"...จากข้อมูลเท่าที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบ นับรวมระยะเวลา 2 ปี ปี 2563-2564 บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ได้งานจาก กองทัพอากาศ และกองทัพเรือ ไปจำนวน 12 สัญญา รวมวงเงิน 54.43 ล้านบาท หลายสัญญาใช้วิธีการจัดซื้อแบบเฉพาะเจาะจงอีกด้วย ทั้งที่ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด มีข้อพิพาทต่อสู้คดีในชั้นศาลกับหน่วยงานรัฐ และแพ้คดีไปแล้ว ผู้บริหารถูกตัดสินจำคุกหลายปี ตามข้อมูลที่ ดร.มานะ นิมิตรมงคลระบุ..."
..................................
"น่ากังขามากกับสิ่งที่เกิดขึ้นใน “กองบัญชาการกองทัพไทย” เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้กองทัพไทยชนะคดีที่เอกชนร่วมกันฉ้อโกงขายเครื่องตรวจจับสารเสพติด อาวุธและวัตถุระเบิด GT200 และ ALPHA6 คดีดำเลขที่ อ284/62 คดีแดงที่ 931/62 วันที่ 23 กันยายน 2562 ซึ่งตามกฎหมายแล้วกองทัพไทยควรเอาเหตุนี้ยื่นเรื่องให้กระทรวงการคลังพิจารณาสั่งให้เอกชนรายนั้นเป็น “ผู้ทิ้งงาน” ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ แต่ผ่านมาปีกว่าผู้มีอำนาจในกองทัพไทยกลับนิ่งเฉยไม่ทำอะไร เปิดโอกาสให้บริษัทและบุคคลกลุ่มนี้สามารถขายอาวุธยุทโธปกรณ์และสินค้าอื่นให้แก่สามเหล่าทัพ กองบัญชาการกองทัพไทยและอีกหลายหน่วยราชการได้เรื่อยมาเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น"
"ทราบกันดีว่าขบวนการต้มตุ๋น GT200 และ ALPHA6 สร้างความเสียหายแก่รัฐราว 1.13 พันล้านบาท เป็นคดีคอร์รัปชันฉาวโฉ่ที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้องจำนวนมาก ปัจจุบันมีคดีค้างคาใน ป.ป.ช. ดีเอสไอและศาลหลายคดี"
"ตามเงื่อนไขของ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ เอกชนรายใดถูกขึ้นบัญชีผู้ทิ้งงานจะถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้ค้าขายกับรัฐได้อีก รวมทั้งคนที่เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการดําเนินงานในกิจการของนิติบุคคลนั้น บทลงโทษนี้ยังโยงไปถึงนิติบุคคลอื่นในกิจการประเภทเดียวกันที่มีชื่อเป็นผู้ทิ้งงานร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย (มาตรา 29(5) มาตรา 109 และ 120 ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างฯ ข้อ 193 และข้อ 196)"
"การขึ้นบัญชีผู้ทิ้งงาน (Blacklist) จึงเป็นมาตรการเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐ ด้วยการปิดโอกาสไม่ให้พวกคนโกงหรือชอบเอาเปรียบเข้ามาสร้างความเสียหายให้กับรัฐได้อีก มาตรการนี้จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกหน่วยงานต้องใส่ใจ ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะไม่มีทางควบคุมคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างฯ ได้"
คือ ประเด็นสำคัญที่ปรากฎในบทความเรื่อง ไฉนกองทัพไม่ขึ้นบัญชีดำบริษัทขาย ‘จีที200 - อัลฟ่า6’ ที่เขียนโดย ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ซึ่งมีการเผยแพร่เป็นทางการในเว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ปรากฎชื่อเป็นคู่สัญญาขายเครื่องตรวจสารระยะไกลและอุปกรณ์ยี่ห้อ Global Technical รุ่น GT200 ให้กับหน่วยงานราชการไทย ที่มีข้อพิพาทต่อสู้คดีในชั้นศาล และแพ้คดีไปแล้ว ตามข้อมูลดังต่อไปนี้
หนึ่ง
เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2561 ศาลแขวงดอนเมืองนัดอ่านคำพิพากษาในคดีอาญา ระหว่างกรมราชองครักษ์ ที่มีอัยการคดีพิเศษที่ 1 เป็นโจทก์กับบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด และกรรมการบริษัท เป็นจำเลยที่ 1-4 จากกรณีบริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด และสารเสพติด หรือเครื่อง GT200 แต่ปรากฎว่าไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งกรมราชองครักษ์ซื้อเครื่อง GT200 รวม 3 สัญญา รวมวงเงิน 9 ล้านบาท
ศาลพิพากษาให้นายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้บริหารบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ในฐานะจำเลยที่ 2 รับโทษจำคุกกรรมละ 3 ปี รวม 3 กรรมคงจำคุก 9 ปี ปรับกรรมละ 6,000 บาท รวมปรับ 18,000 บาท ตามความผิดมาตรามาตรา 347 ประกอบ มาตรา 83 ต่อมานายสุทธิวัฒน์ก็ได้ใช้หลักทรัพย์ประกันตัวเพื่อจะขออุทธรณ์คดีด้วยเงินสดจำนวน 9 แสนบาท
ส่วนจำเลยอื่นได้แก่ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด จำเลยที่ 1 นายเดชพิภัทร์ วัฒนกิจ จำเลยที่ 3 และ นางศศกร ปลื้มใจ จำเลยที่ 4 ศาลพิพากษาให้ยกฟ้อง
สอง
ขณะที่เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้เผยผลคำพิพากษาคดีพิเศษกรณีบริษัทเอกชนที่เป็นตัวแทนผู้ผลิต ผู้จําหน่าย หรือตัวแทนจําหน่าย เครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย GT200 และ ALPHA 6 มีพฤติการณ์ฉ้อโกงหรือลวงขายเครื่องตรวจวัตถุระเบิด ต้องสงสัยที่ไม่มีคุณภาพตามที่กล่าวอ้าง กับหน่วยงานของรัฐ ระบุว่า เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 ศาลแขวงดอนเมือง ได้อ่านคำพิพากษาในสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษที่ 218/2555 คดีระหว่าง กองทัพบก โดย กรมสรรพาวุธทหารบก ผู้กล่าวหา กับ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จากัด กับพวก ผู้ต้องหา โดยศาลเห็นว่า จำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงตามที่อัยการโจทก์ฟ้อง จึงพิพากษาจำคุก นายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ กรรมการบริษัท ในฐานะส่วนตัว กรรมละ 3 ปี รวม 12 กรรม รวมจำคุก 36 ปี แต่ตามกฎหมายอาญากำหนดให้จำคุกได้ไม่เกิน 10 ปี ปรับ บริษัทเอวิเอฯ ในฐานะนิติบุคคล กรรมละ 6,000 บาท รวม 12 กรรม รวมปรับ 72,000 บาท ส่วนจำเลยอื่น ให้ยกฟ้อง
(อ่านประกอบ : ผู้บริหารเอวิเอ โดนคุกอีก10 ปี! DSI เผยคำพิพากษาคดีขายจีที200 กรมสรรพาวุธทหารบก, จำคุก 9 ปี!ผู้บริหาร บ.เอวิเอฯขาย GT200 ให้กรมราชองครักษ์-ยื่น 9 แสนประกันตัวสู้ต่อ)
สาม
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2561 ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภค ได้ตัดสินคดีความแพ่งระหว่าง กรมราชองค์รักษ์ ซึ่งเป็นฝ่ายโจทก์ กับ บริษัทเอวีเอ แซทคอม จำกัด ในฐานะจำเลยที่ 1 นายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ จำเลยที่ 2 นายเดชพิภัทร์ วัฒนกิจ จำลยที่ 3 นางศศกร ปลื้มใจ จำเลยที่ 4 และ น.ส.พันธวีทรัพย์ สุดยาใจ จำเลยที่ 5 ในคดีการจัดซื้อเครื่องตรวจจับอาวุธวัตถุระเบิดและยาเสพติดรุ่น GT200 จำนวน 2 ชุด วงเงิน1.8 ล้านบาท เครื่องตรวจสารระยะไกลและอุปกรณ์ยี่ห้อ Global Technical รุ่น GT200 จำนวน 3 ชุด วงเงิน 3.6 ล้านบาท เครื่องตรวจหา สสาร ระยะไกลและอุปกรณ์ยี่ห้อ โกลบอล รุ่น จีที 200 จำนวน 30 ชุด วงเงิน 3.6 ล้านบาท รวมวงเงินทั้งสิ้น 9 ล้านบาท ที่มีปัญหาไม่สามารถใช้การได้
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ศาลแพ่ง ได้มีคำพิพากษาให้ บริษัท เอวีเอ แซทคอมฯ ชำระเงินจำนวน 9 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย.2557 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนกรมราชองค์รักษ์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกา พร้อมฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
โดยศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ปัญหาตามฎีกาของจําเลยที่ 1 ในข้อที่ว่า การที่ศาลชั้นต้นกําหนดประเด็นข้อพิพาทว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่โดยไม่ได้กล่าวเฉพาะเจาะจงว่าขาดอายุความเรื่องใด ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แผนกคดีคุ้มครองผู้บริโภคจึงต้องวินิจฉัยทุกประเด็นที่เกี่ยวกับอายุความ คดีนี้โจทก์ทราบเรื่องที่เครื่องตรวจจับอาวุธ ไม่สามารถทํางานได้เมื่อวันที่ 2 และ 3 กุมภาพันธ์ 2551 โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้ ภายในเวลา 1 ปี นับแต่ดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 โจทก์ก็นําคดีมาฟ้องวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
จําเลยที่ 1 ไม่อาจทราบรายละเอียดสินค้าได้ทุกประเภท จึงไม่ทราบว่าเครื่องตรวจจับอาวุธดังกล่าวมีคุณสมบัติไม่ตรงตามที่ระบุในสัญญา โจทก์จึงไม่อาจอ้างเรื่องสําคัญผิดในสาระสําคัญของนิติกรรมเพื่อให้สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะได้หรือไม่นั้น ไม่เป็นปัญหาสําคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 244 วรรคสองและข้อกําหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการขออนุญาตฎีกาในคดีแพ่ง พ.ศ. 2558 ข้อ 13 อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับแก่การฎีกาคดีผู้บริโภคโดยอนุโลม ตามพระราชบัญญัติ วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 51
จึงมีคําสั่งไม่อนุญาตให้จําเลยที่ 1 ฎีกา ยกคําร้องและไม่รับฎีกาของ จําเลยที่ 1 คืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาทั้งหมดแก่จําเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นชั้นฎีกา
(อ่านประกอบ : ไม่รับฎีกา! หลังศาลแพ่งสั่งเอวีเอฯ ชดใช้กรมราชองครักษ์9 ล. ซื้อเครื่องจีที200)
เมื่อตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐพบข้อมูลดังต่อไปนี้
ปี 2563
บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ปรากฎชื่อเป็นคู่สัญญากับ กองทัพอากาศ และกองทัพเรือ จำนวน 9 สัญญา รวมวงเงิน 39.30 ล้านบาท (ดูข้อมูลประกอบ)
ปี 2564
บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ปรากฎชื่อเป็นคู่สัญญากับ กองทัพอากาศ และกองทัพเรือ จำนวน 3 สัญญา 15.13 ล้านบาท (ดูข้อมูลประกอบ)
จากข้อมูลเท่าที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบ นับรวมระยะเวลา 2 ปี ปี 2563-2564 บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ได้งานจาก กองทัพอากาศ และกองทัพเรือ ไปจำนวน 12 สัญญา รวมวงเงิน 54.43 ล้านบาท หลายสัญญาใช้วิธีการจัดซื้อแบบเฉพาะเจาะจงอีกด้วย
ทั้งที่ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด มีข้อพิพาทต่อสู้คดีในชั้นศาลกับหน่วยงานรัฐ และแพ้คดีไปแล้ว ผู้บริหารถูกตัดสินจำคุกหลายปี ตามข้อมูลที่ ดร.มานะ นิมิตรมงคลระบุ
จึงนำมาซึ่งคำถามสำคัญว่า ทำไมหลังจากแพ้คดีขาย เครื่องจีที 200 แล้ว บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ถึงยังไม่ถูกขึ้นบัญชีดำผู้ทิ้งงาน (Blacklist) และยังขายสินค้าจำนวนมากให้กับ กองทัพอากาศ และกองทัพเรือ
แบบที่เห็นและเป็นไปอยู่ในขณะนี้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage