"...สำหรับข้อมูลทรัพย์สินที่ดิน ในชื่อของ นายสรวิศ มีการตรวจสอบพบว่า ได้มาในช่วงปี 2556-2557 หลังเกิดการทุจริตโครงการระบายข้าวจีทูจี โดยในช่วงปี 2555 ไม่พบข้อมูลการประกอบอาชีพของ นายสรวิศ เมื่อตรวจสอบข้อมูลการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้ ก็ไม่พบข้อมูลการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่อย่างใด..."
ในสัปดาห์ที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำข้อมูลและคำชี้แจงของ นายสรวิศ จันทร์สกุลพร ลูกชายของนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ เสี่ยเปี๋ยง อดีตพ่อค้าข้าวชื่อดัง ผู้ก่อตั้งบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด กับ นางกิ่งแก้ว จันทร์สกุลพร หรือ ลิ่มปิสุข ที่หยิบยกขึ้นมาแก้ต่างในคดีถูกอายัดทรัพย์สินมูลค่าหลายร้อยล้านบาท ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่รัฐ หรือ จีทูจี มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบกันไปแล้ว
@นายสรวิศ จันทร์สกุลพร
@นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร
@ นางกิ่งแก้ว จันทร์สกุลพร
นายสรวิศ ให้การต่อสู้ในชั้นศาลว่า ทรัพย์สินของตนที่ถูกสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ออกคำสั่งอายัดทรัพย์ไว้ เป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยสุจริต ไม่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตระบายข้าวจีทูจี
โดยที่ดินจำนวนนับร้อยแปลง ที่อยู่ในความครอบครอง ได้มาจาก 3 ส่วน คือ 1. กู้ยืมเงิน 260 ล้านบาท จากญาติที่ชื่อ นายสมชาย เวศวิฑูรย์ มาซื้อคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี 2. นางกิ่งแก้ว จันทร์สกุลพร มารดายกให้ โดยที่ดินจำนวนนี้ นางกิ่งแก้ว ใช้เงินส่วนตัวซื้อหามาเอง 3. นำเงินที่ได้จากการขายพระเครื่องที่ได้รับมาจากคุณปู่ ไปซื้อ
ส่วนเงินฝากในบัญชีธนาคารมูลค่าหลายสิบล้านบาท นายสรวิศ ยืนยันว่า เป็นเงินของตนเอง ได้มาจากการประกอบธุรกิจโดยสุจริตเช่นกัน บางส่วนมาจากการรับคืนเงินกู้และดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืมโดยชอบตามกฎหมาย เงินค่าปันผลค่าเบี้ยประกันชีวิต เป็นต้น
ขณะที่เงินกู้ยืมจากบริษัท เมอร์รี่ไรซ์แลนด์ จำกัด ที่ นายสรวิศ เป็นผู้ริเริ่มก่อการจัดตั้ง รวมประมาณ 730 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาใช้หมุนเวียนและลงทุนในสลากออมทรัพย์และหน่วยลงทุนในกองทุนของบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ แหล่งที่มาของเงินจำนวนนี้ เป็นเงินของ บริษัท เมอร์รี่ไรซ์แลนด์ จำกัด ที่ได้มาจากการดำเนินกิจการ และการกู้ยืมเงินจากบริษัท ฮินตัน เทรดดิง แอสเสส จำกัด ที่จดทะเบียนบนเกาะบริติช เวอร์จิน
นายสรวิศ ยังยืนยันด้วยว่า ตนเป็นเพียงแค่บุตรของ นายอภิชาติ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกับการประกอบธุรกิจหรือดำเนินกิจการใดๆ ของนายอภิชาติ ไม่เคยถูกแจ้งความ ไม่เคยถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนเกี่ยวกับกรณีการทุจริตโครงการระบายข้าวจีทูจี หรือถูกดำเนินคดีใด
รวมถึงยังไม่เคยมีความเกี่ยวข้องกับบริษัท เพรซิเดนท์ อะกริเทรดดิ้ง จำกัด(ของนายอภิชาติ) และมีส่วนในการเข้าไปบริหารงานในกิจการของ บริษัทสิราลัย หรือ กีธา พร็อพเพอร์ตี้ส์ หนึ่งในจำเลยคดีทุจริตระบายข้าว แค่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นเท่านั้น
ส่วนการบริหารงานบริษัทสิราลัย ทั้งหมด เป็นของ นางสาวธันยพร จันทร์สกุลพร พี่สาว (หนึ่งในจำเลยคดีทุจริตระบายข้าวอีกราย ที่อยู่ระหว่างการหลบหนีคดีในต่างประเทศ)
และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ในช่วงที่ถูกระบุพฤติการณ์การกระทำความผิดในคดี ยังอยู่ในช่วงการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและปริญญาตรีด้วย
อย่างไรดี ข้อมูลคำชี้แจงดังกล่าว ศาลแพ่ง พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าไม่มีน้ำหนักเพียงพอ จึงเห็นสมควรสั่งให้ ยึดทรัพย์ของ นายสรวิศ ตกเป็นของแผ่นดิน (อ่านประกอบ : ตามรอยปปง.ล่าเงินทุจริตจำนำข้าว (3) คำให้การ 'สรวิศ' ลูกเสี่ยเปี๋ยง ก่อนโดนยึดทรัพย์)
ในตอนนี้ สำนักข่าวอิศรา จะขอนำเสนอรายละเอียดคำพิพากษา ศาลแพ่ง ที่สั่ง ยึดทรัพย์ของ นายสรวิศ ตกเป็นของแผ่นดิน ดังกล่าว มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ในการพิจารณาของศาลแพ่ง มีการระบุข้อมูลผลการตรวจสอบว่า นายสรวิศ จันทร์สกุลพร ลูกชายของนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร กับ นางกิ่งแก้ว จันทร์สกุลพร หรือ ลิ่มปิสุข ทั้งยังเคยเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท สิราลัย หรือ กีธา พร็อพเพอร์ตี้ส์ ตั้งแต่มีการก่อตั้งบริษัทฯ เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2555 ต่อมาบริษัทสิราลัยญ มีการเพิ่มทุนจดทะเบียน (มูลค่ากว่า 2.2 พันล้านบาท เฉพาะทุนของนายสรวิศ 300 ล้านบาท ) แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า นายสรวิศ นำเงินจากที่ใดมาใช้ในการลงทุนหรือให้บริษัทฯ
ขณะที่จากการตรวจสอบทะเบียนบ้านของ นายสรวิศ พบว่า มีนางนวลจันทร์ เชื่อมไธสง ภรรยา ของ นายสุธี เชื่อมไธงสง มีสถานะเป็นเจ้าบ้าน (นายสุธี เป็นพนักงานในบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด มีเงินเข้าออกบัญชีเป็นหมื่นล้านบาท เป็นหนึ่งในจำเลยคดีทุจริตระบายข้าว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการหลบหนีคดี) (อ่านประกอบ: ตามรอยปปง.ล่าเงินทุจริตจำนำข้าว (1) : ชำแหละเครือข่ายสยามอินดิก้า-บัญชีหมื่นล. 'สุธี')
สำหรับข้อมูลทรัพย์สินที่ดิน ในชื่อของ นายสรวิศ มีการตรวจสอบพบว่า ได้มาในช่วงปี 2556-2557 หลังเกิดการทุจริตโครงการระบายข้าวจีทูจี
โดยในช่วงปี 2555 ไม่พบข้อมูลการประกอบอาชีพของ นายสรวิศ เมื่อตรวจสอบข้อมูลการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้ ก็ไม่พบข้อมูลการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาแต่อย่างใด
และถึงแม้ว่า นายสรวิศ จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมอร์รี่ไรซ์แลนด์ จำกัด เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2556 แต่จากงบดุลของบริษัทฯ พบว่า มีผลประกอบการขาดทุน และกู้ยืมเงินต่างประเทศ จำนวน 5,000 ล้านบาท ส่วนในงบการเงินปี 2556 , 2557 ปรากฎข้อมูลว่า บริษัทเมอร์รี่ไรซ์แลนด์ จำกัด นำเงินดังกล่าวฝากในบัญชีธนาคาร หน่วยลงทุน และให้บริษัทสยามอินดิก้า กู้ยืมจำนวน 3,000 ล้านบาท
ด้วยเหตุนี้ นายสรวิศ จึงไม่สามารถ นำเงินจากบริษัทเมอร์รี่ไรซ์แลนด์ จำกัด ไปใช้ในการซื้อทรัพย์สินที่ดินที่ถูกอายัดไว้ได้
นอกจากนี้ ในการตรวจสอบข้อมูลรายการธุรกรรมเงินสดของนายสุธี เชื่อมไธงสง ในบัญชีธนาคารกรุงไทย พบว่า เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2556 มีการถอนเงินออกจากบัญชี จำนวน 24,031,270 บาท และเป็นธุรกรรมต่อเนื่องโดยการฝากเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี บริษัท พีเอเอส (2556) จำกัด เป็นเงิน 16,250,000 บาท ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลระบบในของสำนักงาน ปปง. พบว่า ในวันดังกล่าว มีรายงานการฝากเงินสดเข้าบัญชี ดังกล่าว ระบุชื่อผู้ฝากเงินคือ บริษัท พีเอเอส (2556) จำกัด และได้มีรายการทำธุรกรรมซื้อแคชเชียร์เช็คสั่งจ่าย นายภูวดล อัศวานุชิต จำนวน 7,800,000 บาท ซึ่งในใบคำขอซื้อแคชเชียร์เช็คระบุชื่อ นายสรวิศ เป็นผู้ซื้อ
ขณะที่ นายภูวดล เป็นผู้ขายทรัพย์สินที่ดิน ให้กับ นายสรวิศ ด้วย
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ บริษัท พีเอเอส (2556) จำกัด นั้น สำนักข่าวอิศรา เคยตรวจสอบพบว่า เป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งในช่วงต้นปี 2556 ทำธุรกิจก่อสร้าง ปรากฎชื่อนายสรวิศ จันทร์สกุลพร เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มีนายพีระวัฒน์ เมืองตั้ง เจ้าของ บริษัท คาล เอเซีย เอ็นเตอร์ไพรเซส จำกัด ซึ่งทำธุรกิจธุรกิจนำเข้าเครื่องมือและสว่านไฟฟ้า ที่ปรากฎชื่อเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้น
แต่มีข้อน่าสังเกตอยู่ที่ บริษัท พีเอเอส (2556) จำกัด ในช่วงเริ่มต้นจดทะเบียนจัดตั้ง มีทุนจดทะเบียน 25 ล้านบาท จากนั้นวันที่ 19 มีนาคม 2556 บริษัทฯ ได้แจ้งเพิ่มทุนอีกเป็นจำนวนเงิน 95 ล้านบาท รวมทุนจดทะเบียนทั้งหมด 120 ล้านบาท
ต่อมาในช่วงปลายปี 2558 บริษัท พีเอเอส (2556) จำกัด ได้แจ้งเปลี่ยนตัวผู้ถือหุ้นบริษัทฯ ใหม่ โดยนาย สรวิศ จันทร์สกุลพร ไม่ได้ปรากฎชื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัทฯ อีกต่อไป
แต่ปรากฎชื่อ นาย ทวี จอมเมืองบุตร เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แทน ส่วน นาย พีระวัฒน์ เมืองตั้ง และ นาง พูนศรี เมืองตั้ง ยังถือหุ้นอยู่จำนวนเท่าเดิม
ล่าสุด บริษัท พีเอเอส (2556) ยังไม่นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบธุรกิจ ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแต่อย่างใด
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ นายทวี จอมเมืองบุตร จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ทำธุรกิจก่อสร้างในจังหวัดลำปาง
อ่านประกอบ :
ตามรอยปปง.ล่าเงินทุจริตจำนำข้าว (1) : ชำแหละเครือข่ายสยามอินดิก้า-บัญชีหมื่นล. 'สุธี'
ตามรอยปปง.ล่าเงินทุจริตจำนำข้าว (2) : คำให้การ ผู้สอบบัญชี VS คำโต้แย้งสยามอินดิก้า
ตามรอยปปง.ล่าเงินทุจริตจำนำข้าว (3) คำให้การ 'สรวิศ' ลูกเสี่ยเปี๋ยง ก่อนโดนยึดทรัพย์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/