"...แนวทางการดำเนินการดังกล่าว ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เมื่อพิจารณาถึงราคาจ้างซ่อมที่ตกอยู่ 2,500,000 บาท ต่อคัน เมื่อเทียบกับการซื้อใหม่น่าจะไม่มีความคุ้มค่า เนื่องจากการจ้างซ่อมอยู่ที่ประมาณ 60% เทียบกับราคารถใหม่ อย่างรถยนต์บรรทุกขนาด 2 1/2 ตัน KM 250 ที่ใช้เป็นข้อมูลในการเสนอราคาซึ่งอยู่ที่คันละ 4,200,000 บาท ..."
......................................................
โครงการซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ของกองทัพบก 2 โครงการ คือ จ้างซ่อมปรับปรุงรถยนต์บรรทุกขนาด 2 1/2 ตัน M 35 A 2 ให้เป็น M 35 A 2 I จำนวน 238 คัน วงเงิน 595,000,000 บาท และจ้างซ่อมปรับปรุงรถยนต์บรรทุก Unimog จำนวน 163 คัน วงเงิน 326,000,000 บาท
กำลังถูกจับตามอง!
เมื่อสำนักข่าวอิศรา (www.isranew.org) ตรวจสอบพบว่า ในช่วงเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือแจ้ง ผู้บัญชาการทหารบก เพื่อขอเข้าตรวจสอบการดำเนินงานทั้ง 2 โครงการ โดยขอให้สั่งการหน่วยงานในสังกัดและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือและอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบด้วย
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลทางเอกสารพบว่า งานจ้างซ่อมปรับปรุงรถยนต์บรรทุกทั้ง 2 โครงการ ดังกล่าว กองทัพบกได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้งบประมาณใหม่ หลังจากได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2564 ในลักษณะก่อหนี้ผูกพันข้ามปี 2564-2566 รวมวงเงิน 921,000,000 บาท ในการจัดหารถยนต์บรรทุกขนาด 2 1/2 ตัน ตามอัตราการจัดยุทโธปกรณ์ (อัตรา 9,115 คัน ได้รับ 5,612 คัน ขาดอัตรา 3,503 คัน) เพื่อแจกจ่ายให้หน่วยพร้อมรบเคลื่อนที่เร็วและหน่วยรบหลัก จำนวน 169 คัน
เบื้องต้น ในการจัดทำข้อมูลเพื่อเข้ารับการพิจารณาจัดสรรงบประมาณดังกล่าว กองทัพบกได้ใช้ขอข้อมูลราคาอ้างอิง รถยนต์บรรทุกขนาด 2 1/2 ตัน KM 250 จากสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งหน่วยงานของกองทัพบกติดต่อขอรับข้อมูลผ่านทางสถานทูตและสำนักงานผู้ช่วยทูตทหารเกาหลีใต้ประจำประเทศไทย
ต่อมาในช่วงเดือนพ.ย.2563 กองทัพบก ได้อนุมัติในหลักการให้เปลี่ยนแปลงโครงการใหม่ โดยนำงบประมาณที่ได้รับจัดสรรมา ไปดำเนินการจ้างซ่อมปรับปรุงรถยนต์บรรทุกขนาด 2 1/2 ตัน M 35 A 2 ให้เป็น M 35 A 2 I จำนวน 238 คัน วงเงิน 595,000,000 บาท (คันละ 2,500,000 บาท) และจ้างซ่อมปรับปรุงรถยนต์บรรทุก Unimog จำนวน 163 คัน วงเงิน 326,000,000 บาท (คันละ 2,000,000 บาท)
โดยอ้างเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงโครงการว่า กองทัพบกมีรถอยู่ในสภาพชำรุด อยู่ระหว่างการซ่อมจำนวนมาก และไม่สามารถดำเนินการคัดเลือกแบบรถยนต์บรรทุกขนาด 2 1/2 ตัน ได้ เนื่องจากปัญหาสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19
อย่างไรก็ดี แนวทางการดำเนินการดังกล่าว ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เมื่อพิจารณาถึงราคาจ้างซ่อมที่ตกอยู่ 2,500,000 บาท ต่อคัน เมื่อเทียบกับการซื้อใหม่น่าจะไม่มีความคุ้มค่า เนื่องจากการจ้างซ่อมอยู่ที่ประมาณ 60% เทียบกับราคารถใหม่ อย่างรถยนต์บรรทุกขนาด 2 1/2 ตัน KM 250 ที่ใช้เป็นข้อมูลในการเสนอราคาซึ่งอยู่ที่คันละ 4,200,000 บาท
ส่วนข้อมูลเชิงลึกอื่นๆ สำนักข่าวอิศรา จะนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage