"...ในการพิจารณาคดีนี้ ศาลฯ เห็นว่า คําเบิกความพยานโจทก์ปาก นางประพิศ มานะธัญญา กรรมการผู้จัดการบริษัทเจียเม้ง จํากัด มีรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาและสถานที่ตลอดจนพฤติการณ์การเรียกเงินเป็นลําดับเรื่องราว ไม่มีพิรุธให้ระแวงว่าเป็นการ ปั้นแต่งเรื่องขึ้น... นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 ให้การและเบิกความต่อสู้ต่อมาว่า เหตุที่ระงับการออกเช็คคืนเงินค่าข้าวให้แก่บริษัท เจียเม้ง จํากัด มิใช่เป็นการประวิงเวลาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ แต่เนื่องจากยังไม่มีการตรวจสอบการคืนข้าวที่เบิกเกินของบริษัทเจียเม้ง จํากัด ตามที่ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 สั่งการไว้ซึ่งเป็นการพยายามหาวิธีการเพื่อหักกลบลบหนี้..."
..........................
ในตอนที่แล้ว (อ่านประกอบ : ช็อตต่อช็อต! นาทีหิ้วเงิน 30 ล. จ่ายสินบนคดีข้าวถุง (4) 'นายบารมี-จ่าแดง' โผล่ช่วยนับ)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ทิ้งท้ายไว้ว่า จะนำเสนอข้อต่อสู้ทางคดีของ นายชนุตร์ปกรณ์ วงศ์สีนิล อดีตผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) และความเห็นของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ในการตัดสินคดีกล่าวหา นายชนุตร์ปกรณ์ วงศ์สีนิล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) กับพวก 1 ราย คือ นายอธิธัช เรือนทองคำ เรียกรับเงินจากคู่สัญญาตัวแทนจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงให้กับ อคส. โดยประวิงเวลาในการดำเนินการชำระเงินค่าข้าวคืน ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6 และมาตรา 11 และ พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 123/1 ประกอบ ป.อ.มาตรา 86 ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 มีคำพิพากษาว่า นายชนุตร์ปกรณ์ วงศ์สีนิล มีความผิดตาม มาตรา 6 พ.ร.บ.ป.ป.ช. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 123/1 ให้ลงโทษจำคุก 17 ปี ส่วนนายอธิธัช เรือนทองคำ (ไม่ระบุสถานะตำแหน่งที่ชัดเจน) ในฐานะผู้สนับสนุนพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ ศาลฯ มีคำสั่งให้ยกฟ้อง มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบ
หลังจากเผยแพร่ข้อมูลสำคัญในคำพิพากษาคดีนี้ไปแล้ว อาทิ
1. นายชนุตร์ปกรณ์ วงศ์สีนิล ได้เรียกร้องเงินจากนางประพิศ มานะธัญญา กรรมการผู้จัดการบริษัทเจียเม้ง จํากัด จํานวน 30,000,000 บาท เป็นค่าตอบแทนเพื่อจะช่วยเหลือในเรื่องดําเนินการคืนเงินดังกล่าว และช่วยเหลือเกี่ยวกับสัญญาอื่น ๆ ที่บริษัทเจียเม้ง จํากัด ยังมีภาระผูกพันอยู่กับองค์การคลังสินค้า จนนางประพิศยินยอมให้เงินตามที่ นายชนุตร์ปกรณ์ เรียกร้อง
2. มีการจัดเตรียมสถานที่ โดยเตรียมห้องพักหมายเลข 652 โรงแรมริชมอนด์ เพื่อรับมอบเงิน เมื่อได้รับเงินแล้วนายชนุตร์ปกรณ์ จึงอนุมัติคืนเงินค่าข้าวจํานวน 131,200,000 บาท ให้แก่บริษัทเจียเม้ง จํากัด ในวันเวลาดังกล่าว โดยไม่รอผลการให้ตรวจสอบเพิ่มเติมในเรื่องการขอคืนเงินแต่อย่างใด
3. คำให้การของทีมงานเลขานุการของ นายชนุตร์ปกรณ์ จำเลย ที่ 1 ในฐานะพยานฝ่ายโจทก์ ชี้ให้ศาลฯ เห็นถึงพฤติการณ์ของ นายชนุตร์ปกรณ์ จำเลย ที่ 1 ในการรวบรัดสั่งอนุมัติให้คืนเงินค่าข้าว ให้กับ บริษัทเจียเม้ง จํากัด ที่กลายมาเป็นหลักฐานสำคัญในคดีนี้
4. ขั้นตอนการเจรจาต่อรองเรียกรับเงินระหว่าง นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 กับผู้บริหารบริษัท เจียเม้ง จํากัด ที่พบว่า ตัวเลขวงเงินที่ขอเรียกรับในครั้งแรกสูงถึง 100 ล้านบาท โดยนายชนุตร์ปกรณ์ อ้างว่าเป็นคำสั่งของผู้ใหญ่รายหนึ่ง ก่อนจะมีการเจรจาต่อรองเหลือแค่ 30 ล้านบาทในภายหลัง
5. ข้อมูลลำดับเหตุการณ์การรวบรวมเงินจำนวน 30 ล้านบาท ของ บริษัทเจียเม้ง จํากัด เพื่อนำไปส่งมอบให้กับ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 ที่โรงแรมริชมอนด์ ตามที่มีการนัดหมายไว้ ซึ่งมีการรวบรวมเงินมาจากหลายส่วน เมื่อไปถึงที่นัดหมายพบว่า มีตัวละคร ที่ชื่อว่านายบารมี และจ่าแดง (ไม่ทราบนามสกุล) มาคอยพบ และตรวจสอบจำนวนเงิน ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกัน บริษัทเจียเม้ง จํากัด ได้ส่งตัวแทนไปรับเช็คคืนเงินค่าข้าวจํานวน 131,200,000 บาท ที่สำนักงาน อคส. ด้วย (ดูรายละเอียดในเรื่องประกอบท้ายข่าว)
ต่อไปนี้ เป็นข้อมูลการต่อสู้ทางคดีของ นายชนุตร์ปกรณ์ วงศ์สีนิล และความเห็นของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ในการตัดสินคดีนี้ตามที่แจ้งไปในเบื้องต้น
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
@ พยานโจทก์ ไม่มีพิรุธปั้นแต่งเรื่องขึ้น
ในการพิจารณาคดีนี้ ศาลฯ เห็นว่า คําเบิกความพยานโจทก์ปาก นางประพิศ มานะธัญญา กรรมการผู้จัดการบริษัทเจียเม้ง จํากัด มีรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาและสถานที่ตลอดจนพฤติการณ์การเรียกเงินเป็นลําดับเรื่องราว ไม่มีพิรุธให้ระแวงว่าเป็นการ ปั้นแต่งเรื่องขึ้น
ทั้งยังมี นางสาว ก. เลขานุการของนางประพิศ เป็นพยานร่วมรู้เห็นยืนยันเรื่องการเจรจาต่อรองจํานวนเงิน ระหว่าง นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 กับนางประพิศสอดคล้องกัน
@ นางประพิศ มานะธัญญา /อ้างอิงภาพจาก https://mgronline.com/local/detail/9610000007444
และคําเบิกความของนางประพิศในเรื่องการรวบรวมเงิน 30,000,000 บาท นั้น มีพยานหลักฐานอื่นของโจทก์มาสนับสนุน คือ บันทึกถ้อยคําของนาย อ. เจ้าของโรงสีแห่งหนึ่ง ที่ให้นางประพิศ ยืมเงิน 20,000,000 บาท มาจ่ายให้กับ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 ความว่า นาย อ. กับนางประพิศติดต่อทําธุรกิจกันและมีการยืมเงินกันจํานวน 10 ล้านบาทขึ้นไปหลายครั้ง โดยนาย อ. จะให้เป็นเงินสดหรือโอนเข้าบัญชีเงินฝากของนางประพิศ
และมีบันทึกถ้อยคําของนาย ณ. พนักงานฝ่ายการเงินของบริษัทเจียเม้ง จํากัด ประกอบหลักฐานการถอนเงินจาก ธนาคารจำนวน 3 แห่ง จำนวน 10,000,000 บาท ตามที่ได้รับคำสั่งจากนางประพิศ แล้ว นําเงินใส่กระเป๋าเดินทาง 2 ใบ นําไปให้นาย ภ. บุตรเขยของนางประพิศ ที่โรงแรมริชมอนด์
@ เชื่อมีการรวบรวมเงิน 30 ล้าน จริง
จาก พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวมีน้ำหนักให้เชื่อได้ว่านางประพิศรวบรวมเงิน 30,000,000 บาท จริง ซึ่งเป็นจํานวนที่ตรงกับที่นางประพิศยืนยันว่า นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 เรียกเอาจากนางประพิศ ตามพฤติการณ์เช่นนี้ จึงเชื่อว่าการที่นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 อ้างการตรวจสอบการคืนข้าวของบริษัทเจียเม้ง จํากัด มีวัตถุประสงค์เพื่อชะลอการคืนเงินค่าข้าวให้แก่บริษัทเจียเม้ง จํากัด ในระหว่างการเจรจาเรียกเงินจากนางประพิศเท่านั้น
เมื่อการเจรจามีท่าที่ตกลงกันได้แล้ว นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 จึงรวบรัดอนุมัติให้คืนเงินค่าข้าวแก่บริษัทเจียเม้ง จํากัด โดยไม่รอฟังความเห็นจากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในเรื่องตรวจสอบการคืนข้าวก่อน
นอกจากนี้ ยังมีเบิกความของ นาย ภ. บุตรเขยของนางประพิศ ที่มีรายละเอียดในการนําเงิน 30,000,000 บาท ไปส่งมอบให้นายบารมีที่โรงแรมริชมอนด์ ห้อง 625
ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นเพื่อนของ นาย ภ. บุตรเขยของนางประพิศ ที่ได้รับคำชวนขอให้ช่วยถือเงินเพื่อความปลอดภัย เบิกความเป็นพยานโจทก์ยืนยันข้อเท็จจริงได้ความสอดคล้องกันในเหตุการณ์ขณะส่งมอบเงินที่โรงแรมริชมอนด์
@ บันทึกจองห้องโรงแรมชัด
ประกอบกับ โจทก์มีบันทึกถ้อยคําของนาย ส. พนักงานต้อนรับของโรงแรมริชมอนด์ ซึ่งให้ถ้อยคําประกอบ สําเนาบัตรทะเบียนผู้พักและสําเนาบันทึกข้อมูลผู้ใช้บริการในระบบคอมพิวเตอร์ ได้ความว่า เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2557 มีการใช้ห้องพัก เลขที่ 652 เวลา 14.53 นาฬิกา และแจ้งคืน ห้องพักที่เคาน์เตอร์บริการเวลา 15.35 นาฬิกา
พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวจึงฟังประกอบกันมีน้ำหนัก ให้เชื่อได้ว่า นาย ภ. บุตรเขยของนางประพิศ กับพวกไปส่งมอบเงิน 30,000,000 บาท ให้นายบารมีที่โรงแรมริชมอนด์จริง ตามที่ นางสาว ก. เลขานุการของนางประพิศ ยืนยันว่า นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อนัดหมายการส่งมอบเงินดังกล่าว
และในระหว่างการส่งมอบเงินกันนั้นได้ความจาก นางสาว ก. เลขานุการของนางประพิศ ว่าไปรับเช็คคืนเงินค่าข้าวที่ องค์การคลังสินค้า โดยไปพบนายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 ที่ชั้น 8 และนั่งรอการส่งมอบเงินอยู่ด้วยกัน
ซึ่งในเรื่องนี้ได้ความจากคําเบิกความของ นางสาว ต. เลขานุการของ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 ด้วยว่า ในการมารับเช็คคืนเงินค่าข้าวนั้น
@ คน อคส. เห็นเจ้านายนั่งรอกับตัวแทนบริษัทฯ
นางสาวต. พบนางสาว ก. เลขานุการของนางประพิศ นั่งอยู่กับนายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 และได้ความจากคําเบิกความ ของนางสาว ม. เจ้าหน้าที่ในอคส. ว่า ในวันที่ 5 มิถุนายน 2557 ช่วงเช้า นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 เรียกนางสาว ม. ไปพบที่ชั้น 8 เมื่อนางสาว ม. ไปถึงพบ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 และนางสาว ก. เลขานุการของนางประพิศ
นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 สอบถามนางสาว ม. เรื่องการคืน เงินค่าข้าว จํานวน 131,200,000 บาท และการคืนเงินค้ำประกันว่าดําเนินการไปถึงไหนแล้ว
นางสาว ม. ตอบว่าอยู่ในระหว่างดําเนินการโดยเงินค้ำประกันยังติดปัญหาอยู่ ส่วนการคืนเงินค่าข้าวสามารถดําเนินการได้
ซึ่งนายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 แจ้งว่าบริษัทเจียเม้ง จํากัด มารอรับเงินแล้ว
จากนั้นเวลา 12.58 นาฬิกา ต้นเรื่องกลับมาที่ส่วนงานการเงิน นางสาว ม. จึงออกใบเตรียมจ่ายและลงลายมือชื่อในแคชเชียร์เช็คแล้วไปพบงนายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 ที่ชั้น 10 เพื่อให้ลงลายมือชื่อในแคชเชียร์เช็ค
เมื่อนายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในแคชเชียร์เช็คแล้ว จึงมอบแคชเชียร์เช็คให้ นางสาว ก. เลขานุการของนางประพิศ ที่งานจ่ายเงินชั้น 4 คําเบิกความของนางสาว ต. และ นางสาว ม. จึงสนับสนุนคําเบิกความของ นางสาว ก. เลขานุการของนางประพิศ ให้มีน้ำหนักรับฟังยิ่งขึ้นว่า ก่อนที่ นางสาว ก. เลขานุการของนางประพิศ จะได้รับเช็คคืนเงินค่าข้าวนั้น
นางสาว ก. เลขานุการของนางประพิศ และนายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 นั่งอยู่ด้วยกันที่ชั้น 8
ทั้งที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะนั้น นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 ได้อนุมัติการคืนเงินค่าข้าวไปก่อนแล้วคงเหลือเพียงขั้นตอนการออกเช็คเท่านั้น ไม่มีเหตุที่นางสาว ก. เลขานุการของนางประพิศ จะต้องไปพบนายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 ในเรื่องการอนุมัติคืนเงินค่าข้าวอีก
ดังนั้น การที่ นางสาว ก. เลขานุการของนางประพิศ ยังต้องไปพบนายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 และนั่งอยู่ด้วยกัน จึงเชื่อว่าอยู่ในระหว่างที่ต่างรอฟังผลการส่งมอบเงินตามที่ นางสาว ก. เลขานุการของนางประพิศ เบิกความ
ที่ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 ให้การและเบิกความต่อสู้ว่า นางประพิศ ไม่พอใจและโกรธแค้น นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 ที่ปฏิเสธการร้องขอยกเว้นค่าปรับกรณีบริษัทเจียเม้ง จํากัด ผิดสัญญา ซื้อขายข้าวสารกับองค์การคลังสินค้านั้น นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 เบิกความเองว่า นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 ไม่มีอํานาจลดค่าปรับให้ในกรณีดังกล่าว
ดังนั้น จึงไม่สมเหตุสมผลที่นางประพิศจะไปร้องขอต่อ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 ทั้งที่ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 ไม่มีอํานาจ
@ ข้ออ้างจำเลยไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง
นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 ให้การและเบิกความต่อสู้ต่อมาว่า เหตุที่ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 ระงับการออกเช็คคืนเงินค่าข้าวให้แก่บริษัท เจียเม้ง จํากัด มิใช่เป็นการประวิงเวลาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ แต่เนื่องจากยังไม่มีการตรวจสอบการคืนข้าวที่เบิกเกินของบริษัทเจียเม้ง จํากัด ตามที่ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 สั่งการไว้ซึ่งเป็นการพยายามหาวิธีการเพื่อหักกลบลบหนี้
ต่อมา นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 ทราบจากรองผู้อํานวยการองค์การคลังสินค้า ว่า ไม่สามารถนําเงินดังกล่าวมาหักลบกลบหนี้ในสัญญาอื่นประกอบกับมีการคืนข้าวที่ยักยอกเพิ่มเติมอย่างมี นัยสําคัญมีมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท
นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 พิจารณาภาพรวมอย่างรอบคอบแล้วว่าการหักกลบเป็นเงิน เพียง 131 ล้านบาทเท่านั้น องค์การคลังสินค้าได้ประโยชน์จากการนี้มากกว่า จึงอนุมัติให้คืนเงินค่าข้าว ให้แก่บริษัทเจียเม้ง จํากัด มิได้มีการเร่งรัดโดยไม่ผ่านขั้นตอนตามปกติแต่อย่างใด
นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 ไม่มีส่วนรู้เห็น ในการที่นายอธิธัช เรือนทองคำ (ไม่ระบุสถานะตำแหน่งที่ชัดเจน) จําเลยที่ 2 เรียกเงินจากนางประพิศแต่อย่างใด
ข้อต่อสู้ของ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 ดังกล่าวเมื่อพิจารณา การเสนอความเห็นในขั้นตอนต่าง ๆ ตลอดจนการสั่งการตามเอกสารแล้ว ปรากฏว่า รองผู้อํานวยการองค์การคลังสินค้า เสนอความเห็นต่อ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 มาแต่แรกแล้วว่าไม่เป็นภาระใด ๆ ที่จะยึดหน่วงเงินค่าข้าว จํานวน 131,200,000 บาท เห็นควรคืนเงินจํานวนดังกล่าวให้บริษัทเจียเม้ง จํากัด
ซึ่งนายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 ก็อนุมัติให้ คืนเงินตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2557
แต่ต่อมานายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 กลับอ้างว่ายังไม่ได้ตรวจสอบการคืนข้าว ที่เบิกเกินของบริษัทเจียเม้ง จํากัด ตามที่ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 สั่งการ ซึ่งการคืนข้าวนี้เป็นเรื่องคนละสัญญา กับการคืนเงินค่าข้าวและมีวิธีดําเนินการอยู่แล้วตามมติของคณะกรรมการองค์การคลังสินค้าที่ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 เองอ้างเป็นพยานหลักฐาน และนายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 ก็ได้ดําเนินการตามมติดังกล่าว จนกระทั่งมีการร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีอาญาแก่บริษัทเจียเม้ง จํากัด แล้ว ดังนั้น บริษัทเจียเม้ง จํากัด จะต้องรับผิดในเรื่องดังกล่าวอย่างไรย่อมขึ้นอยู่กับผลของการดําเนินคดีนั้น ไม่มีเหตุ โดยชอบใดที่นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 จะนําเรื่องการคืนเงินค่าาวมาหักกลบลบหนี้กับการคืนข้าวของบริษัทเจียเม้ง จํากัด
ที่ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 อ้างว่าการกระทําของ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 ทําให้บริษัทเจียเม้ง จํากัด คืนข้าวมากขึ้นนั้นก็ไม่ปรากฏว่า บริษัทเจียเม้ง จํากัด ทราบถึงเหตุที่นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 ระงับการออกเช็คคืนเงินค่าข้าวว่าต้องการให้บริษัทเจียเม้ง จํากัด คืนข้าวให้องค์การคลังสินค้ามากขึ้นแต่อย่างใด
กลับได้ความจากคําเบิกความของนางประพิศว่า การระงับการออกเช็คดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการที่บริษัทเจียเม้ง จํากัด จะต้องคืนข้าวให้แก่องค์การคลังสินค้า
นอกจากนี้ยังได้ความจากคําเบิกความของนาง อ. ซึ่งร่วมเป็นคณะกรรมการส่งคืนข้าวว่า การคืนข้าว ของบริษัทเจียเม้ง จํากัด ที่ปรากฏว่า วันที่ 18 มีนาคม 2557 คงค้างส่งข้าวปริมาณ 65,202.688 ตัน และ วันที่ 27 พฤษภาคม 2557 คงค้างส่งคืนข้าวปริมาณ 32,816.825700 ตัน เป็นการส่งคืนข้าวเหมือนกับ บริษัทอื่น ๆ ที่ต้องคืนข้าวให้แก่องค์การคลังสินค้า
ดังนั้น ข้ออ้างของนายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง
@ ชนุตร์ปกรณ์ วงศ์สีนิลอ้างอิงภาพจาก/https://www.dailynews.co.th/economic/224312
และที่ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 ให้การและเบิกความต่อสู้อีกว่า นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 มอบหมายให้รองผู้อํานวยการองค์การคลังสินค้า แจ้งความ ร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีอาญาแก่บริษัทเจียเม้ง จํากัด กรณีบริษัทเจียเม้ง จํากัด ไม่ส่งคืนข้าวที่เบิกเกินไป ให้แก่องค์การคลังสินค้า ตามสําเนาหนังสือและสําเนารายงานประจําวันเกี่ยวกับคดีจากการที่ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 สั่งการให้ตรวจสอบการคืนข้าวส่งผลให้การเร่งรัดคืนข้าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างมีนัยสําคัญ โดยสามารถเรียกคืนข้าวจากบริษัทเจียเม้ง จํากัด ได้เพิ่มขึ้นจนมีจํานวนคงเหลือ ณ วันที่ 27 พฤษภาคม 2557 อีก 32,816.825 ตัน การดําเนินการของ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 ทําให้นางประพิศเกิดความ ไม่พอใจและโกรธแค้น นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 เพิ่มขึ้นนั้น เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์นอกจากนางประพิศแล้ว ยังมีพยานปากอื่น ๆ อีกซึ่งไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุโกรธเคืองกับ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 มาก่อนต่างเบิกความสอดคล้อง เชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริงในเรื่องการนัดหมายส่งมอบเงิน เหตุการณ์ขณะส่งมอบเงิน ตลอดจนการ ได้รับเช็คคืนเงินค่าข้าว ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้อยู่ในความรู้เห็นของนางประพิศโดยตรงที่จะมา กํากับให้เบิกความสอดคล้องต้องกันได้โดยง่าย
@ ข้ออ้างไม่พอใจ-โกรธแค้น ไม่ตรงความจริง
ดังนั้น ลําพังนางประพิศที่ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 อ้างว่าไม่พอใจและ โกรธแค้น จึงยังไม่เพียงพอให้ระแวงสงสัยว่าข้อเท็จจริงที่ฟังได้ความทั้งหมดจะไม่ตรงต่อความเป็นจริง
นอกจากนี้ที่ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 ให้การและเบิกความต่อสู้ว่า ตามที่กล่าวอ้างว่านาย ภ. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นเพื่อนกัน นํากระเป๋าเดินทาง 3 ใบ ซึ่งบรรจุเงิน 30,000,000 บาท นั้น หากเกิดขึ้นจริง นางประพิศ นาย ภ. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ย่อมจะต้องมีความผิดฐานร่วมกันให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน แต่กลับไม่มีการดําเนินคดีใด ๆ แก่บุคคล ดังกล่าว
และหากมีการกระทําความผิดตามที่นางประพิศกล่าวอ้างจริงก็ถือว่าเป็นความผิดซึ่งหน้าที่ เจ้าพนักงานตํารวจสามารถจับกุมบุคคลซึ่งรับเงินที่โรงแรมริชมอนด์ และขยายผลไปจับกุม นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 ได้ทันที แต่กลับไม่มีการดําเนินการนั้น
เห็นว่า การดําเนินคดีหรือการดําเนินการขยายผลตามที่ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 อ้างเป็นคนละส่วนกับการนําเงินไปส่งมอบให้ที่โรงแรมริชมอนด์ ไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลกันถึงขนาดที่ จะบ่งชี้ไปได้โดยแน่แท้ว่าหากไม่มีการดําเนินคดีหรือดําเนินการขยายผลตามที่ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 อ้างแล้วแสดงว่า จะต้องไม่มีการนําเงินไปส่งมอบให้เกิดขึ้น
พยานหลักฐานของ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 จึงไม่สามารถฟังหักล้างพยาน หลักฐานของโจทก์ได้
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 เรียกเงินจากนางประพิศจํานวน 30,000,000 บาท เพื่อตอบแทนการคืนเงินค่าข้าวและการช่วยเหลือตามสัญญาอื่นที่บริษัทเจียเม้ง จํากัด มีภาระผูกพัน อยู่กับองค์การคลังสินค้า
@ พิพากษาลงโทษคุก 17 ปี
ดังนั้น เมื่อ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 เป็นพนักงานองค์การคลังสินค้าและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการ มีอํานาจหน้าที่อนุมัติคืนเงินค่าข้าว จํานวน 131,200,000 บาท ให้แก่บริษัท เจียเม้ง จํากัด การที่ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่1 เรียกเงิน 30,000,000 บาท จากนางประพิศเพื่อตอบแทนการอนุมัติ คืนเงินค่าข้าวดังกล่าวตามอํานาจในตําแหน่งหน้าที่ของ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 ย่อมเป็นการอันมิชอบ เพื่อให้เกิด ความเสียหายแก่บริษัทเจียเม้ง จํากัด และเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สําหรับตนเองหรือผู้อื่น การกระทําของ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานเป็นพนักงานเรียกทรัพย์สินสําหรับ ตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทําการอย่างใดในหน้าที่ ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ และ ฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6 และมาตรา 11 แต่เมื่อการกระทําของ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 เป็นความผิดตามมาตรา 6 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จําต้องปรับบทลงโทษตามมาตรา 11 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก และการกระทําของ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 เป็นความผิด ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติอย่างใดในตําแหน่งหน้าที่ หรือใช้อํานาจในตําแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะ กระทําความผิดอีกบทหนึ่ง
พิพากษาว่า นายชนุตร์ปกรณ์ วงศ์สีนิล จำเลย มีความผิดตาม มาตรา 6 พ.ร.บ.ป.ป.ช. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 123/1
ให้ลงโทษจำคุก 17 ปี
*************************
สำหรับข้อมูลในตอนต่อไป จะเป็นรายละเอียดคำพิพากษา ในส่วนของ นายอธิธัช เรือนทองคำ (ไม่ระบุสถานะตำแหน่งที่ชัดเจน) จำเลยที่สอง ที่ศาลฯ ตัดสินในยกฟ้อง
รายละเอียดเป็นอย่างไร ต้องติดตามกันเช่นเดิม
อ่านประกอบ :
คุก 17 ปี! อดีต ผอ.อคส. เรียกรับเงินคู่สัญญาขายข้าวถุง ยุค 'ยิ่งลักษณ์'
พลิกปูมคดีเรียกเงินข้าวถุง 30 ล้าน โดนคุก 17 ปี - กรณีถุงมือยางแสนล. ใครจะเป็นรายต่อไป
ใช้ห้องพัก รร.ดัง รับเงิน 30 ล.! เจาะคำพิพากษาคดีข้าวถุง อดีต ผอ.อคส. โดนคุก 17 ปี (1)
คำให้การ 2 เลขาฯ มัดเจ้านาย! เจาะคำพิพากษาคดีข้าวถุง อดีต ผอ.อคส. โดนคุก 17 ปี (2)
อ้างผู้ใหญ่ปริศนาขอ 100 ล. ก่อนลดเหลือ 30! เจาะคำพิพากษาคดีข้าวถุง อดีต ผอ.อคส. (3)
ช็อตต่อช็อต! นาทีหิ้วเงิน 30 ล. จ่ายสินบนคดีข้าวถุง (4) 'นายบารมี-จ่าแดง' โผล่ช่วยนับ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage