"..การรับรองเอกชนผู้ผลิตสารที่ผ่านการตรวจสอบรับรองมาตรฐานในการนำน้ำยางพาราไปผสมสาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพาราซอยซีเมนต์ เพื่อให้น้ำยามีคุณสมบัติที่ดีนำไปใช้ราดถนน ของคณะกรรมการฯ ชุดที่กระทรวงเกษตรฯ แต่งตั้งนั้น เป็นการรับรองเรื่องคุณภาพของน้ำยาง ที่ฝ่ายเอกชนส่งเข้ามาให้ตรวจสอบว่า มีมาตราฐานหรือไม่เท่านั้น แต่คณะกรรมการไม่ได้เข้าไปดูในรายละเอียดความสัมพันธ์เชื่อมโยงของบริษัทว่าเป็นอย่างไร..."
"ปัจจุบัน มีผู้ผลิตสารผสม ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน แค่จำนวน 3 ราย เป็นบริษัทที่มีน้ำยางพาราผสมเพิ่มเติมถูกตรงตามหลักเกณฑ์ทุกประการ และ กยท.ประกาศชื่อรับรองเป็นทางการไปแล้ว ประกอบไปด้วย 1. บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด 2. บริษัท สยามนวกรรม จำกัด และ 3. บริษัท ไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด ส่วนอีก 2 รายกำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงเพื่อให้ได้มาตรฐานตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณารับรองมาตรฐานวัสดุผลิตภัณฑ์ที่มีผลงานเป็นมาตรฐานที่ยอมรับโดยทั่วกัน ไม่ได้มีการบังคับให้ที่หน่วยงานใดจะต้องมาซื้อกับบริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการชุดนี้เท่านั้น"
คือ คำชี้แจงของผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายหนึ่ง ที่ยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ต่อกรณีการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำที่ใช้งบประมาณวงเงินนับหมื่นล้านบาทของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยการสนับสนุนให้มีการนำยางไปทำถนน หรือที่เรียกว่า ถนนพาราซอยซีเมนต์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการกำหนดให้หน่วยงานท้องถิ่นต้องรับซื้อยางจากบริษัทเอกชน 3 ราย ซึ่งมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นกลุ่มเดียวกัน
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบข้อมูลเชิงลึกว่า บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด บริษัท สยามนวกรรม จำกัด และ บริษัท ไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นบริษัทกลุ่มเดียวกันจริง อาทิ แจ้งที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกัน ขณะที่กรรมการผู้ถือหุ้น บางบริษัทเป็นกลุ่มเดียวกัน เช่น นางสาว ชนม์นาถ วุฒิชาญ กรรมการผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท ไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด มีนามสกุลเดียวกับ นาย ชัยอรุณ วุฒิชาญ กรรมการผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด เป็นต้น (อ่านประกอบ: 'กก.-ผู้ถือหุ้น' กลุ่มเดียวกัน! เปิดข้อมูล3 บ.ขายน้ำยางทำถนนพาราฯ -กยท.ยันไม่มีล็อคสเปค)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณารับรองมาตรฐานวัสดุผลิตภัณฑ์ ของกระทรวงเกษตรฯ ที่ถูกระบุถึงพบว่ามีชื่อเป็นทางการ คือ คณะกรรมการพิจารณาการรับรองมาตรฐานวัสดุน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่ม สำหรับการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ ลงนามแต่งตั้งเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2562 โดย นายลักษณ์ วจนานวัช ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ตามคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ 347/2562
มีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการได้แก่ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน ผู้แทนกรมทางหลวง ผู้แทนกรมทางหลวงชนบท ผู้แทนกรมชลประทาน ผู้แทนสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ผู้แทนกรมวิทยาศาสตร์บริการ ผู้แทนกองบัญชาการกองทัพไทย ผู้แทนกองทัพบก และผู้แทนการยางแห่งประเทศไทยเป็นกรรมการ
มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล พิจารณารับรองมาตรฐานคุณภาพ ตรวจสอบคุณภาพ และการควบคุมคุณภาพน้ำยางผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่ม สำหรับงานก่อสร้างถนนพาราชอยล์ชีเมนต์ พร้อมทั้งจัดทำประกาศคู่มือการรับรองคุณภาพของน้ำยางผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่ม (ดูรายละเอียดในคำสั่งประกอบ)
@ นายลักษณ์ วจนานวัช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ชี้แจงสำนักข่าวอิศรา ว่า การรับรองเอกชนผู้ผลิตสารที่ผ่านการตรวจสอบรับรองมาตรฐานในการนำน้ำยางพาราไปผสมสาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพาราซอยซีเมนต์ เพื่อให้น้ำยามีคุณสมบัติที่ดีนำไปใช้ราดถนน ของคณะกรรมการฯ ชุดที่กระทรวงเกษตรฯ แต่งตั้งนั้น เป็นการรับรองเรื่องคุณภาพของน้ำยาง ที่ฝ่ายเอกชนส่งเข้ามาให้ตรวจสอบว่า มีมาตราฐานหรือไม่เท่านั้น แต่คณะกรรมการไม่ได้เข้าไปดูในรายละเอียดความสัมพันธ์เชื่อมโยงของบริษัทว่าเป็นอย่างไร
"ปัจจุบันข้อมูลบริษัทเอกชน ที่ส่งเรื่องเข้ามาให้ตรวจสอบ มีเพียงแค่ 3 ราย นี้เท่านั้น ที่ผ่านการตรวจสอบ ส่วนเอกชนรายอื่นๆ อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินงานตรวจสอบ บางรายก็อยู่ระหว่างขั้นตอนการปรับปรุงแก้ไข แต่คาดว่าในเร็วๆ นี้ จะมีบริษัทเอกชนหลายรายที่ผ่านการตรวจสอบและได้รับการรับรอง ซึ่งจะทำให้จำนวนบริษัทเอกชนผู้ผลิตสารผสมมีจำนวนมากขึ้น ตัวเลือกในการซื้อสารผสม ของหน่วยงานราชการต่างๆ เพื่อนำไปผสมน้ำยางพาราในการทำถนนก็มีจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย" แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงเกษตรฯ ระบุ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เปิดแผนงานกองทัพ ใช้งบ 2.5 พันล. ทำถนนยางพารา-ให้กยท.ประมูลก่อนขายต่อ อปท.
'กก.-ผู้ถือหุ้น' กลุ่มเดียวกัน! เปิดข้อมูล3 บ.ขายน้ำยางทำถนนพาราฯ -กยท.ยันไม่มีล็อคสเปค