"....การยึดอำนาจในวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมานั้นกองทัพได้ประกาศสภาวะฉุกเฉินกินระยะเวลานาน 1 ปี ด้วยความหวังที่ว่ากองทัพจะมีช่วงเวลาเพียงพอที่จะพัฒนาแนวทาง กลยุทธ์ เพื่อที่จะสามารถควบคุมประเทศให้อยู่ในบังเหียนต่อไปได้ในอนาคต ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวที่พลังทางการเมืองของนางอองซานซูจีถูกทำให้ลดน้อยถอยลงนั้น เหล่าบรรดานายพลต่างๆหวังว่าจะสามารถเจรจากับนางอองซาน ซูจี และนักการเมืองผู้ร่วมงานได้ หรือมิฉะนั้น กองทัพก็ต้องหาทางยุบพรรคเอ็นแอลดีไปเสียเลย..."
......................
สืบเนื่องจากข่าวการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมา ตามมาด้วยการประท้วงต่อต้านกองทัพประชาชนเมียนมาในช่วงตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ทำให้มีการวิเคราะห์กลยุทธ์ของทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและฝ่ายกองทัพเมียนมาจากผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
ล่าสุด สำนักข่าวการ์เดี้ยน ได้จัดทำบทวิเคราะห์เหตุการณ์ระบุว่า แท้จริงแล้วกองทัพเมียนมาอาจจะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่มั่นคงอย่างที่ตัวเองคิดเอาไว้ มีรายละเอียดดังนี้
เกือบจะ 2 สัปดาห์แล้ว ที่กองทัพเมียนมา ได้เข้ายึดอำนาจและได้จับกุม นางอองซาน ซูจี พร้อมด้วยรัฐมนตรี และนักกิจกรรมอีกหลายสิบรายทั่วประเทศเมียนมา
ความพยายามของกองทัพเมียนมาในการขัดขวางการประท้วงที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง อาทิ การตัดอินเตอร์เน็ต การขู่บังคับ ใช้ความรุนแรงต่างๆนานา รวมไปถึงการยิงผู้ประท้วง 1 ราย คือ น.ส. Mya Thwe Thwe Khine จนเสียชีวิต
ทั้งหมดล้วนเป็นการกระทำที่เปล่าประโยชน์ เพราะการชุมนุมประท้วงยังคงเกิดขึ้นในหลายเมืองนับตั้งแต่จุดศูนย์กลางในประเทศไปจนถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ติดกับชายแดนประเทศจีน
ในเมืองเหล่านี้ยังคงปรากฏภาพตำรวจจลาจลติดอาวุธ ประจันหน้ากับกลุ่มผู้ชุมนุมในที่ตั้งมั่น
ขณะที่ ณ เวลานี้นางอองซาน ซูจี ยังคงถูกคุมขังโดยไม่รู้ที่อยู่ที่แน่ชัด ด้วยข้อหาว่าได้ครอบครองวิทยุสื่อสารวอล์คกี้ทอล์คกี้ ที่ถูกนำเข้ามาในประเทศโดยผิดกฎหมาย
ซึ่งข้อหาดังกล่าวนั้นก็เป็นที่เห็นชัดเจนว่าเป็นเจตนาที่จะยืดเวลาการคุมขังเธอออกไปให้นานขึ้นไปอีก ในช่วงเวลาที่กองทัพพยายามที่จะหาทางลดความนิยมของเธอเอง
เพราะเมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกเข้าที่ทำการใหญ่พรรคสันนิบาตชาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ที่ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเมื่อเดือน พ.ย.2563 ด้วยความพยายามที่จะหาหลักฐานที่จะประณาม สมาชิกพรรครายอื่นๆ หรือตั้งข้อหาพรรคเอ็นแอลดีไปด้วยกันเลย เพื่อที่จะลดความน่าเชื่อถือของพรรคลง
การยึดอำนาจในวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมานั้นกองทัพได้ประกาศสภาวะฉุกเฉินกินระยะเวลานาน 1 ปี ด้วยความหวังที่ว่ากองทัพจะมีช่วงเวลาเพียงพอที่จะพัฒนาแนวทาง กลยุทธ์ เพื่อที่จะสามารถควบคุมประเทศให้อยู่ในบังเหียนต่อไปได้ในอนาคต ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวที่พลังทางการเมืองของนางอองซานซูจีถูกทำให้ลดน้อยถอยลงนั้น เหล่าบรรดานายพลต่างๆหวังว่าจะสามารถเจรจากับนางอองซาน ซูจี และนักการเมืองผู้ร่วมงานได้ หรือมิฉะนั้น กองทัพก็ต้องหาทางยุบพรรคเอ็นแอลดีไปเสียเลย
ชัยชนะอย่างถล่มทลายของพรรคเอ็นแอลดีในเดือน พ.ย. 2563 รวมไปถึงการที่พรรคที่ไม่เป็นที่นิยมของกองทัพได้จำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรแค่ 33 ที่นั่ง จาก 476 ที่นั่งนั้น ถือเป็นหลักฐานที่สำคัญว่าฐานเสียงของพรรคเอ็นแอลดียังคงมีความกล้าแข็งอยู่
แม้ว่ากองทัพจะมีความพยายามตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ที่จะบั่นทอนนางอองซาน ซูจี ในฐานะที่ปรึกษาแห่งรัฐเอง
แต่ต้องอย่าลืมว่าในระหว่างที่บรรดานายพลได้พยายามที่จะกักขังกลุ่มผู้นำทางการเมือง กลุ่มการเคลื่อนไหวที่ต่อต้านการยึดอำนาจนั้นก็เป็นกลุ่มที่เรียกได้ว่ามีเจตจำนงค์เป็นของตัวเอง
โดยเป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายทั้งความเชื่อทางการเมือง,วัฒนธรรม และภาวะเศรษฐกิจสังคมที่แตกต่างกันออกไป และมีความเป็นอิสระ ไม่ได้อิงกับอำนาจการเมืองใดการเมืองหนึ่งหรือนักการเมืองคนใดคนหนึ่ง ดังนั้นการใช้กลยุทธ์ตัดที่หัวเพื่อหยุดการเคลื่อนไหวทั้งหมดนั้นจึงไม่ใช่สิ่งที่ทำได้
และยิ่งไปกว่านั้นการปรากฏภาพของแถวตำรวจปราบจลาจลไปทั่วประเทศนั้นก็เป็นสิ่งที่สื่อให้เห็นว่าแม้ว่าจะมีเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย การเปิดรับต่างชาติเข้ามาในประเทศ
แต่การเคลื่อนไหวในครั้งนี้ก็เป็นข้อตอกย้ำถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานเกี่ยวกับความพยายามที่จะต่อต้านอำนาจรัฐในประเทศเมียนมามาโดยตลอด
ข่าวการสลายการชุมนุมที่เมียนมา (อ้างอิงวิดีโอจาก Sky News Australia)
ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของเมียนมา การเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายมาอย่างยาวนาน ทั้งในช่วงเวลาที่ต้องตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ไปจนถึงช่วงเวลาที่ ต้องอยู่ภายใต้เผด็จการทหาร การมีส่วนร่วมของประชาชนเพียงอย่างเดียวเกิดขึ้นบนท้องถนนซึ่งกลายเป็นสถานที่ที่มีทั้งการใช้กำลังกันและการเจรจาเกิดขึ้น
ณ เวลานี้ จึงมีความกลัวกันว่ากองทัพจะหาทางเข้าควบคุมและบังคับวิถีชีวิตของประชาชนในทุกๆด้าน เฉกเช่นที่ได้เคยพยายามทำมาแล้วทั้งในการรัฐประหารปี 2505 และการเปลี่ยนถ่ายอำนาจในช่วงปี 2553 ที่มีการวางกฎเกณฑ์เพื่อเข้าควบคุมหลายสิ่งหลายอย่างในประเทศ
แต่ถึงกฎเกณฑ์ต่างๆจะไม่อำนวยให้ฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลทหารสามารถเคลื่อนไหวได้โดยสะดวกในช่วงเวลาที่รัฐบาลทหารเรืองอำนาจ แต่ก็มีการพัฒนาทั้งเทคนิค เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นต่างๆได้ และด้วยวิธีนี้ก็ทำให้กลุ่มที่ต่อต้านกองทัพเมียนมานั้นยังคงเคลื่อนไหวอย่างเงียบๆ พร้อมกับความรู้สึกอดทนที่ต้องเป็นฝ่ายถูกกระทำมาโดยตลอด
ตัวอย่างหนึ่ง ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือนักกิจกรรมทางการเมืองในเมียนมาที่ผ่านมาจะมีการเผยแพร่ข้อมูลด้วยการซ่อนแผ่นพับประชาสัมพันธ์ข้อความทางการเมืองเอาไว้บนหลังคาของรถโดยสารประจำทาง และคอยดูแผ่นพับนี้โปรยออกไปยังผู้คนที่อยู่รอบทาง หลังจากที่คนขับได้ออกตัวรถแล้ว
ขณะที่ผู้สื่อข่าวใต้ดินก็มีการลักลอบนำเข้าวิดีโอภายในประเทศเมียนมาออกไปสู่ต่างประเทศ โดยในบางครั้งพวกเขาก็มีการเดินเท้าไปถึงพรมแดนประเทศไทย เพื่อจะจัดส่งม้วนวิดีโอให้กับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ต่อต้านกองทัพเมียนมาได้นำไปเผยแพร่ต่อไป
หรือไม่ก็อัปโหลดวิดีโอที่ว่านี้ขึ้นไปบนอินเตอร์เน็ตผ่านเราเตอร์ในรถที่จอดรออยู่ข้างบ้านพวกเขาเสียเลย
นอกจากนี้ยังมีกรณีที่น่าสนใจ อาทิ นักเคลื่อนไหวกิจกรรมผู้หญิงที่ถูกเนรเทศออกจากประเทศเมียนมานั้นมีความคุ้นเคยกับความเชื่อทางไสยศาสตร์ของผู้นำทางทหารเมียนมาเป็นอย่างดี ว่าถ้าหากต้องสัมผัสกับกางเกงในสตรีแล้ว พวกเขาจะเสียอำนาจ ดังนั้น จึงได้มีการส่งยกทรงและกางเกงในสตรีไปยังสถานทูตเมียนมาในต่างประเทศเป็นต้น
หรืออย่างกรณีที่ชาวนายังคงเพาะปลูกบนที่นาที่ถูกยึดไปโดยกองทัพเมียนมา นักโทษทางการเมืองจัดสมนาอย่างลับๆในห้องขัง ครูในกลุ่มชาติพันธ์ย่อยปฏิเสธที่จะฟังคำสั่งจากรัฐบาลว่าให้สอนแต่ภาษากลางของเมียนมาเท่านั้น
การกระทำการเพื่อต่อต้านรัฐบาลเมียนมาเหล่านี้ถือเป็นข้อบ่งชี้อันสำคัญว่ากลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมายังคงเคลื่อนไหวมาได้โดยตลอดแม้จะเป็นช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดก็ตาม
คาดการณ์กันว่าหลังจากนี้กองทัพจะเริ่มใช้มาตรการที่รุนแรงมากขึ้นกับกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านการยึดอำนาจ และอาจจะรวมไปถึงการใช้ม็อบชนม็อบ หลังจากที่มีข่าวการปล่อยนักโทษจำนวน 23,000 คน เมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่ากองทัพเมียนมานั้นรู้จักวิธีการในการเจรจาต่อรองไม่มากนักเพื่อจะทำให้ในสถานการณ์ดีขึ้น สิ่งที่เป็นจุดอ่อนของกองทัพเมียนมาก็คือกลยุทธ์ของตัวเองที่นำความโกรธแค้นมาเป็นเครื่องมือ อาทิ การสร้างกลุ่มม๊อบเยาวชนจากกลุ่มนักโทษที่ถูกปล่อยตัว โดยให้อามิสสินจ้างตอบแทนเป็นเงินค่าจ้างเป็นรายวัน
เพราะ ณ เวลานี้ก็เริ่มมีรายงานข่าวการพบเห็นนักโทษที่ถูกปล่อยตัวใกล้กับจุดที่มีผู้ประท้วงบางแห่งบ้างแล้ว
ถ้าหากมองย้อนกลับไปถึงการชุมนุมในอดีตที่ผ่านมา ก็พอคาดเดาได้ว่านักโทษเหล่านี้นั้นจะได้รับคำสั่งให้กระตุ้นความรุนแรงระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงด้วยกันเอง
โดยหวังว่าการกระทำเช่นนั้นจะสร้างความไม่ลงรอยกันและทำลายความสามัคคีของการชุมนุมหรือทำให้ผู้คนหวาดกลัวการชุมนุมโดยสิ้นเชิง
ข่าวการอภัยโทษนักโทษจำนวน 23,000 ราย (อ้างอิงรูปภาพจากทวิตเตอร์สำนักข่าวMyanmar News)
นอกเหนือจากการใช้นักโทษแล้ว อีกกลยุทธ์หนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวก็คือรัฐบาลทหารได้เริ่มกระบวนการเข้ายึดสถาบันอำนาจต่างๆในประเทศแล้ว
โดยเหล่าบรรดานายพลต่างๆได้ออกมากระตุ้นความรู้สึกของประชาชนพร้อมด้วยการสร้างภาพความร่วมมืออันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแม้แต่ตอนการประท้วงใหญ่ของพระสงฆ์ในปี 2550
ซึ่งถ้าหากแผนการของกองทัพเมียนมาประสบความสำเร็จ พรรคเอ็นแอลดีอาจต้องกลับไปสู่การเคลื่อนไหวใต้ดินอีกครั้งหนึ่งเมื่อสมาชิกพรรคถูกทำให้สลายตัว โดยสิ่งนี้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา หรือถ้าดีกว่านั้นหน่อยก็คือพรรคเอ็นแอลดีจะสามารถกลับมาสู่รัฐสภาได้ แต่จะมีพลังทางการเมืองที่น้อยลงไปกว่าเดิมมาก
อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้ถือว่ายังคงเป็นประเด็นที่ไม่แน่นอน ณ เวลานี้ และมีปัจจัยที่ต้องคำนึงมากมาย โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลบนท้องถนนที่มีแนวโน้มว่าจะเติบโตขึ้น
การเจรจาต่อรองต่างๆ เพื่อจะกำหนดบทบาทอำนาจทางการเมืองต่างๆ รวมไปถึงแรงกดดันจากการเมืองต่างประเทศก็ล้วนแล้วแต่จะเป็นปัจจัยกำหนดอนาคตของเมียนมา
โดย ณ เวลานี้กองทัพเมียนมาอาจจะรู้สึกว่าพวกเขายังคงมีอำนาจสามารถควบคุมทุกๆอย่างได้ และมองว่าการประท้วงเหล่านี้ไม่ได้สร้างปัญหาให้มากนัก
แต่ว่าในความเป็นจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้นก็เป็นได้
เรียบเรียงจาก: https://www.theguardian.com/commentisfree/2021/feb/11/generals-myanmar-seizure-power-military
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/