- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- 5 ปมใหม่ เบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล. ธพว.- กลุ่มศรีสวัสดิ์ไม่แข่งราคาลอต 2
5 ปมใหม่ เบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล. ธพว.- กลุ่มศรีสวัสดิ์ไม่แข่งราคาลอต 2
เปิดเอกสารลับเบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล้าน ธพว. 3 บ.เอกชน-รัฐร่วมแบ่งเค้ก แปลก!ไม่เรียกผู้เสนอราคาอันดับถัดไปเข้าต่อรอง –กลุ่มศรีสวัสดิ์ไม่แข่งราคาลอต 2 -เงื่อนไขชำระเงินเอื้อผู้ซื้อ (ตอนที่ 2)
กรณีการประมูลขายหนี้ NPL ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) โดยประมูลครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2558 และตลอดปี 2558 ต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2559 รวม 6 ครั้ง โดยมียอดหนี้เงินต้นของลูกหนี้ที่ ธพว.ได้ประมูลขายออกไปแล้ว รวมประมาณ 7,000 ล้านบาท (หรือมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท หากนับรวมดอกเบี้ยค้างชำระที่ไม่ได้บันทึกบัญชี)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้นำเสนอข้อมูลไปแล้วว่ามีเงื่อนงำ
ประการแรก ในการประมูลกองหนี้ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นการประมูลครั้งแรก ผู้เข้าประมูล 3 ราย คือ 1.บริษัท บริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด 2.บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด และ 3.บริษัทบริหารสินทรัพย์ ศรีสวัสดิ์ จำกัด เสนอราคาต่ำกว่ามาตรฐานในการเข้าซื้อหนี้กับสถาบันการเงินต่าง ๆ
ประการที่สอง ผู้ร่วมประมูลรายหนึ่งคือ บริษัท บริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด การเสนอซื้อลูกหนี้รายตัว เท่ากับมูลค่าทางบัญชีของลูกหนี้ จำนวนถึง 10 ราย จากลูกหนี้ทั้งหมด 30 ราย (โดยตัวเลขราคาเสนอซื้อกับมูลค่าทางบัญชีเท่ากันทุกประการ ทั้งจำนวนเต็มและทศนิยม) ทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจ
ล่วงรู้ ‘ข้อมูลภายใน’ หรือไม่ ?
ขณะที่ ผู้ร่วมเสนอราคาอีกรายหนึ่ง คือ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด เสนอซื้อลูกหนี้กองลูกหนี้ภาคตะวันออก ราย บริษัท ซี แซนด์ บีช รีสอร์ตแอนด์สปา จำกัด เป็นเงินเพียง 1.0 บาท (หนึ่งบาทถ้วน) ในขณะที่ หลักประกันของลูกหนี้รายนี้เป็นที่ดินอยู่ที่ อ.เกาะช้าง จ.ตราด เนื้อที่ 12 ไร่ ราคาประเมิน 41.52 ล้านบาท ทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ต้องการให้ต่ำกว่าราคาเสนอซื้อรวมของบริษัทบริหารสินทรัพย์ ศรีสวัสดิ์ จำกัด เพื่อให้เอกชนดังกล่าวเป็นผู้ชนะการประมูลหรือไม่? (อ่านประกอบ:เปิดเบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล. ธพว. 3 บ.รัฐ-เอกชนร่วมแบ่งเค้ก ส่ออินไซเดอร์-ฮั้ว?)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ขอนำประการถัดไปมาเสนอ
ประการที่สาม คณะกรรมการขายหนี้ ไม่เรียกผู้เสนอราคาอันดับถัดไป เข้าต่อรองราคา
ทั้งนี้ ตามข้อกำหนดการขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่มีหลักประกัน ที่ใช้ในการประมูลครั้งนี้ กำหนดไว้ในข้อ 6.1 ว่า “.....หากมีผู้เสนอราคาต่ำกว่าเกณฑ์ที่ ธพว.กำหนด ธพว.ขอสงวนสิทธิในการเจรจากับผู้เสนอราคา เพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสม หรือยกเลิกการประมูลได้”
- การเสนอราคาซื้อหนี้กองหนี้ภาคตะวันออก ผู้เสนอราคาทั้ง 3 ราย ได้เสนอราคาต่ำกว่าเกณฑ์ที่ ธพว.กำหนด คือต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีของลูกหนี้ในขณะที่เริ่มประมูลคือ 220.67 ล้านบาท ที่ถือเป็นราคาขั้นต่ำในการประมูลครั้งนี้ โดยบริษัทบริหารสินทรัพย์ ศรีสวัสดิ์ จำกัด ที่เป็นผู้เสนอราคาสูงสุด เสนอราคา 196.75 ล้านบาท คณะกรรมการขายหนี้จึงสามารถนำข้อสงวนสิทธิดังกล่าวมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อ ธพว.ในการประมูลครั้งนี้ โดยเรียกผู้เสนอราคาสูงเป็นอันดับถัดไปหรือผู้เสนอราคาทุกราย เข้าต่อรองราคาได้ เพราะข้อสงวนสิทธิในกรณีผู้เสนอราคาต่ำกว่าเกณฑ์ที่ ธพว.กำหนด ไม่ได้ระบุว่าจะต้องเรียกเฉพาะผู้เสนอราคาสูงสุดเข้าต่อรองราคา เท่านั้น โดยผู้เสนอราคาสูงเป็นอันดับถัดไป คือ บริษัทบริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด เสนอราคา 193.12 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าราคาของผู้เสนอราคาสูงสุดเพียง 3.63 ล้านบาท แต่ไม่ถูกเรียกเข้าต่อรองราคา
ส่อแสดงให้เห็นว่า อาจมุ่งให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ศรีสวัสดิ์ จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล และด้วยราคาที่ต่ำกว่าราคาตามเกณฑ์ที่ ธพว.กำหนด หรือต่ำกว่า 220.67 ล้านบาท หรือไม่?
ประการที่สี่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ ศรีสวัสดิ์ จำกัด ไม่แข่งขันราคา ในการประมูลครั้งต่อมา กล่าวคือ
การประมูลครั้งที่ 2 เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 เป็นการประมูลขายกองหนี้ภาคเหนือ 2 กอง และกองหนี้ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีก 1 กอง จำนวนลูกหนี้รวม 89 ราย เงินต้น 1,166 ล้านบาท, ราคาประเมินหลักประกัน 1,374 ล้านบาท มูลค่าทางบัญชี 619 ล้านบาท ปรากฏว่า บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลในราคา 725 ล้านบาท หรือ 52 % ของราคาประเมินหลักประกัน
ขณะที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ศรีสวัสดิ์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาสูงสุดในการประมูลครั้งที่ 1 ในการประมูลครั้งนี้กลับเสนอราคาซื้อหนี้ทั้ง 3 กอง ต่ำ เป็นเงินเพียง 453 ล้านบาท ต่ำกว่าบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด ถึง 290 ล้านบาท
และหากย้อนกลับไปดูการเสนอราคาของบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด ในการประมูลครั้งที่ 1 กองหนี้ภาคตะวันออก เสนอราคาเพียง 32% ของราคาประเมินหลักประกัน และต่ำกว่าบริษัทบริหารสินทรัพย์ ศรีสวัสดิ์ จำกัด จำนวน 26 ล้านบาท อย่างผิดสังเกตเช่นกัน ในลักษณะตัดราคาเสนอซื้อของลูกหนี้รายหนึ่งออกไปทั้งจำนวน
ส่วนบริษัทบริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด เสนอราคาในการประมูลครั้งที่ 2 นี้เพียง 1 กอง ในราคาที่ต่ำ ส่วนอีก 2 กองไม่เสนอราคา คล้ายกับเพื่อหลีกทางให้กับบริษัทอื่นหรือไม่? เพราะ หลังจากนั้นในการประมูลครั้งต่อ ๆ มา ทั้งสามบริษัทสลับกันเข้าทำสัญญากับ ธพว.
ประการที่ห้า การกำหนดราคาขายขั้นต่ำของ ธพว. ใช้มูลค่าทางบัญชีเป็นเกณฑ์ โดยไม่พิจารณาราคาประเมินหลักประกัน
การกำหนดราคาขายขั้นต่ำในการประมูลขายลูกหนี้ของ ธพว. ใช้มูลค่าทางบัญชีหักด้วยเงินกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญ (Net Book Value) เป็นตัวกำหนด เพื่อไม่ให้มีผลขาดทุนทางบัญชีเฉพาะในปีปัจจุบันที่ขายหนี้เท่านั้น โดยไม่ได้พิจารณาถึงเงินต้น และราคาประเมินหลักประกัน ซึ่งแตกต่างจากการขายลูกหนี้ของสถาบันการเงินโดยทั่วไป จะตั้งเป้าหมายราคาขายไม่ให้ต่ำกว่าภาระเงินต้นคงเหลือของลูกหนี้ โดยนำเอาราคาประเมินหลักประกันของลูกหนี้มาประกอบการพิจารณา เพื่อให้ธนาคารได้รับคืนเงินต้น และไม่เกิดผลขาดทุนจากการปล่อยสินเชื่อ
ประการที่หก เงื่อนไขการชำระเงิน เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ซื้อ แต่ขัดหลักการในการแก้ไขหนี้ของ ธพว.
- ข้อกำหนดการขายหนี้ มีเงื่อนไขให้ผู้ประมูลได้ชำระราคา เพียงร้อยละ 5 ในวันทำสัญญา ส่วนอีกร้อยละ 95 ทยอยชำระภายใน 2 ปี ทำให้ผู้ประมูลใช้เงินลงทุนเพียงร้อยละ 5 โดยส่วนที่เหลือมาจากการติดตามลูกหนี้ที่มีระยะเวลานานถึง 2 ปี ซึ่งระยะเวลาการชำระราคาในการขายหนี้ของสถาบันการเงินโดยทั่วไป ประมาณ 3-6 เดือน
- การขายหนี้กองภาคตะวันออก ที่มีราคาขาย 201.75 ล้านบาท ผู้ชนะการประมูลต้องชำระเงินทันที เพียง 10.08 ล้านบาท โดยการที่ ธพว.ได้รับชำระราคาจากการขายลูกหนี้ทันทีเพียงร้อยละ 5 และจะได้รับชำระทั้งหมดโดยใช้เวลานานถึง 2 ปี ขัดกับหลักการที่ ธพว.ต้องการนำเอาเงินจากการขายลูกหนี้รายเดิมกลับไป เพื่อใช้ปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้รายใหม่และมีรายได้ในทันที โดยไม่ต้องรอกระบวนการทางกฎหมายเพื่อขายทอดตลาดหลักประกันของลูกหนี้รายเดิม ซึ่งข้อกำหนดการขายหนี้ครั้งนี้ไม่ได้เป็นไปตามหลักการนี้
- นอกจากนี้การกำหนดให้ผู้ซื้อชำระราคาได้ยาวถึง 2 ปี ทำให้ผู้ซื้อไม่จำเป็นต้องใช้เงินของตนเองทั้งหมดในการชำระราคา โดยใช้เงินเพียงเล็กน้อยชำระเมื่อทำสัญญา และส่วนที่เหลือสามารถนำเงินจากการเรียกเก็บหนี้จากลูกหนี้ทยอยชำระให้กับ ธพว.โดย ธพว.เรียกเก็บดอกเบี้ยในช่วงระยะเวลา 2 ปี เพียงอัตราร้อยละ 1 ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนทางการเงินของ ธพว.ที่อยู่ในระดับร้อยละ 3 ต่อปี หาก ธพว.ได้รับเงินจากการขายลูกหนี้มาในทันทีก็สามารถนำไปลดต้นทุนทางการเงินได้ หรือหากนำไปปล่อยสินเชื่อใหม่ ก็จะได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7-8 ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมขั้นต่ำสำหรับลูกค้าชั้นดี ของ ธพว. ปัจจุบันอัตราร้อยละ 6.875 ต่อปี) จึงเป็นเงื่อนไขที่ ธพว.เสียประโยชน์ แต่ผู้ซื้อได้ประโยชน์อย่างมาก
ประการที่เจ็ด เอกชน คือ กลุ่มบริษัทศรีสวัสดิ์ ได้แถลงถึงผลกำไรที่คาดการณ์ว่าจะได้รับจากการประมูลซื้อหนี้ ธพว. กองหนี้ภาคตะวันออกในครั้งนี้ โดยนางสาวธิดา แก้วบุตตา กรรมการบริษัท ศรีสวัสดิ์พาวเวอร์ 1979 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บริษัท บริหารสินทรัพย์ศรีสวัสดิ์ จำกัด ที่ชนะการประมูลซื้อหนี้ NPL จาก ธพว. ได้แถลงผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2/2558 ต่อนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า บริษัท บริหารสินทรัพย์ ศรีสวัสดิ์ จำกัด ได้เข้าซื้อหนี้จาก ธพว. จำนวน 200 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างผลตอบแทนให้กับบริษัทในระดับสูงกว่า 50 % โดยจะเริ่มทยอยเรียกหนี้คืนกลับมาได้ภายใน 6 เดือน และจะเรียกหนี้คืนได้ทั้งหมดภายใน 3 ปี
จากอัตรากำไรที่บริษัทฯ คาดว่าไม่ต่ำกว่า 50% ของราคาที่ประมูลได้ หรือเป็นเงินประมาณ 100 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับเงินลงทุนของบริษัทฯที่จ่ายเฉพาะงวดแรกเพียง 10 ล้านบาท บริษัทฯ จะมีอัตราตอบแทนต่อเงินลงทุนสูงถึง 1,000 %
ประการอื่นต้องติดตามกันต่อไป
อ่านประกอบ:
เปิดเบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล. ธพว. 3 บ.รัฐ-เอกชนร่วมแบ่งเค้ก ส่ออินไซเดอร์-ฮั้ว?
เปิดเบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล. ธพว. 3 บ.รัฐ-เอกชนร่วมแบ่งเค้ก ส่ออินไซเดอร์-ฮั้ว?