เผยมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เสียงเอกฉันท์ตีตกคดี 'ชัยอนันท์ สุทธิกุล' อดีตนายกเทศมนตรีเมืองกะทู้ ภูเก็ต- พวก บังคับจนท.ยอมยุติเรื่องกล่าวหาสำนักงาน ป.ป.ช. กรณีถูกกลั่นแกล้งไม่ให้ขึ้นเงินเดือนประจำปีงบประมาณ 2562 หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้นไม่ปรากฏว่าได้กระทำความผิด ไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เสียงเอกฉันท์ตีตกคดี นายชัยอนันท์ สุทธิกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองกะทู้ ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต และพวก คือ นางทัศนี แช่ทอง เมื่อครั้งดำรง ตำแหน่งปลัดเทศบาลเมืองกะทู้ บังคับให้นางสาวดวงเดือน ประทุมทอง ยอมยุติเรื่องที่เคยกล่าวหาต่อสำนักงาน ป.ป.ช. กรณีถูกกลั่นแกล้งไม่ให้ขึ้นเงินเดือนประจำปีงบประมาณ 2562 (ครั้งที่ 2) และละเว้นไม่ดำเนินการทางวินัยไปตามหน้าที่และอำนาจตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้นไม่ปรากฏว่าได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำนักงาน ป.ป.ช. ระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุป ว่า นางสาวดวงเดือน ประทุมทอง ได้เคยร้องเรียนนางทัศนี แช่ทอง ปลัดเทศบาลเมืองกะทู้ ต่อสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดภูเก็ต กรณีถูกกลั่นแกล้งไม่ให้ขึ้นเงินเดือนประจำปีงบประมาณ 2562 (ครั้งที่ 2) โดยมิชอบ ตามหนังสือร้องเรียน/ขอความเป็นธรรม ฉบับลงวันที่ 10 เมษายน 2563 ต่อมาสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดภูเก็ต ได้ส่งเรื่องกล่าวหาดังกล่าวไปให้นายกเทศมนตรีเมืองกะทู้ดำเนินการ ทางวินัย จากนั้นเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 นางทัศนี แช่ทอง ปลัดเทศบาลเมืองกะทู้ ได้เรียกให้นางสาวดวงเดือน ประทุมทอง เข้าประชุมพร้อมกับนางจันทิมา พรหมบุตร, นายสมชาย ผลกล่ำ และนางสาวสกุลรัตน์ พัฒน์ชู โดยได้พูดคุยกับนางสาวดวงเดือน ประทุมทอง และบีบบังคับให้ยอมรับว่า นางสาวดวงเดือน ประทุมทอง ทำงานบกพร่องไม่ผ่านการประเมินและให้ยุติเรื่องและแจ้งให้นางสาวดวงเดือน ประทุมทอง ไปหาสถานที่โอนย้ายไปที่อื่น จากนั้นนางสาวสกุลรัตน์ พัฒน์ชู ได้นำบันทึกรายงานการประชุมบันทึก ข้อตกลงและรายชื่อผู้เข้าร่วมการประชุมมาให้นางสาวดวงเดือน ประทุมทอง ลงนามยินยอมในบันทึกข้อตกลงนั้น
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มี 2 ประเด็น ดังนี้
1) ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้บีบบังคับให้นางสาวดวงเดือน ประทุมทอง (ผู้กล่าวหา) ยอมยุติเรื่องที่เคยกล่าวหาต่อสำนักงาน ป.ป.ช. ว่าถูกกลั่นแกล้งไม่ให้ขึ้นเงินเดือนประจำปีงบประมาณ 2562 (ครั้งที่ 2) หรือไม่
พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เรียกประชุมเมื่อวันพุธที่ 23 กันยายน 2563 นั้น เนื่องจากนางสาวดวงเดือน ปทุมทอง ต้องการจะขอลาออกจากราชการ จากนั้นผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 จึงได้เชิญนายสมชาย ผลกล่ำ นิติกรชำนาญการ, นางสาวสกุลรัตน์ พัฒน์ชู นิติกรปฏิบัติการ และนางจันทิมา พรหมบุตร นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ เข้ามาร่วมรับฟังเพื่อเป็นสักขีพยาน ทั้งนี้ นางสาวดวงเดือน ประทุมทอง ได้แจ้งเหตุผลและความจำเป็นที่จะลาออกจากราชการ ว่า เนื่องจากมีปัญหาเรื่องสุขภาพ รุมเร้า และอยากย้ายกลับไปอยู่บ้านที่จังหวัดสงขลาเพื่อดูแลลูก และไปช่วยสามีทำงานรับเหมาก่อสร้าง โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้ให้นางจันทิมา พรหมบุตร อธิบายว่าภายหลังจากการลาออกจากราชการแล้วจะได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการอะไรบ้าง และผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้แจ้งให้นางสาวดวงเดือน ประทุมทอง ทราบว่า เหตุที่ไม่ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนปีงบประมาณ 2562 (ครั้งที่ 2) นั้น เนื่องจากนางสาวดวงเดือน ประทุมทอง ไม่ส่งหลักฐานการปฏิบัติงานหรือผลงานให้คณะกรรมการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานเทศบาลและเพิ่มค่าจ้างลูกจ้างประจำ ประจำปีงบประมาณ 2562 พิจารณา ทั้งที่พนักงานเทศบาลอีก 2 ราย คือ นางสาวภคมณพรรณ ทวีโชคหิรัญ และนางสาวอัจจิมา หนูคง ซึ่งคณะกรรมการฯ พิจารณาว่า ไม่ควรได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนเหมือนกันกับนางดวงเดือน ประทุมทอง แต่คณะกรรมการฯ ยังให้โอกาสยื่นหลักฐานการปฏิบัติงานหรือผลงานให้คณะกรรมการฯ พิจารณา ซึ่งพนักงานทั้ง 2 ราย ได้ส่งหลักฐานการปฏิบัติงานหรือผลงานให้คณะกรรมการฯ พิจารณาและได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนทั้ง 2 ราย ซึ่งกรณีนี้นางสาวดวงเดือน ประทุมทอง ยอมรับและยอมที่จะยุติเรื่องที่ได้ร้องเรียนโดยไม่ได้มีการโต้แย้งใดๆ ทั้งนี้ นายสมชาย ผลกล่ำ, นางสาวสกุลรัตน์ พัฒน์ชู, นางจันทิมา พรหมบุตร และนางสาวดวงเดือน ประทุมทอง (ผู้กล่าวหา) ได้ให้ถ้อยคำสอดคล้องต้องกันว่า เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 ขณะที่มีการพูดคุยกันนั้น ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้พูดคุยด้วยน้ำเสียงปกติ ไม่ได้พูดจาหยาบคาย และไม่ได้มีการใช้กำลังบังคับ ขู่เข็ญ หรือข่มขืนจิตใจนางสาวดวงเดือน ประทุมทอง ให้ยินยอมยุติเรื่องร้องเรียนแต่อย่างใด
ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ก็ได้ให้นางสาวสกุลรัตน์ พัฒน์ชู ไปจัดทำร่างรายงานการประชุมในวันดังกล่าว ซึ่งเป็นรายการประชุมซักซ้อมการปฏิบัติงานเมื่อวันพุธที่ 23 กันยายน 2563 (เอกสาร อ.25) และให้นายสมชาย ผลกล่ำ เป็นผู้จัดทำบันทึกข้อตกลงยุติเรื่องร้องเรียนและยอมรับผลการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนและไม่ติดใจผลการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว พิจารณาแล้วเห็นว่า ในการประชุมพูดคุยกันเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 ซึ่งประกอบด้วยผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และนางสาวดวงเดือน ประทุมทอง โดยมีนายสมชาย ผลกล่ำ, นางสาวสกุลรัตน์ พัฒน์ชู, นางจันทิมา พรหมบุตร ร่วมเป็นสักขีพยาน นั้น ได้มีการพูดคุยเรื่องนางสาวดวงเดือน ประทุมทอง จะขอลาออกจากราชการ และยอมยุติเรื่องร้องเรียนและยอมรับผลการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนและไม่ติดใจผลการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว
โดยนายสมชาย ผลกล่ำ นางสาวสกุลรัตน์ พัฒน์ชู, นางจันทิมา พรหมบุตร และนางสาวดวงเดือน ประทุมทอง เอง ได้ให้ถ้อยคำสอดคล้องต้องกันว่า ขณะที่มีการพูดคุยกันนั้น ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้พูดคุยด้วยน้ำเสียงปกติ ไม่ได้พูดจาหยาบคายและไม่ได้มีการใช้กำลังบังคับ ขู่เข็ญ หรือข่มขืนจิตใจนางสาว ดวงเดือน ประทุมทอง ให้ยินยอมยุติเรื่องร้องเรียนแต่อย่างใด ซึ่งขณะนั้นนางสาวดวงเดือน ประทุมทอง ก็ยอมรับและยอมที่จะยุติเรื่องที่ได้ร้องเรียนโดยไม่ได้มีการโต้แย้งใดๆ สำหรับการจัดทำรายงานการประชุมและบันทึกข้อตกลงยุติเรื่องร้องเรียนและยอมรับผลการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนก็เป็นการทำรายงานและข้อตกลงตามที่ได้มีการพูดคุยกันจริง และเมื่อนางสาวดวงเดือน ประทุมพร ไม่ได้ลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ก็มิได้ดำเนินการใดๆ กับนางสาวดวงเดือน ประทุมทอง ดังนั้นจึงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ไม่ได้มีการบีบบังคับหรือใช้กำลังขู่เข็ญให้นางสาวดวงเดือน ประทุมทอง ยุติเรื่องที่เคยกล่าวหาต่อสำนักงาน ป.ป.ช. กรณีถูกกลั่นแกล้งไม่ให้ขึ้นเงินเดือนแต่อย่างใด ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นั้น ไม่มีส่วนรับรู้และรู้เห็นในกรณีการพูดคุยเรื่องดังกล่าวตามรายงานการประชุมซักซ้อมการปฏิบัติงานเมื่อวันพุธที่ 23 กันยายน 2563 แต่อย่างใด
2) ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ละเว้นไม่ดำเนินการทางวินัยไปตามหน้าที่และอำนาจตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในการประชุม ครั้งที่ 55/2563 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 จริงหรือไม่
พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้รับหนังสือสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดภูเก็ต ลับ ที่ ปช 0040(ภก)/0443 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2563 ซึ่งส่งมาตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ดำเนินการทางวินัยตามหน้าที่และอำนาจ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 กรณีกล่าวหาร้องเรียนนางทัศนี แช่ทอง ตำแหน่งปลัดเทศบาลเมืองกะทู้ (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2) ว่ากลั่นแกล้งนางสาวดวงเดือน ประทุมทอง ไม่ให้ได้รับการขึ้นเงินเดือน ไว้แล้ว จากนั้นผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ก็ได้มอบหมายเรื่องดังกล่าวให้กองวิชาการและแผนงาน โดยนายสมชาย ผลกล่ำ นิติกรชำนาญการ เป็นผู้ดำเนินการ เมื่อนายสมชาย ผลกล่ำ ได้รับเอกสารและพิจารณาเรื่องแล้ว จึงได้ทำความเห็นเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ว่า "เห็นควรแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เพื่อพิจารณาว่าได้มีการกระทำผิดจริงตามที่กล่าวหาหรือไม่ และควรตั้งคณะกรรมการสอบวินัยหรือไม่ ระดับใด แล้วรายงานให้สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดภูเก็ต ทราบ/พิจารณาต่อไป"
โดยได้เสนอเรื่องต่อผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น และผ่าน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 แต่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้พิจารณาแล้วเกษียนหนังสือลงในบันทึกว่า"เห็นควรให้นิติกรดำเนินการส่งหลักฐานและข้อมูลเพื่อแก้ข้อกล่าวหา" ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2563 จากนั้นได้เสนอเรื่องไปยังผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้พิจารณาแล้วเกษียนหนังสือลงในบันทึกว่า "มอบ กว. (กองวิชาการและแผนงาน) แต่งตั้ง คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง" ต่อไป
พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ในฐานะนายกเทศมนตรีเมืองกะทู้ ได้สั่งการไปตามระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารราชการของเทศบาลเมืองกะทู้ ตามมาตรา 48 เตรส (1)(2) มาตรา 48 สัตตรส แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้ดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ซึ่งเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาตามที่นายสมชาย ผลกล่ำ เสนอเรื่องขึ้นมาซึ่งเป็นกรณีอาจมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหา ที่ 1 ได้ปฏิบัติตามข้อ 26 ของประกาศคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดภูเก็ต เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวนการลงโทษทางวินัย พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แล้ว ถือว่าไม่ได้มีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด
ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ซึ่งได้เกษียนหนังสือลงในบันทึก เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ว่า "เห็นควรให้นิติกรดำเนินการส่งหลักฐานและข้อมูลเพื่อแก้ข้อกล่าวหา" จากนั้นเมื่อนายสมชาย ผลกล่ำ ได้เสนอรายชื่อคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงผ่านผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ไปยัง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 การที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้สั่งการด้วยวาจาให้นายสมชาย ผลกล่ำ นิติกรชำนาญการ จัดทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดภูเก็ต ก่อน เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เข้าใจว่า ยังไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือไต่สวนในเบื้องต้น และเข้าใจว่าสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดภูเก็ตก็ยังไม่ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวมาก่อน การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหรือการดำเนินการทางวินัยผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่เห็นด้วยกับคำชี้แจงข้อเท็จจริง แล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. คงจะมีหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยและแจ้งยืนยันมายังผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 หรือเทศบาลเมืองกะทู้ให้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าวข้างต้นอีกครั้ง พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ไม่ได้ให้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ตามที่นายสมชาย ผลกล่ำ นิติกรชำนาญการ เสนอมา แต่กลับให้ทำคำชี้แจงข้อเท็จจริงส่งไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดภูเก็ต แทน นั้น เห็นว่าเป็นการลัดขั้นตอนการดำเนินการทางวินัย เนื่องจากยังไม่มีการสอบข้อเท็จจริง ดังกล่าวว่า มีมูลความผิดทางวินัยหรือไม่ อย่างไร และยังไม่ถึงขั้นตอนที่จะต้องทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อการดำเนินการทางวินัยแต่ประการใด เนื่องจากเรื่องกล่าวหาที่ส่งมาให้เทศบาลเมืองกะทู้ดำเนินการทางวินัย นั้น คณะอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องกล่าวหาประจำภาค 8 ในการประชุมครั้งที่ 6/2565 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 ได้พิจารณาแล้วมีมติว่า เป็นเรื่องกล่าวหาที่ไม่มีมูลความผิดทางอาญาและมูลความผิดทางวินัย และสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ออกเลขเรื่องกล่าวหาจากเลขดำที่ 6440651710 เป็นเลขแดงที่ 1869400165 แล้ว และสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดภูเก็ต ได้มีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่รับเรื่องกล่าวหาไว้พิจารณาให้นางสาวดวงเดือน ประทุมทอง (ผู้กล่าวหา) ทราบแล้ว โดยนางสาวดวงเดือน ประทุมทอง ก็มิได้ขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาทบทวนคำสั่งดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งกรณีนี้หากเทศบาลเมืองกะทู้ได้ดำเนินการทางวินัยไปตามหน้าที่และอำนาจ ตามมติของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว ผลการพิจารณาเรื่องกล่าวหาดังกล่าวก็สามารถคาดหมายได้ว่าไม่มีมูลเฉกเช่นเดียวกัน พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 มิได้มีเจตนาที่จะละเว้นไม่ดำเนินการทางวินัยไปตามหน้าที่และอำนาจตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่เป็นกรณีการเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินการทางวินัยกับเรื่องกล่าวหาดังกล่าว ซึ่งก็มิได้มีผลกระทบทำให้ผลการเลื่อนขั้น เงินเดือนของนางสาวดวงเดือน ประทุมทอง เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแต่อย่างใด
การประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งที่ 49/2567 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 6 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้น ว่า จากการไต่สวนเบื้องต้นไม่ปรากฏว่า นายชัยอนันท์ สุทธิกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และนางท้ศนี แช่ทอง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป