"...ขณะที่ บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ได้นำนายชัยสิทธิ์ พุ่มศรี กรรมการของบริษัทฯ มาเบิกความ โดยให้ข้อมูลว่า นายชัยสิทธิ์เป็นกรรมการของบริษัท สยามอินดิก้า ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2560 จนถึงปัจจุบันบริษัท สยามอินดิก้า มีเดิมชื่อ บริษัทเพรซิเดนท์ ไรซ์บาวนด์ จํากัด ประกอบธุรกิจค้าข้าวทั้งในและต่างประเทศ บริษัท สยามอินดิก้า ไม่มีความเกี่ยวข้องหรือนิติสัมพันธ์กับบริษัทกว่างตงๆ หรือบริษัทห่ายหนานๆ นายอภิชาติ นายนิมล รักดี นายสุธี หรือกลุ่มบุคคลผู้กระทําความผิดในคดีความผิดมูลฐานโครงการระบายข้าว และไม่มีส่วนร่วม หรือแบ่งหน้าที่หรือสนับสนุนบุคคลใด ๆ ที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้..."
ในสัปดาห์ที่แล้ว นำข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับบทบาท และพฤติการณ์ของผู้เกี่ยวข้องในคดีทุจริตระบายข้าวโครงการรับจำนำข้าว แบบรัฐ ต่อรัฐ (จีทูจี) ในส่วนของ บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ตัวละครสำคัญรวมไปถึงบทบาทของลูกน้อง คนใกล้ชิดนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ เสี่ยเปี๋ยง อดีตพ่อค้าข้าวชื่อดัง ผู้ก่อตั้งบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ตามรายงานผลการสอบสวนเส้นทางการเงินของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่อยู่ระหว่างการไล่ล่าติดตามเงินทรัพย์สมบัติที่นายอภิชาติ และพวก ได้รับไปจากคดีทุจริตจำนำข้าวให้คืนกลับมาเป็นสมบัติของแผ่นดิน มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบกันไปแล้ว
ข้อมูลสำคัญที่น่าสนใจมีหลายประเด็น อาทิ เส้นทางการเงินซื้อข้าว ที่พบว่าล้วนแล้วมีที่มาจากคนในบริษัทสยามอินดิก้าแทบทั้งสิ้น ไม่ได้มาจารัฐวิสาหกิจจากประเทศจีน คู่สัญญารับซื้อข้าวตามข้อตกลง จีทูจี ที่ทำไว้กับรัฐบาลไทยแต่อย่างใด สถานะทางธุรกิจของบริษัทสยามอินดิก้า ที่ในช่วงปี 2555 บริษัทฯ มีการเคลื่อนไหวทางการเงินมูลค่าโดยรวมน้อย เมื่อเทียบกับการเคลื่อนไหวทางการเงินในช่วงปี 2556 -2557 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มโครงการระบายข้าวจีทูจี ขณะที่จากการสอบสวนเส้นทางการเงินในบัญชีธนาคารต่างๆ ของนายสุธี เชื่อมไธสง พนักงานในบริษัท สยามอินดิก้า พบว่า มีเงินที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตโครงการระบายข้าวจำนวนมากเป็นหลักหมื่นล้านบาท และจากการตรวจสอบช่วงระหว่างวันที่ 20 พ.ย.2555 -25 กุมภาพันธ์ 2557 น่าเชื่อว่ามีการถอนเงินสดจากบัญชีนายสุธี และทำธุรกรรมต่อเนื่องโดย ฝากเข้าบัญชีของบริษัทสยามอินดิก้าด้วย ปัจจุบันนายสุธี อยู่ระหว่างหลบหนีการจับกุมตัวคดีระบายข้าวจีทูจี
(อ่านประกอบ : ตามรอยปปง.ล่าเงินทุจริตจำนำข้าว (1) : ชำแหละเครือข่ายสยามอินดิก้า-บัญชีหมื่นล. 'สุธี')
แต่ข้อมูลในส่วนของ บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ยังไม่จบ ยังมีข้อมูลคำพิพากษาของศาลแพ่ง ที่มีคำสั่งยึดทรัพย์ที่ดิน จำนวน 10 แปลง ในตำบลโรงช้าง อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ล็อตแรก รวมราคาประเมินกว่า 3,385,650 บาท ด้วย เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2562 ที่ผ่านมา
โดยมีตัวละครสำคัญ คือ ผู้สอบบัญชี ประกอบกับคำโต้แย้งของ บริษัทสยามอินดิก้า ก่อนที่ศาลแพ่ง จะมีคำสั่งยึดทรัพย์ที่ดิน จำนวน 10 แปลง ดังกล่าว
ปรากฏรายละเอียดต่อไปนี้
ในการพิจารณาคดีดังกล่าว มีการเชิญตัว นายธนาดล รักษาผล ผู้สอบบัญชีได้รับอนุญาตและผู้สอบบัญชีของ บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ตั้งแต่ปี 2553 ถึง 2556 มาเบิกความเกี่ยวกับการแสดงความเห็นในหมายเหตุประกอบงบแสดงฐานะการเงินของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2553 และวันที่ 31 ธันวาคม 2554 งบกําไรขาดทุนและงบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น แบบมีเงื่อนไข เนื่องจากไม่ได้เข้าสังเกตการณ์การตรวจนับสินค้าคงเหลือ และไม่สามารถตรวจสอบ ยอดคงเหลือของบัญชีเจ้าหนี้การค้าได้เนื่องจากไม่ได้รับหนังสือยืนยันยอดเจ้าหนี้ โดยในงบการเงินของบริษัทฯ ปรากฏยอดขาดทุนเกินทุนที่เรียกชําระแล้ว ในปี 2553 จํานวน 298,114,500.16 บาท และในปี 2554 จํานวน 448,461,972.06 บาท จึงเป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยอย่างมากเกี่ยวกับความสามารถในการดําเนินงานต่อเนื่อง แต่คณะกรรมการเห็นว่าบริษัทสามารถดําเนินงานต่อเนื่องไปได้ เนื่องจากกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่และกรรมการของบริษัทยืนยันจะให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน
เช่นเดียวกันงบแสดงฐานะการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2555 งบกําไรขาดทุนและงบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น ก็มีการแสดงความเห็นแบบมีเงื่อนไข เนื่องจากไม่ได้เข้าสังเกตการณ์การตรวจนับสินค้าคงเหลือ และไม่สามารถตรวจสอบยอดคงเหลือของบัญชีจ่ายเงินล่วงหน้าค่าซื้อสินค้าได้เพราะไม่ได้รับการตอบกลับ หนังสือยืนยันยอดหนี้จากผู้ขายสินค้า โดยในงบการเงินของบริษัทฯ ปรากฏยอดขาดทุนเกินทุนที่เรียกชําระแล้ว จํานวน 371,854,255.63 บาท จึงเป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยอย่างมากเกี่ยวกับความสามารถในการดําเนินงานต่อเนื่อง แต่คณะกรรมการเห็นว่าบริษัทสามารถดําเนินงานต่อเนื่องไปได้ เนื่องจากกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่และกรรมการของบริษัทยืนยันจะให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน
ส่วนงบแสดงฐานะการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 งบกําไรขาดทุน และงบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น เป็นการแสดงความเห็นแบบไม่แสดงความเห็น เนื่องจากไม่สามารถหาหลักฐานการตรวจสอบที่เหมาะสมเพียงพอเพื่อเป็นเกณฑ์ในการแสดงความเห็นของการตรวจสอบได้ กล่าวคือไม่ได้เข้าสังเกตการณ์การตรวจนับสินค้าคงเหลือไม่สามารถตรวจสอบยอดคงเหลือของบัญชีจ่ายเงินล่วงหน้าค่าซื้อสินค้าได้เพราะไม่ได้รับการตอบกลับหนังสือยืนยันยอดหนี้จากผู้ขายสินค้า ไม่สามารถตรวจสอบรายได้จากการขายจํานวน 14,177.51ล้านบาท และต้นทุนขายจํานวน 13,455.72 ล้านบาท ได้
ขณะที่ บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ได้นำนายชัยสิทธิ์ พุ่มศรี กรรมการของบริษัทฯ มาเบิกความ โดยให้ข้อมูลว่า นายชัยสิทธิ์เป็นกรรมการของบริษัท สยามอินดิก้า ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2560 จนถึงปัจจุบันบริษัท สยามอินดิก้า มีเดิมชื่อ บริษัทเพรซิเดนท์ ไรซ์บาวนด์ จํากัด ประกอบธุรกิจค้าข้าวทั้งในและต่างประเทศ บริษัท สยามอินดิก้า ไม่มีความเกี่ยวข้องหรือนิติสัมพันธ์กับบริษัทกว่างตงๆ หรือบริษัทห่ายหนานๆ นายอภิชาติ นายนิมล รักดี นายสุธี หรือกลุ่มบุคคลผู้กระทําความผิดในคดีความผิดมูลฐานโครงการระบายข้าว และไม่มีส่วนร่วม หรือแบ่งหน้าที่หรือสนับสนุนบุคคลใด ๆ ที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้
บริษัท สยามอินดิก้า ไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทําความผิด และไม่เคยได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยการรับโอนมาจากกลุ่มบุคคลผู้กระทําความผิดมูลฐาน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดเพื่อซุกซ่อน หรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สิน หรือเพื่อช่วยเหลือรายกลุ่มบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐตามโครงการจํานําข้าวในคดีความผิดมูลฐาน ไม่ว่าก่อนหรือขณะหรือหลังกระทําความผิด และได้ยื่นอุทธรณ์ในคดีความผิดมูลฐานคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาในองค์คณะอุทธรณ์ในศาลฎีกาและยังไม่ถึงที่สุด (ในช่วงเวลานั้นคดีทุจริตระบายข้าวยังไม่ถึงที่สุด)
เงินที่บริษัท สยามอินดิก้า ชําระค่าข้าวแก่กรมการค้าต่างประเทศเป็นเงินที่มีอยู่เดิมแล้วบางส่วน ซึ่งบริษัท สยามอินดิก้า เริ่มมีสินทรัพย์รวมสะสมประมาณ 2,000 ล้านบาทเศษมาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน เงินลงทุนหมุนเวียนในกิจการมาจากการได้สินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย บางส่วน และเงินซื้อขายข้าวตามสัญญาแบบรัฐต่อรัฐเป็นมูลค่าที่รวมต้นเงินที่เป็นต้นทุนในการนําไปซื้อข้าว ซึ่งเป็นเงินที่มีอยู่ก่อนแล้วเมื่อบริษัท สยามอินดิก้า ซื้อข้าวมาปรับปรุงและส่งออก
ดังนั้น เงินที่บริษัท สยามอินดิก้า ได้จากการขายข้าวหักต้นทุน และค่าใช้จ่ายแล้วเป็นเงินกําไร บริษัท สยามอินดิก้า ประกอบธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2547 และมีกําไรสะสมเรื่อยมาเป็นจํานวนปีละไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ในการพิจารณาของศาลแพ่ง เมื่อพิจารณาคําเบิกความของพยานผู้ร้องทั้งสามปาก ประกอบงบแสดงฐานะทางการเงินของบริษัท สยามอินดิก้า ในปี 2553 ถึงปี 2556 เอกสารหมาย ค.71 ถึง ค.74 ซึ่งระบุว่า ในปี 2553 มีรายได้ทั้งสิ้น 4,820,577,125.30 บาท ขาดทุนสุทธิ 184,373,195.73 บาท ในปี 2554 มีรายได้ทั้งสิ้น 4,444,010,170.38 บาท ขาดทุนสุทธิ 150,347,471.90 บาท ในปี 2555 มีรายได้ทั้งสิ้น 10,534,940,779.35 บาท กําไรสุทธิ 76,607,716.43 บาท และในปี 2556 มีรายได้ทั้งสิ้น 14,189,916,894.51 บาท กําไรสุทธิ 103,926,885.08 บาท และเหตุผลที่ปรากฏในคําพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ที่ว่าบริษัทห่ายหนานฯ ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แจ้งความประสงค์ขอซื้อปลายข้าวเหนียว โดยมอบหมายให้ นางสาวกรรณิกา เพชรสุวรรณ์ หรือพัฒน์สุวรรณ เป็นผู้ประสานงาน แต่นางสาวกรรณิกากลับมอบอํานาจช่วงให้ผู้อื่นไปรับข้าวจากคลังของรัฐบาลหลายแห่งโดยไม่ปรากฏว่าบริษัทห่ายหนานฯ ได้มอบอํานาจให้นางสาวกรรณิกาเป็นผู้รับมอบข้าวทั้งยังได้ความจากนายสุพจน์ ศรีงามเมือง ว่า นางสาวกรรณิกาให้ถ้อยคําระหว่างไต่สวนว่าตนเป็นพนักงานของนางอรวรรณ ศรัทธาสกุล
นอกจากนี้ ยังได้ความจาก นายนิคม สินเทาว์ ผู้จัดการฝ่ายต้อนรับของโรงแรมเจ้าพระยาปาร์คว่า นางอรวรรณเป็นผู้จองและชําระค่าห้องพักรวมอาหารเช้าที่ผู้แทนของบริษัทห่ายหนานๆ เข้าพักในช่วงที่มาเจรจาทําสัญญาซื้อขายปลายข้าวเหนียวตามสัญญาฉบับที่ 4 และได้ความจากการไต่สวนอีกว่า นางอรวรรณเปิดบัญชีออมทรัพย์ธนาคารกรุงไทยฯ เลขที่ 0910244367 ระบุในคําขอเปิดบัญชีว่าทํางานที่ บริษัท สยามอินดิก้า
ทั้งยังปรากฏว่า เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2555 นายลิตร พอใจ พนักงานบริษัท สยามอินดิก้า ได้โอนเงินเข้าบัญชีของนางอรวรรณ จํานวน 50,000,000 บาท ได้ความจาก นายวรพงศ์ พิชญ์พงศา และ นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ผู้ประกอบธุรกิจค้าข้าว ซึ่งให้ถ้อยคําต่ออนุคณะกรรมการไต่สวนว่าโครงการรับจํานําข้าวในราคาสูงกว่าตลาดทําให้ชาวนานําข้าวไปเข้าโครงการรับจํานําเกือบทั้งหมด ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจส่งออกไม่สามารถหาซื้อข้าวจากตลาดได้ ต้องประสบปัญหาในการส่งออก แต่บริษัท สยามอินดิก้า กลับสามารถส่งข้าวไปขายต่างประเทศในราคาต่ำกว่าตลาดจํานวนมากถึง 100,000 ตันต่อเดือน มีการนําแคชเชียร์เช็คที่ซื้อโดยเงินของบริษัท สยามอินดิก้า ไปชําระค่าข้าวจํานวน 186 ฉบับ เป็นเงิน 10,566,997,750.43 บาท และ ยังมีการนําแคชเชียร์เช็คที่ซื้อโดยเงินที่ถูกถอนจากบัญชีของกรรมการและในนามพนักงานของบริษัท สยามอินดิก้า อีกจํานวนมากคิดเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาทไปชําระค่าข้าวตามสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ
เมื่อพิเคราะห์ถึงตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทําสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐล้วนแต่มีความใกล้ชิดและเกี่ยวข้องกับบริษัท สยามอินดิก้า พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนําสืบจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อว่า บริษัท สยามอินดิก้า ได้ร่วมกับกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวกับการทุจริต โครงการรับจํานําข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ กระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายอื่น อันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 (5) เกี่ยวกับทรัพย์สินตามบัญชีรายการทรัพย์สิน ที่เป็นทรัพย์สินที่บริษัท สยามอินดิก้า ได้มาระหว่างปี 2557 ถึง 2558 อันเป็นช่วงระยะเวลาภายหลังการกระทําความผิดมูลฐานดังกล่าวนั้น เมื่อเปรียบเทียบงบแสดงฐานะทางการเงินของบริษัท สยามอินดิก้า ในช่วงก่อนและหลังปี 2555 มีการเพิ่มขึ้นของรายได้อย่างสูงมากจนผิดปกติ และจากที่ในปี 2554 บริษัท สยามอินดิก้า ขาดทุนสุทธิจํานวน 150,347,471.90 บาท แต่ในปี 2555 กลับมีกําไรสุทธิสูงถึง 76,670,716.43 บาท และในปี 2556 มีกําไรสุทธิสูงถึง 103,926,885.08 บาทได้
ซึ่งงบการเงินที่แสดงออกมาในลักษณะดังกล่าวไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการรับจํานําข้าว นอกจากนี้พยานผู้ร้องปากผู้สอบบัญชีทั้งสองปากข้างต้นยังเบิกความสอดคล้องกันว่า ไม่สามารถตรวจสอบที่มาของจํานวนเงินในบางรายการของบริษัท สยามอินดิก้า อันเป็นเหตุให้ควรเชื่อได้ว่า บริษัท สยามอินดิก้า ได้รับประโยชน์ในทางทรัพย์สินจากการกระทําความผิดมูลฐานข้างต้น บริษัท สยามอินดิก้า จึงมีภาระการพิสูจน์ที่จะต้องแสดงให้ศาลเห็นว่า บริษัท สยามอินดิก้า เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด หรือตนเป็นผู้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือได้มาโดยสุจริต และตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี หรือในทางกุศลสาธารณะ ตามพระราชบัญญัติป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 50 (1) หรือ (2) บริษัท สยามอินดิก้า นําสืบว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตโครงการรับจํานําข้าว และการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ และบริษัท สยามอินดิก้า ประกอบธุรกิจมีกําไรสะสมเรื่อยมาเป็นจํานวนปีละไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาทนั้น ล้วนเป็นข้อกล่าวอ้างลอย ๆ และขัดต่อพยานเอกสารที่ปรากฏ จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟัง
ดังนั้น ที่ดินตามบัญชีรายการทรัพย์สินเอกสารหมาย ร.23/1 รายการที่ 321 ถึง 331 จึงต้องตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงินพ.ศ. 2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง
อ่านประกอบ :
ตามรอยปปง.ล่าเงินทุจริตจำนำข้าว (1) : ชำแหละเครือข่ายสยามอินดิก้า-บัญชีหมื่นล. 'สุธี'
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/