เอกชนร้อง ‘นายกฯ-พล.อ.อนุพงษ์-ผู้ว่าฯสตง.’ สอบสวน-ยกเลิกประมูลจัดซื้อ ‘มิเตอร์อิเล็กทรอนิกส์’ กฟภ. วงเงิน 3.4 พันล้าน ชี้เขียน 'กติกา' ส่อกีดกันการแข่งขัน ส่งผลให้มีผู้ยื่นเสนอราคาได้เพียง 7 ราย อาจเข้าข่ายกระทำผิด พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ
..................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ออกประกาศ กฟภ. เรื่อง ประกวดราคาซื้อมิเตอร์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ในการสับเปลี่ยนทดแทนมิเตอร์จานหมุน (การจัดซื้อพร้อมติดตั้งมิเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ตามแผนงานปี 2564) ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) (เลขที่ PEA-METER-64-01-2565) ลงวันที่ 4 พ.ย.2565 วงเงินราคากลาง 3,430.2 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในการประกวดราคาฯครั้งนี้ ปรากฏว่ามีเอกชนเพียง 7 ราย ที่มีคุณสมบัติตรงตาม TOR และมีสิทธิ์ยื่นข้อเสนอฯได้ เนื่องจาก TOR กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอฯ ต้องได้รับใบรับรองการผ่านการทดสอบมิเตอร์ ทั้งมิเตอร์ 1 เฟส และมิเตอร์ 3 เฟส ส่วนเอกชนที่ได้รับใบรับรองการผ่านการทดสอบมิเตอร์ ประเภทมิเตอร์ 1 เฟส เพียงอย่างเดียว ซึ่งมี 9 ราย ไม่สามารถยื่นข้อเสนอฯได้ ทั้งๆที่การประมูลก่อนหน้านี้ กฟภ.ได้แยกประมูลมิเตอร์ 1 เฟส และมิเตอร์ 3 เฟส ออกจากกัน
ทั้งนี้ ล่าสุด กฟภ. ยังไม่ได้ประกาศว่าเอกชนรายใดเป็นผู้ชนะการประมูลฯ ขณะที่เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2565 ได้มีเอกชน 1 ราย ยื่นหนังสือร้องเรียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ,พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ,นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และพ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้สอบสวนและยกเลิกการประมูลดังกล่าว เนื่องจากอาจมีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
แหล่งข่าวจากเอกชนที่เข้าซื้อเอกสารประกวดราคาซื้อมิเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ฯในครั้งนี้ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่ปี 2549-ต.ค.2565 กฟภ. ได้มีการจัดซื้อมิเตอร์ทั้งชนิดจานหมุนและ Smart Meter โดยแยกการประมูลจัดซื้อ ‘มิเตอร์ 1 เฟส’ และ ‘มิเตอร์ 3 เฟส’ ออกจากกัน เพื่อให้มีผู้แข่งขันมากราย ซึ่งทำให้ กฟภ. สามารถจัดซื้อมิเตอร์ได้ในราคาที่เหมาะสม คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดกับ กฟภ.
แม้กระทั่งการประกวดราคาจัดซื้อมิเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ เลขที่ กฟภ.กจพ.1-ป (มต)-005.1-2564 ถึง กฟภ.กจพ.1-ป (มต)-005.5-2564 ลงวันที่ 12 ต.ค.2564 นั้น กฟภ. ได้แยกการจัดซื้อมิเตอร์ 1 เฟส และมิเตอร์ 3 เฟส ออกจากกัน ก่อนที่ในเวลาต่อมา กฟภ.ได้ยกเลิกประกวดราคา โดยให้เหตุผลว่า คุณสมบัติทางเทคนิคของมิเตอร์ที่กำหนดไว้ไม่มีฟังก์ชัน Phase and neutral interchange และเปิดประกวดราคาจัดซื้อมิเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ครั้งใหม่ในวันที่ 4 พ.ย.2565
“ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา กฟภ.ได้แยกการจัดซื้อมิเตอร์ 1 เฟส และมิเตอร์ 3 เฟส ออกจากกัน เพื่อให้มีผู้เข้าแข่งขันมากราย แต่ปรากฏว่าในการประมูลจัดซื้อมิเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ครั้งล่าสุด (เลขที่ PEA-METER-64-01-2565) เมื่อวันที่ 4 พ.ย.2565 วงเงินกว่า 3,000 ล้านบาท กฟภ. ได้กำหนด TOR ให้จัดซื้อมิเตอร์ 1 เฟส และมิเตอร์ 3 เฟส พร้อมติดตั้ง ไว้ใน TOR เดียวกัน ซึ่งทำให้มีเอกชนที่มีคุณสมบัติยื่นข้อเสนอฯเหลืออยู่เพียง 7 ราย จากเดิมที่ควรจะมีมากถึง 16 ราย
จึงอาจเข้าข่ายกระทำผิด พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ.2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ.2560 อีกทั้งกรณีที่ กฟภ.ยกเลิกประกวดราคาจัดซื้อมิเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ฯเมื่อปีที่แล้ว โดยอ้างเรื่องคุณสมบัติทางเทคนิคฯ ก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการยกเลิกประมูล หลังจากได้ผู้ชนะประมูลแล้ว และราคาที่เอกชนเสนอในครั้งนั้นก็ต่ำ โดยมิเตอร์ 1 เฟส ราคาอยู่ที่ 940 บาท/มิเตอร์ และมิเตอร์ 3 เฟส ราคาอยู่ที่ 1,710 บาท/มิเตอร์” แหล่งข่าว กล่าว
แหล่งข่าวรายนี้ ระบุด้วยว่า เมื่อพิจารณา TOR ประกวดราคาซื้อมิเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ เลขที่ PEA-METER-64-01-2565 พบว่า TOR กำหนดให้ผู้เสนอราคาเสนอ ‘ราคารวม’ ของมิเตอร์ 1 เฟส และมิเตอร์ 3 เฟส พร้อมติดตั้ง แต่กลับไม่กำหนดให้ผู้เสนอราคายื่นแบบฟอร์มแสดง ‘ราคาต่อหน่วย’ มิเตอร์ 1 เฟส ,มิเตอร์ 3 เฟส ,ค่าติดตั้งมิเตอร์ 1 เฟส , ค่าติดตั้งมิเตอร์ 3 เฟส และค่ารื้อถอนมิเตอร์ ซึ่งขัดต่อคู่มือการกำหนดรายละเอียดราคากลางที่กรมบัญชีกลางประกาศบังคับไว้
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศราได้พยายามโทรศัพท์สอบถาม นายปราโมทย์ สุดทรัพย์ รองผู้ว่าการปฏิบัติการและบำรุงรักษา กฟภ. กรณีที่มีเอกชนร้องเรียนเกี่ยวกับประมูลจัดซื้อมิเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ฯ แต่ไม่สามารถติดต่อได้ ขณะที่เลขาหน้าห้องของนายปราโมทย์ บอกกับสำนักข่าวอิศราว่า ได้เรียนเรื่องนี้ให้นายปราโมทย์ทราบแล้ว และหากนายปราโมทย์จะให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้ได้ จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าฯ กฟภ.ก่อน