"...ถ้าการเมืองอยู่ในระบบอำนาจ ไม่อยู่ในระบบนโยบาย ก็จะเฉไฉบิดเบือนไปจากความเก่งและความดี ไม่สามารถก่อประโยชน์แก่บ้านเมืองได้อย่างแท้จริง ประชาชนเบื่อหน่ายและนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองบ่อยๆ..."
.................
องค์ประกอบที่ 4 สร้างหน่วยทางสังคมแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล (ชุมชนเข้มแข็ง)
ร่างกายมนุษย์เป็นระบบที่ดีที่สุดในจักรวาล มีองค์ประกอบอันหลากหลายและซับซ้อนสุดประมาณ แต่มีบูรณภาพและดุลยภาพ ทำให้สุขภาพดีและอายุยืน ร่างกายมีหน่วยย่อยพื้นฐาน คือ เซลล์ ชีวิตเริ่มจากเซลล์เซลล์เดียว แต่ต้องมีความถูกต้องทั้งหมด จึงสามารถแบ่งตัวและวิวัฒน์ขึ้นมาเป็นร่างกายที่มีใจครองอันวิจิตร และมีคุณสมบัติอันมหัศจรรย์
สังคมมนุษย์ก็ควรเลียนแบบร่างกาย คือ มีหน่วยย่อยพื้นฐานประดุจเซลล์
ชุมชนขนาดเล็ก ควรเป็นหน่วยย่อยพื้นฐานของสังคม
มีประชากรประมาณ 500 – 1,000 คน ที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันประดุจญาติ ทุกคนมีส่วนร่วมในกิจการของชุมชน จึงเป็นประชาธิปไตยทางตรงไม่ผ่านการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยชุมชนจึงเป็นประชาธิปไตยที่มีคุณภาพสูง เพราะไม่มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง สภาชุมชนประกอบด้วยคนทั้งชุมชนเป็นประดุจรัฐสภา สภาผู้นำชุมชนประกอบด้วยผู้นำตามธรรมชาติในชุมชนประมาณ 40 – 60 คน ผู้นำตามธรรมชาติผุดบังเกิด (emerge) ขึ้นเองจากการทำงานร่วมกัน เป็นคนที่มีคุณสมบัติ 5 อย่างคือ (1) เห็นแก่ส่วนรวม (2) เป็นคนสุจริต (3) เป็นคนมีสติปัญญาสูง (4) เป็นคนที่สื่อสารเก่ง (5) เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป
ผู้นำตามธรรมชาติจึงมีคุณภาพสูงกว่าผู้นำโดยการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง สภาผู้นำชุมชนทำหน้าที่เป็นองค์กรจัดการ หรือ ครม.ของชุมชน ประชาธิปไตยชุมชนไม่ใช่ประชาธิปไตยที่ต่อสู้แย่งชิงอำนาจ และใช้เงินเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์เหมือนประชาธิปไตยระดับชาติ ซึ่งเป็นประชาธิปไตยทางอ้อมหรือผ่านตัวแทน
ประชาธิปไตยชุมชนจึงเป็นประชาธิปไตยสมานฉันท์ และประชาธิปไตยอรรถประโยชน์ ไม่ใช่ประชาธิปไตยเชิงอำนาจและผลประโยชน์
สภาผู้นำชุมชนและสภาชุมชน หรือสภาประชาชนร่วมกันพัฒนาชุมชนอย่างบูรณาการที่ 8 มิติ เชื่อมโยงอยู่ในกันและกันคือ
เศรษฐกิจ – จิตใจ – สังคม – สิ่งแวดล้อม – วัฒนธรรม – สุขภาพ – การศึกษา - ประชาธิปไตย
อะไรที่ดีและถูกต้องชุมชนก็ช่วยกันทำได้ทุกอย่าง เกิดเป็นชุมชนอยู่ดีมีสุขและงดงาม ที่ทุกคนมีบ้านอยู่ มีอาหารกิน มีครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกันจากโรคระบาด และภยันตรายต่างๆ มีความเจริญทางจิตใจ มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์
ชุมชนขนาดเล็กเป็นเหมือนเซลล์ของร่างกาย ที่หลายๆ เซลล์รวมกันเป็นอวัยวะและระบบต่างๆ ชุมชนขนาดเล็กหลายชุมชนรวมกันเป็นสังคมขนาดกลาง ขนาดใหญ่ มีความซับซ้อนขึ้นไปตามลำดับ
ชุมชนจึงเป็นฐานของพระเจดีย์ หรือฐานของประเทศ
ในเมื่อ “ชุมชนเข้มแข็ง” เป็นฐานของประเทศ จึงเป็นฐานของทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกระบบ หรือเส้นทางของการพัฒนา จึงต้องเชื่อมหรือเอาชุมชนเข้มแข็งเป็นตัวตั้ง ดังในรูปที่ 3
องค์ประกอบที่ 5 ระบบต่างๆ ที่เชื่อมโยงฐาน คือ ชุมชน กับยอด คือ ความเป็นธรรม
เรามียอดพระเจดีย์ คือ ความเป็นธรรม อันมีองค์ 3 คือ
• การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลเป็นสิ่งสูงสุด
• การตื่นรู้สู่จิตสำนึกใหม่
• พลังพลเมืองที่ตื่นรู้และกัมมันตะ
และมีฐานพระเจดีย์ คือ ชุมชนเข้มแข็ง องค์พระเจดีย์ต้องเชื่อมระหว่างฐานกับยอด องค์พระเจดีย์ หมายถึง ระบบต่างๆ เช่น
• ระบบการเมืองการปกครอง
• ระบบเศรษฐกิจ
• ระบบการศึกษา
• ระบบสุขภาพ
• ระบบความยุติธรรม
เป็นต้น
องค์พระเจดีย์จึงบูรณาการเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งองค์ ไม่ต่างคนต่างไปอย่างสะเปะสะปะเรียกว่า มีบูรณภาพอันนำไปสู่ดุลยภาพ
องค์ประกอบที่ 6 ระบบนโยบายสาธารณะที่การเมืองเป็นส่วนหนึ่ง
นโยบายเป็นปัญญาสูงสุดของชาติใดชาติหนึ่ง เพราะมีผลกระทบทุกองคาพยพของประเทศ ถ้าเข้าใจว่าระบบนโยบายมีองค์ประกอบอะไรบ้าง แล้วสร้างองค์ประกอบให้ครบทุกส่วน ประกอบเข้าด้วยกัน ประดุจเมื่อประกอบองค์ประกอบของเครื่องบินครบระบบเครื่องบินก็บินได้ ถ้าไม่ครบก็บินไม่ได้
ที่นโยบายต่างๆ ส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะประกอบเครื่องไม่ครบ ทำเป็นส่วนๆ หรือเป็นบางส่วน
ฉะนั้น การทำความเข้าใจระบบนโยบายให้ครบวงจรจึงมีความสำคัญยิ่ง ถ้าทำให้ครบวงจร 12 ขั้นตอน ก็ไม่มีทางที่จะไม่สำเร็จ 1 ศาสตร์แห่งการทำให้สำเร็จนี้เรียกว่า สัมฤทธิศาสตร์ (Delivery Science) ในการขับเคลื่อนระบบนโยบายครบวงจรนั้น ทุกภาคส่วนของสังคมจะมีส่วนร่วม จึงเรียกกระบวนการนี้ว่า P4 (Participatory Public Policy Process) หรือ “กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม” ซึ่งเป็นประชาธิปไตยทางตรง และเป็นประชาธิปไตยทางปัญญา
การเมืองก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบนโยบาย คือ มีบทบาทอยู่ตรงตัดสินใจทางนโยบาย ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐสภาและครม. ถ้าการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย ก็จะเป็นการเมืองที่มีคุณภาพ และนำไปสู่ผลดีแก่บ้านเมืองอย่างสูงสุด นักการเมืองทั้งหมดจะกลายเป็นคนเก่งและคนดี
แต่ถ้าการเมืองอยู่ในระบบอำนาจ ไม่อยู่ในระบบนโยบาย ก็จะเฉไฉบิดเบือนไปจากความเก่งและความดี ไม่สามารถก่อประโยชน์แก่บ้านเมืองได้อย่างแท้จริง ประชาชนเบื่อหน่ายและนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองบ่อยๆ
มีความพยายามปฏิรูปการเมืองกันมาหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ เพราะทำกันอยู่ในระบบการเมืองไม่ได้ทำระบบนโยบาย เพราะฉะนั้นการพัฒนาการเมืองให้ดีขึ้น จึงอยู่ที่การพัฒนาระบบนโยบายให้ครบวงจร และการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของระบบนโยบาย
ฉะนั้นการพัฒนา P4 หรือกระบวนการนโยบายแบบมีส่วนร่วม จึงเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศทั้งหมด ทำให้ประเทศข้ามภูเขาที่ขวางกั้น ๙ ลูก ไปสู่ประเทศไทยยุคใหม่ที่เป็นประเทศไทยยุคศรีอาริยะ
คนไทยทุกภาคส่วนจึงควรสนใจ P4 และมีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตยทางปัญญานี้
องค์ประกอบที่ 7 ระบบการสื่อสารที่ทำให้คนไทยรู้ความจริงอย่างทั่วถึง
คนไทยส่วนหนึ่งควรทำความเข้าใจความจริงประเทศไทยอย่างแจ่มแจ้ง และทำการสื่อสารให้คนไทยรู้ความจริงอย่างทั่วถึง การรู้ความจริงทำให้ทำถูกต้องได้
ความจริงประเทศไทยก็เหมือนกับอริยสัจ 4 คือ
1. ความทุกข์หรือปัญหาของประเทศคืออะไร
2. สมุทัยหรือสาเหตุของความทุกข์ของประเทศคืออะไร
3. นิโรธการระงับเหตุของทุกข์ของประเทศคืออะไร
4. มรรควิธีที่จะนำไปสู่การระงับเหตุแห่งทุกข์ของประเทศคืออย่างไร
เมื่อคนไทยรู้ความจริงโดยทั่วถึง ก็จะเกิดปัญญาและพากันออกจากทุกข์ได้
ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์มาแล้วว่า อำนาจพาชาติออกจากทุกข์ไม่ได้ ต้องใช้ปัญญาที่เข้าถึงความจริง เพราะความจริงมีชัยเหนือทุกสิ่ง
ระบบการสื่อสารที่ดีจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถบินข้ามภูเขาที่ขวางกั้นทั้ง ๙ ลูก ขอให้เพื่อนคนไทยช่วยกันทำเรื่องนี้ให้ได้
4 วิธีที่คนไทยทั้งประเทศจะร่วมกัน เอาชนะวิกฤตการณ์คลื่นลูกที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ได้กล่าวมาแต่ต้นว่า วิกฤตการณ์คลื่นลูกที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นวิกฤตการณ์ที่ยากสุดๆ ไม่มีใครหรือสถาบันใดโดยเอกเทศที่จะแก้ไขได้ มีทางเดียวคือคนไทยทั้งประเทศต้องร่วมกัน
เครื่องมือที่เอาชนะคือความจริง ซึ่งเปรียบประดุจอริยสัจ 4 ทางสังคม ได้กล่าวถึง ทุกข์สมุทัย นิโรธ และมรรควิธี ๗ ประการ ไปแล้ว
วิธีที่คนไทยทั้งประเทศจะมีส่วนร่วมเอาชนะวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ของประเทศไทย คือ
1. คนไทยทุกภาคส่วนของสังคมรวมตัวร่วมคิดร่วมทำเป็นกลุ่มๆ เต็มประเทศ ต่างกลุ่มมีอิสระ แต่อาจเชื่อมโยงกัน และคนหนึ่งอาจอยู่ในหลายกลุ่ม เพื่อทำความเข้าใจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรคของประเทศไทย
2. จัดการประชุมสมัชชาแห่งชาติที่กลุ่มทั้งหมดดังกล่าวในข้อ 1 มาร่วมประชุม โดยมีสมาชิกรัฐสภาและครม.เข้าร่วมประชุมด้วย
อะไรที่เป็นมติของสมัชชาให้รัฐสภา ครม. และส่วนที่เกี่ยวข้องรับไปปฏิบัติ
ที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติควรสร้างกลไกติดตามและประเมินผล คือ
1) คณะทำงานติดตามการปฏิบัติ เพื่อช่วยแก้ไขอุปสรรคขัดข้องให้ผู้ปฏิบัติสามารถปฏิบัติได้
2) คณะทำงานประเมินผลการปฏิบัติตามมติของที่ประชุมสมัชชา ผลการประเมินจะเป็นข้อมูลย้อนกลับไปทำให้กระบวนการทั้งหมดดีขึ้นเรื่อยๆ
กระบวนการสมัชชาแห่งชาติเพื่อพัฒนาประเทศไทยนี้ เป็นการที่ทุกภาคส่วนของสังคมมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยรวมตัวร่วมคิดร่วมทำเป็นกลุ่มๆ ทำให้ปัจจัยนำเข้าทางปัญญาเป็นไปอย่างกว้างขวางที่สุด รัฐสภาและครม.จะทำงานง่ายขึ้น เพราะมีสังคมทั้งหมดเข้าร่วม เป็นประชาธิปไตยทั้งทางตรงและทางอ้อมเข้ามาบรรจบกัน
กระบวนการนี้ เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (Interactive learning through action) ที่ทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วม เป็นกระบวนการที่ยิ่งทำ
• ยิ่งรักกันมากขึ้น
• ยิ่งเชื่อถือไว้วางใจกันมากขึ้น (Trust)
• ยิ่งฉลาดมากขึ้นและฉลาดร่วมกัน
• เกิดปัญญาร่วม (Collective wisdom) อัจฉริยภาพและนวัตกรรม
• เป็นทั้งพลังทางสังคม พลังทางปัญญา และพลังทางการจัดการ ทำให้เอาชนะสิ่งยากไปสู่ความสำเร็จ
• คนทั้งหมดที่ร่วมกันมีความสุขประดุจบรรลุนิพพาน
สมัยปัจจุบันมีปัญหาที่ซับซ้อนและยากมากกว่าครั้งโบราณ
คนแต่ละคนเดี่ยวๆ เมื่อเจอปัญหาที่ยากจะเหมือนเป็นคนโง่
แต่เมื่อรวมกลุ่มและเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ จะเหมือนอัจฉริยะ ที่เรียกว่าอัจฉริยภาพกลุ่ม (Group genius) และเกิดความสุขประดุจบรรลุนิพพาน
เรียกว่าทั้งฉลาดด้วย ถูกด้วย และสำเร็จด้วย
การรวมตัวร่วมคิดร่วมทำจึงเป็นโลกอนาคต อปริหานิยธรรมหรือธรรมะเพื่อความเจริญถ่ายเดียว ที่พระพุทธองค์ตรัสสอนเป็นอันมากบนเขาคิชฌกูฏ ก็คือธรรมแห่งการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ อีกชื่อหนึ่งของการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำคือความเป็นชุมชน เมื่อใดมีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำเรียกว่ามีความเป็นชุมชน จะเป็นชุมชนติดพื้นที่หรือไม่ก็ได้ ชุมชนเข้มแข็งจึงเป็นโลกอนาคต
5 ขอมอบไว้เป็นมรดก
เมื่อเขียนเรื่องนี้ผู้เขียนอายุ 90 ปีแล้ว คงจะอยู่ไม่ทันเห็นประเทศไทยยุคศรีอาริยะ ถ้าคนไทยมีวิธีอื่นใดที่จะเอาชนะวิกฤตการณ์ชาติ ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้ายังไม่พบวิธีที่ทำให้สำเร็จ ขอให้ช่วยกันศึกษาบทความนี้ที่ชื่อว่า “วิธีที่คนไทยจะเอาชนะวิกฤตการณ์คลื่นลูกที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์”
ขอมอบไว้เป็นมรดกและเครื่องระลึกถึงกัน
ขอให้เพื่อนคนไทยทั้งหมดมีความสวัสดี
1 ดู หนังสือ คู่มือขับเคลื่อนระบบนโยบายครบวงจร 12 ขั้นตอนสู่ความสำเร็จ (คู่มือสัมฤทธิศาสตร์พาชาติออกจากวิกฤต)