เปิดชื่อ-ปูมหลัง คกก. 4 ชุด โยงขายหนี้ บ.ชินวัตรไทย -ใครทำ ธพว.สูญเงินต้น 24 ล.?
เปิดรายชื่อ-ปูมหลัง คณะกรรมการ 4 ชุด โยงปมประมูลขายหนี้ปัญหา บ.ชินวัตรไทย ‘พายัพ ชินวัตร’ ทั้ง ๆ หลักประกัน โรงงาน เครื่องจักรถูกรื้อถอน เหลือเพียงที่ดินเปล่า ใครทำ ธพว. สูญเงินต้น 24 ล้าน?
จากกรณีธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องการเลือกปฎิบัติในการดำเนินคดีกับลูกหนี้ราย บริษัท ชินวัตรไทย จำกัด ของ นายพายัพ ชินวัตร น้องชายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายักรัฐมนตรี ที่มีปัญหาขนย้ายโรงงานและเครื่องจักร เหลือเพียงที่ดินเปล่า แต่ ธพว.นำลูกหนี้รายนี้ไปรวมกองลูกหนี้รายอื่นเพื่อประมูลขาย และไม่ฟ้องอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ อีกทั้งไม่ดำเนินการสอบสวนผู้บริหารที่มีหน้าที่ละเว้นหน้าที่ ขณะที่ลูกหนี้รายอื่น ที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกัน กลับถูกแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญา ในข้อห้าฉ้อโกงและทำลายทรัพย์สินกรณีลักลอบรื้อถอนทรัพย์หลักประกัน
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2559 ว่า กระทรวงการคลัง ได้มีหนังสือมาที่ ธพว. เพื่อสอบข้อเท็จจริง และทาง ธพว. ได้รวบรวมข้อเท็จจริงเบื้องต้นตอบไปที่กระทรวงการคลังแล้ว เมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา (อ่านประกอบ : 'คลัง'ขยับสอบ-สั่งแจง ปม ธพว.อุ้ม บ.พายัพ ไม่ถูกฟ้องฉ้อโกง -'สาลินี'เลี่ยงตอบคำถาม)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นข้อมูลกรณีการขายหนี้ บริษัท ชินวัตรไทย จำกัด เกิดขึ้นในยุคที่มีคณะกรรมการ 4 ชุด เรียบเรียงความเป็นมา ดังนี้
1.ธพว.เริ่มขายหนี้ NPL มาตั้งแต่ต้นปี 2558 โดยทั้งปี 2558 ขายไปทั้งหมด 5 ครั้ง และปี 2559 ขายไปเมื่อต้นปี 1 ครั้ง และขายในไตรมาสที่ 2 อีก 1 ครั้ง รวมเป็นเงินต้นของลูกหนี้ที่ขายไปแล้วทั้งหมดประมาณ 8,000 ล้านบาท หรือหากนับทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยมี บริษัทบริหารสินทรัพย์ ได้แก่ บบส.ศรีสวัสดิ์, บบส.กรุงเทพพาณิชย์ และ บบส.สุขุมวิท เข้าร่วมประมูลและสลับกันเข้าทำสัญญากับ ธพว. (คล้ายกับแบ่งเป็นคู่สัญญา รวมทั้งปรากฏข้อมูลที่เป็นความลับในการประมูลซึ่งเป็นข้อมูลภายในของ ธพว.หลุดไปอยู่ในมือของบริษัทที่เข้าประมูล)
2.ความผิดปกติที่เห็นได้ชัด คือ การประมูลในครั้งที่ 1 ที่แล้วเสร็จเมื่อเดือนมกราคม 2558 โดยมีลูกหนี้รายสำคัญที่ขายออกไป คือ บริษัท ชินวัตรไทย ซึ่ง ธพว.ได้อนุมัติสินเชื่อ เมื่อปี 2545 ในขณะที่ ลูกหนี้ถูกฟ้องล้มละลายและแผนฟื้นฟูกิจการยังไม่มีข้อยุติ ต่อมา แผนฟื้นฟูฯ ถูกยกเลิกในปี 2548 และลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในปี 2552 พร้อมทั้ง ถูกพิพากษาให้ล้มละลายในปี 2553 ซึ่งในช่วงเวลานั้น ได้มีการรื้อโรงงานและขนย้ายเครื่องจักรออกไปจากที่ดินหลักประกัน โดย ธพว. ตรวจพบเมื่อปี 2555 และตรวจพบอีกครั้งในปี 2557 จากการประเมินราคาเพื่อประมูลขายลูกหนี้ แต่ผู้บริหารของ ธพว. ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ กับลูกหนี้
3.สำหรับในขั้นตอนการขายหนี้ คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการประมูลขายหนี้ ย่อมจะต้องมีข้อมูลรายละเอียดของลูกหนี้แต่ละรายที่นำออกขาย เมื่อพบว่า หลักประกันของลูกหนี้ถูกรื้อถอนและขนย้ายออกไปโดยสิ้นเชิง จนกระทั่ง ราคาประเมินลดต่ำกว่าเดิมมาก และเห็นได้ชัดเจนว่าราคาประเมินต่ำกว่าเงินต้นคงเหลือมาก ซึ่งไม่มีลูกหนี้ที่นำออกขายรายใด ที่ราคาประเมินหลักประกันจะลดต่ำลงมากเช่นลูกหนี้รายนี้ แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องกลับไม่ชะลอการขายลูกหนี้รายนี้ไว้ก่อน เพื่อดำเนินการต่าง ๆ ให้ได้ข้อยุติ แต่มีการขายลูกหนี้รายนี้ออกไป
คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการประมูลขายหนี้ของ ธพว. มีทั้งหมด 4 คณะ ที่จะทำให้การขายหนี้แต่ละครั้งสำเร็จได้ คือ
1) คณะกรรมการ ธพว. ตามคำสั่งที่ 34/2557 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2557
2) คณะอนุกรรมการฟื้นฟูกิจการ ธพว. ตามคำสั่งที่ 38/2557 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2557
3) คณะทำงานกำกับและติดตามการบริหารงาน NPL ตามคำสั่งที่ 02/2558 ลงวันที่ 21 มกราคม 2558
4) คณะกรรมการขายหนี้ ตามคำสั่งที่ 49/2557 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557
แต่ละคนเป็นใคร มาจากไหน ปัจจุบันอยู่ที่ใด ?
คณะกรรมการ ธพว. ซึ่งเป็นผู้อนุมัติให้ขายหนี้ NPL ที่เป็นขั้นตอนสุดท้าย หลังผ่านกระบวนการต่าง ๆ มาแล้ว เริ่มต้นจาก
-นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ ธพว. อายุ 62 ปี อดีตเคยเป็นผู้ช่วยผู้ว่าการแบงก์ชาติ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา เคยปรากฎกระแสข่าวว่า เดินทางไปราชการที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในนามของผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ปรากฏมีภาพถ่ายกับบุคคลสำคัญที่พำนักอยู่ที่นั่น เป็นญาติกับลูกหนี้กองภาคตะวันออกรายหนึ่ง
-นางเสาวนีย์ กมลบุตร อายุ 64 ปี อดีตเคยเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง และเคยเป็นประธานบอร์ดธนาคารทหารไทย มักจะโต้แย้งประธานบอร์ด ธพว. ในหลาย ๆ เรื่อง เนื่องจาก เคยเป็นประธานบอร์ดแบงก์พาณิชย์มาก่อน จึงถือว่ามีประสบการณ์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
-นายอัษฎางค์ เชี่ยวธาดา อายุ 65 ปี รองอธิบดีอัยการ สำนักงานต่างประเทศและสำนักงานคดีอาญา ปัจจุบันพ้นจากกรรมการ ธพว. เนื่องจากอายุครบ 65 ปี มีข้อมูลระบุว่า ในช่วงหลังก่อนพ้นหน้าที่มักจะคัดค้านหลายเรื่องที่ประธานบอร์ดผลักดันให้นำเสนอเข้าไปพิจารณาในบอร์ด
-นายวิทยา สุริยะวงศ์ อายุ 54 ปี เป็นกรรมการ ธพว. ตั้งแต่บอร์ดชุดเดิม ขณะทำหน้าที่บอร์ด ธพว. เป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ พยายามจะลาออกจากบอร์ด ธพว. หลายครั้ง ต่อมา จึงลาออกได้สำเร็จ ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม
-นางพรรณขนิตตา บุญครอง อายุ 60 ปี เป็นกรรมการตัวแทนจากกระทรวงการคลัง นอกจากเป็นกรรมการบอร์ดชุดใหญ่แล้ว ยังเป็นประธานบอร์ดบริหารด้วย เป็นคนที่ประธานบอร์ดมีความเกรงใจ เนื่องจากเห็นว่า เป็นข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลัง เมื่อคัดค้านเรื่องใดแล้ว ประธานบอร์ดมักจะยอมรับ ตอนที่เริ่มเข้าไปเป็นบอร์ด ธพว. มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ปัจจุบันได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง
-นายลวรณ แสงสนิท อายุ 49 ปี เป็นกรรมการตัวแทนจากกระทรวงการคลังอีกคนหนึ่ง และเป็นอีกคนที่ประธานบอร์ดเกรงใจ เมื่อเริ่มเข้าไปเป็นบอร์ด ธพว. มีตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ปัจจุบันได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
-นายอนุสรณ์ มุทราอิศ อายุ 62 ปี เป็นกรรมการ ธพว.ตั้งแต่บอร์ดชุดเดิมอีกคนหนึ่ง เป็นบอร์ดที่มาจากภาคเอกชน เป็นกรรมการของบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ คอมโพเน้น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีเงินฝากอยู่กับ ธพว. ประมาณ 2,000 ล้านบาท เป็นเงินฝากออมทรัพย์แต่ได้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากประจำ
-นายสมชาย หาญหิรัญ อายุ 59 ปี เป็นกรรมการ ธพว.ตั้งแต่บอร์ดชุดเดิมอีกคนหนึ่ง โดยเป็นกรรมการตัวแทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อเริ่มเข้าไปเป็นบอร์ด ธพว. มีตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ปัจจุบันได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
-นายวิชิต กรวิทยาคุณ อายุ 67 ปี อดีตเคยเป็นผู้อำนวยการฝ่าย ในสายกำกับสถาบันการเงิน แบงก์ชาติ ซึ่งเคยเป็นผู้แนะนำการทำงานให้กับ ประธานบอร์ด ธพว. ที่แบงก์ชาติ เมื่อครั้งที่ ประธานบอร์ด ย้ายเข้าไปทำงานในสายกำกับสถาบันการเงินใหม่ ๆ จึงถูกดึงเข้าไปเป็นบอร์ด ธพว. ปัจจุบันพ้นหน้าที่ เนื่องจากอายุครบ 65 ปี
คณะอนุกรรมการฟื้นฟูกิจการ ธพว. ผู้ที่เป็นกรรมการชุดนี้ก็คือส่วนหนึ่งของคณะกรรมการ ธพว.มี ประธานบอร์ด ธพว. เป็นประธานเช่นกัน นายวิชิต กรวิทยาคุณ บอร์ด ธพว. เป็นตัวยืน และมีบอร์ด ธพว.อีกคนหนึ่ง(เป็นใครก็ได้) และกรรมการผู้จัดการร่วมเป็นกรรมการ มีหน้าที่กลั่นกรองเรื่องที่จะนำเสนอเข้าพิจารณาในคณะกรรมการ ธพว. ซึ่งหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง ห้ามประธานกรรมการ ลงไปเป็นประธานหรือกรรมการในคณะอนุกรรมการชุดย่อยอีก โดยผู้ตรวจสอบ ธปท. ได้แจ้งให้ยกเลิกคณะอนุกรรมการชุดนี้ตั้งแต่ต้นปี 2558 และ ธพว.ยกเลิกคณะอนุกรรมการชุดนี้เมื่อต้นปี 2559
คณะทำงานกำกับและติดตามการบริหารงาน NPL ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะอนุกรรมการฟื้นฟูกิจการ ธพว. ให้ไปทำหน้าที่เกี่ยวกับแก้ไขหนี้ โดยเน้นในเรื่องการขายหนี้เป็นหลัก ประกอบด้วยกรรมการ ดังนี้
-นายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการในขณะนั้น ทำหน้าที่ประธาน นายสุพจน์ฯ เคยเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เข้าไปรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธพว. เมื่อต้นเดือนมกราคม 2558 เป็นช่วงที่การประมูลขายหนึ้กองภาคตะวันออก ได้ผ่านมาถึงขั้นตอนการเจรจาต่อรองราคากับ บบส.ศรีสวัสดิ์ ซึ่งผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายบัญชี ได้ตั้งเรื่องขอกันสำรองหนี้เพิ่มขึ้นสำหรับลูกหนี้กลุ่มที่กำลังต่อรองราคาขายกับ บบส.ศรีสวัสดิ์ นายสุพจน์ฯ เห็นว่าการกันสำรองเพิ่มเป็นเรื่องที่ดีทำให้ธนาคารมั่นคงขึ้น จึงได้ลงนามอนุมัติ แต่กลายเป็นว่า การกันสำรองเพิ่มทำให้มูลค่าทางบัญชีสุทธิ (Net Book Value) ลดลงด้วย ส่งผลให้ราคาขายขั้นต่ำของลูกหนี้ที่กำลังเจรจาต่อรองราคาซึ่งใช้มูลค่าทางบัญชีสุทธิ (Net Book Value) เป็นตัวกำหนดลดลงจากเดิม ทำให้ ธพว.ขายลูกหนี้กองภาคตะวันออก ต่ำกว่าราคาขั้นต่ำที่กำหนดไว้ครั้งแรก เป็นเงิน 18.9 ล้านบาท นายสุพจน์ฯ เป็นกรรมการผู้จัดการ ธพว.ได้ประมาณครึ่งปี ก็ลาออกจากตำแหน่ง โดยแจ้งเหตุผลจากปัญหาสุขภาพ แต่เหตุผลที่รับรู้กันในหมู่พนักงานว่า อาจมาจากปัญหาอื่น
-นายชาญชัย โยธาวงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก อดีตพนักงานแบงก์ชาติ เป็นอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาของประธานกรรมการ ธพว. เกษียณอายุแล้ว ได้รับการชักชวนให้ไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและเป็นกรรมการในคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ใน ธพว.
-นางธนารักษ์ รามัญวงศ์ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก เคยทำงานที่ธนาคารอออมสิน เกษียณอายุแล้ว นายสุพจน์ฯ ชักชวนให้เข้าไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและเป็นกรรมการในคณะกรรมการชุดย่อยต่าง ๆ ของ ธพว. หลายคณะ มักไม่ได้แสดงบทบาทมากนัก
-นายจักรกฤษณ์ ยางนอก เป็นผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ต่อมา ได้รับว่าจ้างให้เป็นที่ปรึกษาด้านคดีความของ ธพว. และต่อมาอีกได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รับผิดชอบงานด้านกฎหมายของธนาคาร กำกับดูแลฝ่ายนิติการและฝ่ายคดี นายสุพจน์ฯ เป็นผู้ชักชวนนายจักรกฤษณ์ฯ ให้เข้าไปร่วมงานใน ธพว.แต่ภายหลังได้รับตำแหน่งที่คล้ายคลึงกับพนักงานประจำและได้รับเงินเดือนระดับรองกรรมการผู้จัดการ สัญญาจ้าง 1 ปี และสิ้นสุดในเดือนสิงหาคม 2559 นี้ นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีการอนุมัติสินเชื่อให้กับ หจก.โรงสีข้าวจงเจริญ ที่คณะกรรมการ ธพว.ชุดนี้เป็นผู้อนุมัติและแบงก์ชาติสั่งให้สอบสวนข้อเท็จจริง
-นายวรมิตร ครุฑโต เป็นผู้บริหารภายในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ เป็นผู้รับผิดชอบงานด้านสินเชื่อของ ธพว. ต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน เกี่ยวข้องกับสินเชื่อหลายกรณี อาทิ กรณี หจก.โรงสีข้าวจงเจริญ, กรณี บ.ไรซิง(ไทยแลนด์),กรณี บ.โรงพิมพ์ประสานมิตร,กรณี บ.ต้นธรรมเชิงมน ฯลฯ โดยเฉพาะในกรณี บ.ไรซิง (ไทยแลนด์)
-นางอินทิรา โภคปุณยารักษ์ เป็นผู้บริหารภายในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ เกี่ยวข้องกับเรื่องที่คณะกรรมการ ธพว.ชุดก่อน สั่งให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีการตกแต่งบัญชีและรายงานผลประกอบการต่อคณะกรรมการ ธพว.และกระทรวงการคลัง และกรณีเข้าร่วมโครงการสวัสดิการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยกับ ธอส.โดยนำเงินของ ธพว.จำนวน 300 ล้านบาท ไปฝากไว้กับ ธอส.ในอัตรา 0.25 % ต่อปี ต่ำกว่าต้นทุนของ ธพว. เพื่อให้ได้ดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราต่ำพียง 1.75% ต่อปี และตนเองมีชื่อใช้สวัสดิการนั้นด้วย
คณะกรรมการขายหนี้ ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการ ธพว. ประกอบด้วย
-นายวรมิตร ครุฑโต เป็นประธานกรรมการคณะกรรมการขายหนี้ และเป็นกรรมการในคณะทำงานกำกับและติดตามการบริหารงาน NPL ด้วย
-นายชาญชัย โยธาวงษ์ เป็นกรรมการในคณะทำงานกำกับและติดตามการบริหารงาน NPL ด้วย
-นายจรินทร์ เตียสกุล เป็นผู้บริหารภายในตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโส ปฏิบัติหน้าที่ผู้รับผิดชอบสายงานบริหารสินทรัพย์ มีหน้าที่บังคับบัญชาหน่วยงานที่ปฏิบัติการเกี่ยวกับการขายหนี้ ตั้งแต่เริ่มต้น จนกระทั่งสิ้นสุดกระบวนการ นายจรินทร์ฯ ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีเสนอขออนุมัติชำระหนี้ปิดบัญชีให้กับลูกหนี้รายนายนฤดม นาเถิน ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ โดยคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดแรก ได้ดำเนินการสอบสวนแล้วเสร็จทุกขั้นตอนและสรุปผลการสอบสวนว่ามีความผิดวินัยร้ายแรง แต่คณะกรรมการ ธพว.แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดใหม่ เพื่อดำเนินการสอบสวนใหม่ทั้งหมด และสรุปผลว่าเป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง
-นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ เป็นผู้บริหารภายในตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโส สำนักกรรมการผู้จัดการ ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ มีความใกล้ชิดกับประธานกรรมการ
-นายประเวศ มาสวัสดิ์ เป็นผู้บริหารภายในตำแหน่งผู้อำนวยการ ฝ่ายพิธีการสินเชื่อ ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายทรัพยากรบุคคล หลังจากนั้น ธพว.มีปัญหาร้องเรียนเรื่องการเสนอแต่งตั้งผู้บริหารระดับกลางจำนวนหลายคน (รวมทั้งตนเอง) โดยขัดกับหลักเกณฑ์ของธนาคาร ต่อมาถูกย้ายไปเป็นผู้เชี่ยวชาญ
-นายภวัต วงศ์มณีวรรณ เป็นผู้บริหารภายในตำแหน่งรองผู้อำนวยการ ฝ่ายนิติการ ได้รับการคัดเลือกให้ทำหน้าที่ในคณะกรรมการขายหนี้ เพื่อให้ความเห็นด้านกฎหมาย
-นางชไมพร วัณเณรถะ เป็นผู้บริหารระดับต้น ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบริหารหนี้ เป็นผู้ปฏิบัติงานตามมติของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการขายหนี้ มีความใกล้ชิดกับนายจรินทร์ฯ ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เลขานุการของคณะกรรมการขายหนี้
นอกจากนี้ มีผู้บริหารอีกคนหนึ่งคือ นางสาวมาลิน วูวานิช ในขณะที่เป็นผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบัญชี ได้จัดทำบันทึกเสนอขออนุมัติต่อกรรมการผู้จัดการ (นายสุพจน์ อาวาส) ขอกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นอีก 10 % ให้กับลูกหนี้ 30 ราย ที่อยู่ในกองหนี้ภาคตะวันออก ในช่วงเวลาที่คณะกรรมการขายหนี้กำลังเจรจาต่อรองราคากับ บสส.ศรีสวัสดิ์ ซึ่งทำให้มูลค่าทางบัญชีสุทธิ (Net Book Value) ซึ่งใช้เป็นราคาขายขั้นต่ำของลูกหนี้ 30 ราย ลดลงจากเดิม ทำให้คณะกรรมการขายหนี้ตกลงขายหนี้กองภาคตะวันออกให้กับ บสส.ศรีสวัสดิ์ ต่ำกว่าราคาขั้นต่ำเดิม เป็นเงิน 18.9 ล้านบาท และต่อมา นางสาวมาลินฯ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
ใครมีส่วนทำให้ ธพว. เสียหาย 24 ล้านบาท? (ขายต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีสุทธิ (Net Book Value) ก่อนรื้อหลักประกัน ) หรือไม่ แค่ไหน อย่างไร? ต้องติดตามผลสรุปของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกันต่อไป
อ่านประกอบ :
เทียบ ปม โรงพิมพ์ประสานมิตร - บ.ชินวัตรไทย รง. ล่องหนทั้งคู่ ไฉน! 2 มาตรฐาน?
เปิด 15 คดีรื้อถอนหลักประกัน ธพว. ไม่มี ‘บ.ชินวัตรไทย’ มัด '2 มาตรฐาน' ของแท้ ?
แฉลูกหนี้ NPL ธพว.15 ราย รื้อถอนหลักประกัน ถูกฟ้องฉ้อโกง - บ.'พายัพ'รอด
ดูชัดๆภาพ ‘รง.-เครื่องจักร 91ล.' โรงพิมพ์ประสานมิตร หายวับ หลังเป็น NPL ธพว.
พบอีกราย! ลูกหนี้ NPL ธพว.190 ล. ‘โรงงาน-เครื่องจักร’ ล่องหน เหมือน บ.พายัพ
ธพว.สูญเงินต้น 24 ล. เหตุเพราะ ปฏิบัติการ ‘พายัพ ชินวัตร’
สัมพันธ์ลึกบิ๊ก ธพว.- อดีตนายกฯ-เร่งประมูลขายหนี้ บ.พายัพ ชินวัตร?
ปริศนา! ‘พายัพ’ ขนเงิน 120 ล. จ่ายหนี้ ธพว. ทั้งที่ บ.ขาดทุนยับ ก่อนปล่อยเป็น NPL
ปล่อยกู้ 'บ.เสี่ยพายัพ' ผิดปกติ 5 ข้อ-ส่อสูงเกินจริง 40 ล. ยุคผู้ก่อตั้งไทยรักไทย‘กก.ผจก’
หลังโฉนด บ.เสี่ยพายัพ จำนอง 3 หนก่อนกู้ ธพว.-ปริศนา 12 ปีราคาประเมิน‘ไม่เปลี่ยน’
ดูชัดๆ กรณี ธพว. ขายหนี้NPL ให้ บบส.ศรีสวัสดิ์ 201.7 ล. ราคาต่ำกว่าความเป็นจริง?
เปิดภาพชุดใหม่‘รง.-เครื่องจักร’78 ล. บ.พายัพ ลูกหนี้ ธพว. ล่องหน! ส่อฉ้อโกงหรือไม่?
INFO : ข้อสังเกต-ปมเงื่อน กรณีขายหนี้ NPL หมื่นล. ธพว. ฮั้วหรือไม่?
โชว์ภาพ รง.-เครื่องจักร บ.พายัพ ชินวัตร78 ล. NPL ธพว.หายปริศนา!ก่อนประมูลขาย
เปิดเอกสารครบ! บ.ชินวัตรไทย‘เสี่ยพายัพ’ NPL ธพว. 95 ล. ประมูลขายแค่ 10 ล.
รง.ทอผ้าไหม‘พายัพ ชินวัตร’โผล่ในกองหนี้ ธพว. ประมูลขายเอกชนแค่ 10 ล.
2 ปมล่าสุด เบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล. ธพว.‘สัมพันธ์ลึกผู้บริหาร–เมินข้อมูลสำคัญ’
5 ปมใหม่ เบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล.ธพว.- กลุ่มศรีสวัสดิ์ไม่แข่งราคาลอต2
เปิดเบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล. ธพว.3 บ.รัฐ-เอกชนร่วมแบ่งเค้ก ส่ออินไซเดอร์-ฮั้ว?
เปิด2 ปมแต่งตั้ง บิ๊กธพว.คนใหม่ ส่อมีปัญหาหลายข้อ?
14 กรณีเงื่อนงำใน ธพว.‘ปล่อยกู้-ขายลูกหนี้ NPL’ ซุกใต้พรม รอสะสาง?
เปิดเบื้องหลัง!ขายหนี้NPL 694 ล. ธพว. ให้ บ.เครือศรีสวัสดิ์ 202 ล.