"...แนวนโยบายทางการเมืองของอาเซียนนั้นประสบปัญหาอย่างร้ายแรงอันเนื่องมาจากความไม่ลงรอยกันเพราะประเทศสมาชิกอาเซียนที่มารวมกันในแต่ละประเทศ ทุกประเทศต่างก็มีความต้องการจะแสดงจุดยืนร่วมกันในการต่อต้านแรงกดดันที่มาจากภายนอกภูมิภาค มากกว่าที่จะมาร่วมกันพัฒนานโยบายอันเกี่ยวข้องกับประเทศเมียนมา ..."
................................
หลังการเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ที่ตามมาดัวยการควบคุมตัวนายวิน มินต์ ประธานาธิบดีเมียนมา, นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ สมาชิกรัฐมนตรี และสมาชิกรัฐอีกหลายราย
โดยกองทัพเมียนมาได้ให้เหตุผลในการคุมขังนางซูจีด้วยข้อหาว่า ครอบครองเครื่องรับส่งวิทยุสื่อสาร(วอล์กกี้ ทอล์คกี้) ซึ่งนำเข้ามาในประเทศโดยผิดกฎหมาย
ณ เวลานี้ แม้ว่าแรงจูงใจของกองทัพในการเข้ายึดอำนาจจะยังไม่ปรากฏให้เห็นเด่นชัดก็ตาม แต่หนึ่งในวัตถุประสงค์หลักเรื่องความพยายามที่จะรักษาบทบาททางการเมืองนั้นถือเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถตัดออกไปได้
แต่ก่อนหน้าที่จะมีการยึดอำนาจไม่นาน กองทัพเมียนมา เคยกล่าวหาว่ามีการฉ้อโกงการเลือกตั้งในวันที่ 8 พ.ย. 2563 โดยพบความผิดปกติของผู้ที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงถึงกว่า 8.6 ล้านคน ใน 314 เมืองทั่วประเทศเมียนมา
แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ของเมียนมา ก็ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ เพราะไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์จะสนับสนุนข้อกล่าวหาของกองทัพเมียนมา
ล่าสุด สำนักข่าว Channel News Asia ประเทศสิงคโปร์ ได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับบทบาทของ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ต่อเหตุการณ์การยึดอำนาจในเมียนมา มีรายละเอียดดังนี้
@บทบาทของอาเซียน
แม้ว่าหลังการรัฐประหารที่เกิดขึ้น หลายประเทศทั่วโลกจะรุมประณามกองทัพเมียนมาต่อการยึดอำนาจดังกล่าว แต่ความเห็นของประเทศสมาชิกอาเซียนนั้นกลับมีความแตกแยกออกไปในหลายประเทศ
อาทิ ประเทศไทยและประเทศกัมพูชา มองว่าการรัฐประหารที่เกิดขึ้นนั้นเป็นกิจการภายในของประเทศเมียนมา ที่ควรจะได้รับการแก้ไขด้วยประชาชนเมียนมา ขณะที่ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศสิงคโปร์ และประเทศฟิลิปปินส์ที่แสดงจุดยืนเปลี่ยนไปมาสักระยะหนึ่ง ก็ได้ออกมาแสดงความกังวลต่อการรัฐประหาร และเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาวิกฤติในครั้งนี้อย่างสันติวิธี
ประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ที่เป็นผู้เล่นหลักในการทำรัฐประหารของประเทศไทยเมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา ได้สื่อสารออกมาว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ทุกประเทศในอาเซียนจะยืนหยัดร่วมกันในเรื่องนี้
การคัดค้านการรัฐประหารของชาวเมียนมาทั้งที่ประเทศเมียนมาและที่ประเทศไทย (อ้างอิงวิดีโอจากโกลบอลนิวส์)
ทั้งนี้ เมื่อไม่นานมานี้ อาเซียนก็เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์มาแล้วครั้งหนึ่งจากกรณีความล้มเหลวในการแก้ปัญหากรณีกองทัพเมียนมาที่ใช้วิธีการปราบปรามชาวมุสลิมโรฮีนจาอย่างรุนแรง
โดยนานาชาติอ้างว่ากระบวนการกวาดล้างชาติพันธุ์และกระบวนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นั้นถูกยกระดับขึ้นอย่างรุนแรง
แต่ถึงจะมีข้อเรียกร้องจากทางนานาชาติ ถ้อยแถลงการณ์ของประธานอาเซียนกลับให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นี้น้อยลง โดยเลือกที่จะสื่อสารออกมาว่าให้ยุติความรุนแรงทุกอย่างที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ แทนที่จะใช้คำว่าโรฮีนจา
กลับมาที่ประเด็นเรื่องการยึดอำนาจในครั้งนี้ ประเทศบรูไนนั้นถือว่าเป็นประเทศที่มีบทบาทในฐานะประเทศผู้นำภูมิภาคอาเซียน ได้มีการออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ "การเจรจา, การปรองดองและการกลับสู่ภาวะปกติ" ในเมียนมา, โดยอ้างหลักการประชาธิปไตยของกฎบัตรอาเซียน
ซึ่งกฎบัตรอาเซียนที่ว่ามานี้เรียกร้องให้ผู้ลงนามยึดมั่นใน "หลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล หลักการของประชาธิปไตยและการมีรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ"
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าอาเซียนจะได้ดำเนินการตามกฎบัตรที่ว่ามานั้น หรือจะปฏิบัติตามมากกว่าที่กฎบัตรได้ระบุเอาไว้ ในสายตาของประเทศตะวันตก แต่ประเทศสมาชิกอาเซียนในแต่ละประเทศเองก็มีแนวทางของตัวเองอีกเช่นกันในการจะแสดงออกเพื่อรับมือกับวิกฤติต่างๆ
ดังนั้น จึงไม่แปลกใจเลยที่อาเซียนจะไม่ได้รู้สึกว่าเป็นข้อผิดพลาดที่ร้ายแรงในประเด็นเรื่องของการแก้ไขปัญหาวิกฤติโรฮีนจา เพราะอาเซียนยังคงต้องมีประเด็นอีกมากมาย และในอีกหลายระดับที่จะต้องพิจารณาอย่างสมดุลกันในเรื่องของการแก้ปัญหา
แต่แน่นอนว่าในสายตาของคนนอกอย่างนานาประเทศ ต่างล้วนมองว่าการรวมกลุ่มกันของอาเซียนควรจะแก้ปัญหาอะไรได้เป็นรูปธรรมมากกว่านี้
@อาเซียนโดนมัดมือ
ผู้สังเกตการณ์ได้ชี้ให้เห็นประเด็นหนึ่งว่าการตัดสินใจของอาเซียนซึ่งเป็นไปตามฉันทามติและอยู่ภายใต้หลักการณ์ว่าจะไม่ยุ่งกับกิจการภายในซึ่งกันและกันนั้นกลายเป็นอุปสรรคของการที่องค์กรนี้จะตัดสินใจแก้ไขปัญหาอะไรสักอย่างได้โดยเด็ดขาด
การขาดกลไกการปฏิบัติเพื่อที่จะลงโทษตามมาตรการการคว่ำบาตรนั้น ยังทำให้อาเซียนถูกมองอีกว่าล้มเหลวในการที่จะยึดถือในหลักการณ์การสนับสนุนประชาธิปไตยขององค์กรเอง และไม่สามารถที่จะช่วยยุติการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนได้
ชาวเมียนมาชู 3 นิ้วต้านรัฐประหารในเมืองย่างกุ้ง (อ้างอิงวิดีโอจาก AFP)
ดังนั้นในประเด็นเรื่องการตอบสนองของอาเซียนต่อเหตุการณ์รัฐประหารที่ประเทศเมียนมาจึงเป็นที่เข้าใจกันได้ว่า ตัวอาเซียนเองนั้นก็อยู่ในจุดที่ถูกมัดมือและไม่สามารถจะทำอะไรได้มากนัก ความคาดหวังของนานาชาติต่อการที่อาเซียนจะทำอะไรสักอย่างได้นั้นจึงอยู่ในระดับที่ต่ำมาก
นายบิลาฮารี เกาสิกานท์ (Bilahari Kausikan) นักการทูตระดับอาวุโสจากประเทศสิงคโปร์ ได้เคยให้คำแนะนำไปว่าไม่ควรจะนำเอาประเด็นที่อีกประเทศเป็นสมาชิกอาเซียนมาเป็นข้อกำหนดในการทำอะไรสักอย่าง แต่ควรมีการดำเนินการเพิกถอนสมาชิกภาพไปเลย ถ้าหากเห็นว่าประเทศสมาชิกที่ว่ามานั้นมีพฤติกรรมที่กลายเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ส่วนรวมของอาเซียน
