- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิด 2 ปมแต่งตั้ง บิ๊ก ธพว.คนใหม่ ส่อมีปัญหาหลายข้อ?
เปิด 2 ปมแต่งตั้ง บิ๊ก ธพว.คนใหม่ ส่อมีปัญหาหลายข้อ?
เปิด 2 ปมเงื่อนกระบวนการสรรหา กรรมการผู้จัดการ ธพว.คนใหม่ หลัง ‘มงคล’รับตำแหน่งทางการ 4 ม.ค.59 ‘คุณสมบัติ กก.-ผู้ได้รับเลือก’ ส่อมีปัญหาหลายข้อ? รอ ธปท. สะสางเต็มตัว
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง นายมงคล ลีลาธรรม เป็น กรรมการผู้จัดการคนใหม่ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2558 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม2559 และทำการวันแรกเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา และเป็นช่วงเวลาที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) จะเข้าไปกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจอย่างเต็มตัวภายในไตรมาสแรกของปี 2559 หลังจากได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2558 และได้รับความเห็นชอบจาก คณะรัฐมนตี (ครม.)ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2557
พลิกกระบวนการสรรหากรรมการผู้จัดการ ธพว. พบเงื่อนปมดังนี้
1.คณะกรรมการ ธพว. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อสรรหากรรมการผู้จัดการ ตามคำสั่งที่ 41/2558 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 ประกอบด้วยกรรมการ จำนวน 5 คน ประกอบด้วย นางพรรณขนิตตา บุญครอง ประธานกรรมการ นางเสาวนีย์ กมลบุตร นายสมชาย หาญหิรัญ นายลวรณ แสงสนิท นายเวทย์ นุชเจริญ กรรมการ น.ส.นารถนารี รัฐปัตย์ เลขานุการ ในจำนวนนี้อย่างน้อย 1 คน ถูกตั้งข้อสังเกตมากที่สุด คือ นายเวทย์ นุชเจริญ
ทั้งนี้ นายเวทย์ นุชเจริญ อดีตรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกรุงไทย และกรรมการ บริษัท ศรีสวัสดิ์พาวเวอร์ 1979 จำกัด
บริษัท ศรีสวัสดิ์พาวเวอร์ 1979 จำกัด นั้นทำธุรกิจลักษณะเดียวกันกับ ธพว. คือ ให้บริการสินเชื่อรายย่อยแบบมีหลักประกัน และบริษัทดังกล่าวยังถือหุ้นร้อยละ 99.99 ในบริษัทบริหารสินทรัพย์ ศรีสวัสดิ์ จำกัด และบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด
บริษัทบริหารสินทรัพย์ ศรีสวัสดิ์ จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลซื้อหนี้ NPL (กองหนี้ภาคตะวันออก) จาก ธพว. และได้ทำสัญญาโอนสินทรัพย์กับ ธพว. มีผลตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2558 ปัจจุบันอยู่ระหว่างทยอยชำระราคาทรัพย์สินที่ประมูลได้ โดยมีระยะเวลาชำระ 2 ปี ซึ่งจะชำระหนี้เสร็จสิ้นประมาณเดือนมกราคม 2560
สำหรับบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด เป็นคู่สัญญากับ ธพว.โดยได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ติดตามหนี้ NPL รายย่อยที่ไม่มีหลักประกัน โดยทำสัญญากับ ธพว. เมื่อประมาณเดือน มกราคม 2558 เช่นกัน
การขายหนี้ NPL ของ ธพว.ให้กับ บริษัทบริหารสินทรัพย์ ศรีสวัสดิ์ จำกัด ครั้งนั้น มีข้อสังเกตจากผู้ตรวจสอบ ธปท. ถึงความเหมาะสมของราคาที่อนุมัติขาย และวิธีการต่อรองราคาที่ทำให้ ธพว.ไม่ได้รับประโยชน์สูงสุด
ขณะที่ การประมูลขายหนี้ NPL ของ ธพว.สำหรับกองหนี้อื่น ๆ ยังคงดำเนินการต่อเนื่องในปัจจุบัน ซึ่งบริษัทบริหารสินทรัพย์ต่าง ๆ สามารถเข้าร่วมประมูลได้ รวมถึงบริษัทบริหารสินทรัพย์ ศรีสวัสดิ์ จำกัด ด้วย
ล่าสุดก่อนสิ้นปี 2558 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2558 ธพว.ได้ลงนามในสัญญาขายหนี้ NPL อีกจำนวนหนึ่ง ให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ ศรีสวัสดิ์ จำกัด ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ เอส ดับบลิว พี จำกัด
2.พ.ร.บ. คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ตามเอกสารแนบ) กำหนดไว้ในมาตรา 8 จัตวา ว่า “ในการจ้างและแต่งตั้งผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจ ให้คณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจนั้น ตั้งคณะกรรมการสรรหาคณะหนึ่งมีจำนวนห้าคน ซึ่งต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 ตรี (1) (3) (4) (5) (6) (11) และ (12)........”
ลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 8 ตรี (12) กำหนดว่า “ไม่เป็นหรือภายในระยะเวลาสามปีก่อนวันได้รับแต่งตั้ง ไม่เคยเป็นกรรมการหรือผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในการจัดการหรือมีส่วนได้ส่วนเสียในนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน ผู้ร่วมทุน หรือมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐวิสาหกิจนั้น เว้นแต่การเป็นประธานกรรมการ หรือกรรมการในนิติบุคคลดังกล่าวโดยการมอบหมายของรัฐวิสาหกิจนั้น”
3. หนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค 0803.2/ว.90 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2551 เรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนและแนวทางการสรรหาผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ ตาม พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานฯ ได้กำชับว่า ในการพิจารณาคัดเลือกคณะกรรมการสรรหา คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจควรใช้ดุลยพินิจอย่างรอบคอบเพื่อให้ได้บุคคลที่เหมาะสม
ขณะเดียวกัน นายเวทย์ ยังเป็นผู้ทรงคุณวุฒิของ ธพว. โดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการคณะต่าง ๆ ของ ธพว.อีกหลายคณะ ต้องรอดูว่า ธปท.จะพิจารณาอย่างไร
กล่าวสำหรับ นายมงคล ลีลาธรรม เคยเป็นกรรมการผู้จัดการและกรรมการบริหาร บริษัทเงินทุน
หลักทรัพย์ มหานครทรัสต์ จำกัด ซึ่งถูก ธปท.สั่งปิดกิจการและเพิกถอนในอนุญาต และเป็นรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ถูกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2558 พร้อมผู้อำนวยการ และเป็นผู้ฟ้องคดี ต่อศาลปกครอง เป็นคดีพิพาทกับหน่วยงานของรัฐ
แหล่งข่าวจาก กระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กรณีการเป็นอดีตผู้บริหาร บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ มหานครทรัสต์ จำกัด ซึ่งถูก ธปท.สั่งปิดกิจการและถูกเพิกถอนใบอนุญาตนั้น อาจมีผู้ร้องเรียนว่ามีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในร่างประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งกรรมการ ผู้จัดการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือที่ปรึกษาของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งกำลังจะประกาศใช้ในไตรมาสแรกของปี 2559 (โดยเลื่อนมาจากวันที่ 1 มกราคม 2559) หรือไม่
เนื่องจาก ในข้อ 5.2 กำหนดลักษณะต้องห้าม
5.2.1 (4) “เคยเป็นผู้มีอำนาจในการจัดการ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะที่สถาบันการเงิน หรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่น รวมทั้งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ถูกเพิกถอนใบอนุญาต.....” โดยความหมายของ “ผู้มีอำนาจในการจัดการ” ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 หมายถึง ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ
โดยประกาศฉบับดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของหลักเกณฑ์การกำกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่ง ธปท.ได้ยกร่างและส่งให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อแสดงความคิดเห็น พร้อมกับเรียกประชุมผู้บริหารสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อทำความเข้าใจไปแล้วตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2558
และคณะกรรมการสรรหากำหนดคุณสมบัติทั่วไปของผู้สมัครไว้ในประกาศข้อ 1.11 ว่า
“ไม่เคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการของธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น ที่ได้กระทำหรือมีส่วนในการกระทำ อันเป็นเหตุให้ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินนั้นถูกเพิกถอนในอนุญาต”
ทั้งกรณีแต่งตั้งกรรมการสรรหา และ กรณีคุณสมบัติของผู้บริหารคนใหม่ เป็นประเด็นที่ ธปท.จะต้องตรวจสอบให้กระจ่างชัด เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลในองค์กร ธพว.อย่างแท้จริง
เนื่องเพราะก่อนหน้านี้ ธพว.ถูกตั้งข้อสังเกตในหลายกรณี
อ่านประกอบ:
14 กรณีเงื่อนงำใน ธพว.‘ปล่อยกู้-ขายลูกหนี้ NPL’ ซุกใต้พรม รอสะสาง?