"...เป็นคดีเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างก่อสร้างโครงการ ปรับปรุง หรือซ่อมแซม ถนน (รวมแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก ลาดยาง หรือลูกรัง) มากที่สุด จำนวน 14 โครงการ ส่วนที่เหลือเป็นเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ เช่น ก่อสร้างหรือปรับปรุงอาคาร 6 โครงการ เขื่อนหรือฝายหรือระบบน้ำ 4 โครงการ จัดซื้อรถยนต์หรืออุปกรณ์ 3 โครงการ ลำน้ำหรือคลอง 2 โครงการ ตามด้วย ลำน้ำ/คลอง เครื่องพ่นยา ไฟจราจร ท่อระบายน้ำ ประชาสัมพันธ์ เครื่องปรับอากาศ ประปา อาหาร วัสดุก่อสร้าง สถานีสูบน้ำ ค่าเช่า เครื่องกรองน้ำ และอุปกรณ์แพทย์ อย่างละ 1 โครงการ และอื่นๆ อีก 3 โครงการ..."
ในตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลสรุปสำนวนคดีทุจริตที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ที่ถูกเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว โดยพบว่า ช่วงปี 2561 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีต่างๆ ตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึงปัจจุบัน (คดีล่าสุดมีมติชี้มูล เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2561) จำนวน 48 คดี ซึ่งเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างทั้งสิ้น 24 คดี
ทั้ง 24 คดีดังกล่าว (บางคดีมีหลายโครงการหรือหลายประเภท) พบว่า ส่วนใหญ่เป็นสัญญาของหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับการจ้างสร้างหรือซ่อมสะพาน ปรับปรุงหรือขยายระบบการประปา ซ่อมสถานีสูบน้ำ จัดซื้อที่ดิน เป็นต้น
สำหรับประเภทของสินค้าที่จัดซื้อและถูกตรวจสอบพบปัญหาทุจริต เกี่ยวกับถนน 4 โครงการ สะพาน ระบบประปา โรงสูบน้ำ และก่อสร้างอื่นๆ ประเภทละ 2 โครงการ และ ท่อคอนกรีตเสริมเหล็ก ธงชาติ ที่ดิน ผ้าห่ม ถังขยะ เสื้อกันหนาว ขุดเจาะหิน ตลาดสด ประชาสัมพันธ์ เช่าพื้นที่ อย่างละ 1 โครงการ และอื่นๆ อีก 4 ชนิด (อ่านประกอบ : เจาะสำนวน ป.ป.ช.ฟันทุจริตซื้อจ้าง ปี 61 ชี้มูลความผิด 24 เรื่อง - 'อยุธยา' มากสุด 7 คดี)
คราวนี้ มาดูข้อมูลสรุปสำนวนคดีทุจริตที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ในช่วงปี 2562 กันบ้าง ว่ามีรายละเอียดเป็นอย่างไร?
จากการตรวจสอบพบว่า นับตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึงปัจจุบัน (คดีล่าสุดมีมติชี้มูล เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2562) คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลทั้งสิ้น 81 คดี ซึ่งเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างทั้งสิ้น 41 คดี
ทั้ง 41 คดีดังกล่าว (บางคดีมีหลายโครงการหรือหลายประเภท) พบว่า เป็นคดีเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างก่อสร้างโครงการ ปรับปรุง หรือซ่อมแซม ถนน (รวมแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก ลาดยาง หรือลูกรัง) มากที่สุด จำนวน 14 โครงการ ส่วนที่เหลือเป็นเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ เช่น ก่อสร้างหรือปรับปรุงอาคาร 6 โครงการ เขื่อนหรือฝายหรือระบบน้ำ 4 โครงการ จัดซื้อรถยนต์หรืออุปกรณ์ 3 โครงการ ลำน้ำหรือคลอง 2 โครงการ ตามด้วย ลำน้ำ/คลอง เครื่องพ่นยา ไฟจราจร ท่อระบายน้ำ ประชาสัมพันธ์ เครื่องปรับอากาศ ประปา อาหาร วัสดุก่อสร้าง สถานีสูบน้ำ ค่าเช่า เครื่องกรองน้ำ และอุปกรณ์แพทย์ อย่างละ 1 โครงการ และอื่นๆ อีก 3 โครงการ (ดูอินโฟกราฟิกและตารางท้ายเรื่องประกอบ)
ส่วนกลุ่มคนที่ถูกชี้มูลความผิด รวมทั้งหมด 123 ราย แบ่งเป็น นายกองค์การบริหารส่วนตำบล 20 ราย รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล 5 ราย ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล 9 ราย รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล 2 ราย พนักงาน/เจ้าหน้าที่สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบล 32 ราย นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบล 6 ราย ปลัดเทศบาลตำบล 3 ราย พนักงาน/เจ้าหน้าที่สังกัดเทศบาลตำบล 7 ราย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 ราย ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 ราย รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 ราย พนง. องค์การบริหารส่วนจังหวัด 9 ราย พนง. กทม. 6 ราย ผอ.โรงเรียน/วิทยาลัย 2 ราย ครู โรงเรียน/วิทยาลัย 2 ราย เอกชน 7 ราย และอื่นๆ 10 ราย (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ)
ใน 41 คดีดังกล่าว เป็นคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทั้งหมด 31 จังหวัด คือ อุบลราชธานี มากที่สุดจำนวน 3 คดี กรุงเทพฯ 2 คดี กาฬสินธุ์ 2 คดี ลำพูน 2 คดี ชุมพร 2 คดี นครสวรรค์ 2 คดี พิษณุโลก 2 คดี สงขลา 2 คดี อำนาจเจริญ 2 คดี และ สุโขทัย ปราจีนบุรี ราชบุรี สุราษฎร์ธานี นครพนม ระยอง ภูเก็ต เชียงราย สกลนคร ร้อยเอ็ด นครปฐม กำแพงเพชร ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ชัยนาท สุรินทร์ กาญจนบุรี บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุทัยธานี นราธิวาส และปทุมธานี จังหวัดละ 1 คดี (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ)
(ดูรายละเอียดคดีในฐานข้อมูลป.ป.ช. ที่นี่ https://www.nacc.go.th/culpability.php)
ทั้งนี้ นอกจากฐานข้อมูลปี 2562 ดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงมติ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี กับพวก ใน 2 คดี คือกรณีการก่อสร้างสถานีตำรวจ (โรงพัก) ทดแทน 396 หลังเสียหาย 1,728 ล้านบาทเศษ และคดีก่อสร้างอาคารที่พักตำรวจ (แฟลต) 163 หลัง เสียหาย 3,994 ล้านบาท รวมความเสียหาย 5,722 ล้านบาท สรุปได้ ดังนี้
1.คดีโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจ (โรงพัก) ทดแทน 396 หลัง เสียหาย 1,728 ล้านบาทเศษ
คดีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี กับพวก อนุมัติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างก่อสร้างโรงพักทดแทน จำนวน 396 แห่ง โดยนายสุเทพอนุมัติเปลี่ยนแปลงการจัดจ้างจากเดิมที่แบ่งเป็นรายภาค มารวมเป็นส่วนกลางในครั้งเดียว และสัญญาเดียว โดยไม่เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเกี่ยวกับวิธีการจัดจ้างก่อสร้างเสียก่อน โดยรู้อยู่แล้วว่าแนวทางที่อนุมัติให้เปลี่ยนแปลงดังกล่าวการก่อสร้างจะไม่แล้วเสร็จ โดยมี พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) เป็นผู้เสนอเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ให้เป็นสัญญาตำรวจภูธรรายภาค หรือตำรวจภูธรรายจังหวัด ให้รวมเป็นสัญญาเดียวโดยกองโยธาธิการ สำนักงานส่งกำลังบำรุง โดยนอกจากนี้ในส่วนของคณะกรรมการประกวดราคายังเอื้อประโยชน์ให้กับ บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ด้วย
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาแต่ละรายแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 8 เสียง (นางสาวสุภา ปิยะจิตติ ไม่ได้เข้าร่วมพิจารณา เนื่องจากช่วงเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง เคยพิจารณากรณีดังกล่าว จึงถือว่ามีส่วนได้ส่วนเสีย) ดังนี้
1.) การกระทำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และการกระทำของพลตำรวจเอก ปทีป ตันประเสริฐ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6)
2.) การกระทำของคณะกรรมการประกวดราคา
2.1) การกระทำของพลตำรวจตรี สัจจะ คชหิรัญ และพันตำรวจโท สุริยา แจ้งสุวรรณ์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2552 มาตรา 10 และมาตรา 12 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6)
2.2) การกระทำของพันตำรวจเอก จิรวุฒิ จันทร์เพ็ญ พันตำรวจเอก สุทธี โสตถิทัต พันตำรวจเอก พิชัย พิมลสินธุ์ พันตำรวจเอก ณัฐเดช พงศ์วรินทร์ และพันตำรวจเอก ณัฐชัย บุญทวี มีมูลความผิดทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 78 (1) (2) และ (9)
3.) บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด โดยนายวิษณุ วิเศษสิงห์ กรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท และนายวิษณุ วิเศษสิงห์ ในฐานะส่วนตัว มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าว
4.) สำหรับผู้ถูกกล่าวหาอื่นได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พลตำรวจเอก เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว พลตำรวจโท ธีรยุทธ กิติวัฒน์ และพลตำรวจโท สุพร พันธุ์เสือ ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ให้ส่งเรื่องรายงาน เอกสารหลักฐาน พร้อมความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษา ตามมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และส่งรายงาน เอกสารหลักฐานพร้อมความเห็น ไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัย ตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 92 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 แล้วแต่กรณีต่อไป
2.โครงการก่อสร้างอาคารที่พัก (แฟลต) ตำรวจ 163 หลัง เสียหาย 3,994 ล้านบาทเศษ
คดีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กับพวก กรณีโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย (แฟลต) ตำรวจ จำนวน 163 หลัง โดยนายสุเทพได้อนุมัติให้ สตช. เปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างก่อสร้างจากเดิม ที่แบ่งเป็นรายภาค มารวมเป็นส่วนกางในครั้งเดียว และสัญญาเดียว โดยไม่เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเกี่ยวกับวิธีการจัดจ้างก่อสร้างเสียก่อน โดยรู้อยู่แล้วว่าแนวทางที่อนุมัติให้เปลี่ยนแปลงดังกล่าวการก่อสร้างจะไม่แล้วเสร็จ โดยมี พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) เป็นผู้เสนอเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ให้เป็นสัญญาตำรวจภูธรรายภาค หรือตำรวจภูธรรายจังหวัด ให้รวมเป็นสัญญาเดียวโดยกองโยธาธิการ สำนักงานส่งกำลังบำรุง โดยนอกจากนี้ในส่วนของคณะกรรมการประกวดราคายังเอื้อประโยชน์ให้กับ บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด
นอกจากนั้น ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในระหว่างการก่อสร้างพันตำรวจโท คมกริบ นุตาลัย ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้าง ตำรวจภูธรภาค 6 ได้เรียกรับเงินจากผู้รับจ้างเพื่อแลกกับการช่วยเหลือในการตรวจการจ้างเป็นเงิน จำนวน 60,000 บาท และดาบตำรวจ สายัณ อบเชย ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ตำรวจภูธรภาค 5 ได้เรียกรับเงินจากผู้รับจ้างเพื่อแลกกับการช่วยเหลือในการควบคุมการก่อสร้างเป็นเงิน จำนวน 91,618,000 บาท อันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาแต่ละรายแล้ว มีมติ เป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 8 เสียง ดังนี้
1.) การกระทำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นกรรมเดียวกันกับกรณีอนุมัติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดจ้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 แห่ง ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้วินิจฉัยแล้วว่าการกระทำดังกล่าวมีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
2.) การกระทำของคณะกรรมการประกวดราคา ได้แก่ พลตำรวจโท ธีรยุทธ กิติวัฒน์ พลตำรวจตรี สัจจะ คชหิรัญ พันตำรวจเอก ปัทเมฆ สุนทรานุยุตกิจ พันตำรวจเอก จิรวุฒิ จันทร์เพ็ญ พันตำรวจตรี สิทธิไพบูลย์ คำนิล พันตำรวจเอก พิชัย พิมลสินธุ์ และพันตำรวจตรี สมาน สุดใจ มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6)
3.) การกระทำของดาบตำรวจ สายัณ อบเชย มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 มาตรา 151 และมาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6)
4.) การกระทำของพันตำรวจโท คมกริบ นุตาลัย คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติด้วยคะแนนเสียง 5 เสียง ต่อ 3 เสียง ว่ามีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 มาตรา 151 และมาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6)
5.) การกระทำของ บริษัท พีซีซีฯ โดยนายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล กรรมการผู้จัดการ ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทฯ และนายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล ในฐานะส่วนตัว มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มาตรา 10 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ส่งเรื่องรายงาน เอกสารหลักฐาน พร้อมความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษา ตามมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และส่งรายงาน เอกสารหลักฐานพร้อมความเห็น ไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัย ตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 92 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 แล้วแต่กรณีต่อไป
รวมความเสียหาย 2 คดี มูลค่า 5,722 ล้านบาท นับรวมจำนวนผู้ถูกกล่าวหาอยู่ที่ 17 ราย (อ่านประกอบ : มติทางการ!ป.ป.ช.ฟัน‘สุเทพ-ปทีป’คดีโรงพัก-แฟลต เสียหาย 5.7 พันล.-ดาบ ตร.เรียกเงิน 91 ล.)
จึงทำให้กลุ่มบุคคลที่ถูกชี้มูลความผิดในคดีที่เกี่ยวกับจัดซื้อจ้ดจ้าง ส่วนกลุ่มคนที่ถูกชี้มูลความผิด รวมทั้งหมดกว่า 140 ราย มีนักการเมือง และนายตำรวจ รวมอยู่ด้วย
ขณะที่จำนวนคดีเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างเพิ่มมาเป็น 42 คดี
อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดในชั้น ป.ป.ช. เป็นเพียงกระบวนการขั้นต้น ยังเหลือในชั้นอัยการ และชั้นศาล คดียังไม่ถือว่าสิ้นสุด ผู้ถูกกล่าวหาจึงถือว่าบริสุทธิ์อยู่
แต่ข้อมูลทั้งหมด ก็พอที่จะชี้ให้เห็นสถานการณ์และแนวโน้มคดีทุจริตที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ว่ากำลังเป็นไปในทิศทางไหน
ทั้งในเรื่องของพื้นที่จังหวัด จุดเกิดเหตุ หน่วยงานที่รับผิดชอบ และกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว
อ่านประกอบ :
เจาะสำนวน ป.ป.ช.ฟันทุจริตซื้อจ้าง ปี 61 ชี้มูลความผิด 24 เรื่อง - 'อยุธยา' มากสุด 7 คดี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/