- Home
- Investigative
- ข่าวทั่วไปศูนย์ข่าวสืบสวน
- เปิดเบื้องหลัง!ขายหนี้ NPL 694 ล. ธพว. ให้ บ.เครือศรีสวัสดิ์ 202 ล.
เปิดเบื้องหลัง!ขายหนี้ NPL 694 ล. ธพว. ให้ บ.เครือศรีสวัสดิ์ 202 ล.
เปิดเอกสารไขเบื้องหลังกรณี ธพว.ประมูลขายหนี้ NPL กองภาค ตอ. 30 ราย ยอดคงค้าง 694 ล. ให้ กลุ่ม บ.บริหารสินทรัพย์ศรีสวัสดิ์ 202 ล. ก่อนถูกร้องปลัด ก.คลัง สอบตกแต่งบัญชี เอื้อประโยชน์เอกชนหรือไม่?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานก่อนหน้านี้ว่า ลูกหนี้ NPL รายใหญ่ 20 อันดับแรก ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เกิดจากการปล่อยสินเชื่อในช่วงปี 2552-2555 จำนวน 17 ราย ปี 2546 ปี 2548 และปี 2557 ปีละ 1 ราย ในจำนวนนี้บางรายถูกตั้งข้อสังเกตในกระบวนการอนุมัติสินเชื่อ ได้แก่
กรณี ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) ดรอปอินน์ ลูกหนี้ NPL อันดับ 4 วงเงิน 199 ล้านบาท
กรณี บริษัท ไรซิง (ไทยแลนด์ จำกัด) วงเงิน 195 ล้านบาท NPL อันดับ 5
กรณี ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) โรงสี ป.น่ำเฮง ลูกหนี้ NPL อันดับที่ 7 วงเงิน 159 ล้านบาท
กรณี หจก.โรงสีข้าวจงเจริญ วงเงิน 125 ล้านบาท NPL อันดับ 12
กรณี บริษัท โรงพิมพ์ประสานมิตร ลูกหนี้ NPL อันดับ 6 จำนวน 180 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน กรณีการปล่อยกู้ บริษัท เอสคอม พลัส (ไทยแลนด์) จำกัด เพื่อซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโครงการแก่งกระจานคันทรีคลับ แอนด์ รีสอร์ท ซึ่งเป็นโครงการที่มีปัญหาหยุดดำเนินการจากบริษัท เพชรไทยพัฒนา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ รวมยอดหนี้ 347.5 ล้านบาท ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งข้อสังเกตระบุว่า เป็นการให้สินเชื่อเพื่อซื้อโครงการที่มีปัญหาหยุดดำเนินการจากบริษัทแม่เพื่อมาดำเนินการต่อ มีความเป็นไปได้ยากที่โครงการจะประสบผลสำเร็จ จัดอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่มีความเสี่ยง
กรณีการให้สินเชื่อกรณี บริษัท เซาท์ซีรีสอร์ท จำกัด ยอดหนี้ 194.4 ล้านบาท การวิเคราะห์สินเชื่ออาจไม่รัดกุมเพียงพอ
กรณี บริษัท สิริวัฒนาธัญกิจ จำกัด ผู้ประกอบการโรงสีข้าวใน จ.อุตรดิตถ์ ยอดหนี้ 466.4 ล้านบาท การให้สินเชื่อโครงการสินเชื่อเพื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงานอาจไม่เป็นตามวัตถุประสงค์
คราวนี้มาดูกรณีการประมูลขายลูกหนี้ NPL กันบ้าง
การประมูลขายลูกหนี้ NPL นั้น กลุ่มลูกหนี้ที่มีหลักประกัน 10,564 ล้านบาท ธนาคารจะทำการประมูลขาย โดยแบ่งออกเป็น 7 กอง ตามภูมิภาคที่เป็นที่ตั้งของหลักประกันและคัดเลือกหนี้กองภาคตะวันออกเป็นโครงการนำร่องส่วนที่เหลือดำเนินการขายภายในปี 2558
สำหรับการคัดเลือกลูกหนี้ที่จะขาย ธนาคารกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ต้องเป็นหนี้ NPL และลูกหนี้ ได้หยุดดำเนินกิจการ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่มีความสามารถหรือ มีความสามารถชำระหนี้ต่ำ โดยมีคณะกรรมการขายหนี้กำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามข้อบังคับธนาคาร
ลำดับเงื่อนปมดังนี้
12 พ.ย.57 คณะกรรมการ ธพว.อนุมัติในหลักการให้ขาย NPL กลุ่มลูกหนี้ภาคตะวันออกรวม 37 ราย เงินต้นคงเหลือ 499.20 ล้านบาท มูลค่าหลักประกัน 665.40 ล้านบาท
21 พ.ย.57 ธพว.ถอดลูกหนี้ 7 รายออกจากกลุ่มลูกหนี้ที่จะขาย คงเหลือลูกหนี้ 30 ราย เงินต้นคงเหลือ 316.24 ล้านบาท (ยอดหนี้คงค้างทั้งหมด 694 ล้านบาท) มูลค่าหลักประกัน 518.43 ล้านบาท
16 ม.ค.58 หลังจากผ่านขั้นตอนต่างๆของการประมูลมาแล้ว คณะกรรมการขายหนี้ มีมติเห็นชอบให้ บริษัท บริหารสินทรัพย์ศรีสวัสดิ์ จำกัด เป็นผู้ชนะการเสนอราคา โดยเสนอราคา 196.75 ล้านบาท และให้เจรจาต่อรองราคาอีกครั้ง
21 ม.ค.58 มีการเจรจาต่อรองครั้งที่ 1 บริษัท บริหารสินทรัพย์ศรีสวัสดิ์ จำกัด ปรับเพิ่มราคาเป็น 201.75 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 5 ล้านบาท) การเจรจาต่อรองครั้งที่สอง บริษัท บริหารสินทรัพย์ศรีสวัสดิ์ จำกัด ยืนยันราคาเดิม
22 ม.ค.58 คณะกรรมการขายหนี้ มีมติให้ บริษัท บริหารสินทรัพย์ศรีสวัสดิ์ จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล ในราคา 201.75 ล้านบาท (ไม่มีการประกาศผู้ชนะการประมูล บนเว็บไซต์ ของ ธพว.เหมือนกรณีการประมูลรายอื่น)
23 ม.ค. 58 คณะกรรมการขายหนี้ นำเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะทำงานกำกับและบริหารหนี้ NPL และคณะกรรมการฟื้นฟูกิจการ ตามลำดับ
กระทั่ง 26 ม.ค.58 คณะกรรมการขายหนี้ เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ ธพว. และได้รับอนุมัติขายในราคา 201.75 ล้านบาท
มีข้อมูลระบุว่า
21 ม.ค.58 ในช่วงเจรจาต่อรองราคาครั้งที่สอง ผู้อำนวยการอาวุโสคนหนึ่งของธนาคารฯ ได้ทำบันทึกขออนุมัติต่อกรรมการผู้จัดการ ขอความเห็นชอบ “กันสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ของเงินต้นคงค้าง สำหรับลูกหนี้ NPL ที่สำรวจพบอย่างชัดเจนว่าไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้” และได้รับการอนุมัติ
22 ม.ค.58 ผู้อำนวยการอาวุโสอีกคนหนึ่ง จัดส่งลูกหนี้จำนวน 43 ราย เพื่อให้ฝ่ายบัญชีกันสำรองเพิ่ม โดย 30 ราย จาก 43 ราย คือกลุ่มลูกหนี้ NPL ที่คณะกรรมการขายหนี้กำลังเจรจาต่อรองกับ บริษัท บริหารสินทรัพย์ศรีสวัสดิ์ จำกัด
หลังจากกันสำรองเพิ่มขึ้น และทำให้มูลค่าทางบัญชีลดลงแล้ว คณะกรรมการขายหนี้ มีมติขายหนี้ให้แก่ บริษัท บริหารสินทรัพย์ศรีสวัสดิ์ จำกัด ในวันเดียวกัน (มูลค่าทางบัญชี หรือ Book Value คือ สินทรัพย์รวม ลบด้วย หนี้สินรวม)
กรณีนี้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า หากไม่กันสำรองเพิ่มขึ้น มูลค่าทางบัญชีจะเท่ากับ 220.67 ล้านบาท ซึ่งเมื่อตกลงราคาขายในราคา 201.75 ล้านบาท จะทำให้ ธพว.ขาดทุนทางบัญชี 18.92 ล้านบาท
การกันสำรองเพิ่มขึ้น และการอนุมัติขายหนี้ NPL โดยอ้างอิงมูลค่าทางบัญชีที่จัดทำขึ้นใหม่ในวันเดียวกันคือ 22 ม.ค.58 ส่อแสดงให้เห็นถึงเจตนาที่จะทำให้มูลค่าทางบัญชีลดลง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขายหนี้ NPL ในราคาต่ำลง ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เป็นการตกแต่งบัญชีเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เอกชนหรือไม่ ?
กรณีดังกล่าวล่าสุดถูกร้องเรียนต่อปลัดกระทรวงการคลังให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ขณะเดียวกันถูกร้องเรียนต่อธนาคารแห่งประเทศไทยอีกทางหนึ่ง
สำหรับ บริษัท บริหารสินทรัพย์ศรีสวัสดิ์ จำกัด ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท บริหารสินทรัพย์ เอส ดับบลิว พี จำกัด ทุนจดทะเบียน 25 ล้านบาท ประกอบธุรกิจ บริหารสินทรัพย์ และติดตามทวงหนี้ ที่ตั้งเลขที่ 33/4 อาคารเดอะไนน์ ทาวเวอร์ แกรนด์ พระราม 9 บี ชั้น 15 ถนนพระราม 9 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่ น.ส.ดวงใจ แก้วบุตตา
น.ส.ธิดา แก้วบุตตา นายอวยชัย สมกลิ่น นายสมยศ เงินดำรง เป็นกรรมการ
เป็นอีกกรณีที่ต้องรอผลข้อเท็จจริงกันต่อไป
อ่านประกอบ :
ไขปมข้อสังเกต ธปท. ‘โรงสีข้าว’จ.อุตรดิตถ์ กู้ ธพว.480 ล.-ชำระค่าหุ้น 60 ล.จริง?
‘เอกสาร’ขาดความน่าเชื่อถือ!กรณี ธพว. ปล่อยกู้ รร.ภูเก็ตนักธุรกิจใหญ่ 194 ล.
เปิดไส้ใน ธพว.ปล่อยกู้ 347.5 ล. ซื้อที่ดินโครงการปัญหา‘แก่งกระจาน’บ.นักธุรกิจดัง
ค้างจ่ายภาษีอื้อ!สรรพากรบี้ รร.เกาะพะงัน ลูกหนี้ NPL ธพว. 199 ล. -สาวสึก‘ผู้ถือหุ้น’
ปล่อยกู้ซื้อที่ดินเปล่า ‘โรงพิมพ์ประสานมิตร’ NPL ธพว. 180 ล. -ศาลสั่งล้มละลาย
ใช้เงินสด 30.2 ล. เพิ่มทุนก่อนกู้! ปริศนา โรงสี จ.ชัยนาท ลูกหนี้ NPL ธพว.159 ล.
เพิ่มทุน 50 ล.ด้วยเงินสด!ปริศนา โรงแรมเกาะพะงัน ลูกหนี้ NPL ธพว.199 ล.
แฟ้มลับ ธปท.กรณี ธพว.ปล่อยกู้ ร.ร. นานาชาติ ก่อนติด NPL อันดับหนึ่ง359 ล.
เปิดชื่อ 20 ลูกหนี้ NPL รายใหญ่ ธพว.โรงสีอื้อ 6 แห่ง-ยอดรวม 2.7 หมื่นล้าน
ปิดตำนาน 22 ปี“โรงพิมพ์ประสานมิตร”ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์-ขาดทุนสะสม 7 ล้าน