- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- โชว์ภาพ รง.-เครื่องจักร บ.พายัพ ชินวัตร 78 ล. NPL ธพว.หายปริศนา!ก่อนประมูลขาย
โชว์ภาพ รง.-เครื่องจักร บ.พายัพ ชินวัตร 78 ล. NPL ธพว.หายปริศนา!ก่อนประมูลขาย
เปิดภาพถ่ายโรงงาน-เครื่องจักร ครบชุด มัด บ.ชินวัตรไทยของ ‘พายัพ ชินวัตร’ มูลค่า 78 ล. ลูกหนี้เงินกู้ NPL ธพว. หายปริศนา ก่อน ธนาคารฯประมูลขาย บบส.ศรีสวัสดิ์ เฉพาะที่ดินเปล่าเพียง 10 ล. พร้อมข้อสังเกต 5 ประการ
กรณีคณะกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้อนุมัติขายลูกหนี้กองหนี้ภาคตะวันออก จำนวน 30 ราย มูลหนี้ 694 ล้านบาท ให้แก่ บริษัท บริหารสินทรัพย์ ศรีสวัสดิ์ จำกัด ( บบส.ศรีสวัสดิ์) ในราคา 210.75 ล้านบาท และ 1 ใน 30 ราย คือ บริษัท ชินวัตรไทย จำกัด ของนายพายัพ ชินวัตร โดยขายไปเพียง 10 ล้านบาท ขณะที่ยอดหนี้ทั้งสิ้นเกือบ 100 ล้านบาท และมีข้อสังเกตว่าหลักประกันที่เป็นที่ดิน โรงงาน และเครื่องจักร ที่ธนาคารฯเคยประเมินราคาไว้กว่า 93 ล้านบาท เมื่อครั้งปล่อยสินเชื่อเมื่อปี 2545 เมื่อประเมินราคาใหม่ในปี 2557 ก่อนขายลูกหนี้รายนี้ กลับลดลงเหลือ 15.5 ล้านบาท
และพบข้อมูลว่า ก่อนการประมูลขาย หลักประกันของลูกหนี้ ธพว.รายนี้ ทรัพย์สินในส่วนที่เป็นอาคารโรงงานรวม 9 รายการ และเครื่องจักรรวม 293 รายการ มูลค่าเกือบ 80 ล้านบาท ถูกรื้อถอนและขนย้ายออกไปจนหมดสิ้น สภาพของบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งโรงงานบริษัท ชินวัตรไทย จำกัด ที่มีมูลค่านับร้อยล้านบาท เหลือเพียงถนนคอนกรีตเก่า ๆ เท่านั้น (อ่านประกอบ:พบ บ.ทอผ้า‘พายัพ ชินวัตร’ลูกหนี้ ธพว. เหลือแค่ที่ดินเปล่า-รง. เครื่องจักร 78 ล.‘ล่องหน’)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำภาพโรงงานและเครื่องจักรของโรงงาน บริษัท ชินวัตรไทย จำกัด ปี 2545 เมื่อครั้งขอสินเชื่อกับ ธพว. 95 ล้านบาท หลักฐานชิ้นสำคัญมาเสนอ
และพบข้อมูลเพิ่มเติมว่า ก่อนจะประมูลขายลูกหนี้รายนี้ให้แก่ บบส.ศรีสวัสดิ์ ปี 2558 ในช่วงปลายปี 2557 ธพว.ได้ว่าจ้างบริษัทประเมินราคา สำรวจและประเมินราคาหลักประกันของลูกหนี้ที่จะนำออกขายอีกครั้ง รวมทั้งลูกหนี้รายนี้ด้วย โดยรายนี้ได้ประเมินราคาเฉพาะที่ดิน เป็นเงิน 15.5 ล้านบาท (เท่ากับราคาประเมินที่ดินเมื่อครั้งอนุมัติสินเชื่อตั้งแต่ปี 2545 หรือผ่านมาแล้ว 12 ปี )และในรายงานการประเมินราคาได้แยกการประเมินออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และเครื่องจักร โดยส่วนที่เป็นสิ่งปลูกสร้างและเครื่องจักร ระบุราคาเท่ากับ 0.00 บาท และระบุไว้ชัดเจนว่า’สิ่งปลูกสร้างและเครื่องจักรถูกรื้อถอนและขนย้ายออกไป’
หลังอนุมัติสินเชื่อรีไฟแนซ์ลูกหนี้รายนี้ เมื่อ 9 ส.ค.45 จำนวน 95 ล้านบาท ต่อมาปี 2552 ธนาคารฯได้สำรวจหลักประกันเพื่อทบทวนราคาประเมินของลูกหนี้รายนี้ พบว่าตัวโรงงานอยู่แต่ถูกปิดไว้ ไม่ได้ดำเนินการผลิตแล้ว เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปในอาคารโรงงานได้
การทบทวนราคาประเมินในส่วนของที่ดินและอาคาร เจ้าหน้าที่ธนาคารฯพิจารณาราคาตามสภาพที่เห็น ส่วนเครื่องจักรไม่สามารถตรวจสอบความมีอยู่จริงและสภาพเครื่องจักรได้ จึงตั้งสมมติฐานว่าเครื่องจักรอยู่ครบ และพิจารณาราคาโดยอ้างอิงจากฐานข้อมูลเดิมแล้วหักค่าเสื่อมราคา
ในปี 2552 โรงงานหยุดการผลิตและลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จึงมีความเป็นไปได้ว่าเครื่องจักรอาจถูกขนย้ายออกไปก่อนแล้ว ส่วนอาคารโรงงานยังคงมีอยู่ แต่อาจทยอยรื้อถอนในช่วงถัดมา
ปี 2555 มีการสำรวจหลักประกันเพื่อทบทวนราคาประเมินของลูกหนี้รายนี้อีกครั้ง พบว่าภายในบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งอาคารโรงงาน ตั้งแต่ซุ้มประตูทางเข้า และอาคารทุกหลังถูกรื้อถอนออกจนหมด
แสดงว่าอาคารโรงงานถูกรื้อถอนออกไปก่อนปี 2555 แต่หลังปี 2552 หรือในช่วงเวลาใกล้เคียงกับลูกหนี้ถูกพิทักษ์เด็ดขาด เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2552
แหล่งข่าวะบุว่า ก่อนขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน เครื่องจักรของโรงงานดังกล่าวถูกนำเข้ามาจากประเทศจีน เป็นเครื่องจักรเก่า
อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ มีข้อสังเกต 5 ประการ
1.การประมูลขายหนี้ของ ธพว. จะต้องผ่านการพิจารณาของหน่วยงานและคณะกรรมการคณะต่าง ๆ จนกระทั่งได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการ ธพว. จึงจะสามารถขายหนี้ออกไปได้ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประมูลขายหนี้ในทุกขั้นตอน จะมีข้อมูลทั้งหมดของลูกหนี้ที่จะนำออกขาย โดยเฉพาะในการประมูลขายหนี้กองภาคตะวันออก ซึ่งเป็นกองแรก และมีลูกหนี้เพียง 30 ราย จึงสามารถดูข้อมูลลูกหนี้แต่ละรายได้โดยละเอียด ซึ่งจะทำให้เห็นว่าหลักประกันของลูกหนี้รายนี้ในส่วนที่เป็นสิ่งปลูกสร้างและเครื่องจักรได้ถูกรื้อถอนออกไป โดยข้อมูลที่จะสังเกตเห็นได้ชัดในเบื้องต้นคือ ราคาประเมินหลักประกันที่ลดลงอย่างมาก ดังนั้น หากผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขายหนี้ดำเนินการรอบคอบ ก็จะพบเห็นเรื่องนี้
2.กรณีที่พบว่าลูกหนี้มีปัญหาเช่นนี้ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาว่าจะยังคงนำเอาลูกหนี้รายนี้ออกขายหรือไม่ เพราะนอกจากจะทำให้ขายได้ในราคาที่ต่ำ เนื่องจากมูลค่าหลักประกันลดลงอย่างมากแล้ว ยังทำให้กระทบกระเทือนถึงสิทธิในการดำเนินคดีอาญาฐานโกงเจ้าหนี้กับลูกหนี้อีกด้วย
3.ในความเป็นจริงเมื่อโอนขายลูกหนี้รายใดไปแล้ว หน่วยงานของ ธพว.ก็จะไม่ย้อนกลับไปดำเนินการใด ๆ กับลูกหนี้รายนั้นอีก เพราะถือว่ามีข้อยุติกับลูกหนี้รายนั้นไปแล้ว
4.คณะกรรมการ ธพว.ซึ่งเป็นผู้อนุมัติให้ขายลูกหนี้รายนี้ มีเจตนาที่จะเร่งรัดให้มีข้อยุติกับลูกหนี้รายนี้โดยเร็วด้วยการขายลูกหนี้รายนี้ออกไปหรือไม่ เพราะจะทำให้ไม่ต้องดำเนินคดีอาญาฐานโกงเจ้าหนี้กับลูกหนี้ และไม่ต้องเอาผิดกับผู้บริหารของธนาคารที่ละเลยไม่ดูแลหลักประกันของลูกหนี้ทำให้ธนาคารได้รับความเสียหาย
5. หลังจากขายหนี้รายนี้ไปแล้วระยะหนึ่ง ผู้บริหารระดับสูงของ ธพว. รายหนึ่งเดินทางไปพบกับเครือญาติของลูกหนี้รายนี้ที่ดูไบ เมื่อ 9 พฤษภาคม 2559 หรือไม่ อย่างไร ?
การเร่งรีบขายลูกหนี้รายนี้ออกไปทั้ง ๆ ที่ยังมีปัญหาสำคัญที่กระทบถึงราคาขาย รวมถึงการไม่ดำเนินคดีอาญาฐานโกงเจ้าหนี้กับผู้บริหารกิจการของลูกหนี้ ถือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด อันเป็นความผิดตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 หรือไม่?
เป็นประเด็น ธรรมาภิบาลที่ต้องชี้แจงให้กระจ่าง
อ่านประกอบ :
พบ บ.ทอผ้า‘พายัพ ชินวัตร’ลูกหนี้ ธพว. เหลือแค่ที่ดินเปล่า-รง. เครื่องจักร 78 ล.‘ล่องหน’
เปิดเอกสารครบ! บ.ชินวัตรไทย‘เสี่ยพายัพ’ NPL ธพว. 95 ล. ประมูลขายแค่ 10 ล.
รง.ทอผ้าไหม‘พายัพ ชินวัตร’โผล่ในกองหนี้ ธพว. ประมูลขายเอกชนแค่ 10 ล.
2 ปมล่าสุด เบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล. ธพว. ‘สัมพันธ์ลึกผู้บริหาร–เมินข้อมูลสำคัญ’
5 ปมใหม่ เบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล.ธพว.- กลุ่มศรีสวัสดิ์ไม่แข่งราคาลอต2
เปิดเบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล. ธพว.3 บ.รัฐ-เอกชนร่วมแบ่งเค้ก ส่ออินไซเดอร์-ฮั้ว?
เปิด 2 ปมแต่งตั้ง บิ๊กธพว.คนใหม่ ส่อมีปัญหาหลายข้อ?
14 กรณีเงื่อนงำใน ธพว.‘ปล่อยกู้-ขายลูกหนี้ NPL’ ซุกใต้พรม รอสะสาง?
เปิดเบื้องหลัง!ขายหนี้ NPL 694 ล. ธพว. ให้ บ.เครือศรีสวัสดิ์ 202 ล.