กสม.ชี้กรณีล่อซื้อการค้าประเวณีของเจ้าหน้าที่รัฐจับผู้ต้องหาขณะเปลือยกายและละเลยให้สื่อเผยแพร่ข่าวขณะนั้น ไม่เหมาะสม เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ย้ำสื่อมวลชนต้องปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อเดือนมี.ค. 2565 กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียน กรณีกล่าวอ้างว่า เมื่อประมาณเดือน มิ.ย. 2560 เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจท่องเที่ยว และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรบางละมุง จังหวัดชลบุรีเข้าตรวจค้นสถานบริการแห่งหนึ่งภายในซอยวัดบุญกาญจนาราม อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เนื่องจากได้รับแจ้งว่ามีการลักลอบค้าประเวณี จึงส่งสายลับเข้าไปล่อซื้อบริการและจับกุมผู้กระทำความผิด จากนั้นได้ให้พนักงานของร้านและผู้ใช้บริการไปตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติด ซึ่งผลการตรวจปัสสาวะไม่พบสารเสพติด
ผู้ร้องเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ชุดตรวจค้นไม่เหมาะสม โดยให้สื่อมวลชนบันทึกภาพของผู้ถูกจับกุม และมีผู้ถูกจับกุมบางรายเป็นเพศหญิงที่อยู่ในสภาพเปลือยกายท่อนบน ไม่สวมเสื้อผ้า รวมทั้งการตรวจหาสารเสพติดยังกระทำในลักษณะเหมารวมมิใช่การตรวจโดยมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดมีพฤติการณ์เสพยาเสพติด นั้น
กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่ากรณีดังกล่าวอาจมีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงมีมติเห็นสมควรให้มีการตรวจสอบ โดยเห็นว่า พฤติการณ์ตามคำร้องเป็นกรณีเกี่ยวกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม อันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และกรณีตามคำร้องมีประเด็นที่ต้องพิจารณา 3 ประเด็น ได้แก่ (1) การตรวจค้นจับกุมผู้กระทำความผิด (2) การให้สื่อมวลชนติดตามการปฏิบัติหน้าที่และบันทึกภาพ และ (3) การตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติด โดยผลการตรวจสอบสรุปได้ดังนี้
ประเด็นการตรวจค้นจับกุมผู้กระทำความผิดโดยวิธีการล่อซื้อประเวณี ต้องเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานจากผู้กระทำความผิดที่ไม่ได้มีการล่อลวงหรือบังคับให้ผู้นั้นกระทำความผิด แต่เกิดจากการที่ผู้นั้นมีการกระทำผิดอยู่ก่อนแล้ว แม้กรณีนี้จะเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เห็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถใช้วิธีการอื่นแทนการล่อซื้อ เช่น การเข้าไปแสวงหาและรวบรวมข้อเท็จจริงให้เพียงพอต่อการดำเนินคดี การใช้ภาพที่บันทึกจากกล้องวิดีโอเป็นพยานหลักฐาน เป็นต้น
โดยเฉพาะในความผิดที่เกี่ยวกับเพศอันมีลักษณะที่อ่อนไหวและเสี่ยงที่การกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐจะไปกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่เกี่ยวข้องเกินสมควรแก่กรณีได้ ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐตามกรณีนี้เข้าไปล่อซื้อประเวณีและเข้าจับกุมเมื่อผู้ต้องหาที่เปลือยกายนั้น แม้จะมีกฎหมายและแนวคำพิพากษาของศาลฎีกากำหนดให้สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม และลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกจับกุมเกินสมควรแก่กรณี อันถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
สำหรับประเด็นการให้สื่อมวลชนติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ แม้ยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ได้นำหรืออนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าร่วมในการตรวจค้น จับกุม จนนำไปสู่การเผยแพร่ภาพข่าว แต่การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนจะต้องยึดถือตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน และหลักการคุ้มครองสิทธิของบุคคลในคดีอาญาที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ดังนั้น การนำเสนอข่าวในลักษณะดังกล่าวจึงกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวและสิทธิในเกียรติยศและชื่อเสียงที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครองไว้เกินสมควรแก่กรณี จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกัน
ส่วนประเด็นการตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติด แม้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในวันเกิดเหตุ จะเป็นการดำเนินการของเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองในการดูแลรักษาความเรียบร้อยในพื้นที่ที่รับผิดชอบ และเป็นการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 และพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น และแม้การตรวจหาสารเสพติดจะไม่พบว่ามีผู้เสพยาเสพติดให้โทษตามที่มีการกล่าวอ้าง แต่การตรวจหาสารเสพติดดังกล่าวมีการกระทำในลักษณะเป็นการเหมารวมกับกลุ่มบุคคลที่เป็นพนักงานและผู้ใช้บริการในสถานที่ดังกล่าว โดยปราศจากความยินยอมและไม่ปรากฏพยานหลักฐานอันมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีบุคคลใดเสพยาเสพติด จึงถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยเช่นกัน
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2565 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยให้ดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ สรุปได้ดังนี้
1. ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทย กำหนดมาตรการหรือแนวทางในการแสวงหาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าประเวณี ด้วยวิธีการอื่นแทนการล่อซื้อ เพื่อมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนลักษณะเดียวกันกับคำร้องนี้
2. ให้กระทรวงมหาดไทยเน้นย้ำและกำชับให้เจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจค้น จับกุมพึงหลีกเลี่ยงให้บุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง บันทึกและเผยแพร่ภาพเหตุการณ์ในขณะที่มีปฏิบัติการตรวจค้นหรือจับกุม ทั้งนี้ ตามมาตรการหรือแนวทางที่ กสม. เคยเสนอไว้ในรายงานผลการตรวจสอบก่อนหน้าเมื่อเดือน มิ.ย. 2565
3. ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเน้นย้ำและกำชับเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ดำเนินการตามประมวลกฎหมายยาเสพติดที่บังคับใช้ในปัจจุบันอย่างเคร่งครัด กรณีมีเหตุอันควรสงสัยตามกฎหมายว่าบุคคลนั้นเสพยาเสพติดให้โทษ ทั้งนี้ ตามมาตรการหรือแนวทางที่ กสม. เคยเสนอไว้ในรายงานผลการตรวจสอบก่อนหน้าเมื่อกันยายน 2565