แต่แม้ว่าอาเซียนจะมีข้อจำกัดในเรื่องมาตรการอย่างไรก็ตาม ในอดีตก็มีจุดที่แสดงให้เห็นแล้วว่าอาเซียนยังคงมีขีดความสามารถในการดำเนินการกับประเทศเมียนมาอยู่
ย้อนไปเมื่อเหตุการณ์พายุไซโคลนนาร์กิสเข้าทำลายล้างประเทศเมียนมาในปี 2551 อาเซียนได้มีการตอบสนองต่อท่าทีที่โกรธเกรี้ยวของนานาประเทศที่มีต่อรัฐบาลทหารเมียนมาในการรับมือกับวิกฤติ ด้วยการที่อาเซียนเข้าไปเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่รวมมือโดยตรงกับกองทัพเมียนมา ในการนำเอาสิ่งของและความช่วยเหลือจากประชาคมนานาชาติส่งตรงไปถึงประเทศเมียนมา
นี่จึงกลายเป็นข้อถกเถียงที่สำคัญ เกี่ยวกับความพยายามของภูมิภาคอาเซียนกับการเข้าไปมีบทบาทในประเทศเมียนมาโดยเฉพาะกรณีการเข้าไปกรุยทางเพื่อให้มีการปฏิรูปการเมืองภายใต้นายกรัฐมนตรี (ประธานาธิบดีในภายหลัง) เต็งเส่ง ของเมียนมา ซึ่งการปฏิรูปที่ว่านี้ก็จะนำไปสู่การพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศสหรัฐอเมริกา การปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี และการคืนสถานะสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีอีกหลายคนในเวลาถัดมา
และแน่นอนว่าในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในปี 2555 ประเทศเมียนมาก็ยอมรับที่จะให้มีผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากอาเซียนเข้าไปสังเกตการณ์ด้วยเช่นกัน
ดังนั้น ความสำเร็จของอาเซียนที่ว่ามานี้ต่อการปฏิรูปประเทศเมียนมา ก็แสดงให้เห็นเด่นชัดจนไม่อาจจะละเลยได้เลยว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างอาเซียนนั้นมีบทบาท สามารถสร้างแรงกดดันที่เหมาะสม และไม่ตึงเครียดเกินไปได้ ภายใต้หลักการฉันทามติ และไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศสมาชิกอาเซียนได้เช่นกัน
“ในขณะที่อาเซียนทำงานร่วมกันภายใต้หลักการของฉันทามติ อาเซียนก็สามารถจะทำงานร่วมกันเพื่อสร้างแรงกดดัน และเป็นที่พิสูจน์แล้วเช่นกันว่าแรงกัดดันที่ว่ามานี้ถือเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลเป็นอย่างยิ่ง” นายจอร์จ โย (George Yeo) อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ในปี 2554 กล่าว
นายโยกล่าวสรุปว่า มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ประเทศสมาชิกอาเซียนประเทศใดประเทศหนึ่งจะอยู่ในตำแหน่งซึ่งสวนกระแสอย่างดื้อดึงและไม่ผ่อนปรน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่ออีก 9 ประเทศที่เหลือคัดค้านจุดยืนที่ว่านั้น
โดยตัวอย่างที่เด่นชัดก็คือ ในปี 2550 ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์การปฏิวัติผ้ากาสาวพัสตร์ อันเป็นการประท้วงที่นำโดยคณะพระภิกษุสงฆ์ แม่ชี นักศึกษาและประชาชน จากการไม่พอใจที่รัฐบาลทหารขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเกือบเท่าตัว และขึ้นราคาก๊าซหุงต้มถึง 5 เท่าอย่างฉับพลันโดยมิได้ประกาศแจ้งล่วงหน้า
ณ เวลานั้น อาเซียนก็เป็นองค์กรที่ได้รวบรวมเมียนมาให้เป็นหนึ่งเดียวและมีการกระตุ้นให้เลื่อนการเป็นประธานอาเซียนของเมียนมาออกไปก่อน
การปฏิวัติผ้ากาสาวพัสตร์ในปี 2550 (อ้างอิงวิดีโอจาก Cultures of Resistance Films)
@บทบาทของอาเซียนนั้นมีเอกลักษณ์ แต่มีผลสืบเนื่องตามมา
มีการวิเคราะห์กันว่าอำนาจทางสังคมของอาเซียนไม่มีผลสืบเนื่องเท่าไรนัก อันเนื่องมาจากวิธีปฏิบัติของอาเซียนที่ไม่จริงจัง ทำให้อำนาจทางสังคมที่ว่านั้นดับวูบลงไป
โดยนายแมทธิว เดวีส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการอาเซียน ชาวออสเตรเลียได้เขียนรายงานข้อถกเถียงในปี 2555 ระบุว่าความไม่มีประสิทธิภาพของอาเซียนในการดำเนินการตามพันธกรณีที่ได้ประกาศเอาไว้นั้น ไม่ได้มีสาเหตุมาจากข้อจำกัดเรื่องความเป็นสถาบันและปัญหาเรื่องบรรทัดฐานแต่อย่างใด
แต่นายเดวีส์มองว่าแนวนโยบายทางการเมืองของอาเซียนนั้นประสบปัญหาอย่างร้ายแรงอันเนื่องมาจากความไม่ลงรอยกันเพราะประเทศสมาชิกอาเซียนที่มารวมกันในแต่ละประเทศ ทุกประเทศต่างก็มีความต้องการจะแสดงจุดยืนร่วมกันในการต่อต้านแรงกดดันที่มาจากภายนอกภูมิภาค มากกว่าที่จะมาร่วมกันพัฒนานโยบายอันเกี่ยวข้องกับประเทศเมียนมา
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว ในกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ออกมาเรียกร้องให้อาเซียนแสดงจุดยืนเดียวกันกับกรณีการรัฐประหารในประเทศเมียนมา โดย ณ เวลานี้ อาเซียนมีทางเลือกอยู่ 2 ทางคือจะรวมหัวกันปกป้องรัฐบาลใหม่ที่กรุงเนปิดอว์ หรือว่าจะร่วมมือกันกดดันให้ประเทศเมียนมามีทิศทางไปในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม
เพราะแม้ว่าจะเกิดรัฐประหารขึ้นก็ตาม แต่ต้องไม่ลืมว่าประเทศเมียนมาในวันนี้ไม่ได้อยู่ภายใต้การนำของนายพลเนวิน ผู้ซึ่งนำพาเมียนมาไปสู่นโยบายโดดเดี่ยวตัวเองทางเศรษฐกิจ อันนำไปสู่เหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตย “การก่อการกำเริบ 8888” ที่จบลงด้วยการสลายการชุมนุมอันนองเลือดในเดือน ส.ค. 2531 ที่มีผู้เสียชีวิตนับหมื่นคนอีกต่อไปแล้ว
การสลายการชุมนุมเหตุการก่อการกำเริบ 8888 (อ้างอิงวิดีโอจาก Aye Soe)
แน่นอนว่า พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้นำการรัฐประหารก็คงไม่มีเจตนาและความตั้งใจที่จะนำพาเศรษฐกิจของประเทศเมียนมาย้อนกลับไปสู่อดีตเช่นกัน แม้ว่าในช่วงไม่กี่วันและไม่กี่เดือนหลังจากนี้ ประเทศเมียนมาจะต้องเจอกับมาตรการลงโทษอย่างรุนแรงจากประเทศตะวันตกก็ตามที
ดังนั้นนี่ จึงเป็นโอกาสที่สำคัญที่อาเซียนจะสามารถใช้ความสัมพันธ์เชิงปฏิบัติที่มีมายาวนานกับประเทศเมียนมา ในการผลักดันให้ประเทศเมียนมาขยับไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้
โดยนายเยอร์เกน รือแลนด์ (Jürgen Rüland) นักวิชาการด้านกิจการอาเซียนได้ให้คำแนะนำว่าอาเซียนควรจะมองจุดนี้ในการสร้างภาพลักษณ์ในระดับนานาชาติว่าอาเซียนนั้นเป็นหนึ่งในประชาคมโลกที่ดี
เพราะก่อนหน้านี้ อาเซียนก็พลาดโอกาสที่ดีไปแล้ว ในการแสดงออกเรื่องวิกฤติโรฮีนจา ดังนั้นก็หวังว่าในครั้งนี้อาเซียนจะสามารถทำได้ดีขึ้นกว่าเมื่อครั้งที่ผ่านๆมา
เรียบเรียงจาก:https://www.channelnewsasia.com/news/commentary/myanmar-coup-junta-military-aung-san-asean-14111926
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/