- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ปล่อยกู้ 'บ.เสี่ยพายัพ' ผิดปกติ 5 ข้อ-ส่อสูงเกินจริง 40 ล. ยุคผู้ก่อตั้งไทยรักไทย ‘กก.ผจก’
ปล่อยกู้ 'บ.เสี่ยพายัพ' ผิดปกติ 5 ข้อ-ส่อสูงเกินจริง 40 ล. ยุคผู้ก่อตั้งไทยรักไทย ‘กก.ผจก’
สาวลึก ธพว. ปล่อยกู้ บ.ชินวัตรไทย - พายัพ ชินวัตร 95 ล. พบปมผิดปกติ 5 ข้อ จดทะเบียนหลักประกัน‘เครื่องจักร-ที่ดิน’ไม่ครบ ประเมินราคาส่อสูงเกินจริง 40 ล. ยุคผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย นั่งเอ็มดี ‘โชติศักดิ์’ รอง ฯ ดูแลสินเชื่อ
กรณีคณะกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้อนุมัติขายลูกหนี้กองหนี้ภาคตะวันออก จำนวน 30 ราย มูลหนี้ 694 ล้านบาท ให้แก่ บริษัท บริหารสินทรัพย์ ศรีสวัสดิ์ จำกัด (บบส.ศรีสวัสดิ์) ในราคา 210.75 ล้านบาท และ 1 ใน 30 ราย คือ บริษัท ชินวัตรไทย จำกัด ของนายพายัพ ชินวัตร โดยขายไปเพียง 10 ล้านบาท ขณะที่ยอดหนี้ทั้งสิ้นเกือบ 100 ล้านบาท
และมีข้อมูลว่า ก่อนการประมูลขาย หลักประกันของลูกหนี้รายนี้ ทรัพย์สินในส่วนที่เป็นอาคารโรงงานรวม 9 รายการ และเครื่องจักรรวม 293 รายการ มูลค่าเกือบ 80 ล้านบาท ถูกรื้อถอนและขนย้ายออกไปจนหมดเกลี้ยง ไม่มีสภาพเป็นโรงงาน เหลือเพียงที่ดินเปล่า จำนวน 2 แปลง เนื้อที่ 79-0-68 ไร่ ต.ห้างสูง อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี มีราคาประเมิน 15.5 ล้านบาท
ก่อนมาขอสินเชื่อ รีไฟแนนซ์ กับ ธพว. จำนวน 95 ล้านบาท นั้น โฉนดที่ดินทั้งสองแปลง บริษัท ชินวัตรไทย จำกัด ได้จดทะเบียนจำนองกับสถาบันการเงินอย่างน้อย 2-3 ครั้ง
และตั้งข้อสังเกตว่า ที่ดินจำนวน 2 แปลงดังกล่าว มีการประเมินราคาอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่? ทั้งในช่วงการขอสินเชื่อครั้งแรก ปี 2545 และ การประเมินราคาก่อนประมูลขาย ในปี 2557 (อ่านประกอบ : หลังโฉนด บ.เสี่ยพายัพ จำนอง 3 หนก่อนกู้ ธพว.-ปริศนา 12 ปีราคาประเมิน‘ไม่เปลี่ยน’)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นข้อมูลการปล่อยกู้ให้กับ บริษัท ชินวัตรไทย เมื่อปี 2545 ต่อเนื่องมาจนถึง ปลายปี 2557 ก่อนขายลูกหนี้ให้ บบส.ศรีสวัสดิ์ ในเดือนมกราคม 2558 โดยแบ่งเป็น 4 ช่วงเวลา คือ
ช่วงที่ 1 ช่วงการพิจารณาและอนุมัติสินเชื่อ
ช่วงที่ 2 ช่วงการชำระหนี้ตามข้อตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ช่วงที่ 3 ช่วงหลักประกันถูกรื้อถอน
ช่วงที่ 4 ช่วงการขายลูกหนี้
ขอนำข้อมูลมาเสนอ ดังนี้
ช่วงที่ 1 ช่วงการพิจารณาและอนุมัติสินเชื่อ (ปี 2545)
ธพว. อนุมัติสินเชื่อให้กับลูกหนี้ เมื่อ 9 สิงหาคม 2545 โดยมติคณะกรรมการสินเชื่อ ครั้งที่ 7/2545 วงเงินสินเชื่อที่อนุมัติ 95 ล้านบาท แยกเป็นเงินกู้ 82 ล้านบาท เพื่อใช้ Refinance หนี้เดิมจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา และเพิ่มวงเงินตั๋วสัญญาใช้เงินให้อีก 13 ล้านบาท เพื่อใช้หมุนเวียนในกิจการ มีความไม่ปกติหลายประการ หากพิจารณาตามหลักเกณฑ์พื้นฐานของการวิเคราะห์สินเชื่อแล้ว ธพว.ไม่น่าจะอนุมัติสินเชื่อให้ลูกหนี้รายนี้ ด้วยเหตุผล ดังนี้
1.การอนุมัติสินเชื่อครั้งนั้น มีลักษณะเป็นการรับ Refinance ลูกหนี้ที่มีปัญหามาจากธนาคารเอกชน คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เพื่อไปเป็นหนี้เสียกับธนาคารของรัฐ โดยเห็นได้ชัดว่า เป็นหนี้มีปัญหากับสถาบันการเงินต่าง ๆ ในลักษณะหนี้สินล้นพ้นตัว จนกระทั่ง ถูกเจ้าหนี้ราย ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ฟ้องล้มละลาย ในปี 2544 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ก่อนขอสินเชื่อกับ ธพว. กิจการของลูกหนี้มีปัญหาอย่างรุนแรง ถึงแม้ว่า ขณะ ธพว. พิจารณาสินเชื่อ จะมีคำสั่งศาลล้มละลายกลาง ให้ฟื้นฟูกิจการได้ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2544 แต่คำสั่งดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ซึ่งต่อมา ศาลฎีกามีคำพิพากษากลับคำสั่งศาลล้มละลายกลาง ไม่เห็นชอบและให้ยกเลิกคำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ให้ฟื้นฟูกิจการ ทำให้กระบวนการในคดีล้มละลายดำเนินการ ต่อไป จนกระทั่ง มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2552 และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2553 ซึ่งเห็นได้ว่า ขณะ ธพว.พิจารณา และอนุมัติสินเชื่อให้ลูกหนี้ เป็นช่วงที่ลูกหนี้มีปัญหารุนแรงที่ยังไม่ได้ข้อยุติที่ชัดเจน ที่อาจนำไปสู่การล้มละลายของลูกหนี้ได้ ธพว. จึงไม่มีเหตุผลที่จะยอมรับความเสี่ยงในระดับสูงเช่นนั้น
2.การอนุมัติสินเชื่อ ผิดหลักการการรับ Refinance ของสถาบันการเงินโดยทั่วไป อย่างน้อย 2 ประการ คือ
1) รับ Refinance ลูกหนี้ที่มีปัญหา โดย ไม่ได้รวบรวมภาระหนี้และหลักประกันของลูกหนี้ที่มีอยู่ทั้งหมดไปไว้ที่เดียวกัน เพื่อให้ธนาคารสามารถควบคุมการใช้เงินของลูกหนี้ได้อย่างใกล้ชิด โดยในขณะนั้น ลูกหนี้ยังมีภาระหนี้อยู่กับธนาคารอื่นอีก เช่น ธนาคารทิสโก้
2) รับ Refinance โดย ไม่ได้นำหลักประกันของลูกหนี้ที่มีอยู่กับธนาคารเดิมมาทั้งหมด แต่รับเอาภาระหนี้ทั้งหมดมา โดยหลักประกันที่ลูกหนี้ให้ไว้กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่ ธพว. เอามา มีเพียงที่ดินโฉนดเลขที่ 750 และ 751 ต.ห้างสูง อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างและเครื่องจักร เท่านั้น โดยที่ดินแปลงหลักอีกแปลงหนึ่ง ที่จำนองอยู่กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ได้นำมาจำนองกับ ธพว. คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 12324 ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ จำนองไว้กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2544 ซึ่งเห็นได้จากสารบัญจดทะเบียนหลังโฉนด
3.สภาพโรงงานมีลักษณะหยุดการผลิตแล้ว ขณะยื่นขอสินเชื่อกับ ธพว. โดย ภาพถ่ายกิจการ ในช่วงที่ ธพว. พิจารณาสินเชื่อ ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า โรงงานซึ่งมีเครื่องจักรจำนวนเกือบ 300 เครื่อง ยังคงดำเนินการผลิตอยู่ในขณะนั้น เพราะหากดำเนินการผลิตตามปกติ ควรจะต้องมีคนงานเป็นร้อยคนขึ้นไป แต่ภาพถ่ายทุกจุดที่เครื่องจักรตั้งอยู่ ไม่ปรากฏคนงานประจำอยู่ที่เครื่องจักร ซึ่งเป็นลักษณะของโรงงานที่หยุดการผลิตแล้ว
4.อาจประเมินราคาหลักประกันสูงกว่าความเป็นจริง โดย ในส่วนของที่ดินที่ประเมินราคาในปี 2545 ไร่ละ 200,000 บาท แต่การประเมินเพื่อทบทวนราคาในปี 2555 หรือผ่านมาอีก 10 ปี ก็ยังคงมีประเมินราคาเท่าเดิม โดย ผู้ประเมินราคาในปี 2555 ที่ไม่ปรับราคาเพิ่มขึ้นจากเดิม ให้เหตุผลว่า ได้สืบราคาพบว่า ในช่วงก่อนการก่อสร้างโรงงาน ที่ดินซื้อขายกันเพียงไร่ละ 80,000 บาท ดังนั้น ในปี 2555 จึงยังคงประเมินเท่าเดิมคือ ไร่ละ 200,000 บาท ซึ่งถือว่า ได้ปรับราคาขึ้นมาแล้ว จึงหมายความว่า การประเมินราคาไร่ละ 200,000 บาท ในปี 2545 สูงเกินความเป็นจริง ส่วนสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นหลักประกันของลูกหนี้ที่มีราคาประเมินสูงสุด เป็นเงินเกือบ 70 ล้านบาท (มีราคาสูงกว่าที่ดินและเครื่องจักร) โดยก่อสร้างมาแล้ว 8 ปี นั้น การประเมินในปี 2545 หักค่าเสื่อมราคาไม่ถึง 2 % ต่อปี ในขณะที่ มาตรฐานการหักค่าเสื่อมราคาของอาคารโรงงาน จะต้องหัก 5% ต่อปี
โดยสรุปแล้วราคาประเมินในปี 2545 เพื่อนำไปใช้พิจารณาปล่อยสินเชื่อ สูงกว่าความเป็นจริงไปประมาณ 30-40 ล้านบาท ถึงกระนั้น ก็ยังไม่พอต้องใช้ บสย.ค้ำประกันอีก 13 ล้านบาท การอนุมัติสินเชื่อให้กับลูกหนี้ 95 ล้านบาท ในครั้งนั้น จึงอาจสูงกว่ามูลค่าหลักประกันที่แท้จริง
5.จดทะเบียนจำนองเครื่องจักรไม่ครบตามจำนวนที่กำหนดให้นำมาจำนองเป็นหลักประกันทั้งหมด โดย เครื่องจักรที่กำหนดให้จำนองเป็นหลักประกันมีจำนวน 293 เครื่อง แต่จดทะเบียนจำนองกับ ธพว.เพียง 72 เครื่อง โดยอีก 221 เครื่อง เป็นเพียงทำสัญญาจำนำไว้ เท่านั้น
จากการตรวจสอบพบว่า ในช่วงที่ 1 ซึ่งอยู่ในช่วงปี 2545 ธพว. มีกรรมการผู้จัดการ คือ นายสำราญ ภูอนันตานนท์ (เป็นหนึ่งในผู้ที่มีชื่อเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย) นายโชติศักดิ์ อาสภวิริยะ เป็นรองกรรมการผู้จัดการ สายงานสินเชื่อภูมิภาค ซึ่งดูแลลูกหนี้รายนี้ (ต่อมา นายโชติศักดิ์ ฯ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรรมการผู้จัดการ ธพว. ต่อจาก ดร.สำราญ ฯ เมื่อปี 2546 แต่อยู่ไม่ครบวาระ ได้ลาออกไปอยู่องค์กรที่ใหญ่กว่าในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อต้นปี 2549)
เหตุการณ์ทั้งหมด เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นข้อสังเกตว่า อาจมีความสัมพันธ์กับการอนุมัติสินเชื่อให้กับลูกหนี้ราย บริษัท ชินวัตรไทย หรือไม่ ?
ข้อเท็จจริงต้องติดตามกันต่อไป
อ่านประกอบ :
ป.ป.ช.รับคำร้อง'วัชระ'ลุยสอบ ธพว.ปมเด็กฝาก-ผู้บริหารส่อทุจริต
หลังโฉนด บ.เสี่ยพายัพ จำนอง 3 หนก่อนกู้ ธพว.-ปริศนา 12 ปีราคาประเมิน‘ไม่เปลี่ยน’
ดูชัดๆ กรณี ธพว. ขายหนี้ NPL ให้ บบส.ศรีสวัสดิ์ 201.7 ล. ราคาต่ำกว่าความเป็นจริง?
เปิดภาพชุดใหม่‘รง.-เครื่องจักร’78 ล. บ.พายัพ ลูกหนี้ ธพว. ล่องหน! ส่อฉ้อโกงหรือไม่?
INFO :ข้อสังเกต-ปมเงื่อน กรณีขายหนี้ NPL หมื่นล. ธพว. ฮั้วหรือไม่?
โชว์ภาพ รง.-เครื่องจักร บ.พายัพ ชินวัตร 78 ล. NPL ธพว.หายปริศนา!ก่อนประมูลขาย
พบ บ.ทอผ้า‘พายัพ ชินวัตร’ลูกหนี้ ธพว. เหลือแค่ที่ดินเปล่า-รง. เครื่องจักร 78ล.‘ล่องหน’
เปิดเอกสารครบ! บ.ชินวัตรไทย‘เสี่ยพายัพ’ NPL ธพว. 95 ล. ประมูลขายแค่ 10 ล.
รง.ทอผ้าไหม‘พายัพ ชินวัตร’โผล่ในกองหนี้ ธพว. ประมูลขายเอกชนแค่ 10 ล.
2 ปมล่าสุด เบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล. ธพว.‘สัมพันธ์ลึกผู้บริหาร–เมินข้อมูลสำคัญ’
5 ปมใหม่ เบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล.ธพว.- กลุ่มศรีสวัสดิ์ไม่แข่งราคาลอต2
เปิดเบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล.ธพว.3 บ.รัฐ-เอกชนร่วมแบ่งเค้ก ส่ออินไซเดอร์-ฮั้ว?
เปิด2 ปมแต่งตั้งบิ๊กธพว.คนใหม่ ส่อมีปัญหาหลายข้อ?
14 กรณีเงื่อนงำในธพว.‘ปล่อยกู้-ขายลูกหนี้ NPL’ ซุกใต้พรม รอสะสาง?
เปิดเบื้องหลัง!ขายหนี้NPL 694 ล.ธพว. ให้ บ.เครือศรีสวัสดิ์ 202 ล.