"...หลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ผมก็ตัดสินใจลาออกมา เพราะขัดกับอุดมการณ์ของตัวเอง มองว่าอุดมการณ์ของตัวเองกับพรรคนั้นแตกต่างกัน พอออกมาแล้ว เราก็ไม่ใช่นักการเมืองแล้ว ก็เลยเริ่มตั้งโจทย์กับตัวเองว่าเราจะทำอะไรกับภาคเอกชนได้บ้าง เรามาตกผลึกว่าอยากจะแก้ไขปัญหาในเรื่องการศึกษา เพราะว่าทุกปัญหาในประเทศเรานั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการศึกษา ถ้าเราอยากจะให้เศรษฐกิจเติบโต เราก็ต้องมีประชากรที่มีทักษะตอบโจทย์โลกอนาคต..."
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม ตัวแสดงทางการเมือง ผู้กล่าวนำเสนอหลักการและเหตุในการเสนอแก้รัฐธรรมนูญต่อที่ประชุมรัฐสภาไปเมื่อเร็ว ๆ นี้
ปรากฏชื่อเป็น กรรมการบริษัทเอกชน 2 แห่ง คือ บริษัท เอ็ดดูเคชั่น เทคโนโลยี โฮลดิ้ง จำกัด และ บริษัท เอ็ดดูเคชั่น เทคโนโลยี จำกัด
โดยทั้ง 2 บริษัท มีบริษัท รวงกูรู พีทีอี จำกัด สัญชาติสิงคโปร์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และมีผู้ถือหุ้นอีก 2 รายเป็นชาวอินโดนีเซียชื่อนาย นาย Adamas Belva Syah Devara และนาย Muhammad Iman Usman
ฐานข้อมูลในต่างประเทศ ระบุว่า ที่ประเทศอินโดนีเซีย มีบริษัทสตาร์ทอัพแห่งหนึ่งชื่อว่า PT Ruang Raya Indonesia หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า RUANGGURU ก่อตั้งเมื่อเดือน เม.ย. 2557 โดยนาย Adamas Belva Syah Devara และนาย Muhammad Iman Usman มีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือนักเรียนผ่านการติวเตอร์ออนไลน์
ต่อมาหลังจากตั้งบริษัท ในเดือน ส.ค.2557 มีครูจำนวนนับพันรายมาลงทะเบียนกับบริษัทนี้ ส่วนแหล่งเงินทุนที่สำคัญก็คือบริษัท East Ventures ซึ่งเป็นบริษัทนักลงทุนของประเทศอินโดนีเซีย
ขณะที่ในช่วงเดือน ธ.ค. 2567 บริษัท รวงกูรู พีทีอี แห่งนี้ นี้ได้รับการลงทุนในระดับที่เข้มข้นหรือที่เรียกว่าระดับซีรีส์ซีจากบริษัทเจเนอรัล แอตแลนติก คิดเป็นมูลค่ากว่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 4,902,525,000 บาท และในช่วงเดือน เม.ย. 2564 บริษัท Tiger Global Management, LLC ที่เป็นบริษัทด้านการลงทุนของอเมริกาก็ได้มีการลงทุนกับบริษัทนี้ไปอีก 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,796,850,000 บาท
ส่วนความเคลื่อนไหวทางการเงิน จากการตรวจสอบพบว่า ในช่วงเดือน ธ.ค. 2567 บริษัท รวงกูรู พีทีอี แห่งนี้ ได้รับการลงทุนในระดับที่เข้มข้นหรือที่เรียกว่าระดับซีรีส์ซีจากบริษัทเจเนอรัล แอตแลนติก คิดเป็นมูลค่ากว่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 4,902,525,000 บาท และในช่วงเดือน เม.ย. 2564 บริษัท Tiger Global Management, LLC ที่เป็นบริษัทด้านการลงทุนของอเมริกาก็ได้มีการลงทุนกับบริษัทนี้ไปอีก 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,796,850,000 บาท
‘ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ’
- เปิดธุรกิจ ‘ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ’ กก. 2 บริษัท ทุนสิงคโปร์ถือหุ้นใหญ่
- เจาะลึกทุนสิงคโปร์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 บ. 'ไอติม-พริษฐ์' โยงกลุ่มสตาร์ทอัพพันล. อินโดฯ
คำถามที่ยังไม่มีคำตอบต่อสาธารณชน คือ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม เข้าไปร่วมทำธุรกิจกับบริษัทสตาร์ทอัพที่มีเงินลงทุนระดับพันล้านบาทกลุ่มนี้ได้อย่างไร?
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือว่าไอติม ถึงรายละเอียดความเป็นมาในการทำธุรกิจบริษัททั้ง 2 แห่ง ดังกล่าว
มีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
สำนักข่าวอิศรา: ที่มาที่ไปเกี่ยวกับการลงทุนทำธุรกิจของบริษัททั้ง 2 แห่งเป็นอย่างไร?
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ : "หลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ผมก็ตัดสินใจลาออกมา เพราะขัดกับอุดมการณ์ของตัวเอง มองว่าอุดมการณ์ของตัวเองกับพรรคนั้นแตกต่างกัน พอออกมาแล้ว เราก็ไม่ใช่นักการเมืองแล้ว ก็เลยเริ่มตั้งโจทย์กับตัวเองว่าเราจะทำอะไรกับภาคเอกชนได้บ้าง เรามาตกผลึกว่าอยากจะแก้ไขปัญหาในเรื่องการศึกษา เพราะว่าทุกปัญหาในประเทศเรานั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการศึกษา ถ้าเราอยากจะให้เศรษฐกิจเติบโต เราก็ต้องมีประชากรที่มีทักษะตอบโจทย์โลกอนาคต เราก็ต้องมาแก้ที่การศึกษาเพื่อเอื้อต่อการคิดวิเคราะห์ ลดความเหลื่อมล้ำจากรุ่นสู่รุ่น ทำอย่างไรให้เด็กเกิดมาในพื้นที่ไหน สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้"
"ในฐานะภาคเอกชน ผมมองว่าถ้าเราไม่มีกฎหมายหรือว่าไปแก้ไขกฎหมายหรือนโยบายได้ เราก็ต้องพยายามตั้งโจทย์ว่าจะแก้เรื่องการศึกษานี้อย่างไร ดังนั้นในช่วงปลายปี 2562 ผมก็ได้มีการไปพูดคุยกับบุคคลในแวดวงการศึกษาหลายคนว่ามันจะมีทางออกอย่างไร ที่สามารถเอาเทคโนโลยีมาแก้ไขการศึกษาได้ ก็เลยเริ่มตั้งโจทย์กับตัวเองว่าการศึกษาที่ดีนั้นเป็นสิ่งที่เข้าถึงยากมาก"
"คุณภาพการศึกษาในแต่ละโรงเรียนก็ค่อนข้างที่จะแตกต่างกันออกไป หรือว่าบางคนนั้นไม่เข้าใจเนื้อหาของโรงเรียนนั้น พอจะมาหาความรู้นอกห้องเรียนได้อย่างไร ก็ไปเจอกับปัญหาเรื่องราคาของสถาบันกวดวิชาซึ่งพบว่าเด็กหลายคนนั้นจ่ายเงินต่อปีเป็นหลักหมื่น หรือว่าหลักแสนด้วยซ้ำ"
"ตรงนี้เราถือว่าเป็นราคาที่สูงเกินไป มีคนที่จ่ายไม่ไหว คนที่จ่ายไหวนั้นก็ไม่ควรจะต้องจ่าย"
"ผมก็เลยมองว่าจะใช้เทคโนโลยีนั้นทำให้การศึกษาเข้าถึงได้ง่ายขึ้นอย่างไร ผมก็ศึกษาโมเดลการศึกษาต่าง ๆ จนไปพบว่ามีโครงการที่ประเทศอินโดนีเซีย ดำเนินการโดยบริษัทที่ชื่อว่ารวงกูรู (RUANGGURU) ซึ่งจากการไปศึกษาดูงานก็พบว่าอินโดนีเซียกับประเทศไทยนั้นเจอปัญหาที่คล้าย ๆ กัน ก็คือว่าได้คะแนนประเมินที่ค่อนข้างน้อย และมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเราก็เห็นความสำเร็จของบริษัทรวงกูรูในการเข้ามาช่วยกระจายการเรียนการศึกษา แนวทางการสร้างแอปพลิเคชันขึ้นมา"
"จึงนำไปสู่การพูดคุยกันและนำไปสู่การสร้างสตาร์ตอัพนี้ขึ้นมา โดยจัดตั้งและเปิดตัวเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา"
ที่ตั้งบริษัท เอ็ดดูเคชั่น เทคโนโลยี จำกัด ระบุที่ตั้ง ณ 926 อาคารซี ชั้น 3 ซอยจุฬาลงกรณ์ 7 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
สำนักข่าวอิศรา: นายดีวาร่า (Adamas Belva Syah Devara) และนายอุสมาน (Muhammad Iman Usman) เข้ามามีส่วนตรงนี้ได้อย่างไร?
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ : "ทั้งสองคนนี้ถือว่าเป็นผู้ร่วมก่อตั้งร่วมกันของบริษัทรวงกูรู ซึ่งรวงกูรูเป็นสตาร์ตอัพที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2557 และเติบโตขึ้นมาภายใน 2562"
"ที่ผมได้มีโอกาสไปพูดคุยกับเขา รวงกูรูก็เติบโตขึ้นมาเป็นแพลตฟอร์มเทคโนโลยีการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีนักเรียนที่เข้ามาใช้บริการแอปพลิเคชันรวงกูรูถึง 18 ล้านคน"
"เพราะฉะนั้นในมุมของเรา เราก็รู้สึกว่าเขาเป็นองค์กรที่มีองค์ความรู้ มีเทคโนโลยีที่เคยถูกพิสูจน์แล้วในระดับสากล ว่าสามารถกระจายโอกาสในการศึกษาได้ และในมุมของเขาก็มองว่าเทคโนโลยีของเขานั้นไม่น่าจะแก้ปัญหาในอินโดนีเซียได้อย่างเดียว แต่ว่าถ้ามีประเทศอื่นๆที่ประสบปัญหาคล้าย ๆ กัน เทคโนโลยีของเขาก็น่าจะสามารถแก้ไขปัญหาให้กับประเทศเหล่านั้นได้"
"ถ้าหากไปดูสัมภาษณ์ของทั้งสองคนแล้วจะพบว่าชีวิตเขาเปลี่ยนไปเหมือนกันเมื่อได้รับการศึกษาที่ดี อีกทั้งสองคนนี้ก็เป็นนักเรียนทุนที่มองว่าเมื่อการศึกษาเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงอนาคต มันก็ควรจะเป็นสิ่งที่คนสามารถเข้าถึงได้ ก็เลยเป็นที่มาของรวงกูรู"
สองผู้ก่อตั้งบริษัท RUANGGURU
"หลังจากที่เราบินไปพบเขาประมาณสองรอบที่ประเทศอินโดนีเซีย ก็พบว่าเรามีเป้าหมายที่คล้ายกันเรื่องการศึกษาแต่ว่าอยู่กันคนละประเทศ และเนื่องจากว่ามีทั้งความสอดคล้องกันในแนวคิด อีกทั้งนายดีวาร่าก็เคยทำงานในบริษัทเดียวกับผมด้วยเช่นกัน เพียงแต่ว่าเป็นคนละเวลาก็เลยไม่ค่อยได้เจอกันเท่าไรนัก"
สำนักข่าวอิศรา : แสดงว่าการศึกษานั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ไร้พรมแดน การทำบริษัทนี้ส่วนหนึ่งก็หมายความว่าการศึกษาของไทยนั้นควรจะต้องมีความสอดคล้องและไปด้วยกันกับประเทศอื่น ๆ ด้วยกันใช่หรือไม่ ถึงจะสามารถเดินต่อไปได้
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ : ทั้งใช่ และไม่
"คือผมมองว่ามุมเทคโนโลยีนั้นแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ใช้ในหลายประเทศได้ แต่ว่าเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเฉพาะประเทศพอสมควร โดยเฉพาะการศึกษาในระดับพื้นฐานในระดับประถมและมัธยม โดยเด็กแต่ละคนก็จะเรียนหลักสูตรในแต่ละประเทศที่มันแตกต่างกันออกไป เพราะฉะนั้นการทำงานร่วมกับรวงกูรูนั้นจึงไม่ใช่ว่าเป็นการเอาเทคโนโลยีที่มันใช้ได้แล้ว เอามาแปะเลย แต่มันต้องมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างพอสมควรเพื่อจะให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของประเทศไทย"
"ซึ่งการจะนำมาใช้กับของประเทศไทยนั้นเราก็ต้องสร้างระบบกันใหม่หมด เพียงแต่ว่าเราสามารถนำแนวทางเคล็ดลับของเขามาใช้ได้ในเรื่องของการจัดทำสื่อการเรียนการสอน อาทิ การเรียนการสอนนั้นมีการจัดแบ่งครูกันอย่างไร เอากราฟฟิกมาใช้อย่างไรเพื่อให้การเรียนการสอนมันน่าสนใจขึ้น รวมถึงเทคโนโลยีเรื่องการใช้วิดีโอว่าจะทำอย่างไรถึงจะเรียกความสนใจของนักเรียนได้"
"เพราะฉะนั้นจะบอกว่าไร้พรมแดนมันก็ไม่ผิด เพราะว่าเทคโนโลยีนั้นสามารถสร้างระบบเรียนที่จะมาประยุกต์ใช้กับของไทยได้ แต่ว่าก็มีหลายส่วนที่สร้างขึ้นมาเองทั้งหมด เพราะว่าการศึกษานั้นค่อนข้างจะอิงกับหลักสูตรเฉพาะประเทศพอสมควร
สำนักข่าวอิศรา: หมายความว่าดูว่าเขาทำอะไร แล้วจะประยุกต์ให้มันมีความเป็นเรามากแค่ไหน?
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ : "ใช่ครับ"
"พูดง่าย ๆ ก็เป็นความร่วมมือกัน เพราะทางฝั่งเราถ้าให้เริ่มจากศูนย์เลยมันก็ต้องใช้เวลา แต่ถ้าหากว่ามันมีเทคโนโลยีที่ถูกพิสูจน์มาแล้ว ในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น ที่บริษัทรวงกูรูเขาก็มีการจัดโครงการหนึ่งที่จัดการเรียนการสอนในช่วงที่โรงเรียนปิด ก็มีเด็กนักเรียนเข้ามาวันละประมาณสองแสนคน ก็ได้รับรางในเรื่องสื่อการเรียนการสอนทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาคเยอะพอสมควร"
"ซึ่งเราเห็นแบบนี้เราก็อุ่นใจว่าโครงข่าย เทคโนโลยีแบบนี้มั้นมีความเสถียร เราสามารถนำมาใช้ได้ แทนที่จะเริ่มต้นจากศูนย์ แต่ว่าส่วนที่เป็นเนื้อหานั้นเป็นสิ่งที่ทีมไทยควรจะทำร้อยเปอร์เซ็นต์เลยเพื่อให้ตรงกับหลักสูตร มันก็เลยกลายเป็นความร่วมมือกันที่เราสามารถทำได้โดยไม่ต้องโดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ และของเขาก็เช่นกันว่าต้องมีทีมจากไทยที่เข้าไปร่วมบริหารจัดการตรงนี้ด้วย"
สำนักข่าวอิศรา: รวงกูรูก่อตั้งในปี 2557 ตอนนี้ปี 2564 แล้ว รวงกูรูสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากขนาดนั้นเลยหรือ?
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ : "ผมไม่ได้ประเมินละเอียดถึงผลกระทบต่อระบบการศึกษาอินโดนีเซีย แต่ว่าในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมา เขาก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการไปเรื่อย ๆ แต่ว่าเมื่อพอเจอสิ่งที่ใช่แล้ว เขาก็สามารถทำให้มียอดผู้ใช้งานซึ่งเป็นเด็กนักเรียนทั้งหมด 98 ล้านคนเข้ามาใช้งานตรงนี้ได้ และก็มีการปรับรูปแบบแอปพลิเคชันไปทำอย่างอื่นด้วย ไม่ใช่แค่กับนักเรียนเพียงอย่างเดียว"
สำนักข่าวอิศรา: ที่ผ่านมานั้นมีคนพูดว่าการปฏิรูปการศึกษานั้นเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลานาน ต้องไปรื้อทั้งระบบ แต่ดูเหมือนว่าที่อินโดนีเซียนั้นดูเหมือนว่าแค่ 7 ปีเท่านั้นเอง?
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ : "ความจริงต้องบอกว่าการจะเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา แล้วเห็นผลลัพธ์นั้นอันนี้เห็นด้วยว่าต้องใช้เวลา"
"ทำวันนี้อาจจะไม่ได้เห็นผลทันที แก้ไขวันนี้อาจจะต้องใช้เวลากว่าจะเห็นว่าเด็กคนนั้นได้อะไร"
"ผมคิดว่า 7 ปีที่บริษัทรวงกูรูทำนั้นก็คงต้องบอกว่านักเรียนที่มาเรียนกับเขามีการยกระดับทักษะ สมรรถนะได้มากน้อยแค่ไหน ก็เป็นเป็นโจทย์ที่ท้าทายอยู่แล้วสำหรับบริษัทที่ทำในเรื่องของการศึกษา โดยเฉพาะในมุมขององค์กร เขาสามารถผลิตเทคโนโลยีที่เข้าถึงและเด็กจำนวนมากสามารถใช้งานได้ นี่ก็เป็นความสำเร็จในรูปแบบหนึ่ง และทำให้เขาสามารถดำเนินกิจการได้อย่างมั่นคง"
สำนักข่าวอิศรา: ฟังดูเหมือนว่ารวงกูรูนั้นไม่ได้ทำงานคนเดียว แต่ต้องทำกับรัฐบาลด้วย?
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ : "เขาน่าจะมีทั้งสิ่งที่ทำโดยตรงกับนักเรียนและมีบางโครงการที่ทำกับรัฐบาล แต่ว่าเงินระดมทุนก็น่าจะมาจากแหล่งที่หลากหลาย ทั้งจากสิงคโปร์เอง จากสหรัฐอเมริกาเอง ก็เหมือนกับสไตล์การระดมทุนสตาร์ตอัพทั่วไป"
สำนักข่าวอิศรา: ประเด็นสำคัญคือว่าการพัฒนาการศึกษานั้นหมายความว่าต้องระดมสมองด้วย ไม่ใช่ทำคนเดียว?
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ : "อันนี้เห็นด้วย"
"คือการพัฒนาการศึกษานั้นมาจากเอกชนอย่างเดียวไม่ได้แน่นอน หลายอย่างนั้นต้องมาจากภาครัฐไปด้วย เช่นการปรับให้การท่องจำน้อยลง การคิดวิเคราะห์ที่มากขึ้น อันนี้ก็ต้องขึ้นกับภาครัฐ หรือแม้การที่ภาคเอกชนสามารถทำได้ อาทิ เช่นการนำเอาเทคโนโลยีไปใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งตรงนี้ก็หมายความว่าการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยนั้นคือสิ่งที่ทั้งภาครัฐและเอกชนควรจะเข้ามามีบทบาทร่วมกัน ภาครัฐก็ควรจะให้เอกชนเข้ามามีการแข่งขันและมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบได้อย่างเป็นธรรม ซึ่งภาคเอกชน บริษัทใดที่มีศักยภาพสามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาได้จริง บริษัทที่ว่านั้นก็ควรจะได้รับโอกาสให้เข้าไปทำตรงนี้ ซึ่งทางเรานั้นก็มีการทำงานกับโรงเรียนอยู่เช่นกัน"
"ล่าสุดในวันที่ 27 พ.ย.นี้เราจะมีการประกาศการทำโครงการร่วมกับกับพื้นที่การศึกษาและนวัตกรรมจังหวัดระยอง ก็จะเป็นการนำร่องนำเอาเทคโนโลยี Startdee (เทคโนโลยีของบริษัทเอ็ดดูเคชั่น เทคโนโลยี จำกัด )เข้าไปประกอบการเรียนการสอนโรงเรียนจำนวนกว่า 60 แห่งที่จังหวัดระยอง เพื่อดูว่าเราจะสามารถฟื้นฟูการเรียนการสอนที่ถดถอยไปในระหว่างช่วงการเรียนออนไลน์ในช่วงโควิด-19 ได้มากน้อยแค่ไหน จะสามารถทำให้ทำให้ดีขึ้นได้หรือไม่ "
สำนักข่าวอิศรา: หลังจากโควิดระบาด แสดงว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีนวัตกรรมขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการเรียนการศึกษา?
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ : "โควิด-19 ที่เกิดขึ้นที่ผ่านมานั้นต้องยอมรับว่าส่งผลทำให้ทั้งนักเรียน นักลงทุนอาจจะมีความคุ้นชินกับเทคโนโลยีมากขึ้นกว่าเดิม จากสมัยก่อนที่ครูอาจจะไม่คุ้นกับระบบออนไลน์ พอมีโควิดเข้ามาก็ทำให้ครูหลายคนต้องปรับตัว"
"โจทย์สำคัญก็คือว่าเมื่อโควิดผ่านพ้นไปแล้ว และไม่รู้ว่าจะเมื่อไหร่ เทคโนโลยีจะมีบทบาทในการศึกษาหรือไม่ ส่วนตัวผมคิดว่าจำเป็นต้องมีบทบาทในการศึกษาอยู่ อาจจะไม่ใช่ในบทบาทของการเรียนออนไลน์ในร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่เราก็เห็นแล้วว่าไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เท่าที่ผ่านมา"
"แต่ว่าบทบาทในอนาคตนั้นก็คือว่าเราจะใช้เทคโนโลยีอย่างไรเพื่อลดภาระงานหลายอย่างของครู สมมติเรามองว่าครูกับเทคโนโลยีนั้นไม่ได้ทดแทนกัน แต่ว่าเคียงข้างกันเหมือนกับกองหน้ากองหลังของทีมฟุตบอล จะทำอย่างไรให้อะไรก็ตามที่ครูเคยทำและเทคโนโลยีมาทำแทนได้ ก็ให้เทคโนโลยีมาแบกภาระนั้นแทน เช่น งานเอกสาร การสร้างห้องเรียน การวิเคราะห์ผลคะแนนเป็นต้น"
"หรือว่าอย่างการสอนแทนที่ครูจะต้องลุกขึ้นมาอธิบายหน้าห้องซ้ำ ๆ หลายครั้ง ก็อาจจะมีการอัดสื่อการเรียนการสอนให้เด็กดูเป็นการบ้านก่อนเข้ามาในห้องก็เป็นได้"
"ดังนั้นโจทย์ก็คือว่าทำอย่างไรก็ได้ให้เทคโนโลยีนั้นมาแบกภาระให้กับครูให้ได้มากที่สุด ซึ่งความมุ่งหมายก็ไม่ได้จะให้ครูหายไป แต่เพื่อจะให้ครูมีเวลาเยอะขึ้นในการทำกิจกรรมที่เทคโนโลยีทำแทนไม่ได้อย่างเช่นการจัดกระบวนการเรียนรู่ในห้องเรียนซึ่งจะนำไปสู่การทำงานเป็นกลุ่ม การเป็นที่ปรึกษาในการใช้ชีวิตเป็นต้น"
"ตรงนี่น่าจะเป็นโจทย์สำคัญอีกประการในกลุ่มที่เข้ามาทำหน้าที่ในกระทรวงศึกษาธิการว่าจะแบ่งหน้าที่ระหว่างครูกับเทคโนโลยีกันอย่างไรให้เกิดสมดุลและมีประสิทธิภาพสูงสุด"
*******************
ทั้งหมดนี่ เป็นคำให้สัมภาษณ์ของนายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม ถึงที่มาที่ไปในการเข้าไปร่วมทำธุรกิจกับบริษัทสตาร์ทอัพที่มีเงินลงทุนระดับพันล้านบาท และแง่มุมทางความคิดเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูประบบการศึกษาของไทย
ซึ่งข้อมูลหลายส่วนมีความสำคัญ ...น่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage