“…หลังรัฐประหาร ก็จะเป็นคนในกองทัพที่ลงมาดูโปรเจ็กต์ของทวายโดยตรง สำหรับนักธุรกิจอย่างอิตาเลียนไทย ตั้งแต่ต้นเขาก็ดีลงานกับกองทัพ แล้วเนื่องจากว่าประเทศไทยเราอยู่ภายใต้รัฐบาลที่ปกครองโดยรัฐบาลกึ่งทหาร ด้วยสายสัมพันธ์ของทหารไทยกับทหารพม่าเรียกว่ากลมเกลียวมากเลยทีเดียว เพราะว่านับตั้งแต่รัฐประหารมาก็จะมีคนชอบพูดถึงพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หลาย เป็นลูกเลี้ยงของป๋าเปรม ( พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ) ก็เห็นถึงสายสัมพันธ์ เขามีเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นทหาร ความเป็นพวก เป็นเหล่าเดียวกัน ดิฉันก็เลยมองว่า อาจจะคุยได้ง่ายกว่า ถ้าทหาร กองทัพไทย หรือ พลเอกประยุทธ์ ไปเจรจากับกองทัพทหารพม่าโดยตรง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย เดินหน้าต่อไปได้…”
...................................
เหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมา เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 ที่ผ่านมา สร้างกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านการรัฐประหารไปทั่วทั้งเมียนมา ในหมู่ประชาชน ดารา นักแสดง รวมถึงหลายประเทศทั่วโลกที่ออกมาประณามการรัฐประหารในครั้งนี้
ทว่า ก่อนการรัฐประหารไม่นานนัก สำนักข่าวหลายแห่งในไทยและทั่วโลกต่างจับตากรณีที่รัฐบาล NLD ของเมียนมาประกาศยกเลิกสัญญากับอิตัลไทย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ที่ถูกรัฐบาลเมียนมายกเลิกสัญญาโครงการเศรษฐกิจพิเศษทวายและท่าเรือน้ำลึกทวาย (Dawei Special Economic Zone) ซึ่งเป็นเมกะโปรเจ็กต์ที่หากสร้างเสร็จแล้วจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งนี้ เมียนมาเคยขอให้มีการทบทวนการดําเนินการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมในระยะที่ 1 และการกู้เงินจากประเทศไทยเพื่อก่อสร้างถนน 2 ช่องทางการจราจรจากจุดผ่านแดนบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะทางรวม 138 กิโลเมตร กําหนดระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี โดยโครงการก่อสร้างถนนสายนี้ ใช้งบประมาณก่อสร้าง 4,500 ล้านบาท ( ดอกเบี้ย 0.1% ) โดยรัฐบาลไทยได้เสนอให้ รัฐบาลเมียนมากู้เงิน โดยให้สํานักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ. (เนด้า ) ในสังกัดกระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานที่ปล่อยกู้
กระทั่ง เมื่อวันที่ 12 ม.ค.2564 บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ตามที่บริษัทและคู่สัญญากลุ่มธุรกิจร่วมทุนภายใต้บริษัทที่จดทะเบียนในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา รวม 5 บริษัท ได้รับสัมปทานโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะแรก โดยได้ลงนามสัญญาสัมปทานกับคณะกรรมการบริหารงานพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (DSEZ MC) เพื่อดำเนินการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่รวม 27 ตารางกิโลเมตร พร้อมระบบโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่าง ๆที่จำเป็นต่อนิคมอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2558 จำนวน 6 ฉบับ และ เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2559 อีก 1 ฉบับ รวมสัญญาสัมปทานจำนวน 7 ฉบับ บริษัทขอแจ้งว่า เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2563 ที่ผ่านมา Project Companies ทั้ง 5 บริษัท ได้รับหนังสือแจ้งการบอกเลิกสัญญาสัมปทาน รวม 7 ฉบับ จาก DSEZ MC เนื่องจาก DSEZ MC อ้างว่า Project Companies ผิดนัดไม่ชำระค่าสิทธิตามสัญญาสัมปทาน และไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขบังคับก่อนบางประการในการเริ่มดำเนินการตามสัญญาสัมปทานได้ โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 4/1/2564 เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2564 ได้พิจารณาแนวทางการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว และ ได้มีมติให้ที่ปรึกษากฎหมายของบริษัท ดำเนินการจัดทำหนังสือชี้แจงและโต้แย้งข้อกล่าวหาของ DSEZ MC ข้างต้นโดยด่วน ซึ่งบริษัทจะแจ้งความคืบหน้าให้ทราบต่อไป
ด้านนาย สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เคยกล่าวต่อสื่อมวลชนว่า จะใช้คณะกรรมการร่วมไทย-เมียนมา-ญี่ปุ่น โดยจะแต่งตั้ง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมการประสานงานร่วมระหว่างไทย-เมียนมา เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง (Joint Coordinating Committee for the Comprehensive Development of the Dawei Special Economic Zone and Its Related Projects Areas: JCC) ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นอนุคณะกรรมการของคณะกรรมการร่วมระดับสูงระหว่างไทย-เมียนมา เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง ฝ่ายไทย (Myanmar-Thailand Joint High Level Committee for the Comprehensive Development in the Dawei SEZ and Its Related Project Areas: JHC) โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ เป็นประธาน ซึ่งจะใช้เวทีเหล่านี้พูดคุยกัน ส่วนจะนัดประชุมร่วมกันได้เมื่อไร ต้องศึกษารายละเอียดข้อพิพาทก่อน
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สัมภาษณ์ ผศ.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และการเมืองในเมียนมา ที่วิเคราะห์นัยของการยกเลิกสัญญาว่าอาจมีปัจจัยด้านความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพลเรือน NLD (พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ) กับกองทัพพม่าเข้ามาเกี่ยวข้อง กระทั่งเมื่อเกิดการรัฐประหารในเมียนมาเร็วๆ นี้ นักวิชาการรายนี้มองถึงบทบาทของกองทัพกับรัฐบาททหารของไทยที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยาวนาน อาจส่งผลในแง่บวกต่อการเจรจาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ขณะเดียวกันก็สะท้อนภาพมาตรฐานและคุณภาพในการลงทุนด้านเมกะโปรเจ็กต์ หรือ อินฟาสตรัคเจอร์ขนาดใหญ่ของชาติอื่นๆ ในเอเชียที่รัฐบาลไทยและอิตาเลียนไทยอาจต้องถือเป็นบทเรียน ทั้งเห็นว่าโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่มีประโยชน์ต่อไทย
ด้าน ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งคำถามถึงรายละเอียดของสัญญาที่ถูกยกเลิก รวมถึงวงเงินกู้จากเนด้า บทบาทการเจรจาของรัฐบาลไทยและอิตาเลียนไทย โดยสะท้อนภาพตัวอย่างการก่อสร้างในเมียนมาของ กฟผ. ปตท. หรือแม้แต่อิตาเลียนไทยในอดีต ที่ล้วนไม่เกิดปัญหา โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายจึงนับเป็นบทเรียนสำคัญของอิตาเลียนไทย ที่ต้องศึกษาให้รอบด้าน เนื่องจากเป็นเมกะโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ที่ต้องเกี่ยวข้องกับประชาชน ภาคประชาสังคม นักสิ่งแวดล้อม อีกทั้งบริบทอื่นๆ อาทิ เรื่องการเวนคืนพื้นที่ ซึ่งล้วนก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบต่อความล่าช้าในการดำเนินโครงการ
ผศ.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ /ภาพจาก https://prachatai.com/quote/2015/08/61097 ( *หมายเหตุ บทสัมภาษณ์ยึดตามคำเรียกของ ผศ.ลลิตา หาญวงษ์ ที่เรียกเมียนมาว่า พม่า )
***ส่อเค้าความขัดแย้ง NLD-กองทัพ***
@ กรณีเมียนมายกเลิกสัญญากับอิตัลไทย ในมุมมองของคุณส่งผลกระทบต่อด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการลงทุนอย่างไรบ้าง ?
ลลิตา : เศรษฐกิจในองค์รวมอาจไม่กระทบทั้งหมด แต่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนพม่าแล้วก็รัฐบาลพม่ามองฝั่งไทย แต่ต้องบอกก่อนว่า โครงการอิตาเลียนไทย ถ้าเราไปคุยกับคนพม่า หรือนักธุรกิจพม่าจริงๆ ก็จะรู้ว่า มันมีปัญหามาโดยตลอด ไม่ใช่ว่าเพิ่งจะโผล่พ้นพรม
ประเด็นแรก ต้องเข้าใจว่าสเกลมันใหญ่ เขาโฆษณาว่าเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษท่าเรือน้ำลึกที่ใหญ่ที่สุดในพม่า คือมันใหญ่ แล้ว ตัว ambition หรือเป้าประสงค์ของทวายที่จะเชื่อมมหาสมุทรอินเดียเข้ากับกาญจนบุรีกับอ่าวไทย มันเป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่มาก
ประเด็นที่สองการสร้างถนน เชื่อมทวายกับกาญจนบุรี เราต้องเข้าใจด้วยว่ามันไม่ใช่พื้นที่พม่าแม้เพียงอย่างเดียว มันผ่านพื้นที่และเขตอิทธิพลของชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะในพื้นที่นั้นคือคนกะเหรี่ยง
แล้วมันยังมีประเด็นที่เราต้องพิจารณา เป็นประเด็นที่สามคือ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม จึงมีผลอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลพม่า คือ NLD ซึ่งเป็นรัฐบาลพลเรือนขึ้นมา ในขณะที่ก่อนหน้านี้การจะดีลระหว่างอิตาเลียนไทย เป็นการดีลกับกองทัพหรือทหาร ถ้าดิฉันจะฟันธง คือ มันเป็นดีลทางการเมืองที่ผ่านคอนเนคชั่นส่วนตัวประมาณหนึ่งด้วย
แต่ว่าเนื่องจากว่านโยบายของ NLD ไม่ถูกกับกองทัพ ไม่ถูกกับทหาร แล้วสิ่งที่เกิดขึ้น กับพม่าคืออะไรที่เป็นของกองทัพ NLD ก็จะมองว่ามันไม่ดี ต้องรื้อทำใหม่ตลอดแล้วก็เท่าที่สังเกตดู ช่วงปีที่แล้วเป็นต้นมา ทางกองทัพ และ NLD ดูจะมีความขัดแย้งกันแบบเปิดเผยมากขึ้น อย่างเช่น การที่กองทัพ ไปมีการเจรจาพูดคุยกับ อาระกัน อาร์มี่ ( Arakan Army )ซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่าต้องเป็นกลุ่มกองกำลังติดอาวุธกลุ่มใหม่ที่มีอิทธิพล และสร้างความเดือดร้อนให้กับรัฐบาล NLD พอสมควร
มีกรณีเรื่องการจับตัวประกัน จับ ส.ส. ของ NLD ไปเป็นตัวประกัน กองทัพพม่าก็เลยอาจจะเห็นว่า เมื่ออาระกันอาร์มี่ เป็นศัตรูของ NLD กองทัพก็ควรจะแสดงความเป็นอารีอารอบ คือมันมีกรณียิบย่อย ที่เราพูดได้พอสมควร ว่าความสัมพันธ์ ระหว่างรัฐบาล NLD กับกองทัพมันตึงเครียด
แล้วก็กลับมาดู เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เนื่องจากว่าริเริ่มโดยคนของกองทัพ มันก็อาจจะดูไม่สมประกอบ ในมุมมองของ NLD เพราะใต้การทำงานของกองทัพ EIA การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมันผ่านง่ายเหลือเกิน ในขณะที่เมื่อเรามาดูตามเนื้อผ้าแล้ว มีชาวบ้านที่ถูกไล่ที่ ได้รับผลกระทบ หมู่บ้านทั้งหมู่บ้านต้องย้ายออกไปจากพื้นที่
มีเอ็นจีโอไทยศึกษาเรื่องพวกนี้อยู่พอสมควร แล้วก็ทางฝั่ง เอ็นจีโอของพม่าเอง ก็ไม่พอใจตรงจุดนี้ เป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไม โครงการทวายจึงล่าช้ามานาน
แต่ว่าที่ล่าช้ามากๆ ส่วนหนึ่งที่ฟังฝั่งพม่าอธิบายคือ อิตาเลียนไทย มีสายป่านยาวไม่พอ มีเงินไม่มากพอที่จะมาลงทุน ขณะที่ญี่ปุ่น ซึ่งไปลงทุนที่ติลาวา และจีนทีลงทุนที่เจ้าผิวก์ ซึ่งรัฐบาลเขาสนับสนุนเต็มที่ และเป็นดีลระหว่างจีทูจี
เมื่อเทียบกับญี่ปุ่น พม่ามีความไว้วางใจญี่ปุ่น ญี่ปุ่นไม่เคย fail เขา โครงการพัฒนามาจากไจก้า ( JICA ) เยอะมาก นิคมอุตสาหกรรมมันผลิดอกออกผลจริงๆ ดิฉันเคยไปมาถึงรู้ว่า มันสร้างงานได้เยอะมากจริง ๆ และคนพม่ามีทัศนคติที่ดีต่อนักธุรกิจญี่ปุ่น ไม่ใช่ว่าเขามีทัศนคติที่ไม่ดีกับนักธุรกิจไทย เพราะว่าคนพม่าชอบสินค้าไทยมาก แต่อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับ สเกลใหญ่อย่างทวาย ส่วนตัวแล้วถ้าให้ถามความเห็น ก็คือว่ามันเป็นเรื่องของความตึงเครียดระหว่างรัฐบาล NLD กับกองทัพพม่าด้วย
@ รัฐบาลไทยควรดำเนินการอย่างไรต่อกรณีนี้ ?
ลลิตา : ได้ข่าวมาว่ารัฐบาลไทยส่งคนไปเจรจาแล้วว่าขอให้อย่าเพิ่งยกเลิกสัญญา อะไรอะลุ่มอล่วยได้ก็อะลุ่มอล่วยกัน แล้วทางกองทัพไทย เขามีความสัมพันธ์ที่ดีมากกับกองทัพพม่า ตั้งแต่ยุคบิ๊กจิ๋ว ( พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ) มันก็เหมือนกับเป็น Legacy ของทหารไทย กับพม่าที่อารีอารอบกันเสมอมา แล้วพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ก็เหมือนเป็นลูกเลี้ยงของป๋าเปรม ( พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ) แต่ว่าคือทั้งนั้นทั้งนี้ มันต้องตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า NLD ไม่ถูกกับทหารอย่างแรง ก็พยายามแสดงออกมา
ก่อนหน้านี้ เวลารัฐบาลพลเรือนกับกองทัพเขาทะเลากัน ประชาชนพม่าจะสังเกตเป็น Body Language เช่น ทำไมไม่มองหน้ากัน ทำไมจับมือกันไม่แน่น แต่ปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้น ( ก่อนการรัฐประหาร ) คือ มีการแถลงการณ์ประณาม NLD กองทัพแถลงการณ์ประณาม กกต.ของพม่าซึ่ง NLD เป็นคนจัดตั้งขึ้นมา เป็นการเปิดศึกกันอย่างชัดเจน
เราก็สงสัยว่า Agenda ของการยกเลิกสัญญาของเขา น่าจะมาจากปัญหาการเมืองภายในของเขาด้วยหรือเปล่า ไม่ใช่เฉพาะเรื่องที่ อิตาเลียนไทย ไม่ส่ง ทำช้า ซึ่งมันก็เป็นเรื่องจริงทั้งหมด ควรจะส่งงานตั้งแต่กี่ปีมาแล้ว แต่ก็เลื่อนๆ มา เพราะว่า อิตาเลียนไทย ไม่มีเงิน หรือ มีเงิน แต่ลึกๆ รู้ว่าไม่คุ้มหรือเปล่า
***ญี่ปุ่นคิดหนัก ได้อะไรจากเมกะโปรเจ็กต์ทวาย***
พม่าเขาจะไปเจรจากับญี่ปุ่น ให้มาสานต่อ แต่ญี่ปุ่นก็ต้องคิดหนักเพราะเป็นเมกะโปรเจ็กต์ ว่าเขาจะได้อะไรจากโครงการนี้ เพราะว่าคนที่ได้ประโยชน์จริงจังที่สุดคือไทย มันเป็นเมกะโปรเจ็กต์ ในยุครัฐบาลพลเรือนของไทย แล้วอะไรก็ตามที่รัฐบาลพลเรือนริเริ่ม พูดตรงๆ ว่า รัฐบาลทหารมักจะไม่สานต่อ แล้วก็พยายามจะบ่ายเบี่ยงว่าไม่ใช่ความริเริ่มของเขา
ความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของทวายต่อรัฐบาลญี่ปุ่น มันมีไม่มาก แล้วเขาจะพร้อมเสี่ยงมาลงทุนไหม คือ เขาก็เจรจากันอยู่ แต่ส่วนตัวคิดว่า อุตสาหกรรมของญี่ปุ่น อยู่ในขาลง ไม่เหมือนตอนที่เขามาลงทุนที่มาบตาพุด ญี่ปุ่นก็ต้องคิดหนักเพราะใช้เม็ดเงินลงทุนสูงมาก แล้วตราบใดที่พม่ายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาชนกลุ่มน้อยได้ มันจะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนยาก คนญี่ปุ่นเวลาศึกษาเรื่องพม่า เขามีนักวิชาการที่รู้เรื่องพม่า ดีกว่าคนพม่าเองด้วยซ้ำไป ดังนั้น เขาทำการบ้านมาแล้ว ถ้ารัฐบาลญี่ปุ่นตกลงจะร่วมลงทุน ก็ถือว่ารัฐบาลญี่ปุ่นศึกษามาเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้ารัฐบาลญี่ปุ่นเท แล้วเป็นไปได้ไหมที่จีนจะเข้ามา คือ ทวายไม่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์กับจีนอีกแล้ว เขาจะไปสนใจที่เจ้าผิวก์ ทางอาระกัน เพื่อส่งแก๊สไปคุนหมิง
@ อองซานซูจี
ประเด็นสำคัญก็คือ เราอย่าลืมว่า รัฐบาลพลเรือน NLD ของอองซานซูจี ไม่มีทางเลือก นอกจากโปรจีนมากขึ้น เรื่องอาระกัน โรฮิงญา ทำให้อองซานซูจี สูญเสียความนับถือจาก UN และตัวแทนของฝั่งตะวันตกเยอะมาก แล้วก็ถูกบอยคอต พูดง่ายๆ ดังนั้น พรรค NLD ก็ๆไม่มีทางเลือกมาก นอกจากต้องหันหน้าเข้าหาทางมหาอำนาจจีน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ กองทัพพม่าจะ paranoid มาก ไม่อยากให้จีนเข้ามา พม่ายังไม่ไว้ใจจีนจากกรณีเขื่อน Mytson
@ หลังการประกาศยกเลิกสัญญา ความพยายามของรัฐบาลไทยเป็นอย่างไร ?
ลลิตา : ก็เห็นเขาพยายามอยู่ อาจจะเจรจาสำเร็จก็ได้ แต่เจรจาสำเร็จ ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจริงใจนะ แต่เพราะจะเสียหน้ามากกว่า แล้วพอเสียหน้าในเรื่องแบบนี้ ความน่าเชื่อถือของ ไทยจะน้อยลง ในการไปทำโปรเจ็กต์ใหญ่ที่ต่างประเทศ จึงคิดว่ารัฐบาลไทย อาจจะหาทางลงกับพม่าได้ผ่านทางเจรจา แต่ศักยภาพ อิตาเลียนไทยที่จะส่งงานให้ทันนั้น ไม่แน่ใจ เพราะรัฐบาลไทย ไม่ถนัดไปสร้าง infrastructure ( โครงสร้างพื้นฐาน ) ในประเทศเพื่อนบ้าน ถ้ามันเยอะเกินกว่าที่ประเมินไว้ เขาก็จะมองว่ามันไม่คุ้ม แต่ขณะที่จีนและญี่ปุ่น เรื่อง อินฟราสตรัคเจอร์ เขาถึงไหนถึงกัน กรณีในแอฟริกา ชัดเจนมาก จีนเอาเงินไปลงที่แอฟริกา เขาลงหมดหน้าตัก เช่น ไปสร้างมหาวิทยาลัยให้ แต่ว่ารัฐบาลไทย ไม่ค่อยเน้นตรงจุดนั้น เพราะว่ามันแพง แล้วเราอาจจะได้ยินว่า ก็เพราะไทยไม่ใช่ประเทศพัฒนา ก็ควรทำที่สมฐานะ แต่ถ้าเป็นจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไม่ใช่เลยนะคะ ตัวอย่างเช่น เกาหลีเพิ่งใช้เงินหนึ่งล้านดอลล่าร์ เพื่อสร้างศูนย์เอเชียศึกษา ที่กานา ส่วนจีนเขาสร้างมหาลัย สร้างถนน สร้างกระทรวงการต่างประเทศให้ประเทศในแอฟริกา นี่คือ ลองประเมินดูว่า ถ้าต้องเลือก พม่าจะเลือกใคร
@ มีประเด็นใดเกี่ยวกับโปรเจ็กค์ทวายที่ต้องติดตามต่อ ?
ลลิตา : ต้องติดตามต่อ เพราะรัฐบาลไทยเสียหน้าเยอะนะคะ กับการที่เขามายกเลิกสัญญา คือเขารำคาญ เพราะตามงานมาหลายปีแล้ว แล้วอิตาเลียนไทย มีแต่ปัญหา คือมันเสียหน้า ดังนั้น ถ้ารัฐบาลไทยจะจัดการก็ไม่ใช่เพราะอะไร แต่เพราะกลัวเสียหน้า
ส่วนกองทัพ ปีนี้เป็นปีที่น่าสนใจที่สุด เพราะว่าพม่ากำลังจะมี ผบ.สส. คนใหม่ เนื่องจากปีนี้จะเป็นปีที่มิน อ่อง หล่าย ประกาศเกษียณอายุจริงจัง แต่ว่าปัจจุบันคนพม่าก็ยังไม่รู้ว่าใครจะเป็นแคนดิเดตคนต่อไปของพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่าย การเมืองพม่า พูดตรงๆ ในกรณีพม่า กองทัพไม่มีทางแพร่งพรายให้คนนอกรู้เลยว่าใครจะทำอะไร คนต้องมาตีความ message หรือตีความ Body Language เอาเอง
***โปรเจ็กต์ทวาย หลังรัฐประหารในเมียนมา***
@ หลังรัฐประหาร มีนัยอะไรต่อโปรเจ็กต์ทวายบ้าง ?
ลลิตา : ง่ายๆ เลย หลังรัฐประหาร ก็จะเป็นคนในกองทัพที่ลงมาดูโปรเจ็กต์ของทวายโดยตรง สำหรับนักธุรกิจอย่างอิตาเลียนไทย ตั้งแต่ต้นเขาก็ดีลงานกับกองทัพ แล้วเนื่องจากว่าประเทศไทยเราอยู่ภายใต้ รัฐบาลที่ปกครองโดยรัฐบาลกึ่งทหาร แล้วด้วยสายสัมพันธ์ของทหารไทยกับทหารพม่าเรียกว่ากลมเกลียว มากเลยทีเดียว เพราะว่านับตั้งแต่รัฐประหาร มาก็จะมีคนชอบพูดถึง พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หลาย เป็นลูกเลี้ยงของป๋าเปรม ( พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ) ก็เห็นถึงสายสัมพันธ์ เขามีเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นทหาร ความเป็นพวก เป็นเหล่าเดียวกัน ดิฉันก็เลยมองว่า อาจจะคุยได้ง่ายกว่า ถ้า ทหาร กองทัพไทย หรือ พลเอกประยุทธ์ ไปเจรจากับกองทัพทหารพม่าโดยตรง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย เดินหน้าต่อไปได้
***ITD และเมกะโปรเจ็กต์ทวาย ในสายตา NLD***
แต่ปัญหาเชิงลึกส่วนหนึ่ง ที่ทำให้ NLD เขายกเลิกโครงการนี้เพราะเขามองว่า อิตาเลียนไทย พูดตรงๆ คือ ไม่มีเงินเพียงพอที่จะกลับมาลงทุนที่ทวายอีกต่อไปแล้ว เพราะมันไม่ใช่แค่การสรร้างอินฟราสตรัคเจอร์ แต่มันยังมีเรื่องของการเวนคืนที่ดิน มีการสร้างถนน ซึ่งมันมีหลายโปรเจ็กต์ เกือบ 10 โครงการอยู่ในนั้น
อิตาเลียนไทยก็มีปัญหาความน่าเชื่อถือที่คนพม่าและคนไทยมีต่ออิตาเลียนไทยก็ลดน้อยลงไปพอสมควร แล้วก็ ดิฉันเชื่อว่า ภายใต้รัฐบาลทหาร โครงการอาจกลับคืนมาอยู่ในมือของรัฐบาลไทย และอิตาเลียนไทย แต่ไม่ใช่ว่ากลับมาคราวนี้ แล้วจะทำอะไรก็ได้นะ คือควรจะระดมทุนและทำให้ถูกต้องตามสัญญาสักที คือโครงการนี้ถ้าทำเสร็จจริงมันก็มีประโยชน์ ที่จะเชื่อมมหาสมุทรอินเดียกับไทยได้ แต่ที่ผ่านมาติดเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงด้วย เรื่องการประเมินทางสิ่งแวดล้อมหลายอย่าง และสายป่านยาวไม่เท่า
จีนและญี่ปุ่นที่พร้อมจะเข้ามาเสียบได้ตลอดเวลา ก็อาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึงที่อิตาเลียนไทยทำไม่เสร็จสักที ส่งงานไม่ได้สักที
@ มินอ่อง หล่าย บอกจะอยู่ในอำนาจ 1 ปี เป็นไปได้ไหมที่โปรเจ็กต์ทวายจะลุล่วง
ลลิตา : เป็นไปได้ เพราะต่อจากนี้เป็นรัฐบาลทหารที่ดีลกันแล้ว รัฐบาลของอองซานซูจียุบไปแล้ว ดังนั้น ทหารเขาต้องส่งคนของเขาเข้ามาดูแลกิจการภายใน และเรื่องที่สำคัญมากคือเรื่องของโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย รวมถึงเมกะโปรเจ็กต์อื่นๆ ที่เห็นเป็นมูลค่ามหาศาลทั้งนั้น ซึ่งถ้ากองทัพกุมตรงนี้ได้ มันก็ทำให้เขามีแต้มต่อ มีรายได้เพิ่มขึ้นมหาศาล
@ เชื่อไหมว่ากองทัพ จะอยู่ในอำนาจ 1 ปี ตามที่มินอ่องหล่าย ระบุ
ลลิตา : น่าจะบวกค่ะ มากกว่า 1 ปี
@ คนที่จะขึ้นมาแทนมินอ่องหล่าย จะส่งผลกระทบอะไรต่อโปรเจ็กต์ทวายหรือไม่ ?
ลลิตา : ไม่ค่ะ เพราะทหารเขาเป็นเอกภาพ ผบ.คนหนึ่งพูดอย่างนี้ อีกคนก็จะพูดเหมือนกัน ทหารพม่าไม่เคยแตกแถวค่ะ อันนี้ต้องจำไว้เลย
ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย/ภาพจากhttps://www.komchadluek.net/
***เชื่อ ไม่กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ***
@ กรณีเมียนมายกเลิกสัญญาอิตาเลียนไทย มุมมองในทางรัฐศาสตร์ ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือไม่ อย่างไร ?
นฤมล : คิดว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศหรือการเมืองการปกครอง เท่าที่เช็คกับเพื่อนฝั่งพม่า ทางอิตาเลียนไทย ได้รับสัมปทาน จาก SPV ( Special Purpose Vehicle ) คือ อิตาเลียนไทย ได้สัมปทานในฐานะบริษัทเอกชน แล้วก็จนถึงปี 2012 ก็เปลี่ยนจากสัมปทานจากรัฐกับเอกชน เป็นรัฐต่อรัฐ ดังนั้น อิตาเลียนไทย เป็นซับคอนแทรค ( Sub contract ) ของ SPV อีกต่อนึง SPV เป็น กรรมการร่วมลงทุนระหว่างสองรัฐคือไทยกับเมียนมา แล้วตอนนี้ ที่ถูกเทอร์มิเนตคอนแทรค ( Terminate contract-บอกเลิกสัญญา ) ก็คือ โปรเจ็กต์ที่อิตาเลียนไทย รับสัมปทานมาจาก SPV โปรเจ็กต์ที่ถูกเทอร์มิเน็ต ดิฉันไม่รู้ว่าเป็นโปรเจ็กต์ไหนบ้าง เท่าที่เรารู้จักกันก็โปรเจ็กต์ถนนและท่าเรือ
ถ้าถามในทางรัฐศาสตร์ การลงทุนร่วมแบบจีทูจียังคงอยู่ กรรมการร่วมเขตเศรษฐกิจพิเศษไทยกับเมียนมายังคงอยู่ แต่ที่ได้สัมปทาน อิตาเลียนไทยอาจจะไม่ได้ อิตาเลียนไทยก็อาจมีสถานะเหมือนโปรเจ็กต์ อื่นๆ ที่อิตาเลียนไทยเคยได้รับจากรัฐบาลไทย หรือรัฐบาลอินเดีย คือรับทำถนนอย่างเดียว ไม่ต้องทำอย่างอื่น หรือไม่มีสิทธิ์ที่จะแข่ง หากมีการเปิดแข่งขันอีกรอบหนึ่ง ก็ต้องไปดูตรงนี้ให้ละเอียด
***ตั้งคำถาม เงินกู้จาก ‘เนด้า’***
แล้วก็ดูเหมือนว่า คำตอบของรัฐบาลไทย โปรเจ็กต์นี้ได้เงินกู้จาก เนด้า ( สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน ) สิ่งที่เราต้องเช็คคือ เนด้า ระบุไหมว่า ผู้ที่ได้รับสัมปทานในการทำต้องเป็นบริษัทไทยเท่านั้นหรือเปล่า
ตอนนั้นเดาว่าเป็น กรรมการร่วมแล้วกรรมการร่วมกู้เงินจากเนด้าให้อิตาเลียนไทย ซึ่งเป็นคนทำโปรเจ็กต์เก่า แต่คราวนี้อิตาเลียนไทย ถูกเทอร์มิเนต อิตาเลียนไทยก็ขอให้รัฐบาลไทยเป็นตัวกลางเจรจากับรัฐบาลเมียนมาซึ่งก็ไม่รู้ว่า รัฐบาลเมียนมาจะยอมไหม เพราะ 5 ปีที่ผ่านมา ไม่มีความคืบหน้า เขาก็อาจไม่อยากได้บริษัทนี้
สิ่งที่ต้องถาม และอยากให้อิศราช่วยเช็คคือ เมื่อมีการเทอร์มิเนต ตัวเงินกู้ยังอยู่ไหม เพราะดิฉันจำได้ว่า ที่อิตาเลียนไทยทำ เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิศวกร ว่าถนนจะเป็นเส้นยังไง นับจากไหนไปไหน ตัดมุมเฉียงเท่าไหร่ แต่ส่วนที่อิตาเลียนไทยประสบปัญหา และไม่สามารถดำเนินการต่อได้ น่าจะเป็นเรื่องข้อเรียกร้อง เช่น ถนนเส้นใหม่ สูงเกินไป หรือไม่ผ่านในแง่ Community แล้ว เมื่อเทียบกับเส้นเก่า แต่ก็เป็นเส้นที่ผ่านพื้นที่ป่า อุทยาน ซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นมรดกโลก ก็ถูกคัดค้าน ดิฉันคิดว่า อิตาเลียนไทยอาจไม่ได้คิดถึงปัญหานี้ จากตอนแรกที่เขาเองก็ดีลกับนักสิ่งแวดล้อม นักประชาสังคม ถึงปัญหาเหล่านี้
***บทเรียนสำคัญก่อนลงทุนเมกะโปรเจ็กต์***
@ ตั้งแต่โครงการนี้ริเริ่ม เอ็นจีโอทั้งในไทยและเมียนมาพบว่ามีการไล่ที่ชาวบ้าน ถือเป็นปัจจัยหนึ่งไหมที่ทำให้ถูกยกเลิกสัญญา และถือเป็นบทเรียนอย่างไรบ้าง ?
นฤมล : นี่ไม่ใช่โปรเจ็กต์แรกที่อิตาเลียนไทยลงทุนในเมียนมา ที่อิตาเลียนไทยลงทุนในเมียนมามาหลายครั้งแล้ว เช่น ที่ใกล้ๆ และประสบความสำเร็จคือ สนามบินมัณฑะเลย์ และก่อนหน้านั้นก็มีการลงทุนเหมืองและก่อสร้าง แต่ที่อิตาเลียนไทยลงทุนในช่วงทีเป็นรัฐบาลเผด็จการ ดังนั้น เขาไม่ต้องดีลกับข้อเรียกร้องของประชาชน
โปรเจ็กต์แรกที่เขามาดีลแล้วเจอกับข้อเรียกร้องของภาคประชาชน คือ โปรเจ็กต์ทวาย เขาเซ็นต์สัญญาในสมัยรัฐบาลตาน ฉ่วย แล้วกว่าจะได้เริ่มจริงๆ ก็คือสมัยเต็งเส่ง ซึ่งเมียนมาเปลี่ยนไปแล้ว มีการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนั้น ที่อิตาเลียนไทยก็อาจไม่ได้เตรียมตัว หรือเตรียมตัวแต่ไม่ได้เตรียมวงเงิน อาจคิดแบบบริษัท เช่น ถ้าลงทุนในไทย ที่อิตาเลียนไทยจะไม่เป็นคนรับผิดชอบการเคลียร์พื้นที่ จะเป็นการรถไฟ การนิคมอุตสาหกรรมเป็นผู้เคลียร์พื้นที่ เสร็จแล้วเขาถึงจะทำทางวิศวกรรม แต่เมื่อมารับโปรเจ็กต์ใหญ่แบบทวาย มีเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย
ตอนที่อิตาเลียนไทยไปลงทุนที่น้ำเทินในลาว ก็ไม่มีปัญหานะคะ อาจเป็นเพราะรัฐบาลลาวจัดการกับประชาชนตนเอง ที่อิตาเลียนไทยเลยไม่ต้องดีล และโปรเจ็กต์น้ำเทินยังได้รางวัลด้วยว่าดีลกับประชาชนได้ดี
ในขณะที่เมียนมาอาจไม่ใช่ อาจให้บริษัทจัดการเอง ซึ่งที่อิตาเลียนไทยไม่เคย อันนี้ก็เป็นไปได้ ดังนั้น นี่ก็เป็นบทเรียนของ บริษัทที่อิตาเลียนไทย โดยส่วนตัวคิดว่า การไปหารือกับภาคประชาสังคมน่าจะดีกว่า ก่อนที่จะเริ่มลงทุน
***ปัญหาใหญ่ งบบานปลาย***
@ โครงการนี้มีปัญหาอะไรบ้าง ?
นฤมล : ประเด็นแรก เท่าที่ทราบงบบานปลายมากๆ เรื่องค่าชดเชย เวนคืนทั้งหลาย แม้เป็นโปรเจ็กต์เล็กของ SPV คนก็คาดหวังว่าอิตาเลียนไทยจะยังต้องตอบโจทย์ พูดตรงๆ ดิฉันไม่รู้สัญญาของ SPV ว่ามีเกณฑ์อะไรบ้างที่อิตาเลียนไทยต้องทำให้บรรลุ จนในที่สุดนำมาสู่การเทอร์มิเนต คอนแทรค คิดว่าไม่น่าใช่เรื่องก่อสร้าง มันจะมีการเตรียมที่ดินก่อน เรื่องอะไรก่อนหน้านี้หรือเปล่า ที่ทางเมียนมากำหนดว่าต้องมีสิ่งนั้นสิ่งนี้ ต้องไปดูรายละเอียด
ประเด็นที่สอง เพื่อนที่อยู่ฝั่งเมียนมา เขาบอกว่าสิ่งที่เมียนมามีปัญหากับที่อิตาเลียนไทย เพราะอิตาเลียนไทยเซ็นสัญญาไปแล้ว ถ้าอิตาเลียนไทยไม่สามารถทำได้ควรจะเจรจาตั้งแต่ตัวคอนแท็ค เมื่อมีการส่ง Notice ไปที่อิตาเลียนไทยก็ตอบกลับมาเรื่องจะขอต่ออายุสัญญา หรือปรับปรุงสัญญา ทำให้เหมือนคุยกันคนละเวที
ประเด็นที่สาม ที่คิดว่าจะมีปัญหามากคือ ไฟแนนซ์ ปี 2015 มีความพยายามจะเจรจาให้ญี่ปุ่นมาเป็น เทิร์ด ปารตี้ เท่าที่ทราบ แต่นายกชินโสะ อาเบะ ไม่สนใจ ญี่ปุ่นตอบมาชัดเจนว่าเขาจะรอให้ติลลาวาเรียบร้อยก่อน เขาไม่สนใจทวาย ดังนั้น นี่ก็เป็นปัญหา ถ้าต้องจ่ายเยอะขนาดนี้ แล้วไม่มีไฟแนนเชียลมาซัพพอร์ต
ถ้าให้ตอบตอนนี้ มองว่าอาจเป็นข้อจำกัดของ ที่อิตาเลียนไทยและบริษัทอื่นๆที่จะเข้าไปทำ
หากถามว่ามีผลกระทบไหม ในทางรัฐศาสตร์ การเมืองระหว่างประเทศ ก็อาจจะไม่ ถ้าจะกระทบในประเทศก็คือตอนนี้ ประเทศไทยถังแตก ดังนั้น คนไทยอาจจะคิดหนักเรื่องจะเอาเงินกู้ไปใช้ ลึกๆ แล้วคนไทยอาจดีใจที่ไม่ต้องเอาเงินกู้ไปใช้ แต่ไม่รู้ว่าในแง่คอนแท็คเงินกู้ที่ขอกับเนด้านั้น มันเป็นเงินกู้ที่รัฐบาลไทยให้กับรัฐบาลเมียนมา มันมีผลผูกพันไหม ถ้าวงเงินยังอยู่ก็ต้อง Submit บริษัทใหม่ ทำทีโออาร์ใหม่ ทำแผนใหม่ ทำประชาพิจารณ์ใหม่ ตกลงเรื่องแผน เรื่องพื้นที่ กันใหม่ อันนี้ก็เป็นไปได้ แต่ที่อิตาเลียนไทยจะได้สิทธิ์แข่งอีกไหม อันนี้คงไม่ได้
แล้วภายใต้ สถานการณ์โควิด รัฐบาลไทยจะให้เงินไปลงทุนไหม คนไทยอาจไม่อยากให้ แต่เท่าที่ดูจากข่าว ดูเหมือนรัฐบาลไทย ยังยืนยันว่าต้องมีถนนจากพุน้ำร้อนไปทวาย อันนี้ก็ต้องไปดูว่าหน้าตาจะเป็นอย่างไร
@ ผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของ อิตาเลียนไทย และเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เมื่อเทียบกับเขตเศรษฐกิจติลลาวา และเจ้าผิวก์ ดูเหมือนเมียนมาจะพอใจติลาวาและเจ้าผิวก์มากกว่า
นฤมล : ก็อาจจะไม่เหมือนนะคะ บริษัทธุรกิจไทยที่ไปลงทุนในพม่า นอกเหนือจากอิตาเลียนไทย คือ กฟผ. ปตท. พูดง่ายๆ เส้นทางท่อแก็ส ปตท. ก็เกือบจะทับซ้อนกับพื้นที่ของอิตาเลียนไทยไทยด้วยซ้ำไป เพราะตอนนั้น ปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจมันมีเงื่อนไข ในแง่ไฟแนนซ์ แต่อิตาเลียนไทย เป็นเอกชนเพียวๆ ความน่าเชื่อถือที่จะมีนั้น อาจจะไม่ใช่ แต่อย่าลืมว่า ติลาวาและเจ้าผิวก์ต่างกัน เพราะติลลาวาเหมือนท่าเรือคลองเตย ซึ่งญี่ปุ่นก็ตัดสินใจถูก คือไม่ได้ทำเรื่องปิโตรเลียม แต่ทำเรื่องพื้นที่ ส่วนเจ้าผิวก์คือเกาะ ซึ่งจีนก็ชัดเจนว่าเขาเลือกพื้นที่ที่ไม่มีคน ซึ่งก็คือเกาะนั้นไม่มีคน แต่อิตาเลียนไทยเลือกทวาย และคิดโปรเจ็กต์ปิโตรเคมี เพราะมาบตาพุดมันเต็ม ดังนั้น เขาต้องดีลกับคนจำนวนมาก
ถ้าถามว่าอะไรคือบทเรียน คืออิตาเลียนไทยและบริษัทไทยที่ไปลงทุนต่างประเทศ มักจะมีภาพการลงทุนในประเทศที่รัฐบาลในประเทศนั้นๆ จัดการประชาชนในช่วงที่ ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย เป็นยุคอำนาจนิยม คราวนี้เมื่อไปลงทุนในประเทศประชาธิปไตย ก็ต้องคิดถึง cost ที่เปลี่ยนไปเยอะ นี่คือประเด็นที่ 1
ประเด็นที่ 2 เรื่องการมีส่วนร่วม ต้องคิดก่อน ว่า Framework ที่เขาไปทำคืออุตสาหกรรมหนักต้นน้ำ ซึ่งประชาชนไม่ได้อยากได้ มันไม่น่าไปด้วยกันได้ แต่ส่วนตัวก็ยังสงสารรัฐบาลไทย และอิตาเลียนไทย เพราะการทำถนนก็ยังโอเค แต่อาจจะไม่ใช่เรื่องอื่น ต้องไปคุยว่าถ้าแค่รับเหมาก่อสร้างโดยไม่ต้องไปคุยเรื่องการจัดการพื้นที่ อาจจะง่ายกว่า แล้วก็ถ้าเขาไม่สามารถเตรียมพื้นที่ได้ ก็ไม่ต้องเป็นความรับผิดชอบ แต่ว่าก็ต้องไปคุยว่าจะจัดการยังไง
เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่ใช่แค่อิตาเลียนไทย ก็คงต้องตอบว่า อุตสาหกรรมหนักแบบนี้ ยังมีอนาคตอยู่ไหม ถ้าไม่มี แล้วประชาชนเขาไม่อยากได้ จะไปยังไง จะเอาเป็นเกาะแบบเจ้าผิวก์ไหม หรือติลลาวาที่รับซื้อขายสินค้าที่ผลิตเสร็จแล้ว คือสามเขตเศรษฐกิจพิเศษในพม่ามันไม่เหมือนกัน บริบทต่างกันมาก รัฐและภาคประชาสังคมก็ต่างกัน
ส่วนตัวยังเห็นว่าโครงการทวายเป็นโครงการที่มีประโยชน์ แต่อิตาเลียนไทย พยายามขยายตัวเองมากจนเกินไป อาจต้องมีคนมาช่วยจัดการ และบางเรื่องควรเป็นภารกิจของรัฐบาลเมียนมา ไม่ใช่ของบริษัท
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/