บริษัทรับเหมาฯ ร้อง ‘อิศรา’ หลังได้รับอนุญาต-ผ่อนปรนตามประกาศ กทม.ให้กลับไปก่อสร้างเทคอนกรีต-ติดตั้งหลังคาเหล็ก แต่สำนักงานเขตเจ้าของพื้นที่ไม่อนุมัติเคลื่อนย้ายแรงงาน อ้างไม่มีกฎเกณฑ์ผ่อนผัน ขณะที่ฝ่ายควบคุมโรคแจง คนงานอยู่ในแคมป์ผู้ป่วยโควิด อนุมัติทันทีไม่ได้ - รอประเมินความปลอดภัยอีกครั้งสัปดาห์หน้า
………………………………..
จากกรณีกรุงเทพมหานครได้มีประกาศ เรื่อง สั่งปิดสถานที่ชั่วคราว ฉบับที่ 34 ให้ปิดสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร รวมทั้งให้หยุดงานก่อสร้างและห้ามการเดินทางเคลื่อนย้ายแรงงาน ตามข้อกำหนดออกความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 25) เพื่อเข้าควบคุมและชะลอการระบาดของโควิด ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 2564 เป็นต้นมา
ต่อมาวันที่ 5 ก.ค.2564 กรุงเทพมหานคร ออกประกาศฉบับที่ 35 ผ่อนคลายคำสั่งห้ามการก่อสร้างในโครงการก่อสร้างบางประเภท และการเคลื่อนย้ายแรงงานก่อสร้าง ตามความเห็นชอบของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ประกอบด้วย โครงการ 4 ประเภท ดังนี้
1.โครงการก่อสร้าง ซึ่งหากหยุดก่อสร้างในทันทีหรือการดำเนินการล่าช้า อาจก่อให้เกิดความเสียหายเชิงโครงสร้างด้านวิศวกรรมจนยากต่อการแก้ไข หรือเกิดอันตรายแก่ประชาชนที่สัญจรไปมา หรือชุมชนโดยรอบโครงการก่อสร้าง เช่น โครงการก่อสร้างใต้ดินที่มีความลึก การก่อสร้างชั้นใต้ดินที่ยังไม่ได้เทปูนปิดล้อม หรือการก่อสร้างอื่นๆ
2.การก่อสร้างโครงการชั่วคราว ซึ่งการหยุดก่อสร้างนทันทีหรือดำเนินการล่าช้าจะได้รับความเสียหายจนเกิดอันตรายแก่ประชาชนที่สัญจรไปมาหรือชุมชนโดยรอบโครงการก่อสร้าง เช่น นั่งร้าน หรือแบบรอการเทปูนโดยเฉพาะแผ่นพื้น
3.การก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านการจราจร เช่น ไฟสัญญาณจราจรแบร์ริเออร์กั้นช่องการจราจร หรือแผ่นเหล็กปิดงานก่อสร้างบนผิวจราจร
4.การก่อสร้างในสถานที่ก่อสร้างที่มีความเกี่ยวข้องกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด และเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ด้านสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาล สถานพยาบาล หรือสถานที่ก่อสร้างอื่นๆ ที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรค
คำสั่งฉบับเดียวกัน ระบุให้ผู้ประกอบการ ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ หรือผู้ที่ประสงค์จะดำเนินการก่อสร้าง หรือเคลื่อนย้ายแรงงาน ยื่นขออนุญาตต่อสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (อ่านข่าวประกอบ: กทม. ออกประกาศสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 37 เริ่ม 20 ก.ค.64)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการร้องเรียนจากบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายหนึ่ง หลังจากได้ยื่นขออนุญาตก่อสร้างจากสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร และได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 15 ก.ค.2564 แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่สามารถดำเนินการเข้าไปก่อสร้างได้ เนื่องจากสำนักงานเขตที่รับผิดชอบพื้นที่ดังกล่าว ไม่อนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าพื้นที่ก่อสร้าง
ผู้ร้องเรียน เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า เมื่อช่วงต้นเดือน ก.ค. บริษัทได้ยื่นหนังสือขออนุญาตจากสำนักโยธา กรุงเทพมหานคร ได้ระบุรายละเอียดว่า โครงการก่อสร้างในความรับผิดชอบนั้น ได้หยุดก่อสร้างตามประกาศกรุงเทพมหานคร มาตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.2564 ซึ่งการขออนุญาตผ่อนปรนครั้งนี้ เพราะต้องการดำเนินงานส่วนที่อาจมีความเสียหายเชิงโครงสร้างและเกิดอันตรายแก่ชุมชนโดยรอบโครงการ ประกอบด้วย การก่อสร้างเทคอนกรีตพื้น เนื่องจากการหยุดก่อสร้างโดยทันที อาจมีผลก่อให้เกิดความเสียหายเชิงโครงสร้างของอาคาร นอกจากนั้นยังมีการติดตั้งหลังคาเหล็ก ซึ่งยังไม่ได้มีการเชื่อมแน่นที่สมบูรณ์ตามหลักวิศวกรรม และกองวัสดุตัวอาคารที่ยังไม่ได้รับการจัดเก็บอย่างถูกต้อง ประกอบกับช่วงนี้เป็นฤดูฝนที่มีลมพายุและฟ้าคะนองอย่างหนัก อาจนำมาซึ่งเหตุให้เกิดความเสียหายทั้งต่อตัวอคารที่กำลังก่อสร้างและอาคารข้างเคียงได้
กระทั่งต่อมาได้รับการอนุญาตจากสำนักโยธา กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 ก.ค.2564 โดยกรุงเทพมหานครได้พิจารณาคำขออนุญาตแล้วเห็นว่า เข้าข่ายตาม ข้อ 1 ของประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการาชั่วคราว (ฉบับที่ 35) ที่มีการผ่อนคลายคำสั่งห้ามการก่อสร้างในโครงการก่อสร้างบางประเภท จึงพิจารณาอนุญาตให้ดำเนินการตามที่ขออนุญาตเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประกาศฉบับดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อบริษัทได้ยื่นเอกสารเพื่อขออนุญาตดำเนินการก่อสร้างและเคลื่อนย้ายแรงงานไปที่สำนักงานเขตแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร กลับไม่ได้รับการอนุญาตให้ดำเนินการ โดยอ้างว่าไม่มีกฎเกณฑ์ให้ผ่อนผันให้แรงงานก่อสร้างออกจากแคมป์คนงาน ทำให้จนถึงขณะนี้บริษัทยังไม่สามารถเข้าไปดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่ได้
ผู้ร้องเรียน เปิดเผยสำนักข่าวอิศราอีกว่า กรณีดังกล่าวได้สอบถามไปยังบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายอื่นในกรุงเทพมหานคร พบว่าหลายแห่งประสบปัญหาในลักษณะคล้ายกัน ในขณะที่จังหวัดนนทบุรีที่ถูกสั่งห้ามก่อสร้างและเคลื่อนย้ายแรงงานเหมือนกัน กลับได้รับอนุญาตกลับไปดำเนินการก่อสร้างโดยไม่มีปัญหาติดขัดแต่อย่างใด
ด้านฝ่ายควบคุมโรค สำนักงานเขตเจ้าของพื้นที่ เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า สาเหตุที่ไม่อนุญาตบริษัทผู้ร้องเรียนเคลื่อนย้านแรงงาน เนื่องจากแรงงานของผู้ร้องเรียนอาศัยอยู่ในแคมป์ที่มีผู้ติดเชื้อ ซึ่งทางเขตไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องนี้ แต่เพื่อความปลอดภัย และป้องกันการแพร่ระบาดจึงยังไม่ได้อนุญาต อย่างไรก็ตามในพื้นที่มีแคมป์คนงานทัี้งหมด 14 แคมป์ แต่มีเพียง 2 แคมป์ที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยและการควบคุมโรค ดังนั้นการขอเคลื่อนย้ายแรงงานที่ไม่ได้มาจาก 2 แคมป์นี้ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายไม่ได้รับการอนุญาตให้เคลื่อนย้ายแรงงาน ซึ่งในสัปดาห์หน้าทางสำนักงานเขตจะมีการประเมินแคมป์อื่นๆ อีกครั้ง จึงอยากขอให้ผูํประกอบการรอติดตามผลการตรวจสอบก่อน
ฝ่ายควบคุมโรค สำนักงานเขตเจ้าของพื้นที่ กล่าวยืนยันว่า หากสถานการณ์ภายในแคมป์แรงงานดีขึ้น และแคมป์ผ่านมาตรฐานการประเมินแล้ว ประกอบกับไม่ขัดต่อประกาศของกรุงเทพมหานคร และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 สำหรับผู้ที่ยื่นเอกสารขออนุญาตมาแล้ว ให้ยื่นเอกสารที่บ่งบอกรายละเอียดว่าจะขอเคลื่อนย้ายแรงงานจำนวนกี่คน รวมถึงผลตรวจโควิด ซึ่งเขตจะนำไปพิจารณาอนุญาตต่อไป ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้ยื่นเอกสารเข้ามาก่อนหน้านี้ ให้ขออนุญาตดำเนินการก่อสร้างกับสำนักการโยธา กรุงเทพฯ ตามขั้นตอนต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage