ธพว.สูญเงินต้น 24 ล. เหตุเพราะ ปฏิบัติการ ‘พายัพ ชินวัตร’
การรื้อถอนหลักประกันของลูกหนี้ มีผลต่อราคาขายในการประมูลขายหนี้ แต่บอร์ด ธพว. กลับไม่ดำเนินใด ๆ ปล่อยให้มีการตัดตอนขายลูกหนี้รายนี้ออกไป โดยขายต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีสุทธิ (Net Book Value) ก่อนรื้อหลักประกัน เป็นเงินถึง 24 ล้านบาท...
สืบเนื่องมาจากกรณีการปล่อยสินเชื่อให้แก่ บริษัท ชินวัตรไทย จำกัด ของ ‘พายัพ ชินวัตร’ โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ซึ่งตกเป็นข่าวกก่อนหน้านี้
หลังจาก บริษัท ชินวัตรไทย จำกัด ปฏิบัติการ ทยอยขนเครื่องจักรเกือบ 300 รายการ ออกไปจากโรงงานที่เป็นหลักประกันกับ (ธพว. ในช่วงประมาณปี 2552 แล้ว จากนั้นอีกไม่นาน ก็ได้ปฏิบัติการในขั้นต่อไปคือ รื้ออาคารโรงงานทั้งหมด ในลักษณะไม่ให้เหลือวัสดุแม้แต่ชิ้นเดียวที่อยู่เหนือระดับพื้นดินขึ้นมา (เห็นได้จากสภาพที่ดินหลังอาคารถูกรื้อที่ราบเป็นหน้ากลอง) เพื่อนำเอาวัสดุทุกชิ้นไปเปลี่ยนเป็นเงินสดในช่วงที่ ‘บ.พายัพ’ ถูกคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โดยได้นำเอาเครื่องมือหนักพร้อมกับระดมคนงานจำนวนมากและรถบรรทุกอีกหลายคัน ลำเลียงเข้าไปยังบริเวณโรงงาน ในลักษณะคล้ายกับกองกำลังจู่โจมเข้าไป เพื่อปฏิบัติภารกิจที่ต้องแข่งกับเวลา เนื่องจากต้องเร่งรีบเพราะไม่ใช่การรื้อถอนอาคารตามปกติ?
โดยคาดคะเนได้ว่า การรื้อถอนอาคารโรงงานเริ่มต้นด้วยการรื้อวัสดุมุงหลังคาก่อน จนกระทั่งเหลือแต่โครงหลังคาที่เป็นเหล็ก จากนั้นใช้ตู้เชื่อมตัดโครงเหล็กเป็นท่อน ๆ ขนใส่รถบรรทุก แล้วจึงรื้อผนังปูนโดยถอดประตูหน้าต่างทั้งหมดออกก่อน แล้วใช้รถแบ็คโฮล กระแทกผนังที่อยู่ส่วนล่างให้ค่อย ๆ พังลงมา และใช้แรงงานช่วยทุบในส่วนที่แขนของรถแบ็คโฮลยื่นไปไม่ถึง สำหรับเสาและคานที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ใช้รถแบ็คโฮลและแรงงานกะเทาะคอนกรีตที่หุ้มอยู่ภายนอกออกจนกระทั่งเหลือเฉพาะโครงเหล็กข้างใน แล้วจึงใช้ตู้เชื่อมตัดเหล็กลำเลียงใส่รถบรรทุกขนออกไป
อาคารทั้ง 9 หลัง คาดว่ากว่าจะรื้อถอนและขนวัสดุออกไปได้ทั้งหมดในสภาพไม่เหลือแม้แต่ตอเช่นที่เห็นในรูปถ่าย ใช้เวลาอย่างเร่งรีบที่สุดก็ไม่น่าจะต่ำกว่า 2-3 สัปดาห์
โครงสร้างเหล็กที่ตัดออกมา ประตู หน้าต่าง และวัสดุมุงหลังคา น่าจะนำไปขายให้กับร้านค้าของเก่าที่เป็นแหล่งรับซื้อ เพื่อที่จะนำไปขายต่อให้กับผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารโรงงานอีกที ส่วนเศษอิฐจากผนังอาคารนำไปขายให้กับผู้รับเหมาถมที่
หลักประกันถูกรื้อ ทำให้ประมูลขายลูกหนี้ได้เงินแค่ 10 ล้านบาท แต่ ธพว. บอกว่ามีกำไร
การที่หลักประกันส่วนที่เป็นเครื่องจักรและอาคารโรงงานล่องหนไป ทำให้ ธพว.ประมูลขายลูกหนี้ได้ราคาต่ำลงเพียง 10 ล้านบาท ในขณะที่มีหนี้เงินต้นค้างอยู่ 34 ล้านบาท ซึ่งถ้านับรวมหนี้ทั้งหมด ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยทุกบาททุกสตางค์แล้ว เป็นเงินเกือบ 100 ล้านบาท เนื่องจากลูกหนี้ ผิดนัดชำระหนี้กับ ธพว.มาเกือบ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งยอดหนี้ขณะนั้นเป็นเงินต้น 34 ล้านบาท และดอกเบี้ยค้างชำระอีก 20 ล้านบาท ถ้าคิดดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดต่อเนื่องมาจนถึงสิ้นปี 2557 ก่อนที่จะประมูลขายลูกหนี้ออกไป ก็จะเป็นยอดหนี้จริง ๆ เกือบ 100 ล้านบาท
แต่ทำไมเมื่อ ธพว.ประมูลขายลูกหนี้รายนี้ ซึ่งผู้ประมูลให้ราคาเพียง 10 ล้านบาท คณะกรรมการขายหนี้จึงบอกว่าราคานี้ ธพว.มีกำไร แล้วจึงนำเสนอคณะกรรมการ ธพว.เพื่อขออนุมัติขาย บอร์ด ธพว.ก็เห็นชอบว่ามีกำไรจริง จึงอนุมัติให้ขายได้
พูดง่าย ๆ ว่า ลูกหนี้เป็นหนี้ ธพว.อยู่ 100 ล้านบาท ต่อมาหลักประกันถูกรื้อถอนออกไป และ ธพว. นำลูกหนี้รายนี้ออกประมูลขาย (ซึ่งก็คือการโอนขายสิทธิเรียกร้องที่มีต่อลูกหนี้รายนี้พร้อมกับสิทธิในหลักประกันทั้งหมดให้กับผู้ที่ประมูลซื้อได้) ได้ราคาเพียง 10 ล้านบาท แล้วบอกว่า ธพว.มีกำไร ทำไมถึงพูดเช่นนั้นได้ จึงต้องมาดูกันว่าเขามีวิธีการคิดอย่างไร? ซึ่งคิดได้ 4 วิธี คือ
วิธีที่ 1 คิดอย่างชาวบ้าน คือ ลูกหนี้เป็นหนี้ทั้งสิ้น 100 ล้านบาท มีคนเสนอซื้อลูกหนี้ 10 ล้านบาท ชาวบ้านเห็นว่าเสนอซื้อต่ำมากไปถึง 90 ล้านบาท เพราะฉะนั้น ชาวบ้านไม่ขายลูกหนี้รายนี้
วิธีที่ 2 คิดอย่างนักบุญ คือ ลูกหนี้เป็นหนี้ทั้งสิ้น 100 ล้านบาท มีคนเสนอซื้อลูกหนี้ 10 ล้านบาท นักบุญดูเฉพาะเงินต้น 34 ล้านบาท โดยใจบุญไม่เอาดอกเบี้ย 66 ล้านบาท แต่ก็ยังขาดทุนถึง 24 ล้านบาท เพราะฉะนั้น นักบุญไม่ขายลูกหนี้รายนี้
วิธีที่ 3 คิดอย่างนักการธนาคาร ลูกหนี้เป็นหนี้ทั้งสิ้น 100 ล้านบาท มีคนเสนอซื้อลูกหนี้ 10 ล้านบาท นักการธนาคารดูทุกเรื่อง ทั้งเงินต้น 34 ล้านบาท และราคาประเมินหลักประกัน 15.5 ล้านบาท นักการธนาคารมองว่า ขายต่ำกว่าเงินต้น 24 ล้านบาท และขายต่ำกว่าราคาหลักประกัน 5.5 ล้านบาท นักการธนาคารจะสงสัยว่าเงินต้นคงเหลือ 34 ล้านบาท แต่ทำไมจึงมีราคาประเมินหลักประกันเพียง 15.5 ล้านบาท มีปัญหาอะไรกับหลักประกัน เมื่อดูต่อไปก็จะพบความจริงว่าหลักประกันถูกรื้อถอน นักการธนาคารจะยังไม่ขายลูกหนี้รายนี้
วิธีที่ 4 คิดอย่าง ธพว. ลูกหนี้เป็นหนี้ทั้งสิ้น 100 ล้านบาท มีคนเสนอซื้อลูกหนี้ 10 ล้านบาท ธพว. มองว่า เงินต้นคือ 34 ล้านบาท แต่ได้กันสำรองไว้แล้ว 28 ล้านบาท จึงคงเหลือมูลค่าทางบัญชีสุทธิ (Net Book Value) 6 ล้านบาท โดย ธพว.ไม่ได้มองว่าเงินกันสำรอง 28 ล้านบาท เป็นเงินของตนเองที่เสมือนว่าได้ชำระหนี้ล่วงหน้าให้กับลูกหนี้ไปก่อนแล้วซึ่งเป็นส่วนที่จะต้องเรียกคืนกลับมา และ ธพว.ไม่ได้มองราคาประเมินหลักประกันว่ามีราคาเท่าไร จึงอาจจะไม่เห็นว่าหลักประกันถูกรื้อ แต่ ธพว. พิจารณาเพียงเปรียบเทียบเฉพาะราคาเสนอซื้อ 10 ล้านบาท ว่าสูงกว่ามูลค่าทางบัญชีสุทธิ (Net Book Value) 6 ล้านบาท เป็นจำนวน 4 ล้านบาท ถือว่าได้กำไรทางบัญชีในปีที่ขายลูกหนี้ จำนวน 4 ล้านบาท ธพว.ขายลูกหนี้รายนี้ทันทีในราคา 10 ล้านบาท
วิธีคำนวณหามูลค่าทางบัญชีสุทธิ (Net Book Value)
ธพว.ใช้มูลค่าทางบัญชีสุทธิ (Net Book Value) ของลูกหนี้แต่ละราย เป็นตัวกำหนดราคาขั้นต่ำในการประมูลขายลูกหนี้ มาดูว่าผลจากปฏิบัติการโกงเจ้าหนี้ของ “พายัพ” ทำให้มูลค่าทางบัญชีสุทธิ (Net Book Value) ของ บ.ชินวัตรไทย เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
และเพื่อให้เกิดความเข้าใจในการคำนวณหามูลค่าทางบัญชีสุทธิ (Net Book Value) ที่จะทำให้เห็นว่า การที่ ธพว.นำเอามูลค่าทางบัญชีสุทธิ (Net Book Value) ไปใช้เป็นตัวกำหนดราคาขั้นต่ำในการประมูลขายหนี้ NPL โดยไม่พิจารณาปัจจัยอื่น ๆ มีความเหมาะสม หรือไม่ จึงอธิบายให้เห็นถึงที่มาของมูลค่าทางบัญชีสุทธิ (Net Book Value) อย่างง่าย ๆ ได้ดังนี้
มูลค่าทางบัญชีสุทธิ (Net Book Value) หมายถึง เงินต้นและดอกเบี้ยที่บันทึกอยู่ในบัญชี หักด้วย เงินกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญ
ดอกเบี้ยที่บันทึกอยู่ในบัญชี คือดอกเบี้ยที่ธนาคารรับรู้เป็นรายได้ในช่วงที่ลูกหนี้ยังเป็นหนี้ปกติ หรือค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน (ยังไม่เป็น NPL) แต่หลังจากลูกหนี้เป็น NPL หรือค้างชำระเกิน 3 เดือน ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือนแต่ลูกหนี้ไม่ได้นำเงินไปชำระให้กับธนาคาร ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นธนาคารจะยังไม่ถือเป็นรายได้และไม่นำไปบันทึกบัญชี ไม่ว่าลูกหนี้จะค้างชำระกี่เดือนกี่ปีก็ตาม ลูกหนี้ NPL ที่ค้างชำระมาเป็นเวลานาน จึงอาจจะมีดอกเบี้ยที่ไม่บันทึกบัญชี สูงกว่าหนี้เงินต้น 2-3 เท่า ก็มี
ดังนั้น มูลค่าทางบัญชีของลูกหนี้ (ถึงแม้ยังไม่หักเงินกันสำรองฯ) ก็ไม่ใช่ยอดหนี้ทั้งหมดของลูกหนี้ เพราะไม่ได้นับรวมดอกเบี้ยที่ยังไม่ได้บันทึกบัญชี มูลค่าทางบัญชีของลูกหนี้ (ก่อนหักเงินกันสำรองฯ) จึงไม่ใช่ภาระหนี้ทั้งหมดของลูกหนี้
การกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญ ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์สากล จะกำหนดให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่อยู่ในกำกับดูแล กันเงินจำนวนหนึ่งไว้ เผื่อว่าในอนาคตยอดหนี้ที่บันทึกอยู่ในบัญชี ไม่สามารถเรียกคืนจากลูกหนี้ได้ จะได้ไม่กระทบกระเทือนถึงฐานะของธนาคารในช่วงเวลาในอนาคตนั้น เพราะเมื่อได้กันเงินของธนาคารส่วนหนึ่งเอาไว้ตั้งแต่วันนี้ เพื่อชดเชยกรณีเกิดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ก็จะทำให้ฐานะของธนาคารในปัจจุบันและในอนาคตมีความมั่นคง ไม่ต้องเสี่ยงต่อความเสียหายอย่างปัจจุบันทันด่วน จากการไม่ได้รับชำระหนี้คืนจากลูกหนี้ จำนวนเงินที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินได้ตั้งเผื่อไว้นี้ เรียกว่ากันสำรองหนี้สงสัยจะสูญ
หลักเกณฑ์การกันสำรองของ ธปท.ในปัจจุบัน กรณีลูกหนี้ไม่มีหลักประกัน ธนาคารจะต้องกันสำรองเท่ากับยอดหนี้ทั้งหมดที่บันทึกอยู่ในบัญชี ส่วนกรณีลูกหนี้มีหลักประกัน จะสามารถนำเอาราคาประเมินหลักประกันมาหักจากยอดหนี้ที่บันทึกอยู่ในบัญชี แล้วจึงจะเป็นจำนวนเงินที่จะต้องกันสำรอง โดยราคาประเมินหลักประกันที่จะสามารถนำมาหักได้ ธปท.กำหนดไว้ไม่เกิน 62% ของราคาประเมินหลักประกัน (ตัวเลข 62% ธปท.เรียกว่า มูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับจากการขายหลักประกัน ซึ่งมีตัวแปรต่าง ๆ ที่จะนำไปใช้ในการคำนวณ ซึ่งคำนวณแล้วได้เท่ากับ 62%)
มูลค่าทางบัญชีสุทธิ (Net Book Value) จะเท่ากับ มูลค่าทางบัญชี (เงินต้นและดอกเบี้ยที่บันทึกอยู่ในบัญชี) หักด้วย กันสำรองหนี้สงสัยจะสูญ
หรือพูดง่าย ๆ ว่า มูลค่าทางบัญชีสุทธิ (Net Book Value) เท่ากับ ยอดหนี้ส่วนที่ไม่ได้กันสำรอง
และพูดง่าย ๆ ว่า เงินกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญ เสมือนเงินที่ธนาคารชำระหนี้ล่วงหน้าแทนลูกหนี้
ดังนั้น เมื่อธนาคารขายลูกหนี้ออกไป ได้เงินเพียงเท่ากับ มูลค่าทางบัญชีสุทธิ (Net Book Value) หรือก็คือเท่ากับยอดหนี้ส่วนที่ไม่ได้กันสำรอง เมื่อนำไปบันทึกบัญชีเพื่อปิดบัญชีลูกหนี้รายนั้นเนื่องจากขายให้คนอื่นไปแล้ว ธนาคารก็จะนำเงินที่ได้จากการขายลูกหนี้ไปรวมกับเงินที่ได้กันสำรองไว้ ก็จะเท่ากับยอดหนี้ทั้งหมดของลูกหนี้ที่บันทึกอยู่ในบัญชี ทำให้ไม่มีผลขาดทุนทางบัญชี
จึงเป็นที่มาของการนำเอามูลค่าทางบัญชีสุทธิ (Net Book Value) มาเป็นตัวกำหนดราคาขายขั้นต่ำในการประมูลขายลูกหนี้ NPL ของ ธพว. เพราะแม้ขายได้เพียงราคาขั้นต่ำก็จะไม่มีผลขาดทุนทางบัญชีในปีปัจจุบัน เพราะ ธพว.ได้กันสำรองไว้แล้ว หรืออีกนัยหนึ่งได้ชำระหนี้ล่วงหน้าแทนลูกหนี้ไปแล้วส่วนหนึ่ง
แต่ถ้าขายลูกหนี้ได้ราคาสูงกว่า มูลค่าทางบัญชีสุทธิ (Net Book Value) ก็เรียกว่าได้กำไรทางบัญชี โดยไม่จำเป็นต้องคิดถึงเงินของธนาคารที่ได้ชำระหนี้ล่วงหน้าให้กับลูกหนี้จากการกันสำรองมาก่อนหน้านั้น
แต่การที่จะนำเอามูลค่าทางบัญชีสุทธิ (Net Book Value) ไปใช้ต่อรองราคาขายกับผู้ประมูลซื้อ โดยไม่ได้พิจารณาราคาประเมินหลักประกันเลย เป็นเรื่องที่ไม่มีธนาคารหรือสถาบันการเงินไหนทำกัน จึงเป็นเหตุให้ผู้ตรวจสอบ ธปท.ตั้งข้อสังเกตในรายงานการตรวจสอบ ธพว.ว่า เป็นการขายหนี้ที่ทำให้ ธพว.ไม่ได้รับประโยชน์สูงสุด เนื่องจากพิจารณาเฉพาะมูลค่าทางบัญชี (สุทธิ) โดยไม่นำราคาประเมินหลักประกันมาประกอบการพิจารณา
แต่การที่ ธพว.กล้าที่จะตั้งราคาขายหนี้ลูกหนี้ทุกรายเท่ากับมูลค่าทางบัญชีสุทธิ (Net Book Value) เป็นเพราะผู้มีอำนาจของ ธพว.เคยเป็นหัวหน้าของผู้ตรวจสอบ และเป็นผู้ที่รู้ถึงกลไกทางด้านบัญชีเป็นอย่างดี หรือไม่
ลูกหนี้ราย บ.ชินวัตรไทย ขณะที่หลักประกันยังไม่ได้ถูกรื้อถอน ราคาประเมินหลักประกันในปี 2552 ที่คาดว่าเครื่องจักรยังอยู่ครบและอาคารโรงงานยังไม่ถูกรื้อ ราคาประเมินในปีนั้น หลังหักค่าเสื่อมราคาเครื่องจักรและอาคารแล้ว อยู่ที่ประมาณ 80 ล้านบาท นำราคาประเมินหลักประกันไปหักจากยอดหนี้ก่อนกันสำรองได้ 62 % หรือประมาณ 50 ล้านบาท ขณะที่ปี 2552 ลูกหนี้มียอดหนี้ที่บันทึกอยู่ในบัญชี 34 ล้านบาท ดังนั้น จึงสามารถนำราคาประเมินหลักประกัน 62% ไปหักจากยอดหนี้ได้ทั้งหมด ดังนั้น จึงไม่ต้องกันสำรองแม้แต่บาทเดียว เมื่อไม่ต้องกันสำรองเลย ก็ทำให้มูลค่าทางบัญชีสุทธิ (Net Book Value) ยังคงเท่ากับ 34 ล้านบาท ดังนั้นราคาขายขั้นต่ำของ บ.ชินวัตรไทย ควรจะเท่ากับ 34 ล้านบาท แต่เมื่อหลักประกันถูกรื้อถอนและขนย้ายออกไป เหลือราคาแค่ 15.5 ล้านบาท โดย 62% ของ 15.5 ล้านบาท คือประมาณ 9 ล้านบาท ธพว.ต้องกันสำรองในครั้งแรกเท่ากับ 34-9 คือ 25 ล้านบาท แต่มีการกันสำรองเพิ่มขึ้นอีก 10% ของเงินต้นระหว่างเจรจากับผู้ซื้อ (ตามที่เคยเสนอข่าว) คือ กันสำรองเพิ่มขึ้นอีก 3.4 ล้านบาท รวมเป็นเงินกันสำรอง ประมาณ 28 ล้านบาท เมื่อนำเงินกันสำรอง 28 ล้านบาท ไปหักจากยอดหนี้ในบัญชี 34 ล้านบาท จะเหลือเป็นมูลค่าทางบัญชี ประมาณ 6 ล้านบาท (ตัวเลขจริง คือ 6,188,366.13 บาท)
ดังนั้น มูลค่าทางบัญชีสุทธิ (Net Book Value) ของ บ.ชินวัตรไทย จากที่เคยเท่ากับ 34 ล้านบาท จะลดลงเหลือเพียง 6 ล้านบาท และ ธพว.นำเอาจำนวน 6 ล้านบาทนี้ ไปกำหนดเป็นราคาขายขั้นต่ำ เมื่อมีผู้ประมูลเสนอราคา 10 ล้านบาท จึงเห็นว่ามีกำไร และอนุมัติขายไป
การรื้อถอนหลักประกันของลูกหนี้ จึงมีผลต่อราคาขายในการประมูลขายหนี้ แต่บอร์ด ธพว.ซึ่งรู้เรื่องนี้ดี กลับไม่ดำเนินใด ๆ กับลูกหนี้ และปล่อยให้มีการตัดตอนขายลูกหนี้รายนี้ออกไป โดยขายต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีสุทธิ (Net Book Value) ก่อนรื้อหลักประกัน เป็นเงินถึง 24 ล้านบาท
อ่านประกอบ
สัมพันธ์ลึกบิ๊ก ธพว.- อดีตนายกฯ-เร่งประมูลขายหนี้ บ.พายัพ ชินวัตร?
ปริศนา! ‘พายัพ’ ขนเงิน 120 ล. จ่ายหนี้ ธพว. ทั้งที่ บ.ขาดทุนยับ ก่อนปล่อยเป็น NPL
ปล่อยกู้ 'บ.เสี่ยพายัพ' ผิดปกติ 5 ข้อ-ส่อสูงเกินจริง 40 ล. ยุคผู้ก่อตั้งไทยรักไทย ‘กก.ผจก’
หลังโฉนด บ.เสี่ยพายัพ จำนอง 3 หนก่อนกู้ ธพว.-ปริศนา 12 ปีราคาประเมิน‘ไม่เปลี่ยน’
ดูชัดๆ กรณี ธพว. ขายหนี้NPL ให้ บบส.ศรีสวัสดิ์ 201.7 ล. ราคาต่ำกว่าความเป็นจริง?
เปิดภาพชุดใหม่‘รง.-เครื่องจักร’78 ล. บ.พายัพ ลูกหนี้ ธพว. ล่องหน! ส่อฉ้อโกงหรือไม่?
INFO : ข้อสังเกต-ปมเงื่อน กรณีขายหนี้ NPL หมื่นล. ธพว. ฮั้วหรือไม่?
โชว์ภาพ รง.-เครื่องจักร บ.พายัพ ชินวัตร78 ล. NPL ธพว.หายปริศนา!ก่อนประมูลขาย
เปิดเอกสารครบ! บ.ชินวัตรไทย‘เสี่ยพายัพ’ NPL ธพว. 95 ล. ประมูลขายแค่ 10 ล.
เปิดเอกสารครบ! บ.ชินวัตรไทย‘เสี่ยพายัพ’ NPL ธพว. 95 ล. ประมูลขายแค่ 10 ล.
รง.ทอผ้าไหม‘พายัพ ชินวัตร’โผล่ในกองหนี้ ธพว. ประมูลขายเอกชนแค่ 10 ล.
2 ปมล่าสุด เบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล. ธพว.‘สัมพันธ์ลึกผู้บริหาร–เมินข้อมูลสำคัญ’
5 ปมใหม่ เบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล.ธพว.- กลุ่มศรีสวัสดิ์ไม่แข่งราคาลอต2
เปิดเบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล. ธพว.3 บ.รัฐ-เอกชนร่วมแบ่งเค้ก ส่ออินไซเดอร์-ฮั้ว?
เปิด2 ปมแต่งตั้ง บิ๊กธพว.คนใหม่ ส่อมีปัญหาหลายข้อ?
14 กรณีเงื่อนงำใน ธพว.‘ปล่อยกู้-ขายลูกหนี้ NPL’ ซุกใต้พรม รอสะสาง?
เปิดเบื้องหลัง!ขายหนี้NPL 694 ล. ธพว. ให้ บ.เครือศรีสวัสดิ์ 202 ล.