ยกเลิกตำรวจติดตามที่รับใช้นายตำรวจบางประเภทโดยไม่จำเป็น ให้ระบุความจำเป็นของนายตำรวจที่ติดตามอารักขาบุคคลต่างๆ (ที่มิใช่พระบรมวงศานุวงศ์) ให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียกำลังพลในการให้บริการ ช่วยเหลือประชาชน ที่มีอยู่มากมาย รวมทั้งยกเลิกธรรมเนียมปฏิบัติที่ยอมให้ตำรวจที่เกษียณแล้วสามารถมีตำรวจชั้นผู้น้อยในราชการติดตามรับใช้ ขอให้พระราชบัญญัติฉบับนี้เน้นการ “รับใช้ประชาชน” เป็นสำคัญ ไม่ใช่ “รับใช้นาย”
....................................
เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 นายนิกร วีสเพ็ญ ประธานกรรมการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ได้ทำจดหมายเปิดผนึกกรณี การซ้อมทรมานผู้ต้องหาจนเสียชีวิต ถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สำเนาถึง ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เนื้อหาจดหมายระบุว่า ตามที่ปรากฏข่าวในสื่อมวลชนกรณีผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ เรียกเงินจากผู้ต้องหาคดียาเสพติด เพื่อมิให้ถูกดำเนินคดี มีการใช้ถุงดำครอบหัวจนขาดอากาศหายใจ เสียชีวิตในเวลาต่อมา แต่มีการแจ้งกับแพทย์ประจำโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ว่า ผู้ต้องหาที่เสียชีวิตเสพยาเสพติดเกินขนาด แพทย์นิติเวช ทำบันทึกสาเหตุการตาย ในหนังสือรับรองการตาย ระบุว่า “สันนิษฐานว่า พิษจากสารแอมเฟตามีน” ต่อมาปรากฏคลิปเหตุการซ้อมทรมานผู้ต้องหาภายในห้องทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจเผยแพร่ตามโซเชียลมีเดียออกสู่สาธารณชนทำให้เห็นพฤติกรรมของกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ร่วมกระทำความผิดในครั้งนี้อย่างชัดเจนนั้น
ข้อเท็จจริงที่สรุปได้จากคลิปเหตุการซ้อมทรมานผู้ต้องหาจนเสียชีวิตในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า
1) หน่วยงานตำรวจซึ่งเป็นต้นธารแห่งกระบวนการยุติธรรม ยังเป็นหน่วยงานที่ยังมีการใช้ความรุนแรงการซ้อมทรมานผู้ต้องหาในรูปแบบต่างๆ จนกลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กร หรือเป็นเรื่องปกติตั้งแต่ระดับชั้นหัวหน้าหน่วยงานไปจนถึงระดับผู้ปฎิบัติงานรองลงมา ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 28 อีกทั้งพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงที่เป็นสาเหตุแห่งการเสียชีวิตของผู้ต้องหาเพื่อให้ตนเองพ้นความผิดโดยอ้างว่า มีการเสพยาเสพติดเกินขนาด
2) โรงพยาบาลนครสวรรค์ประชารัฐ ซึ่งหน่วยงานแพทย์ทางด้านนิติเวช ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ค้นหาความจริงจากศพของผู้เสียชีวิต และนำความจริงเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแต่การออกหนังสือรับรองการตายที่แพทย์ออกให้ หลังการผ่าพิสูจน์ทันที โดยอ้างเหตุผลเพื่อให้ญาติไปทำมรณบัตร นั้น เป็นการจัดทำพยานหลักฐานไม่ตรงตามข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ต่อสาธารณะชน จนสร้างความเคลือบแคลงส่งสัยต่องานนิติเวชและจรรยาบรรณแพทย์และอาจเอื้อประโยชน์ต่อผู้กระทำความผิดในกระบวนการยุติธรรม และสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้เสียชีวิต ด้วยการปกป้องความยุติธรรมให้แก่ประชาชนได้
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เห็นว่าการกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจในครั้งนี้ส่งผลต่อความรู้สึก ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อสถาบันตำรวจในประเทศไทยเป็นอย่างมาก อดีตที่ผ่านมา องค์กรตำรวจได้ชื่อว่า เป็นหน่วยงานที่มีการทรมานผู้ต้องหาในหลายรูปแบบตั้งแต่การตั้งแต่การใช้หนังยางดีดอวัยวะเพศ การข่มขืนผู้ต้องหาหญิง การซ้อม การทุบตี การช๊อตด้วยไฟฟ้า การราดน้ำลงบนใบหน้าทำให้สำลักน้ำ ฯลฯ แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดแจ้งเหมือนกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ ทำให้เห็นว่าหน่วยงานตำรวจยังไม่ได้รับการแก้ไขปรับปรุงให้เป็นหน่วยงานที่ยอมรับในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ
ในการนี้ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ขอเรียกร้องต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดังนี้
1) ขอให้เร่งรัดดำเนินการปฏิรูปตำรวจให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งโครงสร้าง กฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆที่หลายฝ่ายนำเสนอเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี รวมทั้งขอความร่วมมือกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติทุกท่านร่วมกันร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ในขณะนี้ โดยคำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชนเป็นสำคัญ และตำรวจไทยต้องเป็นที่พึ่งของประชาชน ได้อย่างแท้จริง
2) งานสอบสวนเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการยุติธรรม จำเป็นต้องมีพนักงานอัยการเข้ามาร่วมตรวจสอบถ่วงดุล รับรู้การทำงานสอบสวน เห็นพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีแต่เริ่มแรก และทั้งกระบวนการ เพื่อป้องกันการซ้อม ทรมาน หรือทำให้บุคคลสูญหาย ทำลายหลักฐาน หรือการเปลี่ยนแปลงรูปคดี ทิ้งคดี การค้าคดีความ ข่มขู่ รีดไถ
3) จำเป็นต้องปลูกฝังแนวคิดสิทธิมนุษยชนให้กับตำรวจทุกคนอย่างจริงจัง ยอมรับแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อให้ตำรวจไทยเคารพสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้ต้องหาทุกคนไม่ว่าคนๆ นั้นจะกระทำผิดหรือไม่ ก็ตาม
4) ขอให้คัดเลือกบุคคลที่มีแนวคิด และวิสัยทัศน์ในการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง พัฒนาองค์กรตำรวจมาเป็นผู้นำขององค์กรตำรวจในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติลงมาถึงระดับสถานีตำรวจในชุมชน
5) ให้มีการตรวจสอบมาตรฐานการทำงานของหน่วยงานแพทย์นิติเวชทั่วประเทศว่าได้มีการตรวจ ชันสูตรพลิกศพ และรายงานผลการตรวจอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ เพื่อให้แพทย์ปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงจรรยาบรรณแพทย์ และปกป้องความยุติธรรมให้แก่ประชาชน
6) ขอให้เร่งรัดในการออก ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ซึ่งยังไม่ถูกนำเข้าพิจารณาในรัฐสภาโดยเร็ว
จึงเรียนมายังท่านเพื่อโปรดดำเนินการปฏิรูปตำรวจโดยอย่างเร่งด่วนและทันที
@ ข้อเสนอการปรับโครงสร้างตำรวจเพื่อรับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง
ความจำเป็นและเหตุผล
ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาประชาชนไทยส่วนใหญ่และสื่อมวลชนทุกแขนงเรียกร้องให้รัฐบาลและสมาชิกรัฐสภาทำการปฏิรูป เปลี่ยนแปลงองค์กรผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ครั้งใหญ่ให้เสร็จสิ้นในรัฐบาลชุดนี้ การตรา พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่จะเป็นการจุดประกายความหวังที่จะได้เห็นการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองอย่างมืออาชีพ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับประชาชนและเกิดความเป็นธรรมภายในวงการตำรวจกันเอง ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหยิบยกข้อเสนอของประชาชนที่ผ่านการศึกษากลั่นกรองจากการหารือถกเถียงกันมาหลายสิบเวที ให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เปลี่ยนระเบียบวิธีการปฏิบัติของตำรวจแบบเดิม เพื่อนำมาบังคับใช้ในการดูแลทุกข์สุขของประชาชนไทยและชาวต่างชาติที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทยอย่างเสมอภาคเท่าเทียม ในรอบระยะเวลาตั้งแต่มีกฎหมายตำรวจปี 2547 จนถึงปัจจุบัน (ปี 2564) ผ่านมา 17 ปี องค์กรตำรวจยังไม่สามารถ ตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาของสังคมได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณี ตำรวจก่ออาชญากรรม รับส่วย สินบนรายเดือน ไม่รับเรื่องร้องทุกข์ การล้มคดี การทำลายพยานหลักฐาน การยัดข้อหาประชาชน เป็นต้น จนเป็นปัญหาที่ร้ายแรงมากในขณะนี้
ดังนั้น จำเป็นต้องจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างตำรวจกับประชาชนใหม่ ปรับเปลี่ยนโครงสร้างที่รวมศูนย์อำนาจมากเกินไป จัดระบบให้ดีขึ้น ใช้ดุลพินิจให้น้อยลง ให้มีการตรวจสอบ ถ่วงดุล และให้ประชาชนในทุกระดับมีส่วนร่วม เพื่อให้กฎหมายฉบับใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปตำรวจ เกิดการเปลี่ยนแปลงทุกด้าน ดังนั้นสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) จึงจัดให้มีการศึกษา และประชุมสัมมนาทางวิชาการขึ้นเมื่อวันพุธ ที่ 24 มีนาคม 2564 ณ The Sukosol Bangkok กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาหลายภาคส่วน และมีข้อสรุปและข้อเสนอดังต่อไปนี้
1. กระจายอำนาจความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ไปสู่ระดับจังหวัดให้พนักงานตำรวจเป็นตำรวจจังหวัด (ตามดำริของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายก รัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2560 ที่ให้ตำรวจอยู่ประจำพื้นที่จังหวัด) ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อลดภาระงานความรับผิดชอบในส่วนกลางของ สตช. ให้การปฏิบัติหน้าที่ให้มีการโยกย้าย หรือแต่งตั้งตำรวจโดยคำนึงถึงภูมิลำเนาถิ่นที่อยู่เดิมของตำรวจเป็นสำคัญ เมื่อเลือกคนในท้องถิ่นมาเป็นตำรวจ จะมีความผูกพันเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของครอบครัว เพิ่มขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้คนในท้องถิ่นสามารถเข้าถึงการบริการของตำรวจอย่างแท้จริง ไม่ถูกปฏิเสธการร้องเรียน ละเลยความรับผิดชอบ เพราะตนเองยังต้องอยู่อาศัยในท้องถิ่นนั้นต่อไป หลีกเลี่ยงการถูกทวงถามไม่ได้การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ทำให้โรงพักเป็นจุดบริการที่จบได้ที่จุดเดียว (one stop service) และให้อำนาจกับคณะกรรมการไกล่เกลี่ยระดับอำเภอเข้าไปช่วยโรงพักตาม พ.ร.บ. ไกล่เกลี่ยปี 2562 อีกทั้งยังเรียกร้องตำรวจอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงโรงพักได้โดยปราศจากระบบชนชั้น
2. ลดชั้นบังคับบัญชาในโรงพักให้น้อยลง ให้การบังคับบัญชาสูงสุดอยู่ในระดับจังหวัด (ดังที่มีการปฏิบัติกันในประเทศญี่ปุ่น) เพื่อให้ตำรวจหันมาให้ความสำคัญกับประชาชนในฐานะผู้เสียภาษีที่เป็นผู้อุปการคุณอย่างแท้จริง สายการบังคับบัญชาที่สั้นลงจะช่วยลดการซับซ้อนในการทำงาน เพิ่มความรวดเร็วมีประสิทธิภาพมากขึ้น การปฏิบัติหน้าที่ระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา จำเป็นต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรมากขึ้น ไม่สั่งการโดยพลการ และเพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้โรงพักในแต่ท้องถิ่น ในการจัดการตนเองได้ระดับหนึ่ง เช่นการจัดซื้อจัดจ้าง หรือตัดสินใจเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้เอง แต่ละโรงพักควรมีฐานะ
เป็นนิติบุคคลได้ด้วย
3. ยกเลิกตำรวจติดตามที่รับใช้นายตำรวจบางประเภทโดยไม่จำเป็น ให้ระบุความจำเป็นของนายตำรวจที่ติดตามอารักขาบุคคลต่างๆ (ที่มิใช่พระบรมวงศานุวงศ์) ให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียกำลังพลในการให้บริการ ช่วยเหลือประชาชน ที่มีอยู่มากมาย รวมทั้งยกเลิกธรรมเนียมปฏิบัติที่ยอมให้ตำรวจที่เกษียณแล้วสามารถมีตำรวจชั้นผู้น้อยในราชการติดตามรับใช้ ขอให้พระราชบัญญัติฉบับนี้เน้นการ “รับใช้ประชาชน” เป็นสำคัญ ไม่ใช่ “รับใช้นาย”
4. ตรวจสอบประเมินผลการทำงาน ให้บริการของตำรวจ โดยคณะกรรมการจังหวัดอย่างมีประสิทธิภาพ ปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานของตำรวจ (กต.ตร.) ให้มีองค์ประกอบของภาคประชาสังคมที่เป็นตัวแทนองค์กรไม่แสวงหากำไร และมีองค์ประกอบของสตรี หรือตัวแทนกลุ่มเพศสภาพ ที่เข้าใจความเดือดร้อนของผู้ด้อยโอกาสในท้องถิ่นยุคใหม่ รับรู้เรื่องราว วัฒนธรรมชุมชน และสามารถสื่อสาร ตรวจสอบพนักงานตำรวจได้อย่างอิสระ ตรงไปตรงมา ตลอดจนมีอำนาจในการพิจารณาความดีความชอบในการทำงานอีกด้วย
5. ให้งานสอบสวนเป็นหน่วยงานอิสระจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความเป็นวิชาชีพ พนักงานสอบสวนต้องมีความรู้ ได้รับการพัฒนาความเชี่ยวชาญ (เช่นเดียวกับวิชาชีพแพทย์ นิติวิทยาศาสตร์ และอื่นๆ) มี พ.ร.บ. วิชาชีพกำกับ ควบคุมดูแลงานสอบสวนทั้งหมด การเก็บพยานหลักฐานจะได้รับการตรวจสอบดูแลจากพนักงานอัยการแต่เริ่มแรกในคดีอาญาที่มีอัตราโทษตั้งแต่ 5 ปีเป็นต้นไป เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจในกระบวนการบยุติธรรมตั้งแต่เริ่มแรกหรือคดีที่สำคัญ หรือกรณีมีการร้องเรียน เพื่อให้การรวบรวมพยานหลักฐานเป็นไปด้วยความสุจริต โปร่งใส ครบถ้วน ไม่สูญหายหรือถูกทำลายโดยง่ายฝ่ายสอบสวนยังคงปฏิบัติหน้าที่ที่ สถานตำรวจนครบาล (สน.) และ สถานีตำรวจภูธร (สภ.) ในห้องสอบสวนที่ต้องมีความพร้อมในการบันทึกภาพและเสียงอัตโนมัติเพื่อเก็บเป็นหลักฐานไว้ให้อัยการและศาลเรียกตรวจสอบได้เมื่อจำเป็นทุกคดี เพื่อแสดงความโปร่งใสในการสอบสวน และเพื่อให้งานสอบสวนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างอิสระ ไม่ถูกครอบงำ หรือแทรกแซง
จากผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทุจริตหรือใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบได้โดยง่าย อันเป็นหลักการที่ปรากฏในร่าง พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. .... ที่ยกร่างโดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ซึ่งจัดตั้งขึ้นตาม ม.260 ที่ได้ผ่านการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณายกร่าง พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. .... (ชุดของนายมีชัย ฤชุพันธ์) ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 203/2562 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2562ให้มีสายงานสอบสวนที่ชัดเจน มีอำนาจสั่งฟ้อง หรือไม่ฟ้อง หรืองดการสอบสวนได้โดยตรง โดยผู้ปฏิบัติงานสอบสวนสามารถเติบโตได้ในสายงานที่มีผู้บังคับบัญชาเป็นของตนเอง และมีโอกาสเติบโตได้ถึงระดับตำแหน่ง ผบ.ตร. ไม่ควรให้ขึ้นกับผู้บังคับบัญชาทั่วไป มีผู้บังคับหมู่ ผู้ช่วยพนักงานสอบสวนและขึ้นไปถึงรองสารวัตรสายงานสอบสวน จนถึงผู้บัญชาการสอบสวน
6. ประสานองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อเก็บพยานหลักฐานทางอาญา ทั้งอัยการ ฝ่ายนิติเวช และฝ่ายปกครองโดยระบบนิติเวช เพื่อให้ทุกองค์กรมีการถ่วงดุล ร่วมกันรับผิดชอบ ที่ผ่านมาการตรวจสถานที่เกิดเหตุและการรวบรวมพยานหลักฐานเป็นปัญหาใหญ่มากของกระบวนการยุติธรรม เปิดให้ใช้ดุลยพินิจได้เกือบทุกขั้นตอน จึงต้องกำหนดในขั้นตอนนี้ เพื่อให้เกิดการรวบรวมพยานหลักฐานได้อย่างสมบูรณ์ โดยใช้หลักการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมด และเขียนรายงานได้อย่างอิสระ ไม่ให้พนักงานสอบสวนและผู้บังคับบัญชาเข้าไปแทรกแซงสำนวนและทำทุกอย่างได้ตามอำเภอใจ หรือเลือกที่จะเอาผลการตรวจบางอย่างใส่ลงไปในสำนวน หรือไม่ใส่ได้โดยพลการ
7. กำหนดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคดี เพื่อร่วมกันทำให้เกิดความยุติธรรมไม่จับผู้ต้องหาไปทั้งที่รู้ว่าคดีไม่มีมูลเหตุมากพอให้ส่งฟ้อง หรือจะนำไปสู่การยกฟ้อง หรือทำให้คดีรกโรงรกศาลโดยไม่จำเป็น และอาจจะนำไปสู่ความพลาดพลั้งในการจับผู้บริสุทธิ์ (แพะ) หรือทำให้ผู้ถูกกล่าวหาเสียชีวิต ผู้ต้องหา ผู้ต้องขัง ญาติ และทนาย มักถูกละเลยสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งตำรวจชอบอ้างว่า ‘เป็นความลับในสำนวน’
8. กำหนดบทลงโทษทั้งทางวินัยและอาญาที่ชัดเจน ต่อการกระทำของตำรวจระหว่างการสืบสวนสอบสวน หาข้อเท็จจริง ด้วยวิธีการซ้อมทรมานผู้ต้องหา การข่มขู่ คุกคาม ผู้ต้องหา และญาติ รวมทั้งลงโทษผู้บังคับบัญชาที่สั่งการให้เกิดการกระทำดังกล่าว ซึ่งอาจจะรุนแรงไปจนถึงการบังคับให้สูญหายในที่สุด
9. โอนตำรวจ 11 หน่วยไปให้กระทรวง ทบวง กรม ที่รับผิดชอบ เร่งดำเนินการตามมติสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ลงวันที่ 30 กันยายน 2558 ตาม พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ มาตรา 6 ที่ให้ทำการกระจายอำนาจตำรวจไปยังหน่วยงานที่จำเป็น เพื่อให้มีการบังคับใช้กฎหมายเฉพาะด้านอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกำหนดให้แล้วเสร็จภายในเวลาสองปี เรื่องนี้เป็นหลักสากลที่ว่า ‘ตำรวจควรมีอยู่ในทุกๆ หน่วยงาน’ ไม่จำกัดเฉพาะแค่ในสภาฯ หรือศาลเท่านั้น แต่ควรมีตำรวจสาธารณสุข ตำรวจแรงงานตำรวจกรมขนส่ง ตำรวจป่าไม้ ตำรวจคุ้มครองผู้บริโภค ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยว เป็นต้น
10. ตำรวจบางประเภทในสายงานแพทย์ พยาบาล นักวิทยาศาสตร์ เช่น นิติวิทยาศาสตร์ไม่มีความจำเป็นต้องมียศและวินัยแบบทหาร เพราะยิ่งมียศ ยิ่งถูกควบคุมมาก ซึ่งปัญหาของชั้นยศ คือ ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในวิชาชีพของตำรวจ อาจนำไปสู่การใช้สายบังคับบงัญชาหรือยศชั้นที่เหนือกว่าเข้าไปแทรกแซงสำนวน หรือเปลี่ยนแปลงรูปคดีได้ ทำให้การดำเนินการเรื่องขององค์ความรู้ต่างๆ ไม่ก้าวหน้า ไม่เจริญเติบโตไม่อิสระล่าช้า
11. ยุบกองบัญชาการทั้ง 9 ภาค เพื่อลดความซ้ำซ้อนที่ไม่จำเป็นในระบบการบังคับบัญชาของตำรวจ และประหยัดงบประมาณ ให้งานทั้งหมดจบสิ้นที่สถานีตำรวจนครบาล และภูมิภาค โดยจัดตำรวจ9 ภาค กระจายไปประจำสถานีตำรวจต่างๆ ที่มีผู้ปฏิบัติงานไม่เพียงพอ
12. แบ่งสถานีตำรวจออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับเล็ก กลาง ใหญ่ และนายตำรวจที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองผู้กำกับหรือผู้กำกับเป็นครั้งแรก ให้เริ่มจากสถานีระดับเล็กหรือกลางเป็นเวลา 2 ปี จึงจะสามารถดำรงตำแหน่งในสถานีระดับใหญ่ได้ เพื่อให้การเติบโตของหน้าที่การงานของตำรวจทุกระดับเป็นไปตามขั้นตอนสามารถตรวจสอบได้และเป็นที่ยอมรับของวงการตำรวจด้วยกัน ไม่มีการข้ามหัวข้ามหางและสามารถประเมินความเหมาะสมได้ตามคุณภาพ และเนื้อผ้าที่เป็นจริง
13. กำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้ง เลื่อนตำแหน่ง และโยกย้ายตำรวจทุกระดับ ให้พิจารณาตามอาวุโสการครองตำแหน่ง เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ รวมทั้งสร้างความเป็นธรรม ขจัดระบบการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง อีกทั้งเป็นการฟื้นฟูขวัญและกำลังใจให้กับตำรวจส่วนใหญ่เกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้าย ต้องมีเกณฑ์ที่ชัดเจน พิจารณาจากคะแนน 3 ส่วน คือ พิจารณาจากอาวุโสของการทำงานเป็นหลัก จากความรู้ความสามารถ และจากการประเมินของประชาชนในสัดส่วน 40 : 30 : 30 ด้วยเกณฑ์การประเมินผลโดยประชาชนหรือชุมชนดังกล่าว จะทำการประเมินผลด้วยการสร้างระบบให้คะแนนประจำตัว มีการสะสมคะแนนประจำตัวที่ชัดเจน
14. คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ควรกำหนดสัดส่วนกรรมการที่มาจากพลเรือนให้มีมากกว่าสัดส่วนที่มาจากตำรวจโดยตำแหน่ง และอดีตตำรวจที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อมิให้เกิดข้อครหากรณีที่ตำรวจครอบงำการประชุม และการตัดสินใจ หรือมีแนวโน้มปกป้องพวกเดียวกันมากเกินไป รวมทั้งเพื่อให้เกิดที่เป็นธรรมในกระบวนการเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ควรให้เปลี่ยน “ระบบการแต่งตั้ง” มาเป็น “ระบบเลือกตั้ง” เป็นองค์กรภายนอกและมีฐานะเป็นองค์กรอิสระ โดยคณะกรรมการเลือกตั้ง ( กกต.)ดำเนินการให้ โดยเปิดโอกาสให้ตำรวจทุกตำแหน่งในระดับสัญญาบัตรมีสิทธิเลือกตั้ง ไม่ควรจำกัดเฉพาะตั้งแต่รองผู้กำกับขึ้นไปเท่านั้น ควรเปิดกว้างให้ผู้มีความรู้ ความสามารถเป็น ก.ตร.ได้ สำหรับการทำงานของ ก.ตร. ควรมีการรายงานผลการดำเนินงานให้สภาฯ ทราบทุกปี เพื่อให้สภาสามารถตรวจสอบ เพราะจะเป็นกลไกที่เชื่อมโยงไปถึงประชาชนได้
15. คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (กพค. ตร.) ควรกำหนดสัดส่วนใหม่ให้จำนวนกรรมการที่มาจากตำรวจมีน้อยกว่ากรรมการที่มาจากพลเรือน เพื่อให้การพิจารณามีความเป็นอิสระ ใช้หลักการด้านอื่นๆในการพิจารณาคุณธรรมจริยธรรมประกอบด้วย และสะท้อนการทำหน้าที่ที่ตัดขาดจากระบบอุปถัมภ์ อำนาจ อิทธิพล ผลประโยชน์ที่อาจทำให้สำนวนเรื่องร้องเรียนขาดความตรงไปตรงมา ขาดข้อเท็จจริงการตรวจสอบต้องให้มีความชัดเจนและเป็นธรรมมากที่สุด โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายที่ต้องได้รับการตรวจสอบมากที่สุด รวมไปถึงกรณีที่ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไปทำการทุจริต คอรัปชั่น รีดไถประชาชน ควรกำหนดช่องทางให้ผู้ที่ออกมาเปิดโปงข้อเท็จจริงมีความปลอดภัย และหากคนในองค์กรรัฐเห็นเรื่องทุจริตต่างๆ สามารถเอาเรื่องนั้นออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณะได้ โดยที่กฎหมายคุ้มครองไว้ว่าไม่มีความผิด
16. คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ หรือ กร.ตร. ควรเป็นคณะกรรมการที่มีความเข้าใจเรื่องเดือดร้อนของประชาชน สามารถทำหน้าที่ ที่ยึดหลักความยุติธรรม ความมั่นคง ปลอดภัยของประชาชน และชุมชน โดยมีองค์ประกอบคณะกรรมการที่เป็นพลเรือน 2 ใน 3 และกรรมการควรจะทำหน้าที่ประสานกับคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานของตำรวจ (กต.ตร.) เพื่อใช้ประกอบการแต่งตั้งโยกย้ายด้วย คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (กร.ตร.) ไม่ควรมีชุดเดียวที่ส่วนกลาง แต่ควรมีกรรมการทำงานในทุกจังหวัด เพื่อรับมือกับเรื่องร้องเรียนจำนวนมากในแต่ละปี (เคยมีถึง 20,000 เรื่อง) เพิ่มศักยภาพการจัดการกับเรื่องร้องเรียนของประชาชนทุกเรื่อง ไม่คั่งค้าง ให้ความเป็นธรรมได้รวดเร็วมากขึ้น ดังนั้น ควรกระจายความรับผิดชอบไปยังตำรวจจังหวัด และให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการพิจารณา ให้ข้อมูลได้ด้วย
17. คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานของตำรวจ หรือ กต.ตร. ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบและติดตามงานของตำรวจในแต่ละจังหวัด ที่แตกต่างจากการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน แต่สามารถทำงานประสานงานกับ กต.ตร. ได้ เพราะมีบางเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน แต่ต้องเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของ กต.ตร. เพื่อเพิ่มสัดส่วนหรือตัวแทนภาคประชาสังคม และสัดส่วนผู้หญิงเข้าไปเป็นตัวแทนด้วยในทุกจังหวัด
18. ให้มีพนักงานสอบสวนหญิง และตำรวจหญิงทุกสถานีทั่วประเทศ เพื่อให้บริการประชาชนเพศหญิง เด็กหญิง และทุกเพศสภาพได้โดยสนิทใจ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีตำรวจหญิง และพนักงานสอบสวนหญิงทุก สน. และ สภ. ทั้งนี้จัดให้มีห้องสอบสวนที่เป็นสัดส่วน ปลอดภัย เก็บความลับได้ และพนักงานตำรวจหญิงต้องทำหน้าที่ตามตำแหน่งที่สอบบรรจุเข้ามา ได้รับการแต่งตั้ง เลื่อนขั้น อย่างเหมาะสม ไม่ควรถูกมอบหมายให้ทำหน้าที่อื่นนอกเหนือจากงานราชการตำรวจ
19. กำหนดให้การแต่งตั้งคณะกรรมการทุกระดับ มีสัดส่วนของผู้หญิงอยู่ด้วย และปรับทัศนคติการทำงานร่วมกันบนฐานความเสมอภาค เคารพสิทธิมนุษยชนของคนทุกเพศ นำมาสู่ภาคปฏิบัติอย่างจริงจัง และกำหนดบทลงโทษกับพนักงานตำรวจที่ไม่รับเรื่องราวร้องทุกข์ หรือไม่ให้ความสำคัญกับคดีที่เกิดกับผู้หญิงและคนข้ามเพศ
20. กำหนดให้การเปรียบเทียบปรับความผิดจราจร เป็นอำนาจตุลาการ ต้องกระทำโดยดุลยพินิจของศาล เพื่อลดการใช้อำนาจฉ้อฉลในการปรับความผิดจราจร ให้เกิดความยุติธรรมต่อประชาชน และการกระทำผิดกฎจราจรไม่ใช่การกระทำผิดที่ซับซ้อน จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีเงินรางวัลค่าปรับ เพื่อหารายได้จากการทำยอดเงินที่ไม่พึงได้ในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการที่มีเงินเดือนประจำเต็มเวลา และเป็นการทำหน้าที่ในราชการอยู่แล้ว ไม่ว่าจะพบการกระทำผิดกฎจราจร จากกล้อง CCTV หรือกล้องทุกประเภท และจากการพบเหตุกระทำผิดซึ่งหน้า
21. “สวัสดิการและงบประมาณ” ที่เหมาะสมและดำรงตนอยู่ได้ ปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับงบประมาณค่อนข้างมากที่นำไปลงทุนในภารกิจไม่ใช้งานตำรวจ ต้องมีการปฏิรูประบบงบประมาณตำรวจ ให้ใช้ในเป้าประสงค์ภารกิจตำรวจที่ขาดแคลน และสวัสดิการในการดำรงชีพ
22. ปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของวงการตำรวจ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติต้องมีข้อความมุ่งเน้นตำรวจให้ทำหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขและรักษาความยุติธรรม รับใช้ประชาชน ไม่เอารัดเอาเปรียบสังคม มีทัศนคติภายใต้อัตลักษณ์ใหม่ที่ทำให้ “ตำรวจคือมิตรของประชาชน” ไม่หลงใหลกับยศถาบรรดาศักดิ์ และลบล้างความคิดที่ว่าตนเองอยู่เหนือคนอื่น
นอกจากข้อเสนอของสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ข้างต้น ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ควรจะกำหนดทุกอย่างให้ชัดเจน สามารถปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ปล่อยให้ใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจมากเกินไป และควรเป็นร่าง พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ ที่กำหนดมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนแต่ละท้องถิ่น ที่ตำรวจทุกระดับชั้นต้องปฏิบัติตาม ไม่ควรเขียนเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ส่วนใดที่เปิดช่องให้ใช้ดุลพินิจในการ “ทำตามกฎหมายก็ได้ หรือไม่ทำก็ได้” ดังเช่นกรณีที่เกิดจากผลการศึกษา พบว่า กรณีการใช้ดุลพินิจเสนอศาลเพื่อให้ผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาจำนวนมากไม่ได้รับการประกันตัว ทั้งที่ในทางทฤษฎีกล่าวว่า ‘...การเอาตัวไว้ในอำนาจรัฐเป็นข้อยกเว้น รัฐต้องปล่อยเป็นหลัก…’ เป็นเหตุให้คนที่ถูกขังฟรีจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถออกมาสู้คดีได้
ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้การพิจารณาร่างที่นำเข้าสู่สภาต้องมีผลเป็นโมฆะ เพราะกระบวนการไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ทางสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เสนอว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ยังควรทำให้ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. .... (ชุดของนายมีชัย ฤชุพันธ์) ได้รับการนำมาพิจารณา ทั้งในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และในสภา เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริง
ขณะเดียวกันจำเป็นต้องยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวข้องกับตำรวจทุกฉบับ เพื่อไม่ให้มีการรวมศูนย์อำนาจ และเร่งการกระจายอำนาจตำรวจไปเป็นตำรวจจังหวัดโดยเร็ว เพื่อให้งานบริการประชาชนเป็นไปด้วยความยุติธรรม รวดเร็ว และตรวจสอบได้
***********************
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/