"...เมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้รับเงินจากผู้รับแล้ว กลับไม่ดำเนินการจัดส่งเงินเข้าระบบเพื่อส่งให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ภายในวันที่นำจ่ายได้หรือย่างช้าภายในเวลา 09.00 น. ของวันทำการถัดไปตามระเบียบดังกล่าว และนำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง จำนวน 117 ครั้ง..."
สะเทือน! จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นอย่างมาก
กรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เผยแพร่ข่าวมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และเจ้าหน้าที่รัฐ จำนวน 5 เรื่อง คือ
1. คดีกล่าวหานายธงชัย เพชรสกุลทอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลบ้านกรูด กับนายธนศักดิ์ ธรรมวิจิตร รองนายกเทศมนตรีตำบลบ้านกรูด อำเภอ บางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ละเว้นไม่แจ้งความดำเนินคดีกับบริษัท ลิฟวิ่งเฮ้าส์ จำกัด กรณีเททางลาด พื้นคอนกรีตรุกล้ำทางสาธารณประโยชน์
2. คดีกล่าวหานายจำลอง แก้วไทรนันท์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทองมงคล อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เรียกรับเงินจากโครงการปรับปรุงถนนลาดยางแคปซีลเป็นถนนแอสฟัลท์ติกคอนกรีต และออกหนังสือรับรองผลงานโดยมิชอบ
3. คดีกล่าวหา นางสาววนิดา การุญ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานจัดเก็บรายได้ชำนาญงาน เทศบาลตำบล หนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เบียดบังเงินค่าน้ำประปาที่จัดเก็บได้นำไปใช้ส่วนตัวและปลอมใบเสร็จค่าน้ำประปา ของเทศบาลตำบลหนองพลับ
4. คดีกล่าวหา นายสรวุฒิ นาวาทอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานสาธารณสุขปฏิบัติงาน องค์การบริหาร ส่วนตำบลห้วยทราย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ยักยอกเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยทราย ไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตน
5. คดีกล่าวหานายศักดิ์ชาย เอี่ยมชัยปราณี ตำแหน่งพนักงานไปรษณีย์ 7 สังกัดที่ทำการไปรษณีย์ธนะรัชต์ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทุจริตไม่ดำเนินการส่งเงินเข้าระบบให้กับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
เบื้องต้น คดีกล่าวหาผู้บริหาร อปท.และเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้ง 5 เรื่องนี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำรายละเอียดผลการชี้มูลมานำเสนอไปแล้ว
คราวนี้ มาดูรายละเอียดพฤติการณ์การกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหา และผลการชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ฉบับเต็ม แต่ละคดีกันบ้าง?
คดีแรก : กรณีกล่าวหานายธงชัย เพชรสกุลทอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลบ้านกรูด กับนายธนศักดิ์ ธรรมวิจิตร รองนายกเทศมนตรีตำบลบ้านกรูด อำเภอ บางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ละเว้นไม่แจ้งความดำเนินคดีกับบริษัท ลิฟวิ่งเฮ้าส์ จำกัด กรณีเททางลาด พื้นคอนกรีตรุกล้ำทางสาธารณประโยชน์
สำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระบุว่า ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนสรุปได้ว่า ระหว่างปี 2557 ถึงปี 2560 นายธนศักดิ์ ธรรมวิจิตร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายธงชัย เพชรสกุลทอง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้ออกคำสั่งให้นาง ป ผู้ครอบครองอาคารคอนโดมิเนียมของบริษัท ลิฟวิ่งเฮ้าส์ จำกัด รื้อถอนทางลาดพื้นคอนกรีตในส่วนที่รุกล้ำถนนสาธารณประโยชน์ให้แล้วเสร็จภายในกำหนด แต่เมื่อนาง ป เพิกเฉยไม่ดำเนินการรื้อถอนทางลาดพื้นคอนกรีตที่รุกล้ำถนนสาธารณประโยชน์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 กลับไม่ดำเนินการให้นาง ป รื้อถอนทางลาดพื้นคอนกรีตที่รุกล้ำถนนสาธารณประโยชน์ ทั้งที่ทราบมา โดยตลอดว่าประชาชนที่พักอาศัยและต้องใช้ถนนสายดังกล่าวได้รับความเดือดร้อน และทำให้โครงการก่อสร้างถนนของเทศบาลตำบลบ้านกรูดที่ต้องดำเนินการในบริเวณดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากเนื้องานไม่ครบตามสัญญาเป็นเหตุให้ต้องยกเลิกสัญญา อีกทั้ง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้มอบอำนาจให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจในการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนกรณีที่นาง ป ไม่รื้อถอนทางลาดพื้นคอนกรีตในส่วนที่รุกล้ำถนนสาธารณประโยชน์ แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 กลับลงบันทึกประจำวันรับไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น โดยทำข้อตกลงให้นาง ป ซี่งเป็นผู้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานทำการเช่าหรือใช้ประโยชน์ในทางสาธารณะ ทั้งที่ทราบดีอยู่แล้วว่าไม่มีอำนาจกระทำได้
อีกทั้ง ไม่ติดตาม ผลการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และรักษาผลประโยชน์ของเทศบาล จนกระทั่ง มีการร้องเรียนกรณีดังกล่าวมายังสำนักงาน ป.ป.ช. จึงได้เร่งรัดให้ดำเนินการ และปรากฏว่าได้ดำเนินการรื้อถอนทางลาด พื้นคอนกรีตในส่วนที่รุกล้ำถนนสาธารณประโยชน์ เมื่อช่วงปี 2563 โดยใช้ระยะเวลาถึง 6 ปี และจึงดำเนินการก่อสร้างถนนสายดังกล่าวจนแล้วเสร็จ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติ ดังนี้
นายธงชัย เพชรสกุลทอง ผู้ถูกล่าวหาที่ 1 และนายธนศักดิ์ ธรรมวิจิตร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ มีมูลความผิดฐานปฏิบัติการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือ .ปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือ มีความประพฤติในทางนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตำแหน่ง หรือ แก่เทศบาล หรือแก่ราชการ ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 73 ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และให้ส่งสำนวนการไต่สวนและเอกสารหลักฐานพร้อมความเห็นไปยัง ผู้มีอำนาจแต่งตั้ง ถอดถอน เพื่อดำเนินการหน้าที่และอำนาจกับนายธงชัย เพชรสกุลทอง และนายธนศักดิ์ ธรรมวิจิตร ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป และให้แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบด้วย
ทั้งนี้ ให้แจ้งผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนของผู้ถูกกล่าวหา เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ เพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
คดีสอง : กรณีกล่าวหานายจำลอง แก้วไทรนันท์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทองมงคล อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เรียกรับเงินจากโครงการปรับปรุงถนนลาดยางแคปซีลเป็นถนนแอสฟัลท์ติกคอนกรีต และออกหนังสือรับรองผลงานโดยมิชอบ
สำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระบุว่า จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2561 องค์การบริหารส่วนตำบลทองมงคล ได้ทำสัญญาจ้างบริษัท ชินาภัค คอนกรีต จำกัด ดำเนินโครงการปรับปรุงถนนลาดยางแคปซีลเป็นถนนแอสฟัลท์ติกคอนกรีต เป็นเงิน 7,555,555.55 บาท หลังจากบริษัท ชินาภัค คอนกรีต จำกัด ส่งมอบงานแล้วผู้ถูกกล่าวหาได้อนุมัติให้เบิกจ่ายเงินค่าจ้างให้กับบริษัท ชินาภัค คอนกรีต จำกัด ทั้งที่งานยังไม่เสร็จเรียบร้อยเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับจ้าง
แต่เมื่อบริษัทฯ ได้รับเงินค่าจ้างแล้วไม่ยอมจ่ายเงินจำนวน 10% ของมูลค่าสัญญา ตามที่ได้ตกลงไว้ให้กับผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาได้ติดตามทวงถาม แต่เมื่อไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวผู้ถูกกล่าวหาในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลได้ออกหนังสือรับรองผลงานตามที่บริษัทฯ ขอ โดยมีข้อความว่า “ผู้รับจ้างทำงานแล้วเสร็จแต่ไม่เป็นไปตามรูปแบบรายการก่อสร้างในสัญญา” อันเป็นการขัดแย้งกับการที่ผู้ถูกกล่าวหาได้อนุมัติให้จ่ายเงินค่าจ้างกับบริษัท โดยระบุว่า “เห็นว่างานแล้วเสร็จ ปริมาณงานครบถ้วน ไม่เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ”
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติดังนี้
เห็นว่าการกระทำของนายจำลอง แก้วไทรนันท์ ผู้ถูกกล่าวหา มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 มาตรา 151 และมาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) และมีมูลเป็นการกระทำฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 92
ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัยกับนายจำลอง แก้วไทรนันท์ ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) และ (2) และมาตรา 98 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 98 วรรคสี่ แล้วแต่กรณีต่อไป และให้แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทราบด้วย
คดีสาม : กรณีกล่าวหา นางสาววนิดา การุญ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานจัดเก็บรายได้ชำนาญงาน เทศบาลตำบล หนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เบียดบังเงินค่าน้ำประปาที่จัดเก็บได้นำไปใช้ส่วนตัวและปลอมใบเสร็จค่าน้ำประปา ของเทศบาลตำบลหนองพลับ
สำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระบุว่า จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า นางสาววนิดา การุญ ซึ่งมีหน้าที่ในการออกใบเสร็จรับเงิน รับเงิน จัดเก็บเงิน นำส่งเงิน และรายงานการจัดเก็บเงินค่าน้ำประปาพร้อมส่งมอบเงินค่าน้ำประปาให้เจ้าหน้าที่การเงินกองประปาในแต่ละวัน รวมทั้งรายงานยอดหนี้ค้างชำระรายเดือนให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ปรากฏว่าในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม 2559 ถึงเดือนกรกฎาคม 2562 นางสาววนิดา การุญ เมื่อได้รับเงินค่าน้ำประปาแล้ว มิได้นำส่งเงินค่าน้ำประปาให้เจ้าหน้าที่การเงินทั้งหมด แต่ได้เก็บไว้เองส่วนหนึ่งนำไปใช้ส่วนตัว และลงรายการรับชำระเงินค่าน้ำประปาเพียงบางส่วน รวมทั้งรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชาว่าไม่สามารถจัดเก็บค่าน้ำประปาจากผู้ใช้น้ำได้ ทำให้มีจำนวนลูกหนี้ค้างชำระค่าน้ำประปาในระบบเป็นจำนวนมาก และยังอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่ในการพิมพ์ใบเสร็จรับเงินค่าน้ำประปา จัดทำทะเบียนคุมการรับจ่ายใบเสร็จรับเงินกระทำการปลอมใบเสร็จรับเงินหลายฉบับ รวมค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 1,472,905 บาท
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติดังนี้
เห็นว่าการกระทำของนางสาววนิดา การุญ ผู้ถูกกล่าวหา มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์หรือเอกสารใดอันเป็นหน้าที่ของตนที่จะปกครองหรือรักษาไว้ หรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำเช่นนั้น และฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสารหรือดูแลรักษาเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสารหรือดูแลรักษาเอกสาร กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และมาตรา 157 มาตรา 158 และมาตรา 161 ประกอบมาตรา 91 และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และมีมูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรีหรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และฐานรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชาอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามประกาศคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน และการลงโทษทางวินัย พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 7 ข้อ 10 และข้อ 15
สำหรับการดำเนินการทางวินัยกับนางสาววนิดา การุญ ผู้ถูกกล่าวหา นั้น เนื่องจากเทศบาลตำบลหนองพลับ ได้มีคำสั่งที่ 558/2563 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ลงโทษไล่นางสาววนิดา การุญ ออกจากราชการในการกระทำผิดนี้ เหมาะสมแก่การกระทำความผิดแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาเพื่อดำเนินการทางวินัยอีกให้แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิพากษาคดีกับ นางสาววนิดา การุญ ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1)
ทั้งนี้ ให้แจ้งเทศบาลตำบลหนองพลับ ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายต่อไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 82 วรรคสอง
ทั้งนี้ ให้แจ้งผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนของผู้ถูกกล่าวหา เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ เพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
คดีสี่ : กรณีกล่าวหา นายสรวุฒิ นาวาทอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานสาธารณสุขปฏิบัติงาน องค์การบริหาร ส่วนตำบลห้วยทราย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ยักยอกเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยทราย ไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตน
สำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระบุว่า จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 นายสรวุฒิ นาวาทอง เจ้าพนักงานสาธารณสุขปฏิบัติงาน ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการและเลขานุการของกองทุนหลักประกันสุขภาพองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยทราย มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดทำข้อมูลและแผนดำเนินงานเกี่ยวกับปัญหาสาธารณสุขของกลุ่มเป้าหมาย รายงานการรับการจ่าย และเงินคงเหลือของระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อเสนอสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และองค์การบริหารส่วนตำบลเมื่อสิ้นปีงบประมาณ รวมทั้งมีหน้าที่ในการรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการจัดทำบัญชีเงินหรือทรัพย์สิน ได้อาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่อำนาจดังกล่าวเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคารชื่อบัญชี “ระบบหลักประกันสุขภาพองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยทราย ผ่านการสั่งจ่ายเช็คเข้าบัญชีเงินฝากของตนเอง โดยทำฎีกาเบิกเงินและเอกสารหลักฐานประกอบฎีกาเบิกเงินเป็นเท็จ เพื่อหลอกให้ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อถอนเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวตามเช็คที่มีการสั่งจ่าย จำนวน 156 ฉบับ เป็นเงินทั้งสิ้น 2,174,634.40 บาท
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติดังนี้
เห็นว่าการกระทำของนายสรวุฒิ นาวาทอง ผู้ถูกกล่าวหา มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย และฐานเป็น เจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 91 และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และมีมูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดย จงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรีหรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย การให้ออกจากราชการ การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ ฉบับลงวันที่ 3 มกราคม 2545 ข้อ 3 วรรคสอง และข้อ 6 วรรคสอง และประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน และการลงโทษทางวินัย พ.ศ. 2559 ข้อ 7 วรรคสาม และข้อ 10 วรรคสอง
สำหรับมูลความผิดทางวินัยของนายสรวุฒิ นาวาทอง นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่าองค์การบริหาร ส่วนตำบลห้วยทราย ได้มีคำสั่งที่ 233/2562 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2562 ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาโดยไล่ออกจากราชการ ในการกระทำความผิดตามมูลคดีเดียวกันกับเรื่องนี้ เหมาะสมตามควรแก่กรณีแล้วจึงไม่มีเหตุให้ต้องส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยกับผู้ถูกกล่าวหา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (2) และมาตรา 98 อีก ทั้งนี้ ให้แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ผู้บังคับบัญชาทราบให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับนายสรวุฒิ นาวาทอง ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) ต่อไป
ให้แจ้งองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยทราย ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายต่อไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 82 วรรคสอง
คดีห้า : กรณีกล่าวหานายศักดิ์ชาย เอี่ยมชัยปราณี ตำแหน่งพนักงานไปรษณีย์ 7 สังกัดที่ทำการไปรษณีย์ธนะรัชต์ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทุจริตไม่ดำเนินการส่งเงินเข้าระบบให้กับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
สำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระบุว่า จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า ระหว่างเดือนมกราคม 2563 ถึงเดือนเมษายน 2563 ผู้ถูกกล่าวหาได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่งานจ่าย ณ ที่ทำการ มีหน้าที่จ่ายและรับเงินค่าพัสดุด่วนพิเศษเพื่อธุรกิจ e – Commerce (e – Parcel) และไปรษณีย์ด่วนพิเศษในประเทศที่ใช้ร่วมกับบริการฝากส่งสิ่งของด้วยระบบเก็บเงินปลายทาง (EMS – COD) ณ ที่ทำการ และนำเงินส่งเข้าระบบตามระเบียบบันทึกสั่งการของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ด่วนที่สุด ที่ ปณท. จร.(ปด.1)/719 ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561 แต่เมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้รับเงินจากผู้รับแล้ว กลับไม่ดำเนินการจัดส่งเงินเข้าระบบเพื่อส่งให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ภายในวันที่นำจ่ายได้หรือย่างช้าภายในเวลา 09.00 น. ของวันทำการถัดไปตามระเบียบดังกล่าว และนำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง จำนวน 117 ครั้ง
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติดังนี้
เห็นว่าการกระทำของนายศักดิ์ชาย เอี่ยมชัยปราณี ผู้ถูกล่าวหา มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย และฐานเป็นพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 และมาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่การงานโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจรติต่อหน้าที่ และฐานเป็นพนักงานกระทำการ หรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการอื่นใด อันได้ชื่อว่าประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามข้อบังคับคณะกรรมการบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ฉบับที่ 8 ว่าด้วยข้องบังคับเกี่ยวกับการทำงาน พ.ศ. 2549 ข้อ 35 และ ข้อ 43 แต่เนื่องจากบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด มีคำสั่ง ที่ 5110/2564 สั่ง ณ วันที่ 26 มกราคม 25 ไล่นายศักดิ์ชาย เอี่ยมชัยปราณี ออกจากงานในการกระทำความผิดในเรื่องนี้แล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐานและคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อให้ดำเนินการทางวินัย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91(2) อีก
ให้แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ผู้บังคับบัญชาทราบ และให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับ นายศักดิ์ชาย เอี่ยมชัยปราณี ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูฐว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91(1) ทั้งนี้ ให้แจ้งผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ต่อไปด้วย
ทั้งหมดนี้ คือ รายละเอียดพฤติการณ์การกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหา และผลการชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช.แต่ละคดี
อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุดผู้ถูกกล่าวหาทุกรายยังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด
บทสรุปการต่อสู้ในชั้นศาล แต่ละคดี จะออกมาเป็นอย่าง คอยติดตามดูกันต่อไป