"...แม้ประเทศอินโดนีเซียกำลังเลือกใช้แนวทางนี้ ด้วยการพยายามหาทางออกของปัญหาเมียนมา ก็มีกลุ่มชาวเมียนมาบางส่วนเริ่มแสดงออกถึงความไม่พอใจเนื่องจากเข้าใจผิดต่อเจตนาของประเทศอินโดนีเซีย ขณะเดียวกัน สาธารณชนของอินโดนีเซียเองก็มีความรู้สึกว่ารัฐบาลควรละเลยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นภายในเมียนมา และให้ความสนใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศจะดีกว่า เพราะทั้งกองทัพเมียนมาและนางซูจีเองก็ไม่ได้สนใจประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนมากนักอยู่แล้ว..."
.................
สถานการณ์ในประเทศเมียนมา ณ เวลานี้กำลังเป็นที่จับตามองไปทั่วโลก
หลังจากที่นายหม่อง ลวิน (Wunn Maung Lwin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเมียนมา และ นางเรตโน มาร์ซูดี รมว.ต่างประเทศอินโดนีเซีย ได้เดินทางมาเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะแขกกระทรวงต่างประเทศ ท่ามกลางความคาดหวังว่า การหารือในครั้งนี้ น่าจะได้ข้อสรุปบางประการเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมในประเทศเมียนมาที่กำลังรุนแรงขึ้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ก.พ.สำนักข่าว The Jakarta Post ของอินโดนีเซีย ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ที่จัดทำโดยศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษานานาชาติ (Centre for Strategic and International Studies - CSIS) ในชื่อว่าอินโดนีเซียจะสามารถแก้ไขปัญหาเมียนมาได้หรือไม่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำรายงานดังกล่าวมานำเสนอ ณ ที่นี้
ที่ผ่านมานั้นกระบวนการนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านในระบอบประชาธิปไตย ถือว่าเป็นการเดินทางที่ยากลำบาก และไม่สามารถที่จะคาดเดาผลลัพธ์ได้เลย โดยกระบวนการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวนั้นอาจจะนำมาได้ทั้งการรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งอาจหมายถึงความซบเซาของประชาธิปไตย หรือหมายถึงความเสื่อมถอยของประชาธิปไตยก็เป็นได้ และที่เลวร้ายที่สุด ก็คือการสิ้นสุดของระบอบประชาธิปไตยเอง ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในเมียนมา ณ เวลานี้
อันที่จริงแล้วกระบวนการเปลี่ยนผ่านของระบอบประชาธิปไตยในเมียนมานั้นเริ่มตั้นในปี 2553 และตอนนี้ก็ได้สะดุดลงไปหลังจากการยึดอำนาจของกองทัพเมื่อวันที่ 1 ก.พ.เพื่อคัดค้านผลการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. 2563 ซึ่งพรรคเอ็นแอลดีของนางอองซาน ซูจี ได้รับชัยชนะแบบถล่มทลายในการเลือกตั้งครั้งดังกล่าว
โดยหลังจากการยึดอำนาจในเมียนมา ทั่วโลกได้เรียกร้องทันทีให้สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนที่มีเมียนมาเป็นสมาชิกอยู่ เข้ามาทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ปัญหา
แต่ถึงกระนั้นเอง แต่ละประเทศอาเซียนก็มีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป และหนึ่งในนั้นก็คือประเทศอินโดนีเซียที่เป็นประเทศใหญ่ที่สุดของอาเซียน และยังเป็นประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ที่กำลังเดินหน้าประสานความร่วมมือของอาเซียนเข้าไปด้วยกันในเรื่องนี้
โดยนางเรตโน มาร์ซูดี รมว.ต่างประเทศอินโดนีเซียได้ดำเนินการเจรจาทางการทูตกับทั้งประเทศอื่นๆในอาเซียนและกับประเทศจีนแทบจะในทันที เพื่อที่จะหาจุดยืนร่วมกันของอาเซียนในการตอบสนองต่อสถานการณ์นี้ร่วมกัน และเพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุความรุนแรงและการนองเลือดกันมากไปกว่านี้อีก
แน่นอนว่าการกระทำเช่นนั้น จำเป็นต้องมีการติดต่อกันอย่างเข้มข้นกับทางกองทัพเมียนมา
โดยอาเซียนมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกดดันและแจ้งเตือนไปยังกองทัพเมียนมาว่าไม่อาจจะยอมรับได้ในการใช้กำลังกับกลุ่มผู้ชุมนุม และควรมีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในกระบวนการประชาธิปไตยเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนเมียนมา
อย่างไรก็ตาม ความพยายามของอินโดนีเซียนั้นกลับถูกตีความกันอย่างเข้าใจผิดว่า ประเทศอินโดนีเซียได้สนับสนุนกองทัพเมียนมา กลุ่มผู้ชุมนุมบางกลุ่มที่ได้มีการประท้วงต่อบทบาทของประเทศอินโดนีเซียในเมืองย่างกุ้ง ผู้ประท้วงเหล่านี้ได้เรียกร้องให้อินโดนีเซียละเว้นจากการติดต่อใดๆกับทางกับรัฐบาลทหารเมียนมา และให้เคารพผลการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. 2563
การประท้วงต่อต้านบทบาทของอินโดนีเซียหน้าสถานทูตอินโดนีเซียในเมืองย่างกุ้ง (อ้างอิงวิดีโอจากอัลจาซีร่า)
โดยเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมานั้นได้มีการหารือกันระหว่าง นายหม่อง ลวิน รมว.ต่างประเทศเมียนมา,นางเรตโน มาร์ซูดี รมว.ต่างประเทศอินโดนีเซีย และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศของไทย ใช้เวลาเกือบ 20 นาที
นางเรตโนได้เน้นย้ำว่า ทุกประเทศนั้นต้องดำเนินการตามกฎบัตรของอาเซียน
อย่างไรก็ตาม บทบาทของอินโดนีเซีย ณ เวลานี้ถือว่าเป็นปัญหาที่แท้จริง โดยทางเลือกแรกที่ดูว่าจะง่ายที่สุดก็คือการออกแถลงการณ์ประณามการรัฐประหาร หยุดการติดต่อทุกประการ ใช้มาตรการลงโทษ แล้วที่เหลือก็แค่นั่งดูข่าวว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ซึ่งถ้าหากกองทัพเมียนมาใช้กำลังกับกลุ่มผู้ชุมนุม ประเทศอินโดนีเซียก็แค่ออกแถลงการณ์ประณามใหม่อีกครั้งหนึ่ง และก็กลับไปนั่งติดตามข่าวเช่นเดิม
ซึ่งทางเลือกที่ว่ามานี้ก็จะทำให้สาธารณชนมีความรู้สึกดีกับท่าทีของอินโดนีเซีย แต่แน่นอนว่าจะไม่เป็นผลดีกับประชาชนเมียนมาเลย
เพราะฉะนั้น นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมประเทศอินโดนีเซียถึงไม่เลือกแนวทางนี้
ทางเลือกที่ 2 ถัดมานั้น ต้องพิจารณาก่อนว่าในสาธารณชน โดยเฉพาะในหมู่ประชาชนประเทศอินโดนีเซีย มีความเห็นใจน้อยมากในตัวนางอองซาน ซูจี เพราะภาพพจน์ของนางซูจีนั้นดูเสื่อมโทรมลงไปอยู่แล้ว เนื่องจากมุมมองและนโยบายของเธอที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์โรฮีนจา ซึ่งถือเป็นกลุ่มชาวมุสลิมส่วนน้อยในประเทศเมียนมาที่มีผู้นับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่
ในกลุ่มชาวอินโดนีเซียทั่วไป มีความเชื่อว่าเพื่อที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป นางซูจี ได้อนุญาตให้กองทัพเมียนมาได้ดำเนินการข่มเหงต่างๆสารพัดกับกลุ่มชาวโรฮีนจา
อันที่จริงแล้วมีรายงานว่าตัวนางซูจีเองก็สนับสนุนการปฏิบัติอย่างโหดร้ายกับกลุ่มชาวโรฮีนจาด้วยเช่นกัน ทั้งการปฏิเสธสัญชาติของคนกลุ่มนี้ การสนับสนุนนโยบายการขับไล่ชาวโรฮีนจาออกจากเมียนมา และการปกป้องบทบาทของกองทัพเมียนมาที่ศาลยุติธรรมนานาชาติกรุงเฮก
แต่ถึงแม้ว่าจะมีความคิดเห็นเช่นนั้นจากสาธารณชนชาวอินโดนีเซีย นางเรตโน ก็เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าไม่ควรมีข้ออ้างสำหรับการยึดอำนาจและการระงับกระบวนการประชาธิปไตยในเมียนมา ดังนั้น นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมนางเรตโนถึงได้พยายามจะหาหนทางที่จะแก้ไขปัญหานี้
ซึ่งนำไปสู่ทางเลือกที่ 3 ก็คือ ประเทศอินโดนีเซียนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำอะไรบางอย่าง เพื่อจะพยายามหาทางและหาทางออกของปัญหาเมียนมา เนื่องจากเป็นข้อผูกมัดอันเกี่ยวข้องกับหลักการก่อตั้งประชาคมที่ระบุว่าสมาชิกอาเซียนมีความจำเป็นจะต้องยึดถือตามหลักการประชาธิปไตย
เพราะการไม่ทำอะไรเลยกับเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมานั้นจะยิ่งเป็นการแสดงภาพให้เห็นว่าอาเซียนไม่มีบทบาทใดๆเลย ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ของเมียนมาดูแย่ลงไปอีก และนำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น
และผลเสียดังกล่าวนั้นก็จะขยายวงกว้างขึ้นไปถึงในระดับประชาคม ทำให้อาเซียนมีความแตกแยกมากขึ้นตามไปด้วย ถ้าหากสถานการณ์เมียนมามีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้นั้นถือเป็นสิ่งที่อาเซียนยอมรับไม่ได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีปัญหาการระบาดอย่างรุนแรงของไวรัสโควิด-19
การพบปะกันระหว่างนายหม่อง ลวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเมียนมา นางเรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอินโดนีเซีย และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของไทย (อ้างอิงวิดีโอจากสำนักข่าวอารีรัง)
อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศอินโดนีเซียกำลังเลือกใช้แนวทางนี้ ด้วยการพยายามหาทางออกของปัญหาเมียนมา แต่ก็มีกลุ่มชาวเมียนมาบางส่วนเริ่มแสดงออกถึงความไม่พอใจ เนื่องจากเข้าใจผิดต่อเจตนาของประเทศอินโดนีเซีย
ขณะเดียวกัน สาธารณชนของอินโดนีเซียเองก็มีความรู้สึกว่ารัฐบาลควรละเลยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นภายในเมียนมา และให้ความสนใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศจะดีกว่า
เพราะทั้งกองทัพเมียนมาและนางซูจีเองก็ไม่ได้สนใจประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนมากนักอยู่แล้ว
เรียบเรียงจาก:https://www.thejakartapost.com/paper/2021/02/25/will-indonesias-diplomacy-solve-myanmar-crisis.html
ดังนั้น นี่จึงถือว่าเป็นความท้าทายของประเทศอินโดนีเซียที่จะต้องสื่อสารถึงเจตนาดีของประเทศตัวเองทั้งในบริบทของในประเทศตัวเอง และต่อประเทศอื่นๆในประชาคมเพื่อที่จะหาทางออกให้กับประเทศเมียนมาด้วย
เพราะดังที่เรียนไปแล้วว่า ถ้าหากปัญหาของประเทศเมียนมายังคงลุกลามต่อไป สิ่งที่จะตามมาก็คือ ปัญหาเรื่องเสถียรภาพของประเทศรอบข้างอย่างแน่นอน
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage