- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิดภาพชุดใหม่‘รง.-เครื่องจักร’78 ล. บ.พายัพ ลูกหนี้ ธพว. ล่องหน! ส่อฉ้อโกงหรือไม่?
เปิดภาพชุดใหม่‘รง.-เครื่องจักร’78 ล. บ.พายัพ ลูกหนี้ ธพว. ล่องหน! ส่อฉ้อโกงหรือไม่?
เปิดภาพชุดที่ 3 กรณี โรงงาน-เครื่องจักร 78 ล. บ.ชินวัตรไทย‘พายัพ ชินวัตร’ ลูกหนี้ NPL ธพว. หายปริศนา ! ก่อนเหลือที่ดินเปล่า ธนาคารฯประมูลขายเอกชน 10 ล. พลิกข้อ กม. เจตนาฉ้อโกงเจ้าหนี้หรือไม่ ไฉนไม่ตรวจสอบ?
กรณีคณะกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้อนุมัติขายลูกหนี้กองหนี้ภาคตะวันออก จำนวน 30 ราย มูลหนี้ 694 ล้านบาท ให้แก่ บริษัท บริหารสินทรัพย์ ศรีสวัสดิ์ จำกัด ( บบส.ศรีสวัสดิ์) ในราคา 210.75 ล้านบาท และ 1 ใน 30 ราย คือ บริษัท ชินวัตรไทย จำกัด ของนายพายัพ ชินวัตร โดยขายไปเพียง 10 ล้านบาท ขณะที่ยอดหนี้ทั้งสิ้นเกือบ 100 ล้านบาท
และพบข้อมูลว่า ก่อนการประมูลขาย หลักประกันของลูกหนี้รายนี้ ในส่วนที่เป็นอาคารโรงงานรวม 9 รายการ และเครื่องจักรรวม 293 รายการ มูลค่าเกือบ 80 ล้านบาท ถูกรื้อถอนและขนย้ายออกไปจนหมดสิ้น ทำให้เหลือหลักประกันเพียงที่ดิน 79 ไร่เศษ ทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า การกระทำของลูกหนี้เช่นนี้ เข้าข่ายเป็นการกระทำผิดอาญา ฐานโกงเจ้าหนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 349 และ 350 หรือไม่ ?
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำภาพถ่ายเครื่องจักรหลักประกันเมื่อครั้งขอสินเชื่อ แต่ละตัวมีเลขหมายกำกับไว้ แต่ทว่าหายไปอย่างปริศนาในช่วงก่อนปี 2555
ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 349 บัญญัติไว้ว่า
“ผู้ใดเอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์อันตนจำนำไว้แก่ผู้อื่น ถ้าได้กระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้รับจำนำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ส่วนมาตรา 350 บัญญัติไว้ในทำนองเดียวกันแต่เป็นกรณีที่ทรัพย์นั้น ‘ไม่ได้จำนำ’
กรณี คณะกรรมการ ธพว.อนุมัติสินเชื่อรีไฟแนซ์ลูกหนี้รายนี้ เมื่อ 9 ส.ค.45 จำนวน 95 ล้านบาท ปี 2552 ธนาคารฯได้สำรวจหลักประกันเพื่อทบทวนราคาประเมินของลูกหนี้รายนี้ พบว่าตัวโรงงานอยู่แต่ถูกปิดไว้ ไม่ได้ดำเนินการผลิตแล้ว เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปในอาคารโรงงานได้ เจ้าหน้าที่ธนาคารฯพิจารณาราคาตามสภาพที่เห็น ส่วนเครื่องจักรไม่สามารถตรวจสอบความมีอยู่จริงและสภาพเครื่องจักรได้ จึงตั้งสมมติฐานว่าเครื่องจักรอยู่ครบ
ปี 2555 มีการสำรวจหลักประกันเพื่อทบทวนราคาประเมินของลูกหนี้รายนี้อีกครั้ง พบว่าภายในบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งอาคารโรงงาน ตั้งแต่ซุ้มประตูทางเข้า และอาคารทุกหลังถูกรื้อถอนออกจนหมด
แสดงว่าอาคารโรงงานถูกรื้อถอนออกไปก่อนปี 2555 ส่วนเครื่องจักรไม่มีใครทราบว่าถูกขนย้ายออกไปในช่วงไหน เพราะปี 2552 เจ้าหน้าที่ธนาคารไม่ได้เข้าไปดูสภาพภายในโรงงาน
ที่น่าสนใจก็คือ
27 ก.ย.2548 ศาลฎีกามีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลล้มละลายกลาง โดยมีคําสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และให้ ยกเลิกคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของ บริษัท ชินวัตรไทย จํากัด ลูกหนี้
30 ก.ค.2552 ศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์ บริษัท ชินวัตรไทย จํากัด หรือ บริษัท บางกอกผ้าไทย จํากัด ลูกหนี้ เด็ดขาด โดยมี ธนาคารทิสโก้ จํากัด (มหาชน) เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ ได้ยื่นฟ้อง (คดีหมายเลขแดงที่ 13356/2552)
เป็นไปได้หรือไม่ มีการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินในช่วงถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ปี 2552 ?
มีข้อสังเกตดังนี้
1.กรณีเมื่อธนาคารฯ ตรวจพบตั้งแต่ ปี 2555 ไฉน!ธนาคารฯไม่ดำเนินการเอาผิดกับลูกหนี้? หากไม่ดำเนินการเอาผิด ถือว่า ปฏิบัติ หรือ ละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่?
(ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 96 กรณีความผิดอันยอมความได้ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด เป็นอันขาดอายุความ)
2.ก่อนประมูลขาย ใน ปี 2557 ทางธนาคารฯได้ประเมินหลักประกันอีกรอบพบว่าเหลือเฉพาะที่ดิน และตีหลักประกันประมาณ 15 ล้านบาท เมื่อออกประมูลขายเห็นได้ว่าราคาประเมินหลักประกันลดลงอย่างมากจากยอดรวม 94 ล้านบาท มีกระบวนการตรวจสอบหรือไม่ หนี้รายนี้ขายได้เพียง 10 ล้านบาท ถือว่าเกิดความเสียหายแล้วหรือไม่?
3.หากไม่ดำเนินการ ถือว่า ปฏิบัติ หรือ ละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่?
สุดท้ายองค์กรตรวจสอบต้องเข้ามาสะสาง?
อ่านประกอบ:
INFO : ข้อสังเกต-ปมเงื่อน กรณีขายหนี้ NPL หมื่นล. ธพว. ฮั้วหรือไม่?
โชว์ภาพ รง.-เครื่องจักร บ.พายัพ ชินวัตร 78 ล. NPL ธพว.หายปริศนา!ก่อนประมูลขาย
พบ บ.ทอผ้า‘พายัพ ชินวัตร’ลูกหนี้ ธพว. เหลือแค่ที่ดินเปล่า-รง. เครื่องจักร 78ล.‘ล่องหน’
เปิดเอกสารครบ! บ.ชินวัตรไทย‘เสี่ยพายัพ’ NPL ธพว. 95 ล. ประมูลขายแค่ 10 ล.
รง.ทอผ้าไหม‘พายัพ ชินวัตร’โผล่ในกองหนี้ ธพว. ประมูลขายเอกชนแค่ 10 ล.
2 ปมล่าสุด เบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล. ธพว.‘สัมพันธ์ลึกผู้บริหาร–เมินข้อมูลสำคัญ’
5 ปมใหม่ เบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล.ธพว.- กลุ่มศรีสวัสดิ์ไม่แข่งราคาลอต2
เปิดเบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล. ธพว.3 บ.รัฐ-เอกชนร่วมแบ่งเค้ก ส่ออินไซเดอร์-ฮั้ว?
เปิด2 ปมแต่งตั้ง บิ๊กธพว.คนใหม่ ส่อมีปัญหาหลายข้อ?
14 กรณีเงื่อนงำใน ธพว.‘ปล่อยกู้-ขายลูกหนี้ NPL’ ซุกใต้พรม รอสะสาง?
เปิดเบื้องหลัง!ขายหนี้NPL 694 ล. ธพว. ให้ บ.เครือศรีสวัสดิ์ 202 ล.