้อมที่ผิดเพี้ยนทำให้ผู้คนมองข้ามความถูกต้อง เกิดการคอร์รัปชันในการขอตำแหน่งผู้ช่วยศาตราจารย์ รองศาสตราจารย์และศาสตราจารย์ แถมยังมีการให้ตำแหน่งแก่ ‘บางคน’ ที่ไม่คู่ควร เช่น นักธุรกิจ นักการเมือง โดยเพิ่มคำเรียกที่ทำให้คนสับสน เช่น รองศาสตราจารย์พิเศษ..."
เหตุที่ตกต่ำ..
‘คอร์รัปชัน’ คือคำตอบว่าทำไมการศึกษาของไทยจึงตกต่ำ เพราะในมหาวิทยาลัยมีทั้งคอร์รัปชันที่กระทบต่อคุณภาพการศึกษาโดยตรง คอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างและคอร์รัปชันของปัจเจกบุคคล
"สถาบันอุดมศึกษาบางแห่งเปิดการสอนและจัดการศึกษาทั้งในและนอกสถานที่ตั้ง โดยใช้หลักสูตรที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ผลิตบัณฑิตที่มีปัญหาคุณภาพและไม่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ...ขณะที่สภาสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งอาศัยอำนาจและช่องว่างทางกฎหมายดำเนินการในลักษณะที่ส่อเจตนาแสวงหาประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อให้คงอยู่ในตำแหน่งต่อไป มีการกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม จนกระทั่งเกิดปัญหาร้องเรียนและฟ้องร้องทางคดีเป็นจำนวนมาก"
นี่คือเหตุผลที่ คสช. ใช้ ม.44 ออกคำสั่งที่ 39/2559 โดยหวังว่าจะแก้ไขปัญหาได้ ตามด้วยแนวทางจากสภาปฏิรูปแห่งชาติและแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา แต่ถึงวันนี้ยังเห็นความคืบหน้าน้อยมาก
ผลัดกันเกาหลัง
จุดเริ่มสำคัญมาจากการสรรหาอธิการบดีกับคณะผู้บริหาร และกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่เป็นผู้กำกับดูแลและกำหนดนโยบาย ทุกคนต่างใช้สารพัดเล่ห์อุบายเพื่อให้พวกตนชนะ ทำให้เกิดการแบ่งฝักฝ่าย ตักตวงผลประโยชน์ เลี้ยงพวกวางเครือข่าย หักหลังและกลั่นแกล้งเอาคืนกันไปมา
อย่าแปลกใจเมื่อเห็นอธิการบดีบางคนเปิดเผยว่ามีรายได้เดือนละสองล้านกว่าบาท หรือข่าวมหาวิทยาลัยรามคำแหงซื้อตึกเน่าๆ ราคาสี่ร้อยกว่าล้านบาทแล้วปล่อยทิ้งร้างมากว่าสิบกว่าปี เพราะรางวัลที่มาพร้อมกับตำแหน่งและอำนาจ เช่น เงินค่าตำแหน่ง เบี้ยประชุม ค่าที่ปรึกษา งานวิจัย งบเดินทางไปต่างประเทศเพื่อศึกษาดูงาน การขออนุมัติโครงการ อนุมัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ รวมถึงการอนุมัติตำแหน่งทางวิชาการ ฯลฯ ประเด็นสำคัญคือ ผลจากการคุมอำนาจทั้งฝ่ายบริหารและสภามหาวิทยาลัย ทำให้พวกเขาสามารถผลัดกันเอื้อประโยชน์ไปมาในลักษณะที่คนหนึ่งตั้งเรื่องขออีกคนอนุมัติ คนหนึ่งทำผิดอีกคนปกป้องอย่างสบายใจ
ความตกต่ำทางวิชาการ
ความมักง่ายและสภาพแวดล้อมที่ผิดเพี้ยนทำให้ผู้คนมองข้ามความถูกต้อง เกิดการคอร์รัปชันในการขอตำแหน่งผู้ช่วยศาตราจารย์ รองศาสตราจารย์และศาสตราจารย์ แถมยังมีการให้ตำแหน่งแก่ ‘บางคน’ ที่ไม่คู่ควร เช่น นักธุรกิจ นักการเมือง โดยเพิ่มคำเรียกที่ทำให้คนสับสน เช่น รองศาสตราจารย์พิเศษ
ผู้บริหารบางกลุ่มเปิดหลักสูตรรับนักศึกษาแต่จัดการเรียนการสอนไม่ได้มาตรฐาน เช่น รับนักศึกษามากเกินเกณฑ์ มีอาจารย์ที่ขาดคุณสมบัติหรือจำนวนน้อยเกินไป ละเลยมาตรฐานการประเมินผลการเรียนการสอน เกิดการลอกผลงานวิจัย ลอกวิทยานิพนธ์และรับจ้างทำวิจัย
ผู้บริหารหลายแห่งยอมให้บุคคลภายนอกใช้ชื่อสถาบันไปรับงานบริการทางวิชาการจากหน่วยงานอื่น แล้วแบ่งเปอร์เซ็นต์เข้าหน่วยงานโดยไม่ต้องรับผิดชอบแต่อย่างใด
อาจารย์จำนวนไม่น้อยขาดจรรยาบรรณ ละเลยการพัฒนาความสามารถทางวิชาการ ความสามารถในการสอนทำให้ลูกศิษย์ขาดโอกาสเรียนรู้ สร้างทัศนคติและเป็นแบบอย่างในทางที่ผิด บางคนเห็นแก่ผลประโยชน์ยอมบิดเบือนผลงานวิจัย ละทิ้งหลักการและความจริงเพื่อเอาใจผู้ให้ทุนวิจัย
การแก้ไข
คอร์รัปชันในมหาวิทยาลัยมีมานานจนหลายคนเชื่อว่าควบคุมอะไรไม่ได้แล้ว การแยกมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการก็ไม่ช่วยแก้ไขได้มากนัก อาจารย์และบุคลากรในสถาบันไม่ร่วมมือกันแก้ไข บ้างเห็นว่ากระทรวง อว. ยังไม่ได้พยายามจริงจังพอ หลายคนจึงฝากความหวังไว้กับการมีสภามหาวิทยาลัยที่เข้มแข็งปลอดการแทรกแซง
ผู้เขียนเชื่อว่า ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยเต็มไปด้วยบุคลากรคุณภาพและมีศักดิ์ศรี จึงควรใส่ใจกับการใช้เทคโนโลยี่และนวัตกรรม สร้างกลไกเพื่อบันทึกข้อมูลแล้วเปิดเผยอย่างโปร่งใสเกี่ยวกับการใช้งบประมาณ การใช้อำนาจในการบริหารจัดการ ใช้แนวทางบริหารเหมือนมหาวิทยาลัยเอกชน รวมถึงเปิดให้ประชาคมมีส่วนร่วมมากขึ้นในทุกระดับเพื่อให้เกิดแรงกระเพื่อมในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
2 ตุลาคม 2564
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage