"...พลังร่วมด้านการบริหารขยะจะแปรและปลุกได้อีกหลายพลังในสังคม ในชุมชน และในราชการตลอดจนหน่วยงาน ให้ลุกขึ้นมาทำเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย หลัง(และระหว่าง)โควิด รักษาสิ่งแวดล้อมโลก และทำให้ประชาชนไทยสามารถยืดอกในการการร่วมแก้ไข ปัญหา ภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง หรือ Climate Change ที่กำลังต้องการ Climate Action ที่ยิ่งใหญ่กว่าได้ต่อๆไป..."
.........................................
ความตอนที่แล้ว บอกว่าตอนที่เริ่มปี2564 มีการแจ้งความประสงค์ขอนำเข้าเศษพลาสติกเข้ามาอีก ทั้งที่ตามแผนที่เคยประกาศ กำหนดว่าหลังกันยายน 2563 ไทยจะหมดระยะการผ่อนผันการอนุญาตนำเข้าเศษพลาสติกแล้วก็ตาม
มาเล่ากันต่อครับ
คณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเลคทรอนิคส์ จึงให้กรมควบคุมมลพิษเสนอมาตรการมาให้พิจารณา
อันนี้น่าจะอนุมานพอได้มั้ยครับว่า การมีมติแบบนี้ เท่ากับบอกใบ้กลายๆว่า
ระยะเวลาผ่อนผันที่สิ้นสุดลงไปแล้วนั้น ยังไม่เป็นเด็ดเป็นขาดเสียแล้ว
และยังมีมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ไปร่วมหารือเพื่อจะได้ออกระเบียบกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการอนุญาตให้นำเข้าเศษพลาสติกเข้ามาในราชอาณาจักร อีกด้วย!!
จากนั้น เวลาก็ล่วงมาจนกลางปี2564 ซึ่งโควิดสายพันธุ์เดลต้า อาละวาดหนัก กวาดข่าวทุกข่าวหล่นหายไปจากการรับรู้ของคนทั่วไป
ในช่วงนี้เอง กรมควบคุมมลพิษได้ออกประกาศกรมควบคุมมลพิษ โดยอ้างอิงอำนาจการบริหารงานตามกฏกระทรวงที่ใช้จัดตั้งกรม เพื่อชี้ว่า ความหมายของคำว่าขยะพลาสติก กับความหมายของคำว่า เศษพลาสติกนั้น ต่างกัน
ขยะพลาสติก หมายความว่า ชิ้นงาน หรือชิ้นส่วนพลาสติกที่ใช้งานแล้วหรือไม่ก็ตามจนถูกนำไปทิ้ง หรือไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไปหรือเสื่อมสภาพจนไม่สามารถใช้งานได้ หรือมีการปนเปื้อนกับขยะประเภทอื่นหรือวัสดุประเภทอื่น
ส่วนเศษพลาสติกนั้น หมายความว่า เศษ เศษตัดและของที่ใช้ไม่ได้ที่เป็นพลาสติกไม่ว่าใช้แล้วหรือไม่ก็ตาม ตามกฏหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ประเภท 39.15
ซึ่งก็น่าจะช่วยให้สังคมแยกแยะของสองประเภทนี้ได้ดีขึ้น
ผมได้มีโอกาสสื่อสารกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทาวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมท่านปัจจุบันคือท่านวราวุธ ศิลปอาชา ซึ่งนับเป็นนักบริหารหนุ่มที่มีทั้งความรู้ในฐานะบัณทิตวิศวกรรมศาสตร์ ท่านจึงเข้าใจโครงสร้างของโพลีเมอร์ของพลาสติก เข้าใจว่าอะไรบ้างที่จะกลายเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ท่านมีดีกรีพ่วงด้วยปริญญาโททางบริหารธุรกิจจากสหรัฐ จึงสามารถเข้าใจวิธีการทางธุรกิจ การตรวจสอบบัญชีของธุรกิจ และผมเคยได้เห็นภาพการออกลุยงานสนามอย่างแข็งขัน มีทักษะการสื่อสารได้ดี ท่านได้ให้ความมั่นใจว่า ท่านเห็นประเด็นของเรื่องนี้ชัดและตั้งใจจะลุยต่อเนื่องให้ผลลัพธ์ออกมาในทางที่จะต้องสอดรับกับคำมั่นที่ท่านบอกว่า
"เราต้องไม่เป็นที่ทิ้งขยะของประเทศอื่น"
เมื่อติดตามรายงานจากอ่านในสื่อมวลชน ท่านยังได้กำชับถึงความมุ่งมั่นจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบ BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นอนาคตที่สำคัญสำหรับการมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ UN Sustainable Development Goals
อันนี้น่าอุ่นใจขึ้น
จากนั้นในวันเดียวกัน ท่านได้ให้กรมควบคุมมลพิษ จับมือกับกรมศุลกากร ทหาร กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน กอรมน. ลุยสำรวจตรวจและปรากฏว่าพบการสำแดงเท็จหลายรายการที่ท่าเรือแหลมฉบัง ที่ชลบุรี มีการเปิดตู้คอนเทนเนอร์สินค้าพบว่าเป็นขยะเทศบาลเฉยๆเลย
เข้าเกณฑ์การฝ่าฝืน พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า 2522 ของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีประกาศกระทรวงพาณิชย์ในปี 2562 โดยรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ ชุติมา บุณยประภัศร ที่กำหนดว่า ขยะเทศบาลเป็นสินค้าต้องห้าม’’นำเข้า’’และ’’ห้ามนำผ่าน’’ด้วย
ดังนั้นนี่จึงเป็นอีกเครื่องมือทางกฏหมายที่จะใช้ลุยสู้กับปัญหาการนำเข้าสิ่งที่อาจจะเป็นมลภาวะต่อแผ่นดินไทยได้อีกชิ้น ซึ่งขยะพลาสติก และพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าเสื่อมสภาพเป็นซากก็อาจพอได้อาศัยนำมาใช้สกัดการเข้ามาได้อีกทาง
ขอแค่เจ้าหน้าที่แข็งขันในการตรวจตรา และกล้าลุยแบบเข้มๆ
หูตาจมูกไว
รายงานหน่วยเหนือและประชาสังคมสม่ำเสมอ
และกรณีที่แหลมฉบังนี้ ท่านอธิบดีกรมควบคุมมลพิษเปิดเผยด้วยว่า จะบังคับส่งขยะลักลอบเหล่านี้กลับไปยังประเทศแหล่งกำเนิดที่ส่งออกมา
อันนี้ถูกใจชาวบ้านเลย….ขอเจริญพร
ไม่นานมานี้ เครือข่ายภาคประชาสังคมและสามาคมซาเล้งมายื่นเรื่องที่วุฒิสภา เพื่อแสดงเจตจำนงที่จะขอเสียงสนับสนุนให้ช่วยคัดค้านการที่จะไม่ยุติการนำเข้าขยะโดยอ้างว่าเป็นเศษพลาสติกที่ต้องใช้ในฐานะวัตถุดิบ
ผมเรียนรายงานท่านพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว
ท่านนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมาธิการในวันถัดมา ที่ประชุมเป็นห่วงใยเรื่องนี้ และมีมติมอบให้ คณะอนุกรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อมที่มี ผศ. ดร.บุญส่ง ไข่เกษ เป็นประธานอนุกรรมาธิการและคณะอนุกรรมาธิดารที่ล้วนแต่เป็นระดับอดีตปลัดกระทรวง ระดับอธิบดีและนักวิชาการที่แม่นยำคร่ำหวอดอยู่กับเรื่องมลพิษมายาวนานติดตามเรื่องนี้ต่ออย่างเป็นทางการ
นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่จะได้อีกทีมเก่งๆเข้ามาช่วยดูแลเรื่องร้อนเรื่องนี้ ให้ทันท่วงที
ข้อมูลที่ผมเล่ามานี้ ผมหวังใจว่าจะช่วยให้การดำริพิจารณาของหน่วยงาน ผู้บริหารกรมกอง กระทรวง และคณะกรรมการใดๆของรัฐได้ตระหนักว่า
ไม่ว่ามติของคณะอนุกรรมการ ชุดที่มีมติให้ขยายการผ่อนผันให้ยังคงนำเข้าขยะ เอ๊ย เศษพลาสติกมาเป็นวัตถุดิบอุตสาหกรรมจะถูกเสียงข้างมากลากพาไปมายังไงก็ตาม
แต่ในทางกฏหมายบริหารราชการแผ่นดิน มันยังต้องถูกทบทวนได้
และมติอนุกรรมการจะมีผล ก็ต้องนำไปผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการแม่ คือคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่มีระดับนายกที่มอบรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเสียก่อน
และในบางประเด็นที่ต้องไปออกกฏกระทรวงหรือแก้ไขหลักการอะไร ก็จะต้องอาศัยมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมส่งไปยังครม.
อันเป็นองค์กรสูงสุดของฝ่ายบริหารมิใช่หรือครับ?
ดังนั้น ยังไงเสีย
ถ้าตั้งใจ
ต้องเบรคกันทัน!
ทบทวน หรือยับยั้งเถอะครับ
1.ถ้าเราจะอยากมีรายได้จากการส่งออก เราก็ต้องไม่ยอมให้มีการเอาของอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมเข้ามาทำกิจกรรมรีไซเคิลที่สุ่มเสี่ยงในบ้านเรา โดยทำราวกับว่าเขามาสร้างเศรษฐกิจให้เราท่าเดียว แต่ควรพิจารณาถึงกระบวนการทำกิจกรรมของเขา ว่าพูดจริงทำจริงอย่างที่ยื่นขอหรือไม่
2.และแม้จะทำตามที่แจ้งไว้ได้ ก็ยังต้องพึงพิจารณาว่า สิ่งที่จะทำต่อไปนั้น ไปเบียดเบียนโอกาสของชุมชนไทยและกลไกตลาด กลไกราคาของเศษวัสดุเหลือใช้ ชนิดต่างๆของไทยแค่ไหน มันมีผลให้เพิ่มภาระ หรือลดภาระต่อเป้าหมายการจะทำประเทศไทยให้เป็นสังคมขยะเป็นศูนย์หรือไม่
3.ถ้าจีนบีบจนเจ้าของทุนกิจการอันขมุกขมัวนี้ต้องกระเจิงออกมา ถ้ากิจกรรมแบบนี้ไม่ได้ไปยุโรป ไม่ได้อยู่ต่อในอเมริกา แต่มาที่ภูมิภาคนี้ แถมหลายประเทศในภูมิภาคนี้ก็ไม่ต้อนรับแล้วไทยยังอ้าแขนรับไว้ ย่อมน่าคิดว่าเราแน่วแน่ต่อเป้าหมายการมีสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดีจริงแล้วหรือ
4.ถ้ารัฐคิดว่าข้อเรียกร้องของฟากอุตสาหกรรมนี้พยายามชี้ว่า เศษพลาสติกในบ้านเรามีไม่พอหรือสะอาดไม่พอสำหรับกระบวนการ รีไซเคิลเพื่อนำไปใช้ใหม่ ก็ควรที่จะหันมาช่วยเสริมประสิทธิภาพการจัดการร่วมกัน เพื่อจะได้ทำให้มดงานในสนามที่ช่วยลดกองภูเขาขยะต่างๆ ยังทำอาชีพที่อุดมไปด้วยความไม่แน่นอนของพวกเขาได้รับการคุ้มครองพัฒนาดียิ่งขึ้น
เพราะเขาอยู่ได้ สิ่งแวดล้อมเราก็จะเสียหายน้อยลง
5.ถ้าวัตถุดิบเศษพลาสติกประเภทใดที่มีไม่พอจริงๆในการจะใช้สร้างธุรกิจที่ว่าก็ควรพิจารณาให้นำเข้ามาในรูปเม็ดพลาสติกสำเร็จรูปแล้ว ซึ่งแม้มีราคาสูงกว่าก็จริง แต่จะขจัดปัญหาความเป็นไปได้ที่จะมีการนำเข้ามาเพื่อทอดทิ้ง หรือทำลายในบ้านเรา
6.เขตปลอดอากรก็ดี เขตประกอบการเสรีก็ดี น่าจะต้องมีกระบวนการกำกับที่ใช้มาตรฐานการมีส่วนร่วมที่มีความรอบด้านเพียงพอ มีความโปร่งใสเพียงพอโดยไม่ไปสร้างภาระอันไม่จำเป็นหรือเกินสมควรต่อทั้งผู้ลงทุนและสังคมไทย รวมทั้งต่อสิ่งแวดล้อมไทย
7.กราฟที่แสดงสถิติการนำเข้ามาซึ่งสิ่งที่อ้างว่า เป็น "เศษพลาสติก’" ซึ่งนับว่าสุ่มเสี่ยงยิ่งที่จะถูกตบตาสวมรอยด้วย "ขยะพลาสติก" แต่พอไปดูกราฟการส่งออกของสิ่งที่เป็นผลผลิตจากการรีไซเคิลนี้แล้ว ควรเห็นความน่าสงสัยได้อย่างรวดเร็ว
ว่าเป็นไปได้หรือ ที่การนำเข้าสิ่งที่เรียกว่า "เศษพลาสติก" มากขึ้นอย่างพรวดพราด สูงปรี้ด ในห้วงปีที่ผ่านมา จะมีวิธีรีไซเคิลก้าวหน้าอะไรยังไงขนาดนั้นหรือ ที่ถึงขนาดที่ทำให้น้ำหนักของที่ส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักรมีน้ำหนักเหลือน้อยขนาดนั้น
มีการเล่นกลซ่อนอะไรไปหรือไม่ ถ้าวันข้างหน้ามีกรณีแบบนี้บ่อย เราอาจถูกกีดกันทางการค้า หรือให้เรทติ้งเกี่ยวกับการลงทุนที่ถูกตลาดนานาชาติตั้งแง่ได้ ซึ่งย่อมไม่คุ้มกัน
8.น่าจะมีการสืบเสาะป้องกันในทางลับด้วย ว่าต้องไม่ให้มีผู้ใดมีนอกในด้านผลประโยชน์อย่างเด็ดขาด
9.เรื่องขยะ เป็นเรื่องที่สร้างผลเสียหายได้มาก และได้นาน ยากจะแก้ไข การกันไว้ให้มากกว่าแก้ เป็นวัฒนธรรมของสากลและประชาคมคนไทยยอมให้ความสำคัญและร่วมมือแข็งขันขึ้นเรื่อยๆ
จึงนับเป็นทุนทางสังคมที่ดีมาก
การสร้างความโปร่งใสไว้วางใจเปิดเผยข้อมูลแก่กันและกันจะเป็นรากฐานที่เราจะสามารถใช้ต่อยอดในการพากันไปทำเรื่องยากขึ้นกว่านี้ไปได้อีกมาก
พลังร่วมด้านการบริหารขยะจะแปรและปลุกได้อีกหลายพลังในสังคม ในชุมชน และในราชการตลอดจนหน่วยงาน ให้ลุกขึ้นมาทำเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย หลัง(และระหว่าง)โควิด รักษาสิ่งแวดล้อมโลก และทำให้ประชาชนไทยสามารถยืดอกในการการร่วมแก้ไข ปัญหา ภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง หรือ Climate Change ที่กำลังต้องการ Climate Action ที่ยิ่งใหญ่กว่าได้ต่อๆไป
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา
รองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา