- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิดเบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล. ธพว. 3 บ.รัฐ-เอกชนร่วมแบ่งเค้ก ส่ออินไซเดอร์-ฮั้ว?
เปิดเบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล. ธพว. 3 บ.รัฐ-เอกชนร่วมแบ่งเค้ก ส่ออินไซเดอร์-ฮั้ว?
เปิดเอกสารลับประมูลซื้อหนี้หมื่นล. ธพว. 3 บ.เอกชน-รัฐ ‘บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท-กรุงเทพพาณิชย์-กลุ่มศรีสวัสดิ์’ร่วมแบ่งเค้ก ปริศนา! 1 รายเสนอราคาเท่ามูลค่าทางบัญชีลูกหนี้ อีกรายเสนอซื้อ 1 บาทถ้วน ทั้งที่หลักประกันเป็นที่ดินเกาะช้าง 12 ไร่ 41 ล. ส่อฮั้ว?
กรณีการประมูลขายหนี้ NPL ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) โดย ประมูลครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2558 และตลอดปี 2558 ต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2559 รวม 6 ครั้ง โดยมียอดหนี้เงินต้นของลูกหนี้ที่ ธพว.ได้ประมูลขายออกไปแล้ว รวมประมาณ 7,000 ล้านบาท (หรือมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท หากนับรวมดอกเบี้ยค้างชำระที่ไม่ได้บันทึกบัญชี)
เมื่อปลายปี 2558 สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้นำเสนอข้อมูลไปแล้วว่า กรณีการประมูลขายลูกหนี้ NPL กลุ่มภาคตะวันออก จำนวน 30 ราย ยอดหนี้ 694 ล้าน ให้แก่ บริษัท บริหาร สินทรัพย์ศรีสวัสดิ์ จำกัด วงเงิน 202 ล้านบาท ได้ถูกร้องเรียนต่อปลัดกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทยว่า กระบวนการประมูลขายหนี้อาจตกแต่งบัญชีเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เอกชนหรือไม่ (อ่านประกอบ:14 กรณีเงื่อนงำใน ธพว.‘ปล่อยกู้-ขายลูกหนี้ NPL’ ซุกใต้พรม รอสะสาง? ,เปิดเบื้องหลัง!ขายหนี้ NPL 694 ล. ธพว. ให้ บ.เครือศรีสวัสดิ์ 202 ล.)
ล่าสุด ตรวจสอบพบว่า กระบวนการขายหนี้กว่าหมื่นล้านบาท ก้อนนี้มีเงื่อนงำหลายประการ ขอเรียบเรียงมาเสนอบางประเด็นในตอนแรก ดังนี้
ตามที่ ได้เคยเสนอข่าวการขายหนี้ของ ธพว. กองหนี้ภาคตะวันออก จำนวน 30 ราย ที่มียอดหนี้คงค้างทั้งสิ้น 694 ล้านบาท ยอดหนี้เงินต้น 316 ล้านบาท มูลค่าหลักประกัน 518 ล้านบาท มูลค่าทางบัญชี ( หรือ Book Value คือ สินทรัพย์รวม ลบด้วย หนี้สินรวม) ของลูกหนี้ที่เป็นตัวกำหนดราคาขั้นต่ำในขณะเริ่มประมูล 220.67 ล้านบาท ซึ่งบริษัทบริหารสินทรัพย์ ศรีสวัสดิ์ จำกัด ประมูลได้ไปในราคา 201.75 ล้านบาท ต่ำกว่าราคาขั้นต่ำที่กำหนดไว้เดิม โดย ธพว.ได้ปรับลดมูลค่าทางบัญชีที่เป็นตัวกำหนดราคาขายขั้นต่ำให้ต่ำลงอีก เหลือ 189 ล้านบาท ในขณะที่กำลังเจรจาต่อรองราคากับบริษัทดังกล่าว โดยหน่วยงานภายใน ธพว.ที่เกี่ยวข้องได้แก่ ฝ่ายบัญชี และสายงานบริหารสินทรัพย์ เพื่อให้สามารถขายหนี้ออกไปในราคาตามที่บริษัทฯ ต่อรอง ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาขั้นต่ำที่กำหนดไว้เดิม เป็นเงิน 18.92 ล้านบาท
ล่าสุด เมื่อย้อนกลับไปดูรายละเอียดการเสนอราคาเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2558 ในการประมูลกองหนี้ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นการประมูลครั้งแรก มีผู้เข้าประมูล 3 ราย คือ
1.บริษัท บริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด 2.บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด และ 3.บริษัทบริหารสินทรัพย์ ศรีสวัสดิ์ จำกัด ได้เสนอราคา ดังนี้
-บริษัท บริหารสินทรัพย์ ศรีสวัสดิ์ จำกัด เสนอราคา (ก่อนต่อรอง) 196,751,000.00 บาท
-บริษัท บริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด (SAM) เสนอราคา 193,123,712.85 บาท
-บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (BAM) เสนอราคา 170,312,751.00 บาท
จากการตรวจสอบพบว่า ในการประมูลในครั้งนี้เชื่อมโยงกับ และการประมูลครั้งที่ 2 (กองหนี้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ที่ทั้ง 3 บริษัท เข้าร่วมเสนอราคา
ประการแรก ทั้ง 3 บริษัท เสนอราคาต่ำกว่ามาตรฐานในการเข้าซื้อหนี้กับสถาบันการเงินต่าง ๆ ปรากฏว่า ในการเสนอราคาซื้อหนี้กองหนี้ภาคตะวันออก บริษัทบริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด เสนอราคาเพียง 37 % ของราคาหลักทรัพย์ค้ำประกัน ส่วนบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด เสนอราคาเพียง 32 % ของราคาหลักทรัพย์ค้ำประกัน สำหรับบริษัทบริหารสินทรัพย์ ศรีสวัสดิ์ จำกัด ซึ่งเพิ่งเข้ามาในตลาดการซื้อขายลูกหนี้ NPL เป็นครั้งแรก ก็เสนอราคาเพียง 38 % ของราคาหลักทรัพย์ค้ำประกัน
ในขณะที่ นายชูเกียรติ จิตติไมตรีสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทบริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2558 ถึงมาตรฐานการเข้าซื้อหนี้ของบริษัทฯ (หลังการประมูลขายหนี้กองหนี้ภาคตะวันออกผ่านไปประมาณ 5 เดือน) ว่า
“ขณะที่ราคาหนี้จากเดิมบริษัทเคยรับซื้อประมาณ 50-70% ของราคาหลักทรัพย์ค้ำประกัน ก็ปรับลดลงเล็กน้อย ประมาณ 1-5 % แม้ปริมาณหนี้เสียในระบบจะมากขึ้น แต่คุณภาพหนี้โดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี” (รายละเอียดตามข่าวการให้สัมภาษณ์ของ นายชูเกียรติ จิตติไมตรีสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทบริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด ในประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 5 กรกฎาคม 2558)
แสดงให้เห็นถึงมาตรฐานการเสนอราคาซื้อลูกหนี้ของบริษัทนี้ว่า อยู่ที่ประมาณ 50-70 % ของราคาหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือในภาวะที่มีหนี้เสียในระบบมาก ก็จะปรับลงอย่างมากก็จะไม่ต่ำกว่า 45-65 % ของราคาหลักทรัพย์ค้ำประกัน
แต่คราวนี้ บริษัทบริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด เสนอราคาเพียง 37 % ของราคาหลักทรัพย์ค้ำประกัน
ประการที่สอง มีข้อมูลระบุว่า ‘ข้อมูลภายใน’ ซึ่งเป็นความลับสูงสุดในการประมูลขายลูกหนี้ ได้แก่ มูลค่าทางบัญชีของลูกหนี้แต่ละราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่บอกว่าธนาคารจะมีกำไรหรือขาดทุนทางบัญชีจากการขายหนี้ที่จะเกิดขึ้นในปีบัญชีนั้น ๆ อาจถูกนำมาเปิดเผยต่อผู้ประมูลรายหนึ่งรายใดหรือไม่ ?
เห็นได้จากการเสนอราคาซื้อกองหนี้ภาคตะวันออก ของบริษัท บริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด ที่มีราคาเสนอซื้อลูกหนี้รายตัว เท่ากับมูลค่าทางบัญชีของลูกหนี้ จำนวนถึง 10 ราย จากลูกหนี้ทั้งหมด 30 ราย (โดยตัวเลขราคาเสนอซื้อกับมูลค่าทางบัญชีเท่ากันทุกประการ ทั้งจำนวนเต็มและทศนิยม)
น่าสังเกตว่า การเสนอราคาเท่ากับมูลค่าทางบัญชีเช่นนี้ จะกระทำไม่ได้ ถ้าไม่รู้ถึงมูลค่าทางบัญชีที่เป็นข้อมูลภายในของ ธพว.โดยการขายหนี้ของสถาบันการเงินโดยทั่วไป ไม่มีสถาบันใดเปิดเผยมูลค่าทางบัญชีของลูกหนี้ให้กับผู้ประมูลได้รู้ และถือเป็นความลับสูงสุด
แต่การที่บริษัท บริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด เสนอราคาซื้อต่ำเท่ากับตัวเลขสุดท้ายที่ธนาคารจะยอมรับได้สำหรับลูกหนี้ที่มีปัญหาอย่างรุนแรงหรือหลักประกันเสื่อมค่าอย่างมาก คือมูลค่าทางบัญชีของลูกหนี้ ถึง 10 ราย จึงมีลักษณะคล้ายพยายามบีบราคาเสนอซื้อของตนให้ต่ำลงมากที่สุด เพื่อไม่ให้ราคาเสนอซื้อรวมสูงกว่าราคาของบริษัทที่ได้ตกลงกันว่าจะให้เป็นผู้ชนะการประมูล คือ บริษัทบริหารสินทรัพย์ ศรีสวัสดิ์ จำกัด ซึ่งก็ทำให้ราคาเสนอซื้อของบริษัทบริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด ต่ำกว่าราคาเสนอซื้อของบริษัทบริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด ประมาณ 3 ล้านบาท
ส่วน ความผิดปกติในการเสนอราคาของบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด เห็นได้จากราคาเสนอซื้อลูกหนี้กองลูกหนี้ภาคตะวันออก ราย บริษัท ซี แซนด์ บีช รีสอร์ตแอนด์สปา จำกัด เป็นเงินเพียง 1.0 บาท (หนึ่งบาทถ้วน) ในขณะที่ หลักประกันของลูกหนี้รายนี้เป็นที่ดินอยู่ที่ อ.เกาะช้าง จ.ตราด เนื้อที่ 12 ไร่ ราคาประเมิน 41.52 ล้านบาท
“การที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด เสนอราคาซื้อหนี้รายนี้เพียง 1.0 บาท คล้ายการตั้งใจตัดราคาซื้อของลูกหนี้รายนี้ออกไปทั้งจำนวน (คงเหลือราคาไว้เพียง 1 บาท) เพื่อทำให้ราคาเสนอซื้อรวมต่ำลงมา และต้องการให้ต่ำกว่าราคาเสนอซื้อรวมของบริษัทบริหารสินทรัพย์ ศรีสวัสดิ์ จำกัด เพื่อให้บริษัทนี้เป็นผู้ชนะการประมูลตามที่ตกลงกันไว้ เพราะหากเสนอราคาซื้อหนี้รายนี้ตามปกติ อาจจะทำให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด กลับมาเป็นผู้ชนะการประมูล ซึ่งจะไม่เป็นไปตามข้อตกลง หรือไม่”แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกต
( เอกสารประกอบ รายละเอียดตามตาราง “สรุปการเสนอซื้อกลุ่มลูกหนี้ภาคตะวันออกที่เสนอขาย รวม 30 ราย มีผู้ยื่นเสนอราคาจำนวน 3 ราย” ที่คณะกรรมการขายหนี้ นำเสนอต่อคณะกรรมการ ธพว. เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาอนุมัติให้ขายหนี้กองนี้)
เมื่อเปรียบเทียบราคาเสนอซื้อต่อราคาประเมินหลักประกัน ของบริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด ในการประมูลครั้งที่ 1 (กองหนี้ภาคตะวันออก) กับการประมูลในครั้งที่ 2 ถัดมา (กองหนี้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) บริษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐแห่งนี้ เสนอราคาแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยครั้งที่ 1 ราคาเสนอซื้อต่ำมาก เพียง 32 % ของราคาประเมินหลักประกัน ส่วนในครั้งที่ 2 เพิ่มขึ้นเป็น 52% ของราคาประเมินหลักประกัน ทั้งที่หลักประกันครั้งที่ 1 อยู่ในภาคตะวันออก มีศักยภาพและสภาพคล่องในการขายดีกว่า หลักประกันครั้งที่ 2 ที่อยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
การเสนอราคาของ บริษัท บริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด และบริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ควรจะต้องสามารถแสดงเหตุผลถึงความเหมาะสมของราคาที่เสนอได้ทุกครั้ง และจะต้องกระทำการอันเป็นประโยชน์ต่อทั้งหน่วยงานของตนเองและหน่วยงานของรัฐอื่น ในกรณีนี้มีข้อสงสัย
เป็นเรื่องที่ต้องติดตามตรวจสอบอย่างเข้มข้นกันต่อไป