"...จริงๆแล้วทั้งหมดที่เราทำอยู่ไม่ว่าจะเป็นการประกาศล็อกดาวน์ ห้ามเดินทางต่างๆนั้น ทุกอย่างเป็นมาตรการระยะสั้นหมด ซึ่งมันไม่ได้ยั่งยืน ก็เหมือนกับไฟไหม้ เราก็ต้องสาดน้ำเข้าไปก่อน ข้าวของจะเสียหายก็ไม่เป็นไร แต่ว่ามันหมดหนนี้ เราควรจะมีมาตรการยั่งยืน ตามที่บอกก็คือการมีวัคซีนที่ดีและทั่วถึงได้นั่นเอง..."
.......................
สืบเนื่องจากประเด็นเรื่องวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส ที่ชื่อว่าโนวาแวกซ์ซึ่งกำลังถูกจับตามอง ณ เวลานี้ โดยล่าสุดประเทศสิงคโปร์ ได้มีการติดต่อเพื่อที่จะนำเข้าวัคซีนดังกล่าวแล้ว คาดว่าหลังจากนี้ไม่เกินปลายปี 2564 สิงคโปร์น่าจะได้นับวัคซีนโนวาแว็กซ์มาใช้ภายในประเทศ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ถึงเรื่องวัคซีนโนวาแวกซ์ รวมถึงประเด็นอื่นๆที่น่าสนใจเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศในการวางแผนงานเรื่องวัคซีนของประเทศ มีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
@คิดอย่างไรกับวัคซีนโนวาแวกซ์ มีความเหมาะสมกับไทยหรือไม่
นพ.มานพ: วัคซีนโนวาแวกซ์ถือว่าเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพดี สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมาก เหมือนกับวัคซีนประเภท mRNA เลย แต่ว่าบริษัทโนวาแวกซ์นั้นไม่ได้ใหญ่มาก มีแบ็คอัพที่ใหญ่ เพราะฉะนั้นกระบวนการ ในเรื่องระเบียบการต่างๆ เอกสารยื่นขอจดทะเบียนต่างๆก็อาจจะช้ากว่า เท่าที่ทราบตอนนี้กระบวนการของเขายังไม่ได้ผ่านการอนุมัติฉุกเฉินขององค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาหรือว่า FDA ซึ่งพอไม่ได้ผ่าน FDA เราก็ยังไม่เห็นกระบวนการใช้งานในวงกว้าง
"ส่วนที่ประเทศสิงคโปร์ที่มีการเอาเข้ามาได้นั้น เพราะสิงคโปร์เขามีกระบวนการที่จะไปติดต่อสั่งซื้อล่วงหน้าเลย ซึ่งต้องยอมรับว่าเขาสามารถทำงานในกระบวนการเรื่องเหล่านี้ได้เร็ว อย่างกรณีของการได้วัคซีนไฟเซอร์มาคือเขาไปคุยตั้งแต่กลางปี 2563 แม้กระทั่งผลการศึกษายังไม่ออก คือเขาเตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้ว และมีการติดข้อมูลว่าถ้าอะไรมีแนวโน้มจะออกมาในทางที่ดี เขาก็จะสั่งจองไว้ล่วงหน้าเลย"
รายงานข่าววัคซีนโนวาแวกซ์ที่คาดหวังว่าจะพลิกสถานการณ์การระบาดที่ประเทศอินเดียได้ (อ้างอิงวิดีโอจาก Republic World)
@ณ เวลานี้มีการพูดกันว่าเราต้องหาวัคซีนรุ่นที่ 2 มาแล้ว เพื่อจะรับมือกับไวรัสโควิดรุ่นที่กลายพันธุ์ และอีกประเด็นที่ต้องคำนึงก็คือว่าถ้าหากเราจัดหาวัคซีนชนิดต่างๆที่อยู่ในท้องตลาด ณ เวลานี้ มันมีความต้องการสูงมาก อาจจะทำให้หาวัคซีนได้ยาก ดังนั้นก็เลยมีการตั้งคำถามกันว่าทำไมเราไม่จัดหาวัคซีนที่กำลังอยู่ในขั้นทดลอง ซึ่งอาจมีความต้องการที่น้อยกว่าวัคซีนในท้องตลาด ณ เวลานี้ ทำให้สามารถจัดหาวัคซีนได้ง่ายกว่า ซึ่งตรงนี้โนวาแวกซ์จะสามารถตอบโจทย์ได้หรือไม่ ในประเด็นว่าจะจัดหาได้ง่ายกว่าไฟเซอร์ และจะสามารถรับมือกับไวรัสโควิดกลายพันธุ์ได้ดีกว่าด้วยเช่นกัน
นพ.มานพ: ตรรกะนี้ก็ถือว่าฟังดูมีเหตุผล แต่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป
"ประเด็นแรก เวลาจะเอาของที่จะมาใช้กับมนุษย์ มันต้องยืนยันแล้วว่าประสิทธิภาพต้องดี ต้องมีการทดสอบให้เราเห็น มีการทดลองทางคลินิกในระยะ 3 ดังนั้นเราจึงเห็นว่าของที่มันมีความต้องการสูงๆล้วนเป็นของที่ผ่านการพิสูจน์ ซึ่งนี่ถือเป็นเรื่องปกติ"
"ส่วนที่บอกว่าแบบนั้นดีหรือไม่ดีนั้นถือว่าเป็นเรื่องทางทฤษฎีกันเสียมากกว่า ว่าดูแล้วแบบนี้มันน่าจะโอเค แต่อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีนั้นพอผลออกมามันอาจจะไม่เป็นแบบนั้นก็ได้ ยกตัวอย่างเช่นเราบอกว่าวัคซีน mRNA เราบอกว่าไฟเซอร์ โมเดอร์นา นั้นเป็นวัคซีนที่ดี แล้วพอมา mRNA ตัวอื่นล่ะ อย่างเช่นที่กำลังทดลองกันอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราก็คิดว่ามันน่าจะดี แบบนี้เราน่าจะเอามาใช้เลยดีไหม ซึ่งจริงๆแล้วมันไม่ใช่แบบนั้น ตัวอย่างล่าสุดเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาบริษัทของสวิตเซอร์แลนด์ที่ชื่อว่าเคียวแว็กซ์ทำวัคซีน mRNA เหมือนกัน แต่การทดลองระยะที่ 3 กลับแย่กว่าวัคซีนซิโนแวคอีก เพราะฉะนั้นมันเลยไม่ใช่เรื่องแปลกว่าทุกประเทศนั้นสรรหาวัคซีนก็เลยมีหลักการพิสูจน์เหมือนกันว่ามันต้องได้ผลมาแล้ว คราวนี้พอได้ผลมา ก็มาแย่งกัน ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นปกติ"
"แต่ถ้าเราจะบอกว่าของมันมีดีมานด์เยอะ เราไม่เอาสักที เราไม่ซื้อ และจะรอให้ดีมานด์น้อยลง แบบนี้กว่าจะถึงตอนนั้นก็จะเป็นของที่ไม่มีใครเอาเลย "
@ แล้วตอนนี้ยังทันไหมถ้าจะรีบเอาโนวาแวกซ์เข้ามา
นพ.มานพ: "อันนี้ก็ต้องบอกว่าเห็นด้วย ถ้าเป็นเรื่องโนวาแวกซ์ คือ หมายความว่าประเทศควรวางแผนจัดหาของพวกนี้ในทันทีที่เขาผ่าน FDA เราก็ควรจะเจรจาไว้ก่อนเลย"
"คือไม่ใช่ว่าของพวกนี้มันมาจากไหนแล้วจู่ๆกลายเป็นของดี แต่ของพวกนี้นั้นมันผ่านข้อมูลการศึกษามาแล้ว 1, 2 ,3 ซึ่งเราเห็นแนวโน้มว่ามันดีแน่นอน เราก็ควรที่จะชิงลงมือก่อนได้ แต่ทีนี้มันก็ต้องอยู่ที่หลักคิดของเหล่าผู้บริหาร ระเบียบราชการ ซึ่งทุกวันนี้ที่มันช้าจนเราไม่ได้ของที่ดีมา และต้องรอปลายปี ปัญหาส่วนหนึ่งก็มาจากหลักคิดเหล่านี้ที่เป็นปัญหานั่นเอง"
@ หมายความว่าเราควรจัดหาโนวาแวกซ์มาแน่นอน แต่เรายังไม่ควรจะไปคุยตอนนี้ใช่หรือไม่
นพ.มานพ: "ไม่ใช่ ...จริงๆแล้วเราควรคุยตอนนี้เลย เพราะมันเป็นของอะไรที่ผ่านการศึกษามาแล้ว อย่างของโนวาแวกซ์ที่ผ่านการทดลองระยะที่ 3 มาแล้ว ซึ่งผลมันดีมาก อย่างนี้มันแทบจะชัดเจนเลยว่าจะผ่าน FDA ได้ ดังนั้นเราเห็นชัดเจนเลยว่าทำไมประเทศสิงคโปร์เขาถึงเริ่มคุยแล้ว ซึ่งต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าแนวคิดของผู้นำสิงคโปร์นั้นเขาค่อนข้างมองไปข้างหน้า และมีความล้ำกับเราเยอะมาก ในการที่จะเจรจาก่อน"
@ที่ผ่านมา ผู้มีอำนาจมักพูดว่าจะจัดหาวัคซีนมาเพิ่ม แต่พอพูดชื่อวัคซีนต่างๆ ก็มักจะเป็นชื่อวัคซีนที่อยู่ในท้องตลาด ได้รับการอนุมัติฉุกเฉินกันหมดแล้ว คำถามก็คือเราควรพิจารณาจัดหาวัคซีนที่กำลังอยู่ในการทดลองระยะ 3 ด้วยหรือไม่ จะได้มีความหลากหลายมากขึ้น และสามารถรับมือกับโควิดกลายพันธุ์ในอนาคตได้มากขึ้นด้วย
นพ.มานพ: "จริงๆแล้วถ้าวัคซีนในตลาด ณ ตอนนี้ เรารู้อยู่แล้วว่าตัวไหนมันดี และตัวไหนควรซื้อ แต่ก็เข้าใจว่าความต้องการมันเยอะ อย่างไรก็ตาม ถ้าเราไม่เริ่มสั่ง ไม่เริ่มซื้อ ก็ต้องถามว่าแล้วเมื่อไรเราจะได้ อย่างวัคซีนแบบไฟเซอร์ โมเดอร์นา จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เราก็รู้ว่าของมันดี แต่ถามว่าทำไมต้องรอให้ความต้องการน้อยก่อน"
"ส่วนตัวที่อยู่ในไลน์การทดลอง มันก็จะมีอย่างเช่นวัคซีนโนวาแวกซ์ ที่น่าสนใจ เราก็ควรจะติดต่อไว้ได้เลย ซึ่งถ้าถามว่าทำไมเราต้องเลียนแบบประเทศสิงคโปร์ เพราะว่าวิธีคิดสิงคโปร์นั้นเป็นวิธีที่ถูกและสมาร์ท เขารู้อยู่แล้วว่ามันจะต้องมีตัวเลือกสำหรับวัคซีนมากกว่า mRNA เท่านั้น สำหรับคนที่แพ้หรือมีผลข้างเคียง ใช้ไม่ได้ ทีนี้ก็ต้องถามว่าแล้วตัวที่ดี พอจะใช้ทดแทนได้ที่รองลงมามันจะเป็นตัวไหน"
"อย่างวัคซีนซิโนแวค เราต้องยอมรับว่าเขาสั่งเอาเข้ามากันตาย เอาเข้ามาอุดช่องโหว่กรณีคนที่ใช้ mRNA ไม่ได้เฉยๆ ไม่ใช่ว่าเขาอยากจะใช้ ถ้าไปดูในเว็บไซต์สิงคโปร์เขาก็ไม่มีทางเลือก ก็ต้องใช้ไปก่อน แต่พอมีโนวาแวกซ์ปุ๊บ ผมเชื่อว่าทันทีที่โนวาแวกซ์ผ่าน FDA สิงคโปร์เขาจะเอาโนวาแวกซ์เข้ามาใช้และจะเขี่ยซิโนแวคทิ้งไปเลย ในขณะที่เรากลับยังไปมีข้อผูกมัดกับวัคซีนซิโนแวคมหาศาล ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเพื่ออะไร"
@ในประเทศไทยนั้น เรายังมีอุตสาหกรรมโรงงานที่จะมีขีดความสามารถพอจะผลิตวัคซีนได้หรือไม่
นพ.มานพ:"จริงๆแล้วต้องบอกว่าสำหรับวัคซีนโนวาแวกซ์นั้น ปัจจัยเรื่องโรงงานการผลิตต่างๆจะมีความคล้ายคลึงกับโรงงานที่ใช้ในการผลิตแอสตร้าเซนเนก้าเลย ซึ่งถ้าหากมีบริษัทผลิตวัคซีนหรือบริษัทยาที่มีเครื่องไม้เครื่องมือใกล้เคียงกับสยามไบโอไซน์ ผมว่าเขาสามารถผลิตวัคซีนโนวาแวกซ์ให้ได้เช่นกัน หรือจะให้สยามไบโอไซน์เพิ่มกำลังการผลิต เพิ่มศักยภาพโรงงานเพื่อที่มันจะรองรับการผลิตโนวาแวกซ์ ผมว่าก็ทำได้เช่นกัน ซึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือบริษัทโนวาแวกซ์นั้นเซ็นสัญญากับบริษัทเอสเคไบโอไซน์ของประเทศเกาหลีใต้ และบริษัทเอสเคไบโอไซน์นี้นั้นก็คือคนที่ผลิตแอสตร้าเซนเนก้าลอตแรกที่ส่งมาให้กับประเทศไทยนี่แหละ"
รายงานข่าวประเทศเกาหลีใต้ทำสัญญาจัดหาวัคซีนโนวาแวกซ์ (อ้างอิงวิดีโอจากสำนักข่าวอารีรัง)
@ถ้าอย่างนั้น รัฐบาลก็ควรจะต้องคิดนอกกรอบจัดหาทั้งวัคซีนที่มีความต้องการสูง และอยู่ในขั้นทดลองด้วย
นพ.มานพ: "ใช่แล้ว แต่ที่เหลือ มันก็อยู่ที่ไมน์เซ็ต (หลักคิด) และปัญหาเรื่องระเบียบราชการแล้วว่าจะต้องมีอะไรต่อมิอะไร จนสุดท้ายออกมาขายแล้วถึงจะสั่งซื้อได้ ต้องรอคนยื่นใบเสนอราคาแบบนี้มีฝ่ายการเมืองบางคนท้วง มันก็เลยช้าอยู่แบบนี้ "
@เรื่องไวรัสโควิดกลายพันธุ์ วัคซีนโนวาแวกซ์ที่ว่านั้นมันรับมือได้ใช่หรือไม่
นพ.มานพ: คืออย่างโควิดกลายพันธุ์ ต้องบอกว่ามันไม่ใช่ว่าวัคซีนจะไม่ได้ผลเลย ถ้าหากใครมีระดับภูมิที่สูงมาก วัคซีนก็ยังเอาอยู่ ใครที่ภูมิด้อยวัคซีนก็เอาไม่ค่อยอยู่ เพราะฉะนั้นชนิดของวัคซีน ถ้าในบริบทปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องผลิตวัคซีนใหม่ก็ได้ ถ้าเราเลือกใช้วัคซีนที่มีคุณภาพสูงมากอยู่แล้ว
ส่วนกรณีวัคซีนโนวาแวกซ์นั้นก็ต้องบอกว่าผลการทดลองบอกว่ารับมือได้ ซึ่งในไวรัสโควิดสายพันธุ์เบต้าที่พบที่ประเทศแอฟริกาใต้ครั้งแรก ก็มีข้อมูลออกมาแล้วว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพ สามารถรับมือกับไวรัสสายพันธุ์เบต้าที่ถือว่าดื้อที่สุดและดื้อกว่าสายพันธุ์เดลต้าได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนไวรัสโควิดสายพันธุ์อื่นๆรวมไปถึงสายพันธุ์เดลต้านั้น วัคซีนโนวาแวกซ์ก็จะมีประสิทธิภาพรับมือได้ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์
สรุปก็คือว่าวัคซีนนั้นมีประสิทธิภาพเท่ากับวัคซีนแบบ mRNA หรืออาจจะด้อยกว่าเล็กน้อย และดีกว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและวัคซีนแบบเชื้อตายนั่นเอง
@ในตอนนี้เริ่มมีการพูดถึงข้อดีของไวรัสโควิดแบบกลายพันธุ์ โดยเฉพาะที่มณฑลฮาร์ทฟอร์ดเชอร์ของประเทศอังกฤษ ที่หน่วยงานสาธารณสุขออกมาบอกว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้าซื่งระบาดอย่างรวดเร็วนั้นเป็นไวรัสที่มีความรุนแรงน้อยกว่าตัวอื่น ก็เลยกลายเป็นข้อดีที่ว่ามันกวาดล้างโควิดสายพันธุ์ที่อันตรายกว่าชนิดอื่นๆไปจนหมด จนเขาสามารถจะเก็บและวางแผนวัคซีนได้ง่ายว่าจะใช้กับพื้นที่ตรงไหน คิดอย่างไรกับประเด็นนี้ถ้าเทียบกับประเทศไทยที่มีรายงานของสายพันธุ์เดลต้ามากขึ้นเรื่อยๆ
นพ.มานพ: "ผมว่านั่นมันบริบทของเขา ที่เขาพูดแบบนั้นได้เพราะว่าอะไร ถ้าหากไปดูข้อมูล เขาฉีดวัคซีนไปเยอะมาก ดังนั้น แม้ว่าถ้าสายพันธุ์เดลต้าจะเข้ามาแต่ความรุนแรงต่ำมาก เพราะฉะนั้นที่ประเทศอังกฤษ คนเขาติดเยอะมากกว่าประเทศไทย 3-4 เท่าก็จริง แต่คนที่เข้านอนโรงพยาบาลและเสียชีวิตของเขานั้นถือว่ามีน้อยมาก และน้อยกว่าประเทศไทยอีก"
และอีกประการหนึ่ง วิธีนี้ก็คล้ายกับโจรไล่โจร ถ้าหากไวรัสโควิดสายพันธุ์เบต้าซึ่งดื้อมากแต่ระบาดไม่เก่ง ถ้าเราเอาสายพันธุ์เดลต้ามาไล่ออก กินส่วนแบ่งตลาดหมด จนกลายเป็นสายพันธุ์หลักไปก็ต้องยอมรับว่าการบริหารจัดการด้วยวัคซีนมันก็จะง่ายขึ้น จัดการด้วยการระดมฉีดเข็ม 2 อย่างเดียวก็น่าจะเอาอยู่แล้ว
แต่สาระสำคัญก็อย่างที่บอกว่ามันก็คือเรื่องการฉีดวัคซีนนั่นเอง ที่เราจะต้องเร่งจัดการ ส่วนเรื่องสายพันธุ์เดลต้าพลัสที่ปรากฎเป็นข่าวกันนั้น ก็ต้องขอเรียนว่าอย่าเพิ่งไปตื่นตระหนกมากตามข่าวที่ตี เพราะก็มีแค่การค้นพบว่ามีการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลชัดเจนเลยว่ามันจะกลายพันธุ์เร็วกว่า หรือว่าดื้อกว่าเดลต้าปกติหรือไม่
@คือก่อนหน้านี้มีข่าวว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้านั้นไปเอาคุณลักษณะดื้อวัคซีนของไวรัสโควิดสายพันธุ์เบต้าเข้ามาด้วย
นพ.มานพ: พวกนี้นั้นมีตัวอย่างก่อนหน้านี้แล้ว อย่างเช่นสายพันธุ์อัลฟ่า หรือสายพันธุ์ที่ค้นพบที่ประเทศอังกฤษ ก็มีการค้นพบว่ามีการกลายพันธุ์ตำแหน่งเดียวกับไวรัสโควิดสายพันธุ์เบต้า ซึ่งเรื่องนี้ทำให้คนกลัวเยอะมากว่ามันจะแพร่เร็วมากและจะดื้อแบบสายพันธุ์เบต้าหรือไม่ แต่สุดท้ายแล้วสายพันธุ์นี้ก็หายไปเลย ดังนั้นการกลายพันธุ์แค่ตำแหน่งเดียว ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณสมบัติของไวรัสโควิดสายพันธุ์นั้นๆมันจะมาครบเสมอไป
@ก็คือไวรัสมันฉลาด ลดความสามารถในการดื้อ เน้นอาการไม่หนักเพื่อให้อยู่ได้
นพ.มานพ: มันเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ถ้าตัวไหนแพร่เก่งก็มีโอกาสจะกินส่วนแบ่งตลาดได้ และลดความรุนแรงลง ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็อย่างโควิดกับไวรัสซาร์ส ทำไมโควิดระบาดหนักกว่าซาร์ส เพราะซาร์สนั้นผู้ป่วยมีอาการหนักมาก พออาการหนักมาก มันไหนไม่ได้ ออกจากบ้านไม่ได้ มันก็หายไปเลย แต่พอมาเป็นโควิดมันมีกลุ่มคนที่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อยๆ ซึ่งคนพวกนี้ก็จะไประบาดอีกต่อหนึ่ง
การระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าพลัส (อ้างอิงวิดีโอจาก WION)
@ดังนั้นสรุปก็คือถ้าเรามีวัคซีนพอ เราก็สามารถคุมอยู่ สามารถโซนนิ่งได้ จะทำแบบฮาร์ทฟอร์ดเชอร์ได้หรือไม่
นพ.มานพ: จริงๆแล้วทั้งหมดที่เราทำอยู่ไม่ว่าจะเป็นการประกาศล็อกดาวน์ ห้ามเดินทางต่างๆนั้น ทุกอย่างเป็นมาตรการระยะสั้นหมด ซึ่งมันไม่ได้ยั่งยืน ก็เหมือนกับไฟไหม้ เราก็ต้องสาดน้ำเข้าไปก่อน ข้าวของจะเสียหายก็ไม่เป็นไร แต่ว่ามันหมดหนนี้ เราควรจะมีมาตรการยั่งยืน ตามที่บอกก็คือการมีวัคซีนที่ดีและทั่วถึงได้นั่นเอง
@นอกจากวัคซีนโนวาแวกซ์ที่กำลังทดลอง คิดว่ามีวัคซีนที่กำลังทดลองตัวอื่นๆที่น่าสนใจอีกหรือไม่
นพ.มานพ: จริงๆนอกจากวัคซีนโนวาแวกซ์ ก็มีวัคซีนเคียวแวกซ์ที่ดูน่าสนใจ แต่พอผลการทดลองมันล้มเหลวไป ก็เหลือแค่วัคซีนโนวาแวกซ์ที่ดูจะมีความหวังมากที่สุด แต่จริงๆก็มีวัคซีนอีกตัวหนึ่งที่ทำจากใบยา ที่เราเรียกว่าเมดิคาร์โก ตรงนี้จบการทดลองระยะที่ 1 และ 2 ไปแล้ว ถ้าการทดลองทางคลินิกในระยะที่ 3 ออกมาดูดี มันก็จะเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจอีกตัวหนึ่ง เพราะถือว่าเก็บง่ายและราคาถูก
ส่วนวัคซีนโนวาแวกซ์นั้นถ้าหากเรารีบเจรจาตอนนี้ หลังจากที่ผ่านการอนุมัติฉุกเฉินจาก FDA มาได้ ก็คิดว่าจากขั้นตอนต่างๆแล้ว วัคซีนนี้น่าจะมาถึงประเทศไทยได้ทันในช่วงปลายปี 2564 เช่นกัน
"อย่างไรก็ตาม มีประเด็นหนึ่งที่น่าเสียดายมากก็คือว่าทางโนวาแวกซ์นั้นเขารับปากว่าจะบริจาควัคซีนครึ่งหนึ่งของเขาให้กับโครงการโคแวกซ์ ซึ่งเป็นโครงการแจกวัคซีนอย่างเท่าเทียมกันขององค์การอนามัยโลก แต่ว่าประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ โดยประเด็นนี้นั้นก็อาจจะทำให้ประเทศไทยพลาดโอกาสได้อีกเช่นกัน"
"ดังนั้นในเรื่องประเด็นเหล่านี้ก็คือว่าเป็นสิ่งที่เหล่าผู้มีอำนาจนั้นควรจะไปดำเนินการอย่างมีวิสัยทัศน์"
*หมายเหตุ:อ้างอิงรูปภาพ นพ.มานพ พิทักษ์ภากร จากเว็บไซต์ https://www.the101.world/precision-medicine-interview/
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage