"...สาเหตุที่เราออกมาแสดงจุดยืนเพราะเรากังวลว่า ถ้าไม่สามารถทำหน้าที่เสนอความจริงได้แล้วใครจะทำหน้าที่ในภาวะแบบนี้ องค์กรสื่อเราเดินทางมาถึงจุดที่เราทำเต็มที่แล้ว แต่รัฐยังเพิกเฉยกับท่าที ยืนยันองค์กรสื่อว่าจะดำเนินการต่อเนื่อง และรัฐต้องเปิดเผยข้อมูล ข่าวที่บิดเบือนรัฐก็ดำเนินการไป และขอให้ทบทวนพ.ร.กฉุกฉิน ถ้าเราต้องการเดินไปข้างหน้าพร้อมกัน..."
------------------------------
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranew.org): เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2564 องค์กรวิชาชีพสื่อ 6 แห่ง ประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และ สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชน จัดเวทีเสวนาออนไลน์ ในหัวข้อ 'หยุดอ้างข่าวปลอม หยุด พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุกคามเสรีภาพสื่อ-ประชาชน'
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า ภายหลังจากมีประกาศฉบับที่ 27 ข้อ 11 ออกมานั้น องค์กรวิชาชีพสื่อได้พูดคุยกันเบื้องต้น แต่ยังไม่คิดว่าจะเป็นปัญหา เพราะเคยมีการออกข้อกำหนดลักษณะเดียวกันตั้งแต่ฉบับที่ 1 มาแล้ว แต่ทั้งนี้มีเพื่อนสมาชิกในแวดวงสื่อแจ้งมาว่า เนื้อหาไม่เหมือนกัน น่าจะมีนัยยะอะไรที่แอบแฝงมาหรือไม่ เพราะมีเนื้อหาสำคัญหายไป 3 เรื่อง ได้แก่ จะต้องเป็นข่าวโควิดเท่านั้น ข่าวไม่เป็นความจริง และต้องเตือนก่อน ทำให้องค์กรวิชาชีพสื่อออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา
นายชวรงค์ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ได้มีการทวงถามในคราว ศบค. เชิญสื่อประชุม แต่กลับไม่ได้รับคำตอบ แม้เวลาจะผ่านมากว่า 10 วันแล้ว จนกระทั่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2564 ทำให้มีความรู้สึกว่า สิ่งที่เรียกร้องส่งเสียงออกไปทั้งหมดได้ยินหรือไม่ หรือไม่ได้ยิน หรือได้ยิน แต่ไม่สนใจ จึงได้มีการปรึกษาหารือกัน และออกมาเป็นแถลงการณ์ฉบับล่าสุด ด้วยสื่อรู้สึกหลายเรื่องไม่ชอบมาพากล และแสดงว่า ประกาศที่ออกมานั้นไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดที่ลืมใส่ไป แต่เป็นความตั้งใจในการตัดข้อความสามเรื่องสำคัญ จึงมองไปถึงเจตนาว่าต้องการอะไรกันแน่ ประกอบกับก่อนหน้านี้มีความพยายามจำกัดเสรีภาพในการพูดของดารานักร้อง สิ่งที่ต้องทำจึงขอยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างเดียว
"เรื่องที่รัฐสื่อสารผิดพลาดเอง ที่ผ่านมารัฐไม่เคยยอมรับว่าคือข้อผิดพลาดจากตัวเอง แต่มองว่าฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐเป็นปัญหา ดังนั้นสิ่งที่จะทำต่อคงจะดำเนินการกดดัน ทักท้วง ทวงถาม เพราะเป็นภาระหน้าที่องค์กรสื่อ ในการรณรงค์ จัดโฟโต้เฟรม จัดเวทีเสวนา โดยจะเชิญอินฟลูเอ็นเซอร์มาพูดคุยกันในผลกระทบสิทธิการรับรู้" นายชวรงค์ กล่าว
ด้าน นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส กล่าวว่า ข้อความที่พล.อ.ประยุทธ์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก คิดว่านั่นเป็นประโยคสุดท้ายของปรากฎการณ์ครั้งนี้ ที่ยืนยันว่า รัฐบาลไม่พอใจสิ่งที่สื่อทำหน้าที่ขณะนี้ และมองว่าเป็นบ่อนทำลาย เป็นภัยคุกคามประเทศ เพราะรัฐบาลเพลี่ยงพล้ำ ข่าวสารที่ออกมาจากสื่อหลักที่เริ่มจะตั้งคำถามว่ารัฐบาลจะรับมือได้หรือไม่ได้กับสถานการณ์โควิด ถ้ารับไม่ได้จะต้องเปลี่ยนรัฐบาลหรือไม่ เพราะเสียงเรียกร้องดังขึ้นที่ไม่ใช่เกิดขึ้นจากสื่อ แต่เป็นเสียงที่คนหลายๆ กลุ่มๆหลายฝ่าย ทั้งที่เคยสนับสนุนรัฐบาลก็เริ่มมาบอกว่าไม่ไหวแล้ว
“แต่สื่อก็เป็นแพะที่สะดวกที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะนี่เป็นสงครามโรคระบาดที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่คนไทยและสื่อควรรับทราบคือ โควิดจะอยู่ยาวนานกว่ารัฐบาลชุดนี้ สิ่งที่แสดงต่อสื่อเป็นเพียงอาการเท่านั้น แต่สาเหตุของโรคคือความไม่มั่นใจ ความแตกแยกกันในรัฐบาลผสม เมื่อเห็นข่าวสารที่ตั้งคำถามแล้วตอบไม่ได้ สื่อเริ่มจับผิดนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หน่วยราชการ ถูกจับผิดมากขึ้น เมื่อ 2 เดือน 3 เดือนพูดอย่างนี้ แต่วันนี้พูดอย่างนี้ และมีความล้มเหลวในการบริหารมากขึ้น และส่วนใหญ่สื่อหลักไม่ได้ออกมาเล่นงานหนักเท่าโซเชียลมีเดีย แต่รัฐบาลก็จับแพะตัวใหญ่ก่อนคือสื่อ” นายสุทธิชัยกล่าว
นายสุทธิชัย กล่าวว่า เมื่อมีดาราหรือคนดังออกมาคอลเอาต์ คนรอบข้างนายกฯ ต้องการเอาใจนายกฯ ว่าคนที่ออกมาคือคนที่อยู่คนละข้างกับนายกฯ ฉะนั้นควรระงับตรงจุดนั้น รวมทั้งยังมีบรรดาหมอ นักวิชาการก็โดนเตือนก่อนหน้านี้ ทั้งหมอด่านหน้าที่เจอภาวะจริงๆ ที่สะท้อนปัญหาผ่านโซเชียลมีเดีย สื่อที่ไปทำหน้าที่หน้างานจึงรายงานตามนั้น คำสั่งล่าสุดที่ออกมานั้นไม่ใช่เพียงดำเนินการกับสื่อแต่ยังหมายถึงดำเนินการกับคนทั้งประเทศ อย่างไรก็ตามอาวุธของสื่อคือข้อเท็จจริงและความน่าเชื่อถือ เราไม่มีอาวุธอย่างอื่น อาวุธนี้จะทำให้ให้ประชาชนเห็นว่าเราทำหน้าที่ได้ดีแค่ไหน แน่นอนว่าเป้าของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินของเขาอาจจะไม่ใช่สื่ออย่างพวกรา แต่หมายถึงทั้งประเทศ นักวิชาการ หมอ หมอชนบท หมอเกษียณ อาสาสมัคร ที่ขึ้นภาพคนนอนตายที่บ้าน ที่ทำให้นายกรัฐมนตรีและครม.หวั่นไหวจริงๆ แต่ถามว่าใครจะเป็นคนรับกรรมตรงนี้ก่อน ก็ตกมาที่สื่อก่อน
นายสุทธิชัย กล่าวต่อว่า ข้อเสนอถึง 6 องค์กรสื่อ คือ ต้องรุกคืบในแง่วิชาชีพต่อ อยากเห็นองค์กรสื่อในการรวมตัวกันเป็น 'War Room สงครามข่าว' เพราะในสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามอ่าวเปอร์เซีย สื่อต้องนำความจริงมาบอกประชาชนให้มากที่สุด แต่ในทางการทหารต้องปกปิดข่าวร้ายมากที่สุด องค์กรสื่อต้องทำหน้าที่ในภาวะสงคราม มีกลไกดาต้าข้อมูล ให้มี Fact check รัฐบาล เหมือนที่สมัยโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทำลายความน่าเชื่อถือของสื่อเอมริกัน ชี้หน้าด่าว่าเป็นเฟคนิวส์ ที่คนฟังบ่อยๆ ฟังทุกวันคนจะเชื่อว่าสื่อนั้นๆ คือเฟกนิวส์ โดยอยากเห็นองค์กรสื่อตั้งหน่วยงานกลาง จับมือกับสถาบันวิจัย เพื่อตรวจสอบการทำงานของภาครัฐต่อไป
นายกิติ สิงหาปัด ผู้ดำเนินรายการข่าว 3 มิติ กล่าวว่า เราไม่ได้อยู่ในหัวใจของผู้ออกระเบียบว่าเขาคิดอย่างไร แต่ส่วนตัวตีความว่า ไม่จำเป็นในการออกกฎหมาย และมองว่าเป็นการออกมาไม่แยกแยะ และหลายเรื่องสะท้อนความคิดลึกๆของรัฐบาลหรือไม่ จริงอยู่ทุกคนเป็นสื่อหมด แต่สื่อเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในกฎหมาย ผู้ออกระเบียบนั้น ไม่ได้เข้าใจจิตวิญญาณวิชาชีพสื่อมวลชนที่เป็นอาชีพเฉพาะ มีกรอบจริยธรรม มีความคิดที่เป็นอีกแบบหนึ่ง คุณจะเทียบนักข่าวกับโจรได้อย่างไร เพราะจะมีการนำไปตีความกลั่นแกล้งกันเต็มไปหมด เขาจะเอาภาพสื่อไปปนกับคนที่โจมตีรัฐบาล คิดว่าเป็นการออกกฎหมายมาไม่แยกแยะ เพราะจะคลุมหมด
"เราเป็นสื่อหวงแหนความน่าเชื่อถือจะตายไป เราจะรายงานเฟกนิวส์ให้มีปัญหาไปทำไม ขอให้ทบทวนและเข้าใจจิตวิญญาณ อย่าเอาคนที่เขาทำสื่อสุจริตไปปนกับคนที่คุณมองเห็นหน้าเขาว่าเขาโจมตีคุณ" นายกิติ กล่าว
นายกิติ กล่าวด้วยว่า เห็นด้วยกับสมาคมวิชาชีพ เพราะเป็นคนหนึ่งในประชาคม เห็นด้วยกับความพยายามในเรื่องที่จำเป็นเวลามีวิกฤติ ยืนยันว่าสื่อมวลชนมีจริยธรรมจรรยาบรรณในการนำเสนอ การเลือกข่าวอยู่บนประโยชน์สาธารณจริงๆ ไม่เลือกข่าวที่ไม่มีประโยชน์ หลักที่ยึดถือ คือทำงานด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ยโสโอหัง ไม่ได้วิเศษมาจากไหน เป็นส่วนหนึ่งของสังคม แต่เมื่องานทำออกไปแล้วมีผลกระทบ ก็ต้องพร้อมรับฟังและน้อมรับคำติชม หรือวิจารณ์ ถ้ารัฐบาลเข้าใจหลักอันนี้ก็ไม่ต้องมีกฎหมายพิเศษควบคุมบังคับ เพราะมีจริธรรมที่ต้องเดินตามอยู่แล้ว
นายนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร The Standard กล่าวถึงสถานการณ์สื่อในปัจจุบันว่า การจะสั่งปิดสื่อในปัจจุบันนั้น ยากมาก เนื่องจากประชาชนสนับสนุนสื่ออยู่ แต่การออกกฎหมายมาแบบนี้คือข่มขู่ เพราะรู้ว่าตัวเองกำลังเพลี้ยงพล้ำ เพราะการควบคุมข้อมูลทางทหารคือให้คนเชื่อข้อมูลจากรัฐเท่านั้น จึงเกิด IO (ไอโอ) การควบคุมความจริงได้ คือการสั่งการให้เกิดน่าความเชื่อถือให้ตัวเองได้ นอกจากนี้คำว่าเฟกนิวส์ ยังมีคำนิยามไม่ตรงกัน
นายนครินทร์ กล่าวยืนยันว่า สื่ออยู่บนฐานข้อมูลข้อเท็จจริงเสมอ กองทัพข้าศึกมาอยู่หน้าประตูแล้ว ไม่มีใครปฏิเสธว่ามันคือศัตรู ที่เป็นข้อเท็จจริง สื่อทำตรวจสอบและเตือนว่าผิดพลาดตรงไหนอย่างไร ที่ไมได้ทำหน้าที่นำเสนออย่างที่รัฐต้องการ เพราะเขามีกรมประชาสัมพันธ์อยู่แล้ว และสิ่งที่กังวลกับกฎหมายฉบับนี้คือ กับประชาชนทั่วไปที่เอินฟลูเอ็นเซอร์ ที่กลัวว่าจะโดนอุ้มไหม เพราะกฎหมายกินความเป็นถึงตรงนั้นตามที่นายกรัฐมนตรีโพสต์แล้ว
"ภาวะโรคระบาดเปลี่ยนตลอดเวลา มีความรู้ใหม่ตลอดเวลา สื่อต้องลดอีโก้ลงเพราะมีข้อมูลใหม่ตลอดเวลา จากนักวิจัยก็ข้อมูลไม่เหมือนกัน ภาครัฐก็มีวิกฤติในการสื่อสาร ที่ทุกคนเห็นอยู่แล้ว มองเห็นถึงการไม่ลงรอยกันข้างใน สิ่งที่ต้องทำ คือรัฐต้องเลิกมองสื่อเป็นคู่ขัดแย้ง เพราะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง" นายนครินทร์ กล่าว
ส่วน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ก่อตั้ง Cofact Thailand กล่าวว่า เฟกนิวส์ เป็นคำที่หลายองค์กรระหว่างประเทศไม่อยากให้ใช้ เพราะมีอดีตผู้นำนำมาใช้ลดทอนความน่าเชื่อถือของสื่อ แต่ความจริง Cofact ใช้คำว่า misinformation ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยันว่า โรคระบาดกับข้อมูลข่าวสาร การรับมือที่ดีคือข้อเท็จจริงสำคัญที่สุด การปกป้องตัวเองที่ดีคือการไม่ปิดตาจากความจริง เพราะเป็นยุคที่ไม่ควรปิดบังความจริงจากยุคนี้ ส่วนสิ่งที่จะมาช่วยนั้น คือ Free Press หรือเสรีภาพสื่อ
"ถ้าสังคมไม่มีเสรีภาพในการสื่อสารจะทำให้การโกหกเป็นข้อมูลหลัก ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายใด ถ้าสังคมไม่มีเสรีภาพจะได้ฟังข้อมูลจากฝ่ายรัฐฝ่ายเดียว" น.ส.สุภิญญากล่าว
น.ส.สุภิญญา เปิดเผยว่า บรรณาธิการสำนักข่าว AFP เคยพูดว่า โควิดเป็นเรื่องใหญ่ ทุกสื่อผิดพลาดได้ทั้งสิ้น แต่สื่อก็ต้องเพิ่มศักยภาพด้วย เพราะปัจจุบันต้องแปลข่าว สรุปข่าวอย่างรวดเร็ว อาจจะต้องลงทุนด้านข้อมูลมากขึ้น ให้งบในการศึกษาค้นคว้า ในการแก้ปัญหาระยะยาว ส่วนการที่รัฐใช้กฎหมาย มองว่าไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหา ถ้าปิดกั้นให้สื่อนำเสนอ จะส่งผลกับชีวิตของคนได้ อย่างไรก็ตามสิทธิเสรีภาต้องอยู่บนความรับผิดชอบ ที่รัฐบาลทำได้คือการทำ Open Data หรือการเปิดข้อมูลในระยะยาว อย่างเช่น เรื่องวัคซีน ถามว่าจะตรวจสอบข้อมูลจากไหน คนจำขื่อเว็บไม่ได้ จำสายด่วนก็ไม่ได้ นั่นเป็นประสิทธิภาพในการให้ข้อมูลของรัฐ
นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายปกติในการดำเนินการกับสื่อ อาทิ พ.ร.บ.คอม กฎหมายหมิ่นประมาทฯ ไม่จำเป็นต้องใช้พ.ร.ก.ฉุกฉิน เพราะสื่อไม่ใช่อาชญากร อย่าเสียเวลาในการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ส่วนสื่อเองก็ต้องระวังพาดหัวมากขึ้น ช่วยลดดราม่าลงได้ และรัฐต้องนำข้อเท็จจริงมาโต้แย้ง แล้วให้ประชาชนตัดสินว่าควรจะเชื่อใคร
นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวยืนยันในหลักของเสรีภาพว่า ทุกฝ่ายต้องมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และปัจจุบันเสรีภาพได้เบ่งบานในสังคมไทยและโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในการเข้าสู่ประชาธิปไตยทางตรง เพราะประชาชนสามารถส่งเสียงได้ โดยยืนยันว่า 6 องค์กรสื่อ ไม่ได้เลือกที่จะอยู่ฝ่ายใด แต่เราดูแลเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชนและประชาชน แต่ถึงวันนี้การออกแถลงการณ์เราจะชี้จุดที่จะเป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับเสรีภาพของสื่อ ที่มีความสับสนที่ไม่เป็นเอกภาพไปถึงรัฐบาล
"การทำหน้าที่ของ 6 องค์กรสื่อ อาจจะทำบทบาทแล้วอาจจะไม่ถูกใจทุกฝ่าย เพราะสังคมจะต้องมีฝ่ายที่นิ่งและดู แล้วพร้อมขยับในวันที่ยังไม่มีใครทำหน้าที่ตรงนั้น" นายมงคล กล่าว
นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย กล่าวถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับดังกล่าว ว่า มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระไปเยอะมาก กลายเป็นข่าวทุกข่าว ตัดพ.ร.บ.คอมออกด้วย ให้มีความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน กรอบความผิดก็ครอบคลุมถึงการเผยแพร่ ต้องพิสูจน์ความจริงในชั้นศาลหลังจากรัฐกล่าวหา ดังนั้นประชาชนมีสิทธิดำเนินคดีจากรัฐแล้วไปสู้คดีในศาล
นายพีระวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องนี้จะต้องสื่อสารไปโดยตรงและประชุมร่วมกับ ศบค. อีกทั้งมีการทักท้วงแล้ว 2 สัปดาห์ต่อมา ก็ยืนยันดำเนินการตามมาตรการ สำนักข่าวรอยเตอร์บอกว่า เป็นวิธีที่โลกประเทศฝั่งอาเซียนจะใช้กัน ที่ผู้มีอำนาจไม่อยากฟัง ก็ทำให้เป็นเฟกนิวส์แล้วดำเนินคดีทันที แล้วไปว่ากันในศาล จึงมีความกังวลเรื่องดุลพินิจการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ อาจจะเปิดช่องให้ไม่มีความรอบคอบไม่รัดกุม ถ้าอีกฝ่ายไม่พอใจใครคนใดคนหนึ่ง ไปดำเนินคดี การสื่อสารที่ผ่านมาจึงเหมือนไม่มีประโยน์โดยสิ้นเชิง รัฐกำลังเข้ามาเพราะหมากกำลังจนแต้ม ต้องทำทุกอย่างเพื่อหยุดข่าวที่กระทบต่อรัฐ
"สาเหตุที่เราออกมาแสดงจุดยืนเพราะเรากังวลว่า ถ้าไม่สามารถทำหน้าที่เสนอความจริงได้แล้วใครจะทำหน้าที่ในภาวะแบบนี้ องค์กรสื่อเราเดินทางมาถึงจุดที่เราทำเต็มที่แล้ว แต่รัฐยังเพิกเฉยกับท่าที ยืนยันองค์กรสื่อว่าจะดำเนินการต่อเนื่อง และรัฐต้องเปิดเผยข้อมูล ข่าวที่บิดเบือนรัฐก็ดำเนินการไป และขอให้ทบทวนพ.ร.กฉุกฉิน ถ้าเราต้องการเดินไปข้างหน้าพร้อมกัน" นายพีระวัฒน์ กล่าว
นายสุปัน รักเชื้อ รักษาการเลขาธิการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวถึงเจตนาของประกาศว่า ขณะนี้อยู่ในสถานการณ์โรคระบาดหรือรัฐกำลังปกป้องตัวเอง โดย 6 องค์กรสื่อ แค่ขอความชัดเนว่าเจตนาคืออะไร พร้อมกับเรียนถามนายวิษณุ เครืองาม ว่า ข้อกฎหมายดังกล่าว ถ้าเป็นคำพูดของคน ในข้อกฎหมายใช้บังคับกฎหมายได้หรือไม่ อย่างเช่น ในการที่เขาโพสต์แจ้งข่าว โพสต์เรื่องแพร่เชื้อ เขาจะสร้างข่าวของเขาขึ้นมาจะเป็นข่าวที่สร้างความหวาดกลัวหรือไม่ อันนี้ต้องขอความชัดเจน
"ในแถลงการณ์เราบอกว่ารัฐต้องไม่เหวี่ยงแหในข่าวสารที่ต่างจากรัฐ จึงต้องการให้แถลงเจตนารมณ์ให้ขัดเจน แต่กฎหมายก็คือกฎหมาย สื่อไม่มีกลไกในการขัดขวางการแก้ปัญหาเฟกนิวส์ของรัฐ แต่ต้องการทราบเจตนารมณ์ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ออกว่าคืออะไร และยืนยันสื่อไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับฝ่ายใด" นายสุปัน กล่าว
นายระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าว่า ขอยืนยันว่าการออกมาเคลื่อนไหวขององค์กรสื่อ ไม่ได้ทำเพื่อสื่อเอง แต่ต้องแสดงถึงสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และยืนยันว่าสื่อมืออาชีพไม่ได้ต้องการข่าวปลอม และยังสู้กับข่าวปลอม เพื่อผลประโยชน์ที่ดีกับประชาชน
ข่าวประกอบ :
6 องค์กรสื่อฯ จี้รัฐทบทวนข้อกำหนดการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินกระทบต่อเสรีภาพ
แถลงการณ์ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จี้รัฐยกเลิกจำกัดเสรีภาพสื่อ-ประชาชน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage