"...หาก ทบ.จะหารถยนต์บรรทุกใหม่ ก็สามารถดำเนินการได้โดยไม่จำเป็นต้องคัดเลือกแบบเนื่องจากเป็นรถที่มีประจำการในกองทัพบกอยู่แล้ว และที่ผ่านมา ทบ.ก็ได้มีการพิจารณาความคุ้มค่าระหว่างจัดหาใหม่ และการซ่อมแบบอัพเกตไปแล้ว ซึ่งผลสรุปก็คือ การจัดหาใหม่มีความคุ้มค่ามากกว่า เห็นได้จากการที่ ทบ. ได้ยืนยันความต้องการในการจัดซื้อต่อ ครม. มาแล้ว 2 ครั้ง ทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์โควิด..."
.....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า โครงการซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ของกองทัพบก 2 โครงการ คือ จ้างซ่อมปรับปรุงรถยนต์บรรทุกขนาด 2 1/2 ตัน M 35 A 2 ให้เป็น M 35 A 2 I จำนวน 238 คัน วงเงิน 595,000,000 บาท และจ้างซ่อมปรับปรุงรถยนต์บรรทุก Unimog จำนวน 163 คัน วงเงิน 326,000,000 บาท กำลังถูกจับตามอง หลังปรากฎข้อมูลว่าในช่วงเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือแจ้ง ผู้บัญชาการทหารบก เพื่อขอเข้าตรวจสอบการดำเนินงานทั้ง 2 โครงการ โดยขอให้สั่งการหน่วยงานในสังกัดและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือและอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบด้วย
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลทางเอกสารพบว่า งานจ้างซ่อมปรับปรุงรถยนต์บรรทุกทั้ง 2 โครงการ ดังกล่าว กองทัพบกได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้งบประมาณใหม่ หลังจากได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2564 ในลักษณะก่อหนี้ผูกพันข้ามปี 2564-2566 รวมวงเงิน 921,000,000 บาท ในการจัดหารถยนต์บรรทุกขนาด 2 1/2 ตัน ตามอัตราการจัดยุทโธปกรณ์ (อัตรา 9,115 คัน ได้รับ 5,612 คัน ขาดอัตรา 3,503 คัน) เพื่อแจกจ่ายให้หน่วยพร้อมรบเคลื่อนที่เร็วและหน่วยรบหลัก จำนวน 169 คัน
โดยในช่วงเดือนพ.ย.2563 กองทัพบก ได้อนุมัติในหลักการให้เปลี่ยนแปลงโครงการใหม่ โดยนำงบประมาณที่ได้รับจัดสรรมา ไปดำเนินการจ้างซ่อมปรับปรุงรถยนต์บรรทุกขนาด 2 1/2 ตัน M 35 A 2 ให้เป็น M 35 A 2 I จำนวน 238 คัน วงเงิน 595,000,000 บาท (คันละ 2,500,000 บาท) และจ้างซ่อมปรับปรุงรถยนต์บรรทุก Unimog จำนวน 163 คัน วงเงิน 326,000,000 บาท (คันละ 2,000,000 บาท) อ้างเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงโครงการว่า กองทัพบกมีรถอยู่ในสภาพชำรุด อยู่ระหว่างการซ่อมจำนวนมาก และไม่สามารถดำเนินการคัดเลือกแบบรถยนต์บรรทุกขนาด 2 1/2 ตัน ได้ เนื่องจากปัญหาสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19
(อ่านประกอบ : สตง.แจ้งเปิดตรวจ 'ทบ.' เปลี่ยนแปลงงบซ่อมรถบรรทุกของเก่าแทนซื้อใหม่ 921 ล.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบรายละเอียดหลักการและเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงการนำงบประมาณ จำนวน 921,000,000 บาท มาใช้ในงานจ้างซ่อมปรับปรุงรถยนต์บรรทุกทั้ง 2 โครงการ ดังกล่าว ของ กองทัพบก ที่มีการนำเสนอเรื่องให้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พิจารณาเป็นทางการ ในช่วงต้นเดือน พ.ย.2563 ก่อนที่ สตง.จะมีการแจ้งเปิดตรวจสอบเป็นทางการมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบ ณ ที่นี้
@ ที่มา-วัตถุประสงค์
โครงการจัดหายานยนต์สาย สพ. (ระยะที่ 3 ห้วงที่ 4) (ปี 2564 - 2566) อยู่ในความรับผิดชอบของ กรมสรรพาวุธทหารบก (สพ.ทบ.)
วัตถุประสงค์เพื่อจัดหารถยนต์บรรทุกขนาด 2 1/2 ตัน จำนวน 169 คัน ทดแทน รถยนต์บรรทุกขนาด2 1/2 ตัน ตระกูล OSP-J ที่ได้รับอนุมัติจำหน่าย และทดแทนที่ขาดอัตรา วงเงินทั้ง โครงการ 921,000,000 บาท
โดยทบ.เสนอขอตั้งผูกพันงบประมาณ ตั้งแต่ปี 2564-2566 แบ่งออกเป็น ปีงบประมาณ 2564 จำนวนเงิน 184,200,000 บาท ปีงบประมาณ 2565 จำนวน 368,400,000 บาท และปีงบประมาณ 368,400,000 บาท
@ ปัญหาข้อขัดข้องในการดำเนินการ
ภายหลังจากที่ ทบ. ได้จัดหารถยนต์บรรทุกแบบ FTS ที่เป็นมาตรฐานแบบกึ่งทหาร มาทดแทนรถยนต์บรรทุกขนาด 2 1/2 ตัน โดยปรับให้อยู่ในส่วนของการปฏิบัติงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรบโดยตรง ทำให้ปัญหาการขาดแคลนลดลงไประดับหนึ่ง
แต่ด้วย ทบ. มีรถยนต์บรรทุกทางทหารขนาดอื่น ๆ ที่มีอายุการใช้งานมานานและมีสภาพชำรุด อยู่ระหว่างส่งซ่อมขั้นคลังจำนวนมาก
ประกอบกับการคัดเลือกแบบรถยนต์บรรทุก แบบใหม่ ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ในต่างประเทศ ที่ยังมีการแพร่ระบาดอยู่อย่างต่อเนื่อง
หน่วยที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันพิจารณาแล้วเห็นว่า รถยนต์บรรทุกทางทหารมีความสำคัญต่อการปฏิบัติภารกิจทางยุทธวิธี และภารกิจอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมายตามรูปแบบของภัยคุกคาม อาทิเช่น การขนย้ายและลากจูง ตลอดจนการขนย้ายกำลังเข้าพื้นที่ปฏิบัติการ ซึ่งได้กำหนดอัตราให้กับหน่วยที่มีความสำคัญในการปฏิบัติภารกิจ ได้แก่ หน่วยป้องกันชายแดนและหน่วยพร้อมรบเคลื่อนที่เร็ว
โดยในส่วนยานยนต์ สาย สพ. ของหน่วย มีรถยนต์บรรทุกตระกูล M35 และตระกูล Unimog ประจำการจำนวนมาก แต่มีสภาพชำรุด เนื่องจากใช้งานมาเป็นระยะเวลานาน อยู่ระหว่างส่งซ่อมขั้นคลัง จำนวน 334 คัน และ 203 คันตามลำดับ
ดังนั้น เพื่อเป็นการเสริมสร้างความพร้อมรบให้กับหน่วย ทำให้มียุทโธปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานเดียวกัน ง่ายต่อการส่งกำลังในอนาคต เกิดการอ่อนตัวในการประกอบกำลัง และได้ฟื้นฟูยุทโธปกรณ์จำนวนมากยืดอายุการใช้งานได้ไม่น้อยกว่า 10 ปี ส่งผลต่อสภาพความพร้อมรบของหน่วยที่มีความสำคัญในการปฏิบัติภารกิจตามแผนเผชิญเหตุ และแผนป้องกันประเทศ
จึงเห็นสมควรซ่อมปรับปรุงยานยนต์สาย สพ. ที่อยู่ระหว่างรอเข้ารับการซ่อมขั้นคลังของทั้ง 2 ประเภท ประมาณร้อยละ 70- 80 ของความต้องการ เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับมีจำกัด
อย่างไรก็ตาม เมื่อปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ในต่างประเทศลดต่ำลง ควรเร่งรัดการดำเนินการคัดเลือกแบบรถยนต์บรรทุกแบบใหม่ เพื่อนำมาใช้งานใน ทบ. ต่อไป
เบื้องต้น มติที่ประชุม เห็นควรเปลี่ยนแปลงโครงการฯ และนำงบประมาณไปสนับสนุน โครงการซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์สาย สพ. เพื่อจ้างช่อมปรับปรุงรถยนต์บรรทุก M35 A2 ให้เป็น M35 A2 I จำนวน 238 คัน วงเงินประมาณ 595,000,000 บาท และจ้างซ่อมปรับปรุง รถยนต์บรรทุก Unimog จำนวน 163 คัน วงเงิน 326,000,000 บาท พร้อมทั้งให้ สพ.ทบ. จัดทำโครงการซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์สาย สพ. ระยะถัดไป เป็นโครงการเริ่มใหม่กรณีเร่งด่วน ประจำปีงบประมาณ 2565 แล้วเสนอต่อ ทบ.เพื่อดำเนินการต่อไป
@ ข้อสังเกต
อย่างไรก็ดี ภายใต้หลักการและเหตุผลของ ทบ ดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวในกองทัพ ถึงข้อสังเกตโต้แย้งการดำเนินงานโครงการฯ นี้ 5 ประเด็นหลัก คือ
1. การดำเนินการเปลี่ยนแปลงโครงการผูกพันข้ามปีงบประมาณ จะต้องเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน ปัจจุบัน ทบ. ได้มีการดำเนินการแล้วหรือไม่
2. การซ่อมรถยนต์บรรทุกขนาด 2 1/2 ตัน M 35 A2 ที่อยู่ระหว่างซ่อม ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า อาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนยานพาหนะที่ขาดอัตราได้ และที่ผ่านมากองทัพบกโดย สพ.ทบ. ก็ได้ดำเนินการทยอยซ่อมรถดังกล่าว โดยใช้ขีดความสามารถของหน่วยงานกองทัพบกเอง ไม่ได้ดำเนินการโดยการจ้างซ่อม
3. หาก ทบ.จะหารถยนต์บรรทุกใหม่ ก็สามารถดำเนินการได้โดยไม่จำเป็นต้องคัดเลือกแบบเนื่องจากเป็นรถที่มีประจำการในกองทัพบกอยู่แล้ว และที่ผ่านมา ทบ.ก็ได้มีการพิจารณาความคุ้มค่าระหว่างจัดหาใหม่ และการซ่อมแบบอัพเกตไปแล้ว ซึ่งผลสรุปก็คือ การจัดหาใหม่มีความคุ้มค่ามากกว่า เห็นได้จากการที่ ทบ. ได้ยืนยันความต้องการในการจัดซื้อต่อ ครม. มาแล้ว 2 ครั้ง ทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์โควิด
4. หากพิจารณาถึงราคาจ้างซ่อมที่ตกอยู่ 2,500,000 บาท ต่อคัน เมื่อเทียบกับการซื้อใหม่น่าจะไม่มีความคุ้มค่า เนื่องจากการจ้างซ่อมอยู่ที่ประมาณ 60% เทียบกับราคารถใหม่ อย่างรถยนต์บรรทุกขนาด 2 1/2 ตัน KM 250 ที่ใช้เป็นข้อมูลในการเสนอราคาซึ่งอยู่ที่คันละ 4,200,000 บาท เท่านั้น
5. บริษัทที่มีศักยภาพในการจ้างซ่อมรถยนต์บรรทุกขนาด 2 1/2 ตัน M 35 A2 และรถยนต์บรรทุก Unimog ในประเทศไทย มีไม่กี่เจ้าเท่านั้น
ข้อสังเกตเหล่านี้ นับเป็นเงื่อนปมสำคัญในการดำเนินงานโครงการฯ นี้ ที่ ทบ. ควรจะต้องชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณชนให้เกิดความกระจ่างชัดเจนโดยเร็วๆ ที่สุด
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage