เริ่มแล้ว! ประชุมร่วมรัฐสภาฯ โหวตนายกฯ เพื่อไทย เสนอชื่อ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ด้าน ‘ภูมิใจไทย’ ส่ง 'ชาดา ไทยเศรษฐ์' ประเดิมอภิปราย ลั่นถ้าไม่แตะ ม.112 พร้อมเทเสียงโหวตให้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ซึ่งมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม โดยก่อนการประชุมนายวันมูหะมัดนอร์ แจ้งให้ทราบถึงเวลาของแต่ละฝ่ายที่จะใช้สำหรับการอภิปราย ว่าฝ่ายวุฒิสภา (ส.ว.) จะได้เวลา 2 ชั่วโมง ส่วนฝ่ายสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จะได้เวลา 4 ชั่วโมง โดยเป็นของพรรคการเมือง 8 พรรคที่จะตั้งรัฐบาล 2 ชั่วโมง ทั้งนี้ควรยุติการอภิปรายก่อนเวลา 17.00 น.
นอกจากนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ ยังได้ชี้แจงขั้นตอนการเสนอชื่อบุคคลเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ว่า เมื่อมี ส.ส.เสนอชื่อบุคคลนายกฯ แล้วนั้น ส.ส.ต้องรับรองบุคคลนั้น 50 คน โดยการเสียบบัตรแสดงตน
เมื่อเวลา 10:00 น. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยนพ.ชลน่าน กล่าวว่า ขออนุญาตประธานสภาฯใช้เอกสิทธิ์ความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เสนอชื่อบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 มาตรา 159 และข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ข้อ 136 เป็นบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมมนูญมาตรา 160 และถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 88 ซึ่งมี ส.ส.รับรองชื่อนายพิธาจำนวน 302 คน
นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย
@14 ล้านเสียง ไม่ได้ให้แก้ 112 ทุกคน
จากนั้น จึงเข้าสู่การอภิปราย ซึ่งนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย เป็นผู้อภิปรายเป็นคนแรก โดยกล่าวว่า จากที่หัวหน้าพรรคการเมือง 7 พรรคมีความไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ทำให้ใน MOU ของ 8 พรรคร่วมไม่มีประเด็นดังกล่าวถูกใส่เข้ามา
แต่แม้จะไม่มีใน MOU ในทางกลับกันนายพิธา เป็นผู้ที่ได้รับการเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี ยังยืนยันที่จะแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยจะผลักดันด้วย ส.ส.ของพรรคเอง และอ้างว่าทั้ง 14 ล้านคนที่เลือกมาเข้าใจถึงเป้าหมายนี้ของพรรคนั้น และอ้างว่าการแก้ไขเป็นการทำเพื่อรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ขอเรียนวส่าพรรคภูมิใจไทยไม่เชื่อ เพราะพฤติกรรมต่างๆที่ผ่านมาทำให้เห็นชัดเจนว่า ความคิดในแก้มาตรา 112 เป็นอย่างไร แต่ตนอยากรู้ว่า แล้วอีก 7 พรรคว่าอย่างไร? ต้องถามว่าทั้ง 7 พรรคว่าอย่างไร ในMOU ไม่มีก็จริง
“ท่านอ้าง 14 ล้านเสียงว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ผมเชื่อว่า คนที่ลงให้ทั้ง 14 ล้านเสียง ไม่คิดว่า ท่านกำลังแก้กฎหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เป็นสถาบันหลักของชาติ ไม่ใช่ความมั่นคงของชาติอีกต่อไป ถ้าท่านอ้าง 14 ล้านเสียง หลายคนก็พูดถึง 25 ล้านเสียงที่ไม่ได้เลือก แต่ในมุมมองของผม อยากฝากถึงผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลว่า คนไทยไม่ได้มีแค่ 14 ล้านคนไทยไม่ได้มีแค่ 25 ล้าน ท่านต้องเป็นนายกของคนทั้ง 60 กว่าล้านคน ท่านต้องเป็นนายกของประเทศไทย ท่านไม่ได้เป็นนายกของพรรคใดพรรคหนึ่ง อันนี้สำคัญที่สุด 14 ล้านเสียงไม่ถึง 20% ครับ ท่านอย่านึกว่ามันมากมาย ท่านอย่าหลงระเริงคำว่า 14 ล้านเสียงเพราะมันไม่ถึง 20% มันไม่ใช่เรื่องชี้ขาดของประเทศนี้” นายชาดากล่าวอย่างมีอารมณ์ตอนหนึ่ง
@อัดลดสถานะสถาบัน ไม่ได้แก้เรื่องแอบอ้าง
นายชาดาอภิปรายต่อว่า ประเด็นที่ห้ามผู้อื่นฟ้อง มอบให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ฟ้องนั้น เรียนว่าเป็นไปไม่ได้ สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่มาฟ้องลูกบ้านตัวเอง มันเป็นไปไม่ได้ และการแก้ไขที่อ้างว่าดำรงสถานะอันละเมิดมิได้นั้น พรรคภูมิใจไทยไม่เชื่อว่าท่านจะปกป้องพระมหากษัตริย์ไม่ให้ถูกละเมิดในเมื่อพรรคท่านจะลดการคุ้มครอง รวมถึงไม่เอาผิด ไม่ลดโทษผู้ละเมิดด้วยเหตุผลเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนนี้เรื่องใหญ่ ซึ่งตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงสำคัญและอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดก็ไม่ได้
และที่เจ็บปวดมากกว่านั้นคือ ผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรคก้าวไกลเคยกล่าวว่า ถ้านายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีจะให้นายพิธาไปลงสัตยาบันในกฎหมายกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศซึ่งมีสาระสำคัญคือสามารถฟ้องผู้เป็นประมุขของรัฐได้อันนี้คือสิ่งที่รับไม่ได้จริงๆ หมายถึงว่าให้คนนอกประเทศฟ้องในหลวง ฟ้องพระมหากษัตริย์ได้ ขอเรียนว่าคงทำใจไม่ได้ หากพระมหากษัตริย์สูงสุดที่คุ้มกะลาหัวพวกเราถูกฝรั่งสอบสวน มันเป็นเรื่องที่น่ากลัวอันตราย และเคยฟังเลขาธิการพรรคก้าวไกลพูดว่า การทำแบบนี้คือการปกป้องสถาบันและไม่ให้ใครแอบอ้างสถาบัน ขอเรียนว่าการปกป้องสถาบันจะต้องไม่ทำแบบนี้ สิ่งที่พูดถูกคือมีผู้มีอำนาจในบางยุคสมัยใช้สถาบันแอบอ้างจริง แต่ก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับสถาบัน พรรคก้าวไกลสามารถฟ้องได้ หากพบผู้ที่เอาพระมหากษัตริย์มาแอบอ้าง เพื่อทำลายคนอื่นทางการเมือง
@ถอยแก้ 112 พร้อมโหวตให้
“ถ้าท่านแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ท่านคิดไหมว่า ถ้าแก้ไขแล้วบ้านเมืองนี้จะสงบจะเจริญ ท่านเก็บเรื่องนี้ไว้ในกระเป๋าไม่ได้หรือ ถ้าประเทศนี้แก้กฎหมาย 112 ไม่ได้แล้วมันจะล่มจมผมไม่ว่าเลย ท่านเสนอนโยบาย 200-300 ข้อ ท่านเป็นความหวังของคนไทยที่จะเข้ามาบริหารบ้านเมือง ท่านละเพียงเรื่องเดียว ท่านไม่ต้องไปด่าส.ว. ท่านไม่ต้องด่าฝ่ายตรงข้าม ท่านได้เป็นนายกฯแน่ถ้าไม่มี 112 ท่านยังไม่ยอมเลย จึงอยากจะถามว่า พรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลเกิดมาเพื่อแก้ 112 อย่างเดียวหรือ ถ้าไม่แก้แล้วประเทศนี้จะล่มจมหรือไม่ มันไม่ใช่ มันมีเรื่องที่จะทำ ทำเรื่องที่ลุงตู่ทำแล้วไม่ดีที่ท่านด่า ผมก็เห็นด้วย แต่วันนี้ท่านดูอย่างเดียว กูจะไม่ยอม เหมือนทำให้ผมคิดได้ว่าพรรคอนาคตใหม่กับพรรคก้าวไกลเกิดมาเพื่อล้มล้างเหรอ เกิดมาเพื่อแก้กฎหมายเรื่องนี้เหรอ ถ้าท่านหลุดคำนี้คำเดียวว่า ไม่ยุ่งกับ 112 ภูมิใจไทยจะลงให้ท่านและไม่ร่วมรัฐบาลกับท่านด้วย”
นายชาดากล่าวอีกว่า หากการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นพันธกิจของพรรคก้าวไกล ตนและพรรคภูมิใจไทยก็ถือว่าเป็นพันธกิจในการคัดค้านท่านทุกวินาทีทุกอย่างทุกทาง ขอเรียนด้วยความเคารพว่า ตนและพรรคภูมิใจไทยก็ได้รับเลือกตั้งมาเหมือนกัน พลเอกประยุทธ์หรือคสช.ไม่ได้แต่งตั้งมา แต่ไม่ใช่สั่งประชาธิปไตยเป็นฝั่งโจร ถ้าเป็นโจรที่รักชาติก็ยอมเป็นโจรที่รักสถาบันและปกป้องบ้านเมืองนี้
“ท่านอย่าจุดชนวนให้กับบ้านเมืองนี้ ขอเถอะครับด้วยความเคารพ เรื่อง 112 ท่านจับเมื่อไหร่ ท่านทำเมื่อไหร่ วุ่นวาย ผมถือว่าเป็นภารกิจของผมและพรรคภูมิใจไทยที่จะต้องให้ระบบพระมหากษัตริย์อยู่คู่กับสังคมไทยไปตลอด” นายชาดาปิดท้าย
ด้านนายพิธาได้ใช้สิทธิ์พาดพิงชี้แจงการอภิปรายของนายชาดาว่า เรื่องแก้ไขมาตรา 112 ไม่อยู่ใน MOU ของ 8 พรรคการเมือง เพราะ MOU ของ 8 พรรค คือความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล การแก้ไขกฎหมายเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติคือที่รัฐสภา และเมื่อมีการเสนอแก้กฎหมายก็ไม่มีใครผูกขาดชุดความคิดใดความคิดหนึ่ง นี่คือหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรในการแก้ไขข้อขัดแย้งของประชาชน ถ้าพูดกันอย่างมีวุฒิภาวะใช้เหตุใช้ผล นี่คือทางออกของประเทศในทุกความขัดแย้ง
ส่วนสิ่งที่ไม่เห็นด้วยกับนายชาดาคือ การให้สัตยาบันต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court หรือ ICC ) นั้น มีประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็ร่วมลงนามในสัตยาบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่น, อังกฤษ, กัมพูชา, สวีเดน และเดนมาร์ก เพราะฉะนั้น ถ้าพระองค์ท่านอยู่เหนือการเมืองตามที่เราเข้าใจและใช้อำนาจผ่านทางคณะรัฐมนตรีก็ไม่ได้เป็นประเด็นตามที่นายชาดากล่าวหาแต่อย่างใด