"....จากข้อมูลที่ปรากฎต่อสาธารณชนไปแล้ว แม้ว่าประเด็นเรื่องการดำเนินการที่มีลักษณะเข้าข่ายการ 'ฮั้ว' ในขั้นตอนการดำเนินงานโครงการขณะนี้ จะยังไม่ปรากฎหลักฐานชัดเจนมากนัก แต่ดูเหมือนว่า เรื่องผูกขาดการจำหน่ายสินค้า ของเอกชนเพียงไม่กี่แห่ง จะเป็นประเด็นสำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มองเห็นปัญหา และพยายามตั้งคำถามหาคำตอบจากกยท.มาแล้ว..."
นับจนถึงเวลานี้ สาธารณชนคงได้รับทราบข้อมูลกันไปแล้วว่า การดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำที่ใช้งบประมาณวงเงินนับหมื่นล้านบาทของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยการสนับสนุนให้มีการนำยางไปทำถนนในขณะนี้ ถูกตรวจสอบพบว่า กลุ่มบริษัทเอกชนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโครงการนี้ มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นกลุ่มเดียวกัน
โดย บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด บริษัท สยามนวกรรม จำกัด และ บริษัท ไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด ที่ผ่านการตรวจสอบรับรองมาตรฐานวัสดุน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่ม สำหรับการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ ของคณะกรรมการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งขึ้น ได้รับการการันตี คุณภาพสินค้า เพื่อจำหน่ายต่อให้กับเอกชนที่จะเข้าไปเสนอราคาแข่งขันงานประกวดราคาทำถนนดินซีเมนต์ผสมยางพารา ของหน่วยงานราชการต่างๆ เป็นกลุ่มแรก ถูกตรวจสอบพบว่า มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นกลุ่มเดียวกัน
ขณะที่ บริษัท ไทย ภัสนันท์ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด ,หจก.พัชราการยาง และห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) โชคประดิษฐ์ก่อสร้าง ที่ปรากฎชื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าแห่งเดียวในประะเทศไทย ของกลุ่มบริษัทโพลิเมอร์ อินโนเวชั่นฯ ทั้ง 3 ราย ก็ถูกตรวจสอบพบว่า มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นกลุ่มเดียวกันอีก (ยังไม่พบข้อมูลว่า บริษัท ไทย ภัสนันท์ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด ,หจก.พัชราการยาง และหจก. โชคประดิษฐ์ก่อสร้าง มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นกลุ่มเดียวกันกับ กลุ่มบริษัทโพลิเมอร์ อินโนเวชั่นฯ ทั้ง 3 ราย ด้วยหรือไม่)
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับกรณีนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกมายืนยันชัดเจนแล้วว่า ตรวจสอบเอกสารบริษัทเอกชนแล้ว ไม่พบว่ามีลักษณะเข้าข่ายการฮั้วแต่อย่างใด แต่ได้สั่งการให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพิ่มจำนวน บริษัทเอกชน ที่ผ่านการรับรองคุณภาพน้ำยางพาราผสมสารผสมอีก 7-10 แห่ง
โดยเมื่อวันที่ 23 ส.ค.2562 ที่ผ่านมา กยท. ได้ประกาศรายชื่อเอกชน ที่ผ่านการรับรองสารผสมเพิ่มน้ำยางพารา เพื่อนำไปใช้ทำถนนดินซีเมนต์ผสมยางพารา เพิ่มอีก 2 ราย คือ บริษัท ซีโก้แอสฟัลท์ จำกัด และบริษัท ไทยอีสเทิร์น รับเบอร์ จำกัด ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน สั่งการเรื่องนี้ด้วย (อ่านประกอบ : รมว.เกษตรฯ สั่ง-กยท.ประกาศทันที! แพร่ชื่อ 2 บ.ขายน้ำยางทำถ.พาราใหม่ อยู่สุพรรณ-ชลบุรี)
จากข้อมูลที่ปรากฎต่อสาธารณชนไปแล้ว แม้ว่าประเด็นเรื่องการดำเนินการที่มีลักษณะเข้าข่ายการ 'ฮั้ว' ในขั้นตอนการดำเนินงานโครงการในขณะนี้ จะยังไม่ปรากฎหลักฐานชัดเจนมากนัก
แต่ดูเหมือนว่า เรื่องผูกขาดการจำหน่ายสินค้า ของเอกชนเพียงไม่กี่แห่ง จะเป็นประเด็นสำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มองเห็นปัญหา และพยายามตั้งคำถามหาคำตอบจากกยท.มาแล้ว
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบข้อมูลว่า เมื่อช่วงปลายเดือน มิ.ย. 2562 ที่ผ่านมา กยท. ได้ประชุมหารือกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย โดยมีผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ นายนรภัทร์ ปลอดทอง คณะทำงาน รมว.เกษตรและสหกรณ์ และนายวราวุธ ชูธรรมธัช ผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ เข้าร่วมหารือมาตรการป้องกันและความเสี่ยงในการดำเนินโครงการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ด้วยยางธรรมชาติ ในชื่อโครงการ ‘1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร’ ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นภายหลังที่มีการประกาศรายชื่อกลุ่มเอกชน 3 รายที่ผ่านการตรวจสอบรับรองคุณภาพผสมเพิ่มน้ำยางพาราไปแล้ว
รายละเอียดที่น่าสนใจในการประชุม มีการตั้งข้อสังเกตถึงความเสี่ยงในโครงการ ขณะที่ฝ่าย กยท. ได้ตอบข้อหารือดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org หยิบยกมาสาระสำคัญมานำเสนอ ดังนี้
@วิธีการได้มาซึ่งวัตถุดิบในกระบวนการก่อสร้างถนนยังไม่มีมาตรฐานรองรับ และไม่เป็นที่เปิดเผย อาจทำให้ผูกขาดทางการค้า
กยท. อธิบายว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีคำสั่งที่ 347/2562 สั่งเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2562 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณารับรองมาตรฐานวัสดุน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่ม โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการ ได้แก่ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ผู้แทนกรมทางหลวง ผู้แทนกรมทางหลวงชนบท ผู้แทนกรมชลประทาน ผู้แทนสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ผู้แทนกรมวิทยาศาสตร์บริการ ผู้แทนกองบัญชาการกองทัพไทย ผู้แทนกองทัพบก และผู้แทน กยท. เป็นกรรมการ มีอำนาจหน้าที่พิจารณารับรองมาตรฐานคุณภาพ ตรวจสอบคุณภาพ และการควบคุมภาพน้ำยางผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่ม สำหรับงานก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ฯ พร้อมประกาศคู่มือการรับรองคุณภาพของน้ำยางผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่ม ในคู่มือดังกล่าวประกอบด้วยขั้นตอนและหลักเกณฑ์ในการขอรับรองคุณภาพ คือ
1.วัสดุผลิตภัณฑ์น้ำยางผสมสารเคมีเพิ่ม 2.สารผสมเพิ่ม (สำหรับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานทีเป็นผู้ว่าจ้าง สามารถนำสารผสมเพิ่ม ที่ได้รับการรับรองนี้ไปใช้ดำเนินการผสมน้ำยางสด หรือน้ำยางข้นที่หน้างานได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดในสารผสมเพิ่มนั้น) และเมื่อผ่านการรับรองแล้ว กยท. จะดำเนินการแจ้งเวียนหนังสือถึงกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ พร้อมเปิดเผยรายละเอียด
@มาตรฐานการก่อสร้าง ยังไม่เป็นที่ยอมรับ และยังไม่ผ่านการทดสอบการใช้งานว่ามีความคุ้มค่ากับเม็ดเงินงบประมาณที่ก่อสร้างหรือไม่
กยท. อธิบายว่า มาตรฐานการก่อสร้าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกประกาศ เรื่อง ข้อแนะนำการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติสำหรับงานท้องถิ่น เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2561 มีรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการก่อสร้าง แบบมาตรฐานงานก่อสร้าง และรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง สามารถใช้ในงานก่อสร้างแล้ว ซึ่ง อปท. สามารถที่เป็นแนวทางปฏิบัติดังกล่าวได้
@เทคนิคและวิธีในการก่อสร้างซึ่งเป็นเรื่องใหม่ ช่างหรือผู้รับเหมาในท้องถิ่นยังขาดความรู้และประสบการณ์ จะทำให้งานเกิดความผิดพลาดง่าย
กยท. อธิบายว่า การดำเนินงานก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ฯ ดังกล่าว กยท. ประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานและประเด็นปัญหาอุปสรรค โดยมีผู้แทนจาก อปท. กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และกรมบัญชีกลาง เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2562 ที่ กยท. นอกจากนี้ยังแจ้งรายชื่อผู้ประสานงานตามโครงการเพื่อให้สนับสนุนงานของ อปท. ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ ได้แก่ รูปแบบการก่อสร้าง (กรมทางหลวง) การจัดซื้อจัดจ้าง/ประกาศราคากลาง (กรมบัญชีกลาง) การจัดหาน้ำยางหรือการรับรองมาตรฐานวัสดุ (กยท.)
@การออกแบบและการคำนวณราคากลาง ไม่สอดคล้องกับสภาพทางภูมิศาสตร์ท้องถิ่น
กยท. อธิบายว่า การออกแบบและการคำนวณราคากลางกระทรวงการลังได้ออกประกาศ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐใช้สูตรคำนวณในลักษณะงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ถือปฏิบัติมี 2 ฉบับดังนี้ 1.ประกาศคณะกรรมการราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดราคากลางงานก่อสร้าง ฉบับที่ 2 ประกาศ ณ วันที่ 19 พ.ย. 2561 และ 2.ประกาศคณะกรรมการราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดราคากลางงานก่อสร้าง ฉบับที่ 4 ประกาศ ณ วันที่ 12 ธ.ค. 2561
@หลักเกณฑ์ของการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการอาจนำไปสู่การใช้ดุลยพินิจเพื่อให้เจ้าหน้าที่อาจเรียกเพื่อให้ผ่านหลักเกณฑ์
กยท. อธิบายว่า หลักเกณฑ์และการขึ้นทะเบียนมีคณะกรรมการพิจารณารับรองมาตรฐานวัสดุน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่ม มีผู้แทนจากหน่วยงานของรัฐเกี่ยวข้อง พิจารณารับรองมาตรฐานแล้ว เป็นไปตามคู่มือและวิธีการปฏิบัติที่มีมาตรฐาน ชัดเจน และเป็นธรรม เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการตรวจสอบได้
@การออกข้อกำหนดน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่ม อาจมีการผูกขาดโดยใช้หลักเกณฑ์มาตรฐาน ISO 9001-2015 มารับรองเหมือนเป็นการกำหนดคุณสมบัติเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้ขายบางราย
กยท. อธิบายว่า การกำหนดข้อกำหนด คณะกรรมการพิจารณารับรองมาตรฐานวัสดุน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่ม ได้กำหนดให้ ‘บริษัทหรือผู้ประกอบการที่ไม่มีระบบควบคุมคุณภาพ (ISO 9001-2015) การผลิตน้ำยางผสมสารเคมีให้บริษัทหรือผู้ประกอบการดังกล่าว สำหรับงานก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ (ยางพารา) โดยผู้ตรวจระบบบริหารงานคุณภาพได้ ซึ่งไม่ได้จำกัดหรือให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการรายใดเป็นการเฉพาะ โดยผู้ประกอบการหรือบริษัท สามารถยื่นขอรับรองหรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ กยท.
@อาจมีการนำวัสดุจากที่อื่นมาตรวจเพื่อให้ผ่านการทดสอบ และวัสดุอาจไม่ได้คุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด รวมถึงที่มาของวัสดุสำคัญที่ไม่เปิดเผย และมีลักษณะผูกขาด
กยท. อธิบายว่า การควบคุมคุณภาพและการรับรองมาตรฐานวัสดุ สำหรับงานก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ฯ ตามคู่มือดังกล่าวมีการตรวจสอบออกเป็น 2 ขั้นตอน ได้แก่ 1.รับรองผู้ผลิตวัสดุผลิตภัณฑ์น้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่ม (โรงงาน/สถานประกอบการ) 2.รับรอง LOT การผลิตวัสดุผลิตภัณฑ์น้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่ม (LOT การผลิต ก่อนนำไปใช้งาน) ในแต่ละกระบวนการผู้ประกอบการ/โรงงาน จะได้ใบรับรอง เพื่อเป็นเอกสารหลักฐานในการอ้างอิงใช้ในการตรวจสอบของ อปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้เกิดความเชื่อมั่นว่ามีมาตรฐานและคุณภาพที่กำหนดไว้
@การกำหนดราคาวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างไม่มีราคากลาง เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานต้องใช้ดุลยพินิจตามสภาพของสถานที่ก่อสร้าง
กยท. อธิบายว่า เป็นไปตามข้อชี้แจงขอ กยท. เรื่องการออกแบบและการคำนวณราคากลาง
ทั้งหมด คือ ข้อมูลการชี้แจงทำความเข้าใจของ กยท. ให้แก่ผู้แทนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงผู้แทนของกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ให้รับทราบถึงการของ กยท. เกี่ยวกับบริษัทผู้ผ่านมาตรฐานนรับรองน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่ม ก่อนเริ่มดำเนินโครงการ ในชื่อว่า ‘1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร’
และนั้นอาจเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องรีบหาวิธีการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ โดยการสั่งเพิ่มจำนวนบริษัทเอกชน ที่ผ่านการรับรองคุณภาพน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มอีก 7-10 แห่ง ตามที่ปรากฎเป็นข่าวไปแล้วก่อนหน้านี้
ท้ายที่สุดแล้วผลการดำเนินงานโครงการนี้ จะออกมาเป็นอย่างไร คงต้องรอติดตามดูกันต่อไป
อ่านประกอบ :
เจาะ บ.ไทยอีสเทิร์นฯ 1 ใน 2 ผู้ขายสารผสมยางรายใหม่ แจ้งรายได้ 424 ล. กำไร 43.7 ล.
ตามไปดู หจก.ตัวแทนขายสารผสมยางร้อยล้าน! ร่วมใช้ที่อยู่เดียวบ.อื่นย่านบางเขน
หารือ 'บิ๊กตู่'สั่งทบทวน23 ส.ค.นี้! กยท.ปัดไม่มีหน้าที่ตรวจบ.ขายสารผสมยางกลุ่มเดียวกัน
ใช้บ้านคนรู้จักรับพัสดุ-ตัวจริงอยู่อำนาจเจริญ! เผยโฉม บ.ตัวแทนขายสารผสมถนนยางร้อยล.
โชว์คลิปตรวจ 2 บ.ตัวแทนขายสารผสมถ.ยาง'บิ๊กตู่' ไขปมตั้งปีเดียว โกยงานกองทัพ-กรมชล258ล.?
‘บิ๊กตู่’สั่ง กยท. ทบทวน 3 เอกชนผลิตสารผสมน้ำยาง ลั่นถ้าเจอทุจริตต้องหาคนผิด
ใครเป็นใคร! สำรวจข้อมูล 5 บ. รอผล ก.เกษตรฯ รับรองมาตรฐานน้ำยางทำถนนบิ๊กตู่หมื่นล.
เปิดตัวผู้บริหาร3บ.ขายน้ำยางทำถนนบิ๊กตู่หมื่นล.-ไขข้อมูล 'สุทิน' ใครกันแน่เสียผลปย.?
'สุทิน'แจงรูปแบบฮั้วซื้อน้ำยางทำถนนบิ๊กตู่หมื่นล.- ชี้เป้า กยท. เจาะจงรับรอง 3 บริษัท
ส่องกูเกิลดูที่ตั้ง 3 บ.ขายสารผสมถนนยาง! พนง.แจงเครือเดียวกัน มีสิทธิ์ขอยื่นรับรองคุณภาพ
เจาะคำสั่งเกษตรฯ ตั้งคกก.รับรองสารผสมถนนยาง-ก่อนเจอปม3 บ.'กก.-ผู้ถือหุ้น' กลุ่มเดียวกัน
เปิดแผนงานกองทัพ ใช้งบ 2.5 พันล. ทำถนนยางพารา-ให้กยท.ประมูลก่อนขายต่อ อปท.
'กก.-ผู้ถือหุ้น' กลุ่มเดียวกัน! เปิดข้อมูล3 บ.ขายน้ำยางทำถนนพาราฯ -กยท.ยันไม่มีล็อคสเปค
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/