"...หัวหน้าหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ท้ายเหมือง ชี้แจงว่า เมื่อดำเนินการโค่นตัดปรากฏว่า เป็นไม้ยาง ไม่ใช่ไม้แซะ ปัญหาน่าจะเกิดจากความไม่ชำนาญของเจ้าหน้าที่ผู้ลงพื้นที่สำรวจ อาจดูชนิดของต้นไม้ผิด แต่ทั้งนี้ ได้มีการแก้ไขให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงแล้ว พร้อมยืนยันว่าไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ใคร..."
ทำไมในรายงานขอโค่นต้นไม้ ที่ทำเรื่องเสนอขออนุญาตกรมป่าไม้ ระบุชนิดไม้ เป็นไม้แซะ แต่หน้างานกลับไปตัดไม้ยางนาแดงแทน แถมไม้ยางนาเหล่านี้ ยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ด้วย?
คือ คำถามที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อกรณีปรากฎข่าวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสภานีตำรวจภูธรโคกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา พร้อมเจ้าหน้าที่หมวดการทางฉัตรไชย แขวงการทางภูเก็ต และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้สุราษฎร์ธานี สั่งปิดถนนโคกลอย-ท่านุ่น เมื่อเวลา 12:10 น. ของวันที่ 17 พ.ย. 2562 เพื่อโค่นล้มไม้ยางนาต้นใหญ่ ทั้งที่ ในรายงานขอโค่นต้นไม้ ที่ทำแจ้งเสนอกรมป่าไม้ก่อนหน้านี้ ระบุประเภทไม้ที่จะทำการขอโค่นเป็น ไม้แซะ ไม่ใช่ ไม้ยางนาขนาดใหญ่ ที่อยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามคำสั่งนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ ที่ส่งเจ้าหน้าที่ส่วนกลางลงไปทำงาน กำหนดระยะเวลาในการสอบสวนหาข้อเท็จจริงไว้ 15 วัน ตามที่นำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้ (อ่านประกอบ : เพจต้านทุจริตใต้โชว์คลิปมัด โค่นยางยักษ์สภาพดีเพียบ! ไฉนรายงานอธิบดีป่าไม้ สมบูรณ์ต้นเดียว)
ทั้งนี้ ในข้อเท็จจริงเรื่องการขออนุญาตโค่นต้นไม้ ริมถนนสายโคกกลอย –ท่านุน ช่วงบ้านต้นแซ๊ะ ดังกล่าว
สำนักข่าวอิศรา รายงานข้อมูลไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 26 ต.ค.2561 เจ้าหน้าที่หน่วยงานร่วม 4 ฝ่าย ประกอบไปด้วย หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ท้ายเหมือง สำนักงานธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพังงา แขวงการทางภูเก็ต และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ได้ลงนามรวมกันในบันทึกสรุปผลการสำรวจไม้
ระบุว่า คณะทำงานหน่วยงาน 4 ฝ่าย ได้ร่วมกันจัดทำบัญชีสรุปผลการสำรวจไม้ ที่ได้สำรวจตีตราต้นไม้กระยาเลยที่ยืนต้น หรือล้มขอนนอนไพร ยืนต้นตายตามธรรมชาติป่าที่เปิดใช้ประโยชน์ เพื่อทำประโยชน์ในบริเวณพื้นที่ทางหลวงหมายเลข 402 ตอนโคกลอย - หมากปรก อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา เนื่องจากไม้ยืนต้นตาย เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้สัญจร
สำรวจพบไม้แซะ จำนวน 11 ต้น
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากกรมป่าไม้ว่า ตัวแทนคณะทำงานหน่วยงาน 4 ฝ่าย ที่ทำบัญชีสรุปผลการสำรวจไม้ดังกล่าว ล้วนแล้วแต่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูง ประกอบไปด้วย
1. นายกฤษฎา สุตนพัฒน์ หัวหน้าหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ท้ายเหมือง
2. นายสมศักดิ์ สุมานิตย์ เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพังงา
3. นายษณกร ทับทิมทองสุข นายช่างโยธาชำนาญงาน เจ้าหน้าที่แขวงการทางภูเก็ต
และ 4. นายชินาธิป เมืองแก้ว เจ้าหน้าที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) เขตสุราษฎร์ธานี
ขณะที่ นายกฤษฎา สุตนพัฒน์ หัวหน้าหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ท้ายเหมือง หนึ่งในตัวแทนคณะทำงาน 4 ฝ่าย ให้สัมภาษณ์ชี้แจงสำนักข่าวอิศรา ว่า "กรณีการโค่นไม้ 11 ต้นนั้น เริ่มมาจากกรมทางหลวงเห็นว่า ต้นไม้บริเวณดังกล่าวนั้น ยืนต้นตายและเป็นอันตรายต่อการสัญจร จึงทำเรื่องขออนุญาตตัดต้นไม้จุดดังกล่าวไปที่สำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้เขต 12 จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่สำรวจต้นไม้และส่งเรื่องต่อไปยังกรมป่าไม้
ส่วนเหตุผลที่ในรายงานขออนุญาตระบุประเภทไม้แซะ แต่ไม้ที่โค่นกลับเป็นไม้ยางนา นั้น หัวหน้าหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ท้ายเหมือง ชี้แจงว่า "เมื่อดำเนินการโค่นตัดปรากฏว่า เป็นไม้ยาง ไม่ใช่ไม้แซะ ปัญหาน่าจะเกิดจากความไม่ชำนาญของเจ้าหน้าที่ผู้ลงพื้นที่สำรวจ อาจดูชนิดของต้นไม้ผิด แต่ทั้งนี้ ได้มีการแก้ไขให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงแล้ว พร้อมยืนยันว่าไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ใคร"
เมื่อถามว่า มีเจ้าหน้าที่ส่วนกลางจากกรมป่าไม้ลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นทางการหรือยัง หัวหน้าหน่วยป้องกันฯ ตอบว่า "ยังไม่ได้พบกับเจ้าหน้าที่ส่วนกลางแต่อย่างใด"
ส่วน นายสุชาติ ทับเคลียว ผู้อำนวยการ ออป.ใต้ ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า ในวันที่ 19 พ.ย.นี้ จะเรียกนายชินาธิป เมืองแก้ว เจ้าหน้าที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) เขตสุราษฎร์ธานี เข้ามาสอบถามข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นทางการอีกครั้ง หลังจากได้รับคำชี้แจงข้อมูลเบื้องต้นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น มาจากการระบุชื่อต้นไม้ที่จะตัดโค่นผิดพลาด ปัญหาน่าจะมาจากความไม่ชำนาญของเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ และแขวงการทาง ที่เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการสำรวจข้อมูลไม้โดยตรง
เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้จริงหรือที่จนท.จะระบุชนิดไม้ผิด เพราะไม้ทั้งสองชนิดมีความแตกต่างกัน นายสุชาติ กล่าวว่า "เรื่องนี้ผมก็ยังสงสัยอยู่เหมือนกันว่า ทำไมถึงมีการระบุประเภทไม้ผิดแบบนี้"
"แต่ในส่วนของออป.เมื่อเรื่องขออนุญาตผ่านขั้นตอนมาแล้ว เราก็เข้าไปตัดต้นไม้ ตามหมายเลขที่มีการตีตราไว้ และนำไม้ออกมาจากจุดนั้น ตามขั้นตอน"
เมื่อถามว่า ไม้แซะ กับ ไม้ยางนา มีความแตกต่างกันตรงไหน ผู้อำนวยการ ออป.ใต้ ยืนยันว่า "ต้นไม้ยางนา สามารถใช้ประโยชน์และมีราคาสูงกว่าไม้แซะอยู่แล้ว"
"ส่วนการดำเนินงานเกี่ยวกับต้นไม้ที่ตัดมาแล้ว ออป.ก็คงจะมีการเปิดประมูลขายตามขั้นตอนต่อไป ส่วนผลการตรวจสอบเป็นอย่างไรนั้น ก็คงว่ากันไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น" ผู้อำนวยการ ออป.ใต้ ระบุ
อ่านประกอบ :
แฉรายงานไม่ตรงข้อเท็จจริง! อธิบดีกรมป่าไม้ สั่งสอบด่วน จนท.ปิดถนนโค่นไม้ยางพังงา
โชว์หลักฐานขอโค่นไม้แซะ11ต้น ก่อนลักไก่ตัดไม้ยางยักษ์-อธิบดีกรมป่าไม้ ยันสั่งสอบแล้ว
อธิบดีป่าไม้ ขีดเส้น15วัน สางปมลักไก่โค่นไม้ยางยักษ์พังงา- จี้ ออป.แจงจ้างลูกช่วงตัดแทน
เพจต้านทุจริตใต้โชว์คลิปมัด โค่นยางยักษ์สภาพดีเพียบ! ไฉนรายงานอธิบดีป่าไม้ สมบูรณ์ต้นเดียว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/