เปิดนโยบายหาเสียงชาวนา 9 พรรค 7พรรคชู‘แจกเงิน-ยกราคา-ประกันรายได้’-ย้อนดู7ปีอุดหนุน1.27ล้านล. อิศรารวบรวมไว้แล้วที่นี่
นโยบาย ‘แจกเงินชาวนา’ ในลักษณะการช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิต ค่าเก็บเกี่ยว และค่าเพาะปลูกข้าวนั้น เป็นหนึ่งในนโยบายที่พรรคการเมืองต่างๆ ใช้เป็นแคมเปญเรียกคะแนนเสียงจาก ‘ชาวนา’ กว่า 4.5 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ควบคู่กับนโยบายหลักอื่นๆ เช่น โครงการประกันรายได้ และพักหนี้เกษตรกร
แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการจำนวนหนึ่งว่า นโยบายแจกเงินชาวนานั้น ไม่ได้ทำให้ ‘ชาวนาไทย’ มีความเข้มแข็งในระยะยาว และซ้ำร้ายกลับทำให้ชาวนาอ่อนแอลงในระยะยาว แต่ทว่านโยบายดังกล่าวกลับเป็นนโยบายที่ ‘ได้รับความนิยม’ ในหมู่ชาวนาไม่น้อยเลยทีเดียว
‘พปชร.-รทสช.-ปชป.-ชาติไทยพัฒนา’ชูนโยบายแจกเงินชาวนา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สำรวจนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดใหญ่ พบว่า มีพรรคการเมือง 4 พรรค จากทั้งหมด 9 พรรค มี 'นโยบายแจกเงินชาวนา' ควบคู่กับนโยบายหลักอื่นๆ ได้แก่
พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มีนโยบาย ‘ลดต้นทุนค่าเก็บเกี่ยวข้าวให้ชาวนา’ ไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ หรือไม่เกิน 30,000 บาท/ครัวเรือน และมีนโยบาย ‘ปุ๋ยคนละครึ่ง รัฐช่วย 50%’ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกร ครอบคลุม 8 ล้านครัวเรือน เป็นต้น
พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) มีนโยบาย ‘ลดต้นทุนเกษตรกร ช่วยค่าเก็บเกี่ยว’ ไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 5 ไร่ หรือไม่เกิน 10,000 บาท/ครัวเรือน และมีนโยบาย ‘ปุ๋ย ไฟฟ้า น้ำมัน ราคาถูกสำหรับเกษตรกร’ รวมทั้งมีนโยบายตั้ง ‘กองทุนพยุงราคาสินค้าเกษตร’ เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ เป็นต้น
พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มีนโยบาย ‘ชาวนารับ 30,000 บาทต่อครัวเรือน’ โดยให้ความช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวข้าวไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ หรือไม่เกิน 30,000 บาท/ครัวเรือน ควบคู่กับนโยบายหลัก คือ ‘การประกันรายได้ จ่ายเงินส่วนต่าง’ พืช 5 ชนิด ซึ่งรวมถึงสินค้าข้าว และมีนโยบาย ‘3 ล้านบาท ต่อยอดเกษตรแปลงใหญ่’ เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน รวมทั้งให้กรรมสิทธิ์ทำกินกับผู้ทำกินในที่ดินของรัฐ เป็นต้น
พรรคชาติไทยพัฒนา มีนโยบาย 'สนับสนุนเงินไร่ละ 1,000 บาท สำหรับข้าวและพืชเศรษฐกิจ' ควบคู่กับการแจกพันธุ์ข้าวฟรีทั่วประเทศ 60 ล้านไร่ และขยายเขตไฟฟ้าการเกษตรทั่วประเทศ หน่วยละ 2 บาท ลดต้นทุนการใช้น้ำมันสูบน้ำเข้านา โดยส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานธรรมชาติ เป็นต้น
‘เพื่อไทย-ภูมิใจไทย-ไทยสร้างไทย’ประกาศดันราคาข้าวให้สูงขึ้น
ขณะเดียวกัน มีพรรคการเมือง 3 พรรค ที่ไม่มีนโยบายแจกเงินให้ชาวนา แต่เน้นไปที่นโยบายผลักดัน ‘ราคาข้าว’ ให้มีราคาสูงขึ้น หรือการสร้างหลักประกันด้านราคาข้าว เพื่อทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มมากขึ้น ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายอื่นๆ เช่น พักหนี้เกษตรกร 3 ปี และจัดสรรที่ดินทำกินให้เกษตรกร เป็นต้น ซึ่งได้แก่
พรรคเพื่อไทย (พท.) มีนโยบาย ‘เกษตรกรมีรายได้ 30,000 บาทต่อไร่ต่อปี’ และมีนโยบาย ‘3 ดี’ ได้แก่ ‘ดินดี น้ำดี’ นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำการเกษตร ‘เมล็ดพันธุ์ดี’ ช่วยทุ่นแรงในการหาเมล็ดพันธุ์ดีมาเพาะปลูก ‘ขายได้ราคาดี’ ราคาสินค้าเกษตรต้องขึ้นยกแพงภายใน 4 ปี พี่น้องเกษตรกรรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า พร้อมทั้งมีนโยบาย ‘3 ปี พักหนี้เกษตร’ โดยการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้พี่น้องเกษตรกรเป็นเวลา 3 ปี และมีนโยบาย ‘50 ล้านไร่ ที่ดินทำกิน’ โดยการแก้ไขกฎหมายเพื่อจัดสรรที่ดินทำกินให้พี่น้องประชาชน เป็นต้น
พรรคภูมิใจไทย (ภท.) มีนโยบาย ‘เกษตรร่ำรวย’ Contract Farming รู้ราคาก่อนปลูก รับเงินก่อนขาย เสียหายมีประกัน พร้อมทั้งระบุข้อความว่า “ข้าวขาว 12,000 บาท/ตัน ข้าวหอมมะลิ 18,000/ตัน มันสำปะหลัง 4 บาท/กก. ปาล์มทลาย 5 บาท/กก. น้ำยางสด 62 บาท/กก. ยางแผ่น 65 บาท/กก.”
พรรคไทยสร้างไทย มีนโยบาย ‘สินค้าเกษตรราคาดี’ โดยรับซื้อและประกันราคาพืชเศรษกิจหลัก โดยเฉพาะข้าว มีการกำหนดราคาข้าว ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ 20,000 บาท/ตัน ,ข้าวหอมจังหวัด 13,000 บาท/ตัน ,ข้าวเหนียว 14,000 บาท/ตัน และข้าวสารขาว 11,000 บาท/ตัน รวมถึงมีนโยบายเกษตรอื่นๆ เช่น การปรับโครงสร้างการผลิต โดยบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกพืชเกษตร (Zoning) ,การพัฒนาแหล่งน้ำ เช่น ขุดบ่อน้ำ 1 ล้านบ่อ และขุดน้ำบาดาล 1 แสนบ่อ เป็นต้น รวมถึงมีนโยบาย 'ขจัดข้อจำกัดการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐ' เช่น ที่ดิน สปก. ที่ดิน คทช. และที่ดิน ภบท.5 เป็นต้น
‘ก้าวไกล-ชาติพัฒนากล้า’ไม่มีนโยบายแจกเงิน-เน้นแก้ภาพใหญ่
พรรคก้าวไกล ที่มีนโยบาย ‘เกษตรก้าวหน้า’ ซึ่งมีนโยบายย่อย ได้แก่ ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบคืนที่ดินให้ประชาชน 10 ล้านไร่ ,ปลดหนี้เกษตรกรมีหลายวิธีให้เลือก อาทิ ปลดหนี้ ธ.ก.ส. เกษตรกรสูงวัยจ่ายหนี้ถึงครึ่ง รัฐยกอีกครึ่งให้ทันที ,ลดต้นทุนน้ำ-ปุ๋ย เครื่องจักร ,ส่งเสริมแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และหารายได้ใหม่เพื่อเกษตรกรก้าวหน้า เป็นต้น
พรรคชาติพัฒนากล้า มีนโยบาย 'เกษตรสร้างชาติ' เพิ่มมูลค่าด้วย เทคโนโลยี-อุตสาหกรรมเน้น ‘เพิ่มมูลค่า เพิ่มราคา เพิ่มคุณภาพ เพิ่มรายได้เกษตรกร’ ซึ่งมีรายละเอียดของนโยบาย ได้แก่
-เพิ่มรายได้เกษตรกร ด้วยการขยายตลาดเกษตรพรีเมี่ยม เพิ่มราคาขาย ปรับปรุงพันธุ์ ขั้นตอนการปลูก ระบบน้ำ ปุ๋ยที่ใช้ การเก็บเกี่ยว บรรจุภัณฑ์ การขนส่ง
-ส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตร ทุก segment สร้าง Cloud Factory ในอำเภอ
-เกษตรขายตรงออนไลน์ ให้ความรู้ สนับสนุน Platform ขายของการเกษตรของไทย รัฐช่วยออกค่าขนส่งให้เกษตรกร ทั้งสินค้าเกษตร และแปรรูป ลงทะเบียนรับเงินสนับสนุนค่าขนส่งจากไปรษณีย์ไทย หรือขนส่งเอกชนรายอื่นที่เข้าร่วมโครงการกับรัฐ รถร้อน รถเย็น ได้ 10,000 บาทต่อรายต่อปี เป็นต้น
โดยสำนักข่าวอิศราได้รวบรวมมาดังภาพอินโฟกราฟิก ดังนี้