ชาวตรังโวย! จัดงานคาราวานสินค้าปิดศาลากลาง 10 วัน 10 คืน ฟรีคอนเสิร์ตอลังการ แย่งกำลังซื้อท้องถิ่น ทำเดือดร้อนรถติด-ไม่มีที่จอดติดต่อราชการ แม่ค้าเผยอ่วมเก็บค่าเช่าที่บูธละ 1.5-1.8 หมื่น ค่าไฟดวงละ40/วัน ศก.ไม่ดีขาดทุนทุกงาน โซเชียลมีเดียสงสัยเงินเข้ากระเป๋าใคร จี้แจงรายรับ-รายจ่าย ไม่พบข้อมูลจัดจ้างบนเว็บพช. วอนหน่วยงานตรวจสอบด่วน เก็บค่าเช่าบนที่หลวง ผู้ว่าฯ แถลงข่าวด่วนชี้แจง ปัด โซนขายสินค้าเป็นของเอกชน ไม่ใช้งบราชการ ยอมรับเปลี่ยนสถานที่จัดไม่ให้กระทบแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ย.2567 ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนจังหวัดตรังถึงการจัดงาน “ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น อัตศิลป์ถิ่นตรัง” ระหว่างวันที่ 6-15 กันยายน 2567 บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดตรัง 10 วัน 10 คืน โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดตรัง ว่า จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างมาก ทั้งเรื่องที่จอดรถ และสภาพรถติดบริเวณรอบศาลากลางเชื่อมต่อไปถึงเขตเมืองทับเที่ยง จากเดิมการจราจรก็ติดขัดอยู่แล้วจากการก่อสร้างต่าง ๆ ที่ยังไม่แล้วเสร็จบริเวณศาลากลาง ทั้งโครงการก่อสร้างหอประชุมจังหวัดตรัง โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างจัตุรัสเมืองตรังบริเวณหอนาฬิกาตรัง เป็นต้น อีกทั้งศาลากลางจังหวัดตรังไม่เคยมีผู้บริหารอนุมัติให้ใช้จัดงานมานานแล้วเนื่องจากผลกระทบข้างต้น ส่วนใหญ่งานคาราวานสินค้าจะไปจัดที่สนามกีฬาทุ่งแจ้ง ซึ่งมีพื้นที่กว้างและอยู่ชานเมืองมากกว่า การจัดงานใจกลางเมืองเช่นนี้จึงเกิดมีข้อสงสัยว่าด้วยเหตุผลใด และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบด้วย โดยเฉพาะการเรียกเก็บค่าเช่าที่ที่มีการซอยเป็นหลายร้อยร้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ราชการหรือที่ดินธนารักษ์โดยเรียกเก็บจากบรรดาผู้ค้าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เงินที่ได้เข้าหลวงหรือไม่อย่างไร
ชาวตรัง ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “จิระศักดิ์ ควนจันทร์” ชาวตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ได้โพสต์ตั้งข้อสังเกตถึงการจัดงานดังกล่าวว่า “หรอยๆ อีเว้นท์ศาลากลาง 10 วัน 10 คืน เศรษฐกิจดี มีกินมีใช้ มีเบี้ยซื้อ” , “คนตรังก็มีหัวใจนะจะบอกให้” , “งานหลวง งบประมาณหลวง เก็บค่าที่เอาไปไหน ให้ใคร” มีผู้เข้ามาแชร์และแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก อาทิ กรรมการครึ่ง วัดครึ่งครับ , ค่าที่แพง แม่ค้าในจังหวัดไม่ได้ขายส่วนใหญ่แม่ค้าจากอื่นเพกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดได้จริงหรือ? , อีเวนท์มีได้ให้พอดีพองาม แต่ถ้ามากไปก็ไม่ไหว สุดท้ายเป็นการใช้งบประมาณที่สิ้นเปลือง , เศรษฐกิจทรุดฝนตกคนม่ายเบี้ยไม่เที่ยวไม่เกี่ยวเจ้าของอีเวนท์ขาดทุนแม่ค้าไม่จองแผงซองขาวลดสักครึ่งจ่ายงานหน้าได้ม้ายนายหัว? , เงินดิจิมอลม้ายครับ , มีงบประมาณม้ายครับ , ออแกนไนซ์ ผู้รับเหมา เอเจนซี เขารู้ธรรมเนียม , ควรจัดบรรทัดฐานใหม่ : งบประมาณหลวง ว่าจ้างคนจัดงาน ผู้รับจ้างจัดงานไม่มีสิทธิ์ที่จะเรียกเก็บเงินค่าที่จากพ่อค้าแม่ค้า มันผิดกฎหมายมั้ย????? , เขาว่าล็อกละหมื่นห้ากับหมื่นแปดจริงม้ายคะ แม่ค้าในหลาดเขาแหลงกัน ศก.คึกคัก , งานหลวง งบหลวง เก็บค่าที่เอาไปไหน พ่อค้าแม่ค้าได้ผลกำไรจากการไปเช่าไปขายที่ตรงนั้น แต่เงินที่นำมาสร้างสถานที่ตรงนั้น คือเงินภาษีของทุกๆคนนะครับ แต่คนที่ใช้ประโยชน์ มีแค่คนบางกลุ่มซึ่งเป็นพ่อค้าแม่ค้า เค้าจึงต้องเสียค่าที่ค่าบำรุงรักษาสถานที่นั้น เงินที่เก็บได้นั้นท่านๆๆๆทั้งหลายที่มีอำนาจ นำมาบำรุงรักษา อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยรึป่าว แต่ถ้าจะชี้ถึงการทุจริต เงินเก็บได้เท่าไหร่ บำรุงจิปาถะเท่าไหร่เหลือเท่าไหร่ นั้นคือสิ่งที่ควรแจ้งให้ ประชาชน รับทราบอย่างโปรงใสครับ”
@ ทรงกลด สว่างวงศ์
ขณะที่ นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เปิดแถลงข่าวชี้แจงว่า ตามที่เครือข่ายกลุ่มอาชีพ และผู้ผลิต ผู้ประกอบการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัตภัณฑ์ (OTOP) จังหวัดตรัง ได้ประสานขอรับการสนับสนุนการดำเนินงานโดยขอความอนุเคราะห์สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดตรัง เพื่อร่วมดำเนินโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น อัตศิลป์ถิ่นตรัง ประจำปี 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้การส่งเสริมการสวมใส่ผ้าไทยให้เป็นที่แพร่หลายมากขึ้นและเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน อีกทั้ง เพื่อกระตุ้นตลาดผลิตภัณฑ์กลุ่มอาชีพ ผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) ตลาตการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของจังหวัดตรัง โดยกำหนดดำเนินการระหว่างวันที่ 6 - 15 กันยายน 2567 ซึ่งเดิมกำหนดสถานที่บริเวณถนนควนคีรีหน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง วงเวียนปลาพยูน สวนทับเที่ยง และบริเวณถนนพัทลุง ด้านหลังจวนผู้ว่าฯ แต่ภายหลังมีการเปลี่ยนสถานที่จัดงาน
“ยืนยันว่าการดำเนินงานดังกล่าวไม่ได้ใช้งบประมาณจากทางราชการแต่อย่างใด แต่เป็นการบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน และเพื่อให้การดำเนินโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น อัตศิลป์ถิ่นตรัง ประจำปี 2567 โดยการบูรณาการภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เป็นไปด้วยความเรียบร้อย บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนด สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย กรมการพัฒนาชุมชน และจังหวัดตรัง เห็นควรพิจารณาดำเนินการให้ความเห็นชอบปรับแผนการดำเนินงานโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นอัตศิลป์ถิ่นตรัง ประจำปี 2567 จากสถานที่เดิม เปลี่ยนเป็น บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 หน้าศาลากลางจังหวัดตรัง (หลังเก่า) ก็เพื่อไม่ให้กระทบต่อพี่น้องประชาชนในการสัญจรในสถานที่จัดงานเดิม”ผู้ว่าราชการจ.ตรังกล่าวชี้แจง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณจัดงานสอบถามบรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่มาออกร้านขายของ แม่ค้ารายหนึ่งระบุว่า ต้องจ่ายค่าเช่าที่บธูๆละ 1.5 หมื่นบาทสำหรับโซนขายของทั่วไป และโซนใกล้เวที 1.8 หมื่นบาท นอกจากนี้ยังมีค่าไฟ โดยจ่ายตามจำนวนหลอดไฟที่ใช้ ดวงละ 40 บาทต่อวัน ร้านมีไฟ 20 ดวง ต้องจ่ายวันละ 800บาท รวม 10 วัน จ่าย 8 พันบาท
แม่ค้าสินค้าเร่ชาวตรังอีกราย กล่าวว่า ไม่ได้ไปขายด้วยเพราะสู้ค่าเช่าที่ไม่ไหว มีการแจ้งเปิดรับผู้ค้ากันในไลน์กลุ่มคนขายของชาวตรัง มีทั้งคนสนใจและไม่สนใจ แต่ตนไปไม่ไหวเพราะค่าที่แพงมากและกลัวจะขายไม่ได้ ขาดทุน
"งานคาราวานสินค้าเร่ที่ผ่านมาในจังหวัดตรังหลายงานที่ไปขาดขาดทุนตลอด ทั้งค่าลงของ ค่าแรงลูกน้อง ค่าเช่า เพราะไม่มีคนมาซื้อของ เศรษฐกิจไม่ดี คนตรังไม่มีเงิน และมีการจัดงานถี่มาก และยังนำพ่อค้าแม่ค้าเร่จากที่อื่นมาขายแย่งแย่งกำลังซื้อในจังหวัด อีกทั้งรูปแบบการจัดงานก็เป็นแบบเดิมๆ ไม่สามารถดึงเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวภายนอกเข้าสู่จังหวัดได้ และเชื่อว่าจัด 10วัน10คืนใจกลางเมืองแบบนี้ จะกระทบพ่อค้าแม้ค้าในเขตเทศบาลนครตรังแน่นอน" แม่ค้าสินค้าเร่ชาวตรังรายนี้ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการลงพื้นที่พบข้อสังเกตว่า ในแบนเนอร์โปรโมทงาน กลับมี 2 แบบที่ไม่เหมือนกัน โดยแบนเนอร์ซึ่งส่วนราการ อาทิ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดตรัง , ประชาสัมพันธ์จังหวัดตรัง แชร์ เป็นแบบที่มีเพียงรายละเอียดกิจกรรมงาน ขณะที่แบนเนอร์ที่มีการส่งไลน์ในกลุ่มผู้ค้า กลับมีท่อนล่างที่ระบุเบอร์มือถือผู้ประสานรับจองบธูร้านค้า รวมถึงเลขบัญชีการรับโอน โดยระบุชื่อ เจ๊..อ... ซึ่งแบนเนอร์ทั้ง 2 แบบ มีการออกแบบในส่วนบนเหมือนกัน ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างจากเว็บไวต์ของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดตรัง www.trang.cdd.go.th ไม่พบการเปิดเผยรายละเอียดโครงการจัดซื้อจัดจ้างงานดังกล่าวในหมวดแสดงการเปิดเผยการจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการแต่อย่างใด
อนึ่ง สำหรับการจัดงาน “ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น อัตศิลป์ถิ่นตรัง” ดังกล่าว เป็นการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ OTOP สินค้าชุมชน มีกิจกรรมบนเวทีกลางทุกคืนตั้งแต่เวลา 19.00-21.00 น. อาทิ งานเดินแบบแสดงผ้าไทย ผ้าพื้นถิ่นตรัง การประกวดสุนทรพจน์ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” โชว์การออกแบบลายผ้าอัตลักษณ์ตรัง การประกวดข้าวหลามพื้นถิ่นตรัง และการประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง และชมฟรีคอนเสิร์ตทุกคืนตั้งแต่เวลา 21.00-23.00 น. จากศิลปินชื่อดัง อาทิ บ่าววี , มาลีฮวนน่า , หนังตะลุงน้องเดียว , โนราไข่เหลี้ยม , เตยวีรยา เป็นต้น โดยพื้นที่จัดงานบริเวณลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 ใจกลางศาลากลางจังหวัดตรัง ซึ่งปัจจุบันเป็นสถานที่จอดรถสำหรับบรรดาข้างราชการทุกหน่วยงานที่ทำงานบนศาลากลาง รวมถึงประชาชนผู้มาติดต่อราชการ