"...จากคําเบิกความของนางสาว ต. ประกอบเอกสารปรากฏว่าในวันที่ 4 มิถุนายน 2557 นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 อนุมัติให้คืนเงินค่าข้าวแก่บริษัทเจียเม้ง จํากัด แสดงว่า นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 อนุมัติให้คืนเงินค่าข้าวทั้งที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาและเสนอความเห็นจากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบตามลําดับในสายงานในการตรวจสอบการคืนข้าวของบริษัทเจียเม้ง จํากัด ตามที่ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 สั่งการไว้ ย่อมส่อแสดงว่า นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 รวบรัดในการสั่งอนุมัติให้คืนเงินค่าข้าวดังกล่าวโดยไม่ใส่ใจว่าเจ้าหน้าที่ ผู้เกี่ยวข้องจะมีความเห็นอย่างไร..."
........................................
กรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 มีคำพิพากษาตัดสินในคดีกล่าวหา นายชนุตร์ปกรณ์ วงศ์สีนิล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) กับพวก 1 ราย คือ นายอธิธัช เรือนทองคำ เรียกรับเงินจากคู่สัญญาตัวแทนจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงให้กับ อคส. โดยประวิงเวลาในการดำเนินการชำระเงินค่าข้าวคืน ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6 และมาตรา 11 และ พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 123/1 ประกอบ ป.อ.มาตรา 86
โดยศาลฯ พิพากษาว่า นายชนุตร์ปกรณ์ วงศ์สีนิล มีความผิดตาม มาตรา 6 พ.ร.บ.ป.ป.ช. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 123/1 ให้ลงโทษจำคุก 17 ปี
ส่วนนายอธิธัช เรือนทองคำ (ไม่ระบุสถานะตำแหน่งที่ชัดเจน) ในฐานะผู้สนับสนุนพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ ศาลฯ มีคำสั่งให้ยกฟ้อง
(อ่านประกอบ : คุก 17 ปี! อดีต ผอ.อคส. เรียกรับเงินคู่สัญญาขายข้าวถุง ยุค 'ยิ่งลักษณ์', พลิกปูมคดีเรียกเงินข้าวถุง 30 ล้าน โดนคุก 17 ปี - กรณีถุงมือยางแสนล. ใครจะเป็นรายต่อไป)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีนี้ มาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้วว่า
1. นายชนุตร์ปกรณ์ วงศ์สีนิล ได้เรียกร้องเงินจากนางประพิศ มานะธัญญา กรรมการผู้จัดการบริษัทเจียเม้ง จํากัด จํานวน 30,000,000 บาท เป็นค่าตอบแทนเพื่อจะช่วยเหลือในเรื่องดําเนินการคืนเงินดังกล่าว และช่วยเหลือเกี่ยวกับสัญญาอื่น ๆ ที่บริษัทเจียเม้ง จํากัด ยังมีภาระผูกพันอยู่กับองค์การคลังสินค้า จนนางประพิศยินยอมให้เงินตามที่ นายชนุตร์ปกรณ์ เรียกร้อง
2. มีการจัดเตรียมสถานที่ โดยเตรียมห้องพักหมายเลข 652 โรงแรมริชมอนด์ เพื่อรับมอบเงิน เมื่อได้รับเงินแล้วนายชนุตร์ปกรณ์ จึงอนุมัติคืนเงินค่าข้าวจํานวน 131,200,000 บาท ให้แก่บริษัทเจียเม้ง จํากัด ในวันเวลาดังกล่าว โดยไม่รอผลการให้ตรวจสอบเพิ่มเติมในเรื่องการขอคืนเงินแต่อย่างใด
(อ่านประกอบ : ใช้ห้องพัก รร.ดัง รับเงิน 30 ล.! เจาะคำพิพากษาคดีข้าวถุง อดีต ผอ.อคส. โดนคุก 17 ปี (1))
ต่อไปนี้ เป็นข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับคำให้การของทีมงานเลขานุการของ นายชนุตร์ปกรณ์ จำเลย ที่ 1 ในฐานะพยานฝ่ายโจทก์ ที่ชี้ให้ศาลฯ เห็นถึงพฤติการณ์ของ นายชนุตร์ปกรณ์ จำเลย ที่ 1 ในการรวบรัดสั่งอนุมัติให้คืนเงินค่าข้าว ให้กับ บริษัทเจียเม้ง จํากัด ที่กลายมาเป็นหลักฐานสำคัญในคดีนี้
.............................
ทางไต่สวนพยานหลักฐาน จากการพิจารณาของศาลประกอบรายงานและสํานวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า องค์การคลังสินค้า หรือ อคส. จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ. 2498 เป็นองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ
ขณะเกิดเหตุ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งเป็นผอ. อคส. จากคณะกรรมการ อคส. ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2556 ตามสําเนาคําสั่งองค์การคลังสินค้า และสําเนาสัญญาจ้างผู้อํานวยการองค์การคลังสินค้า จึงเป็นพนักงานตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มีอํานาจและหน้าที่จัดการและดําเนินกิจการขององค์การให้เป็นไปตามนโยบายและข้อบังคับที่คณะกรรมการได้วางไว้
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2556 อคส. ทําสัญญาแต่งตั้งตัวแทนจําหน่ายสินค้า อคส. กับบริษัทเจียเม้ง จํากัด โดยแต่งตั้งบริษัทเจียเม้ง จํากัด เป็นผู้จําหน่ายข้าวสารบรรจุถุงของ อคส. ในลักษณะซื้อข้าวสารบรรจุถุงจาก อคส. และนําไปขายต่อ หรือจําหน่ายให้แก่ผู้ซื้อ ผู้บริโภค และ บุคคลทั่วไป
ในการซื้อนั้นบริษัทเจียเม้ง จํากัด จะซื้อข้าวสารบรรจุถุงน้ำหนัก รวมถุงละ 5 กิโลกรัม ในราคาถุงละ 65.60 บาท จํานวน 40,000,000 ถุง
จากนั้นวันที่ 21 มิถุนายน 2556 บริษัทเจียเม้ง จํากัด ขอซื้อข้าวบรรจุถุง 2 รายการ คือ ข้าวขาว จํานวน 6,000,000 ถุง เป็นเงิน 393,600,000 บาท และข้าวเหนียว จํานวน 4,000,000 ถุง เป็นเงิน 262,400,000 บาท รวมเป็นเงิน 656,000,000 บาท และชําระเงินค่าข้าวจํานวนดังกล่าวให้องค์การคลังสินค้าแล้ว ตามสําเนาหนังสือบริษัทเจียเม้ง จํากัด และสําเนาแคชเชียร์เช็ค
ต่อมาวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557 บริษัทเจียเม้ง จํากัด ขอรับเงินค่าข้าวคืน จํานวน 131,200,000 บาท เนื่องจากบริษัทเจียเม้ง จํากัด ยังไม่ได้รับมอบข้าวเหนียวจากองค์การคลังสินค้าอีกจํานวน 2,000,000 ถุง ตามสําเนาหนังสือบริษัทเจียเม้ง จํากัด วันที่ 10 เมษายน 2557
นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 อนุมัติให้คืนเงิน
แต่วันที่ 17 เมษายน 2557 นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 สั่งให้ตรวจสอบการคืนข้าวที่เบิกเกิน ของบริษัทเจียเม้ง จํากัด
จากนั้นวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 เจ้าหน้าที่รายงานว่า บริษัทเจียเม้ง จํากัด ดําเนินการส่งคืนข้าวสาร ณ วันที่ 27 พฤษภาคม 2557 แล้วปริมาณ 57,222.36300 ตัน คงเหลือ ที่ต้องส่งคืน อคส. อีก 32,801.82570 ตัน
ต่อมาวันที่ 4 มิถุนายน 2557 นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 อนุมัติให้คืนเงิน ตามสําเนาหนังสือองค์การคลังสินค้า สํานักธุรกิจบริการ ส่วนงานปฏิบัติธุรกิจ และ วันที่ 5 มิถุนายน 2557 นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 ลงนามในเช็คสั่งจ่ายเงินจํานวน 131,200,000 บาท ให้แก่ บริษัทเจียเม้ง จํากัด
ศาลฯ พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จําเลยทั้งสองกระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่
โดยเห็นควรวินิจฉัยไปโดยลําดับ ดังนี้
ประการแรก นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 เรียกเงินจากนางประพิศ มานะธัญญา กรรมการผู้จัดการ บริษัทเจียเม้ง จํากัด จํานวน 30,000,000 บาท เพื่อตอบแทนการคืนเงินค่าข้าวและการช่วยเหลือ ตามสัญญาอื่นที่บริษัทเจียเม้ง จํากัด มีภาระผูกพันอยู่กับองค์การคลังสินค้าหรือไม่
เห็นว่า เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2557 นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 อนุมัติให้คืนเงินค่าข้าวจํานวน 131,200,000 บาท ให้แก่บริษัท เจียเม้ง จํากัด แต่ไม่มีการคืนเงินให้ในวันดังกล่าว
โดยได้ความจากนางสาว จ. (ตัวย่อ) เลขานุการของ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานโจทก์ ยืนยันข้อเท็จจริงตามบันทึกถ้อยคําว่า เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2557 เวลาประมาณ 20 นาฬิกา นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 แจ้งทางโทรศัพท์ให้นางสาว จ. ไปเอาเอกสารการขอคืนเงินค่าข้าวของบริษัทเจียเม้ง จํากัด คืนมาจาก นางสาว ม. หัวหน้างานจ่ายเงินและรักษาการผู้อํานวยการส่วนงานการเงิน
จากนั้นวันที่ 11 เมษายน 2557 ช่วงเช้า นางสาว จ. ไปรับเอกสารดังกล่าวจากนางสาว ม. แล้วนําไปให้ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 และ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 ให้นางสาว จ. เขียนข้อความเป็นลําดับที่ 14 ในเอกสารว่า เพื่อโปรดตรวจสอบการคืนข้าวที่เบิกเกินของบริษัทเจียเม้ง จํากัด โดยให้หัวหน้าคลังและผู้ที่เกี่ยวข้องรับรองเอกสารมาด้วย
จาก คําเบิกความของนางสาว จ. ปรากฏข้อเท็จจริงว่า วันที่ 17 เมษายน 2557 นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 สั่งให้ตรวจสอบการคืนข้าวที่เบิกเกินของบริษัทเจียเม้ง จํากัด แสดงว่า นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 อ้างการตรวจสอบการคืนข้าวของบริษัทเจียเม้ง จํากัด เป็นเหตุที่ยังไม่คืนค่าข้าวให้แก่บริษัท เจียเม้ง จํากัด
ซึ่งในเรื่องการตรวจสอบการคืนข้าวนี้ ได้ความจากนางสาว ต. เลขานุการของ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 อีกคนหนึ่ง เบิกความเป็นพยานโจทก์ยืนยันข้อเท็จจริงตามบันทึกถ้อยคําเอกสารหมาย ว่า นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 สั่งให้นางสาว ต. ไปตรวจสอบเอกสารการขอคืนเงินค่าข้าวที่ สํานักบริหารนโยบายรัฐ
เนื่องจาก นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 สั่งให้ตรวจสอบการคืนข้าวของบริษัทเจียเม้ง จํากัด ตั้งแต่ วันที่ 17 เมษายน 2557 จนถึงวันที่ 4 มิถุนายน2557 ยังไม่มีการเสนอเรื่องให้ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 พิจารณา
นางสาว ต. ไปสอบถามนางสาว ช. ซึ่งได้รับมอบหมายจากนาย ค. หัวหน้างานธุรการนโยบาย ให้ดําเนินการตามคําสั่งของ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1
นางสาว ช. แจ้งว่าเรื่องอยู่ที่ห้อง นาง จ. ผู้อํานวยการสํานักบริหารนโยบายรัฐ ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2557 ยังไม่ได้ สั่งการใด ๆ
นางสาว ต. จึงไปติดตามเรื่องที่ห้องนาง จ.
แต่นาง จ. ติดประชุม นางสาว ต. จึงขอเอกสารนําไปที่ห้องนางสาว อ. ผู้ช่วยผู้อํานวยการองค์การคลังสินค้าซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาตามสายงานของสํานักบริหารนโยบายรัฐ แต่นางสาว อ.ไม่อยู่ นางสาว ต. จึงนําเอกสารไปให้ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1
จากคําเบิกความของนางสาว ต. ประกอบเอกสารปรากฏว่าในวันที่ 4 มิถุนายน 2557 นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 อนุมัติให้คืนเงินค่าข้าวแก่บริษัทเจียเม้ง จํากัด
แสดงว่า นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 อนุมัติให้คืนเงินค่าข้าวทั้งที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาและเสนอความเห็นจากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบตามลําดับในสายงานในการตรวจสอบการคืนข้าวของบริษัทเจียเม้ง จํากัด ตามที่ นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 สั่งการไว้
ย่อมส่อแสดงว่า นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 รวบรัดในการสั่งอนุมัติให้คืนเงินค่าข้าวดังกล่าวโดยไม่ใส่ใจว่าเจ้าหน้าที่ ผู้เกี่ยวข้องจะมีความเห็นอย่างไร
ก่อนจะนำไปสู่ข้อมูลชุดสำคัญ ซึ่งเป็นขั้นตอนการต่อรองเรียกรับเงินระหว่าง นายชนุตร์ปกรณ์ จําเลยที่ 1 กับผู้บริหารบริษัท เจียเม้ง จํากัด ที่พบว่า ตัวเลขวงเงินที่ขอเรียกรับในเบื้องต้นที่สูงมาก ก่อนจะมีการต่อรองเหลือแค่ 30 ล้านบาทในภายหลัง
รายละเอียดเป็นอย่างไร สำนักข่าวอิศรา จะนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบในตอนต่อไป
ห้ามพลาดโดยเด็ดขาด!
อ่านประกอบ :
คุก 17 ปี! อดีต ผอ.อคส. เรียกรับเงินคู่สัญญาขายข้าวถุง ยุค 'ยิ่งลักษณ์'
พลิกปูมคดีเรียกเงินข้าวถุง 30 ล้าน โดนคุก 17 ปี - กรณีถุงมือยางแสนล. ใครจะเป็นรายต่อไป
ใช้ห้องพัก รร.ดัง รับเงิน 30 ล.! เจาะคำพิพากษาคดีข้าวถุง อดีต ผอ.อคส. โดนคุก 17 ปี (1)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage