"....ต่อไปนี้ เป็นข้อมูลลำดับเหตุการณ์การรวบรวมเงินจำนวน 30 ล้านบาท ของ บริษัทเจียเม้ง จํากัด เพื่อนำไปส่งมอบให้กับ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 ที่โรงแรมริชมอนด์ ตามที่มีการนัดหมายไว้ ซึ่งมีการรวบรวมเงินมาจากหลายส่วน เมื่อไปถึงที่นัดหมายพบว่า มีตัวละคร ที่ชื่อว่านายบารมี และจ่าแดง (ไม่ทราบนามสกุล) มาคอยพบ และตรวจสอบจำนวนเงิน ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกัน บริษัทเจียเม้ง จํากัด ได้ส่งตัวแทนไปรับเช็คคืนเงินค่าข้าวจํานวน 131,200,000 บาท ที่สำนักงาน อคส. ด้วย ..."
................................................
"ในคืนวันนั้น นางประพิศ แจ้งทางโทรศัพท์ไปยัง นายชนุตร์ปกรณ์ จำเลย ที่ 1 ว่า ยินยอมที่จะมอบเงิน 30 ล้านบาท แลกกับการที่ นายชนุตร์ปกรณ์ จำเลย ที่ 1 จะอนุมัติคืนเงินค่าข้าว จํานวน 131,200,000 บาท และแจ้งว่าได้มอบหมายให้ นางสาว ก. เลขานุการของนางประพิศเป็นผู้ติดต่อพูดคุยในรายละเอียดต่อไป "
คือ รายละเอียดสำคัญในคำพิพากษาคดีกล่าวหา นายชนุตร์ปกรณ์ วงศ์สีนิล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) กับพวก 1 ราย คือ นายอธิธัช เรือนทองคำ เรียกรับเงินจากคู่สัญญาตัวแทนจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงให้กับ อคส. โดยประวิงเวลาในการดำเนินการชำระเงินค่าข้าวคืน ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6 และมาตรา 11 และ พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 123/1 ประกอบ ป.อ.มาตรา 86 ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 มีคำพิพากษาว่า นายชนุตร์ปกรณ์ วงศ์สีนิล มีความผิดตาม มาตรา 6 พ.ร.บ.ป.ป.ช. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 123/1 ให้ลงโทษจำคุก 17 ปี ส่วนนายอธิธัช เรือนทองคำ (ไม่ระบุสถานะตำแหน่งที่ชัดเจน) ในฐานะผู้สนับสนุนพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ ศาลฯ มีคำสั่งให้ยกฟ้อง
ตอนเดิม ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ทิ้งท้ายไว้ (อ่านประกอบ : อ้างผู้ใหญ่ปริศนาขอ 100 ล. ก่อนลดเหลือ 30! เจาะคำพิพากษาคดีข้าวถุง อดีต ผอ.อคส. (3))
หลังจากนำข้อมูลสำคัญมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้วหลายส่วน ได้แก่
1. นายชนุตร์ปกรณ์ วงศ์สีนิล ได้เรียกร้องเงินจากนางประพิศ มานะธัญญา กรรมการผู้จัดการบริษัทเจียเม้ง จํากัด จํานวน 30,000,000 บาท เป็นค่าตอบแทนเพื่อจะช่วยเหลือในเรื่องดําเนินการคืนเงินดังกล่าว และช่วยเหลือเกี่ยวกับสัญญาอื่น ๆ ที่บริษัทเจียเม้ง จํากัด ยังมีภาระผูกพันอยู่กับองค์การคลังสินค้า จนนางประพิศยินยอมให้เงินตามที่ นายชนุตร์ปกรณ์ เรียกร้อง
2. มีการจัดเตรียมสถานที่ โดยเตรียมห้องพักหมายเลข 652 โรงแรมริชมอนด์ เพื่อรับมอบเงิน เมื่อได้รับเงินแล้วนายชนุตร์ปกรณ์ จึงอนุมัติคืนเงินค่าข้าวจํานวน 131,200,000 บาท ให้แก่บริษัทเจียเม้ง จํากัด ในวันเวลาดังกล่าว โดยไม่รอผลการให้ตรวจสอบเพิ่มเติมในเรื่องการขอคืนเงินแต่อย่างใด
3. คำให้การของทีมงานเลขานุการของ นายชนุตร์ปกรณ์ จำเลย ที่ 1 ในฐานะพยานฝ่ายโจทก์ ชี้ให้ศาลฯ เห็นถึงพฤติการณ์ของ นายชนุตร์ปกรณ์ จำเลย ที่ 1 ในการรวบรัดสั่งอนุมัติให้คืนเงินค่าข้าว ให้กับ บริษัทเจียเม้ง จํากัด ที่กลายมาเป็นหลักฐานสำคัญในคดีนี้
4. ขั้นตอนการเจรจาต่อรองเรียกรับเงินระหว่าง นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 กับผู้บริหารบริษัท เจียเม้ง จํากัด ที่พบว่า ตัวเลขวงเงินที่ขอเรียกรับในครั้งแรกสูงถึง 100 ล้านบาท โดยนายชนุตร์ปกรณ์ อ้างว่าเป็นคำสั่งของผู้ใหญ่รายหนึ่ง ก่อนจะมีการเจรจาต่อรองเหลือแค่ 30 ล้านบาทในภายหลัง
ตอนต่อไปนี้ เป็นข้อมูลลำดับเหตุการณ์การรวบรวมเงินจำนวน 30 ล้านบาท ของ บริษัทเจียเม้ง จํากัด เพื่อนำไปส่งมอบให้กับ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 ที่โรงแรมริชมอนด์ ตามที่มีการนัดหมายไว้ ซึ่งมีการรวบรวมเงินมาจากหลายส่วน เมื่อไปถึงที่นัดหมายพบว่า มีตัวละคร ที่ชื่อว่านายบารมี และจ่าแดง (ไม่ทราบนามสกุล) มาคอยพบ และตรวจสอบจำนวนเงิน ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกัน บริษัทเจียเม้ง จํากัด ได้ส่งตัวแทนไปรับเช็คคืนเงินค่าข้าวจํานวน 131,200,000 บาท ที่สำนักงาน อคส. ด้วย
รายละเอียดลำดับเหตุการณ์ทั้ง 2 ขั้นตอน ปรากฎดังต่อไปนี้
หลังจากที่ นางประพิศ แจ้งทางโทรศัพท์ไปยัง นายชนุตร์ปกรณ์ จำเลย ที่ 1 ว่า ยินยอมที่จะมอบเงิน 30 ล้านบาท แลกกับการที่ นายชนุตร์ปกรณ์ จำเลย ที่ 1 จะอนุมัติคืนเงินค่าข้าว จํานวน 131,200,000 บาท
นางประพิศ ได้รวบรวมเงิน 30 ล้านบาท โดยเป็นเงินของบริษัทเจียเม้ง จํากัด จํานวน 10,000,000 บาท ซึ่งนางประพิศมอบอํานาจ ให้นาย ณ. พนักงานฝ่ายการเงินของบริษัทฯ ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคาร 3 แห่ง บัญชีแรก 700,000 บาท บัญชีสอง 1,800,000 บาท บัญชีสาม 7,500,000 บาท เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2557 แล้วนำไปมอบให้นาย ภ. บุตรเขยของนางประพิศ ที่โรงแรมริชมอนด์
ส่วนเงินอีก 20,000,000 บาท เป็นของนาย อ. เจ้าของโรงสีแห่งหนึ่ง จํานวน 15,000,000 บาท ที่นางประพิศนัดหมายกับนาย อ. ไปรับเงินจํานวนดังกล่าวซึ่งบรรจุในกระเป๋าเดินทาง 1 ใบ ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2557 ช่วงบ่าย และเงินอีก 5,000,000 บาท นางประพิศยืม จากนาย อ. โดยโอนเงินให้ทางบัญชีเงินฝาก และนางสาว ก. เลขานุการของนางประพิศ เป็นผู้ไปถอนเงินมาให้นางประพิศเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2557 แล้วนางประพิศนําใส่กระเป๋าเดินทางอีก 1 ใบ
นางประพิศ นําเงินทั้งสองกระเป๋า ดังกล่าวเตรียมไว้ที่บ้านของนางประพิศเพื่อให้ นาย ภ. บุตรเขยของนางประพิศ นําไปส่งมอบที่โรงแรมริชมอนด์
โดยฝ่ายโจทก์ มีนางสาว ก. เลขานุการของนางประพิศ มาเป็นพยานเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงตามบันทึกถ้อยคําเอกสาร ได้ความว่า นางประพิศ เล่าให้นางสาว ก. ฟังว่า นางประพิศติดตามเรื่องขอคืนเงินค่าข้าวจนกระทั่ง มีการเรียกเงินเกิดขึ้น
ครั้งแรกนางประพิศเจรจาต่อรองกับ นายชนุตร์ปกรณ์ จำเลย ที่ 1 ร้านอาหาร ZEN ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลรัตนาธิเบศร์ ซึ่งนายชนุตร์ปกรณ์ จำเลย ที่ 1 เรียกเงิน 100 ล้านบาท
ต่อมามีการเจรจากันอีกครั้งที่ ล็อบบี้โรงแรมริชมอนด์ ซึ่งนางสาว ก. ร่วมพูดคุยด้วย
ในการพูดคุยมีการต่อรองเรื่องจํานวนเงิน นายชนุตร์ปกรณ์ จำเลย ที่ 1 แจ้งนางประพิศว่าไม่มีอํานาจตกลงจํานวนเงินที่นางประพิศเสนอมาได้ ผู้ที่ตัดสินใจคือผู้ใหญ่ ที่นายชนุตร์ปกรณ์ จำเลย ที่ 1 กล่าวอ้าง
นางประพิศ จึงขอกลับไปหารือก่อน และในคืนวันที่ 4 มิถุนายน 2557 นางประพิศ แจ้ง นายชนุตร์ปกรณ์ จำเลย ที่ 1 ทางโทรศัพท์ว่าตกลงให้เงิน 30 ล้านบาท ซึ่งในคืนวันดังกล่าว นายชนุตร์ปกรณ์ จำเลย ที่ 1 ติดต่อกับ นางสาว ก. นัดหมายส่งมอบเงินที่โรงแรมริชมอนด์ ในวันที่ 5 มิถุนายน 2557 เวลาประมาณ 14 นาฬิกา
โดยนายชนุตร์ปกรณ์ จำเลย ที่ 1 ให้ติดต่อมอบเงินให้แก่นายบารมี
สําหรับบริษัทเจียเม้ง จํากัด ให้นาย ภ. บุตรเขยของนางประพิศ เป็นผู้นําเงินไปที่โรงแรมริชมอนด์โดยให้ติดต่อกับนายบารมีโดยตรง
ส่วนนางสาว ก. เลขานุการของนางประพิศ เป็นผู้ไปรับเช็คคืนเงินค่าข้าวที่องค์การคลังสินค้าในวันที่ 5 มิถุนายน 2557 เวลาประมาณ 14 นาฬิกา นางสาว ก. เดินทางไปที่องค์การคลังสินค้าพบ นายชนุตร์ปกรณ์ จำเลย ที่ 1 ที่ชั้น 4 และนั่งรอการส่งมอบเงินอยู่ด้วยกัน
นางสาว ก. ยังเบิกความต่อมาว่า หลังจากมีการพูดคุยกับ นายชนุตร์ปกรณ์ จำเลย ที่ 1 ที่ห้องแล้ว นางสาว ก. ได้รับเช็คจากเจ้าหน้าที่ที่ชั้น 4
@ ที่ตั้งองค์การคลังสินค้า อยู่ตึกหลังฝั่งซ้ายกระทรวงพาณิชย์
ส่วนกระบวนการจ่ายเงินนั้น นาย ภ. บุตรเขยของนางประพิศ เป็นพยานเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงตามบันทึกถ้อยคําเอกสาร ได้ความว่า วันที่ 5 มิถุนายน 2557 ช่วงเช้า นางประพิศแจ้งตน ให้นําเงิน 30 ล้านบาท ไปมอบให้คนของนายชนุตร์ปกรณ์ จำเลย ที่ 1 ที่โรงแรมริชมอนด์ในเวลาบ่าย
จากนั้น นาย ภ. ติดต่อทางโทรศัพท์ไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นเพื่อนกัน ขอให้ช่วยถือเงินเพื่อความปลอดภัย และเวลาประมาณ 13 นาฬิกา นาย ภ. ไปรับเพื่อนที่เป็นตำรวจ แล้วไปเอาเงิน 15 ล้านบาท ซึ่งบรรจุในกระเป๋าเดินทาง 1 ใบ ที่บ้านพักและเดินทางไปที่สํานักงานอาคารเจียเม้งพบนางประพิศ
นางประพิศแจ้งว่ายังเบิกเงินไม่เสร็จ ให้ยังนาย ภ. ไปรอที่โรงแรมริชมอนด์แล้วจะให้นาย ณ. พนักงานฝ่ายการเงินของบริษัทฯ นําเงินไปมอบให้ เมื่อได้รับเงินแล้วให้นําไปมอบให้นายบารมี ซึ่งได้ให้เบอร์โทรศัพท์ติดต่อไว้แล้ว
@ โรงแรมริชมอนด์
นาย ภ. ไปรออยู่หน้าลิฟท์ที่จอดรถ เมื่อได้รับเงินอีก 15 ล้านบาท ซึ่งบรรจุในกระเป๋า 2 ใบ แล้ว นาย ภ. ติดต่อทางโทรศัพท์ไปยังนายบารมี และได้รับแจ้งว่าให้ไปที่ห้อง 652
เมื่อไปถึงห้องดังกล่าวแล้วพบ นายบารมี และต่างแจ้งว่าเป็นใคร
จากนั้นนายบารมี ตรวจสอบและนําเงินใส่กระเป๋าที่เตรียมมา 2 ใบ แล้วแจ้งทางโทรศัพท์ให้คนชื่อ จ่าแดง ขึ้นมารับเงิน
ต่อมามีคนสองคนเข้ามาในห้อง แต่นาย ภ. ยังไม่ให้รับเงินไป เพราะต้องสอบถามนางสาว ก. เรื่องเช็คก่อน
นาย ภ. ติดต่อทางโทรศัพท์ไปยังนางสาว ก. และได้รับแจ้งว่าได้รับเช็คแล้วกําลังไปเบิกเงินที่ธนาคารกรุงไทย สาขากระทรวงพาณิชย์
จากนั้นประมาณ 10 นาที นางสาว ก. แจ้งว่าเบิกเงินได้แล้ว
*******************
ทั้งหมดเป็นข้อมูลลำดับเหตุการณ์ทั้งในส่วนของการจ่ายเงิน 30 ล้านบาท และการไปขอรับเช็คคืนเงินค่าข้าว จํานวน 131,200,000 บาท ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งพบว่ามีตัวละครสำคัญเข้ามาเกี่ยวข้องหลายคน
โดยเฉพาะบุคคลที่ชื่อว่า นายบารมี และ จ่าแดง ที่คอยทำหน้าที่รับและตรวจสอบเงินจำนวน 30 ล้านบาท แต่ในคำพิพากษาไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลทั้งสองไว้
จึงไม่ทราบว่าเป็นใครมาจากไหน?
เช่นเดียวกับ ผู้ใหญ่ปริศนา ที่ นายชนุตร์ปกรณ์ อ้างว่าเป็นผู้ออกคำสั่งให้มาเรียกเงิน 100 ล้าน ก่อนจะต่อรองเหลือ 30 ล้านบาทในภายหลัง ที่ในคำพิพากษาไม่ได้ระบุรายละเอียดเอาไว้เช่นกัน
ขณะที่ในช่วงสายวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 สำนักข่าวอิศรา ได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ นางประพิศ มานะธัญญา กรรมการผู้จัดการบริษัทเจียเม้ง จํากัด และ นายชนุตร์ปกรณ์ เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแล้ว แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้ โดยในส่วนของนางประพิศ เจ้าหน้าที่บริษัทฯ แจ้งว่าให้ฝากเรื่องไว้ จะนำเรื่องแจ้งให้นางประพิศรับทราบอีกครั้ง
สำหรับในตอนต่อไปนั้น สำนักข่าวอิศรา จะขอนำเสนอข้อต่อสู้ทางคดี ของ นายชนุตร์ปกรณ์ และความเห็นของศาลที่ตัดสินในคดีนี้
รายละเอียดเป็นอย่างไร โปรดติดตามเช่นเดิม
อ่านประกอบ :
คุก 17 ปี! อดีต ผอ.อคส. เรียกรับเงินคู่สัญญาขายข้าวถุง ยุค 'ยิ่งลักษณ์'
พลิกปูมคดีเรียกเงินข้าวถุง 30 ล้าน โดนคุก 17 ปี - กรณีถุงมือยางแสนล. ใครจะเป็นรายต่อไป
ใช้ห้องพัก รร.ดัง รับเงิน 30 ล.! เจาะคำพิพากษาคดีข้าวถุง อดีต ผอ.อคส. โดนคุก 17 ปี (1)
คำให้การ 2 เลขาฯ มัดเจ้านาย! เจาะคำพิพากษาคดีข้าวถุง อดีต ผอ.อคส. โดนคุก 17 ปี (2)
อ้างผู้ใหญ่ปริศนาขอ 100 ล. ก่อนลดเหลือ 30! เจาะคำพิพากษาคดีข้าวถุง อดีต ผอ.อคส. (3)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage