"...การทำ RIA นั้นมีข้อจำกัดอยู่เนื่องจากกฎหมายและระบบหลักๆ ของประเทศไทยไม่ได้มีการมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกันอย่างเท่าเทียม เพราะยังมีการใช้ดุลยพินิจอยู่ในบางกรณีในเรื่องการประเมินผลกระทบของการออกกฎหมาย อาทิ มีช่องทางมากมายรวมถึงช่องทางซึ่งไม่มีระเบียบข้อบังคับ และการประเมินผลกระทบของกฎหมายต่างๆในทางอ้อมเป็นต้น ..."
........................
องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ โออีซีดี (Organisation for Economic Co-operation and Development - OECD) ได้ออกรายงานประเมินแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ระบุว่า แผนการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาถือได้ว่าประสบความสำเร็จ รัฐบาลประเทศไทย มีความคืบหน้าอย่างยิ่งในการพัฒนาระบบการตรวจสอบผลกระทบจากการออกกฎหมายหลังจากที่มีผลบังคับใช้ไปแล้ว 5 ปี อย่างไรก็ดี ทาง โออีซีดี ได้มีการออกคำแนะนำและหลักการเพื่อให้การทบทวนกฎหมายในระยะยาวมีความเหมาะสม อาทิ การวิเคราะห์กฎหมายของกระบวนการ RIA ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในหน่วยงานต่างๆ นับแต่กระทรวงลงมา และในอนาคตควรมีการพัฒนาการทำ RIA ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) แปลและเรียบเรียงข้อมูลมานำเสนอ ณ ที่นี้
แผนการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ถือได้ว่าประสบความสำเร็จ โดยองค์ประกอบของความสำเร็จดังกล่าวมาจากการมุ่งเน้นไปที่การปฏิรูปกฎเกณฑ์และข้อบังคับต่างๆ
โดยการปฏิรูปในขั้นตอนแรกจะเป็นการปฎิรูปการสร้างระบบธรรมาภิบาลที่ดี รวมไปถึงข้อผูกมัดในด้านการพัฒนาระบบการให้บริการการขนส่งและการปรับปรุงหลักการหลายอย่างเพื่อพัฒนาการออกนโยบาย
เมื่อไม่นานมานี้ ก็มีการปฏิรูปครั้งที่ 2 ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การออกแบบระบบธรรมาภิบาลอันทันสมัย รวมถึงระบบการตรวจสอบ และมีการพัฒนาเรื่องแนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ(Good Regulatory Practices:GRP)
ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญของประเทศไทย ยังสนับสนุนหลักการการมีกฎระเบียบที่ดี ตามเจตนาของมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องการที่จะลดกฎหมายต่างๆ ที่ไม่จำเป็นและเป็นภาระของประชาชนออกไป และหลักการดังกล่าวยังได้ถูกระบุเอาไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 12 และแผนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0
ภายใต้บริบทดังกล่าวนั้น โออีซีดี ได้เริ่มสนับสนุนประเทศไทยผ่านทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (ประเทศไทย) เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปกฎระเบียบดังกล่าว ซึ่งการทบทวนกฎหมายนั้นเริ่มต้นหลังจากที่มีการผ่านพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมาย และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เพื่อให้สามารถดำเนินการตามมาตราที่ 77 ของรัฐธรรมนูญในการประเมินกฎหมายและดำเนินการปฏิรูปต่างๆได้
@ มาตรการว่าด้วยการสอดส่องและดูแล
รัฐบาลประเทศไทยได้มุ่งเน้นไปที่ความสำคัญของกฎหมายเพื่อที่จะเสริมสร้างข้อบังคับแบบองค์รวมในรัฐบาล และใช้ข้อบังคับดังกล่าวเพื่อบรรลุเป้าหมายทางด้านนโยบายและทางสังคม ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวนั้นเรียกได้ว่าเป็นพลวัตรในข้อผูกพันของรัฐบาลที่จะพัฒนาธรรมาภิบาลในการกำกับดูแล
รัฐบาลไทย ได้มีการดำเนินการหลายอย่างตามหลักการ GRP สมัยใหม่ ซึ่งเป็นหลักการสากลในเรื่องแนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบที่นานาประเทศได้มีการยึดถือกันและเป็นมาตรฐานในด้านการตัดสินใจในเชิงนโยบายโดยยึดโยงกับหลักฐานเชิงประจักษ์ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมของหลายๆภาคส่วนประกอบกัน
โดยสิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือ การนำเอาหลักการซึ่งเป็นตัวบทเพื่อทำให้เกิดข้อปฏิบัติจริงให้ได้ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง
ซึ่งข้อดีของกระบวนการร่างกฎหมายใหม่และการปฏิรูปนั้น จะทำให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาเข้ามาเป็นผู้มีส่วนในฐานะผู้ที่ออกแบบมาตรการกำกับดูแลได้ โดยที่ผ่านมาพบว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาถือว่าเป็นหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพในการออกกฎหมายและการปฏิรูประเบียบการต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการของ GRP ด้วยเช่นกัน
ต่อไปนี้จะเป็นข้อแนะนำและสิ่งที่จำเป็นเพื่อจะปฏิรูปอย่างยั่งยืนในระยะยาว
@ ข้อแนะนำหลัก:
-การยึดหลักการการปฏิรูปตามพระราชบัญญัติที่ออกในปี 2562 เอาไว้ โดยการตัดสินใจต่างๆทางนโยบายต่างๆนั้นต้องยึดโยงหลักฐานเชิงประจักษ์ และการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ
-การทำความเข้าใจโดยละเอียดและเผยแพร่หลักการกำกับดูแลยุทธศาสตร์การออกข้อบังคับแบบองค์รวมที่ดีขึ้นเพื่อที่จะปลูกฝังหลักการและเครื่องมือการสร้างธรรมาภิบาลการกำกับดูแลในหน่วยงานและกระทรวงต่างๆภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล รวมไปถึงการสร้างกลไกในการติดตามการดำเนินงานในเรื่องต่างๆ
-การประเมินและพิจารณาการปฏิรูปต่างๆ สำหรับระบบของธรรมาภิบาลการกำกับดูแลซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่จำเป็นในการสนับสนุนการพัฒนาระบบอย่างยั่งยืนทั้งในระยะกลางและระยะยาว ด้วยเป้าหมายว่า หน่วยงานต่างๆของรัฐนั้นจะนำเอาหลักการต่างๆไปทำให้เกิดการปฏิบัติอย่างแท้จริงในทุกระดับตั้งแต่กระทรวงลงมาจนถึงหน่วยงานย่อย
@ ธรรมาภิบาลที่ดีและเครื่องมือในกรจัดการ
ความจำเป็นขั้นต่ำและแนวทางสำหรับการประเมินผลกระทบของการออกกฎหมาย หรือ Regulatory Impact Analysis (RIA) นั้นถือเป็นการพัฒนาที่โดดเด่นที่สุดอันจะนำไปสู่การปฏิรูปใหม่ๆได้ ตามมาตรฐานของนานาชาติ
อย่างไรก็ตาม การทำ RIA นั้นมีข้อจำกัดอยู่เนื่องจากกฎหมายและระบบหลักๆ ของประเทศไทยไม่ได้มีการมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกันอย่างเท่าเทียม เพราะยังมีการใช้ดุลยพินิจอยู่ในบางกรณีในเรื่องการประเมินผลกระทบของการออกกฎหมาย อาทิ มีช่องทางมากมายรวมถึงช่องทางซึ่งไม่มีระเบียบข้อบังคับ และการประเมินผลกระทบของกฎหมายต่างๆในทางอ้อมเป็นต้น
โดยการปฏิรูปกฎหมายครั้งล่าสุดนั้น ถือว่าได้เปิดช่องทางให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับกฎหมายได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วยช่องทางต่างๆมากขึ้น ซึ่งตามหลักการของ OECD นั้นระบุชัดเจนถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับกฎหมายนั้นถือว่าเป็นแนวทางที่ดีที่สุด
ที่ผ่านมา รัฐบาลประเทศไทยได้มีความคืบหน้าเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาระบบการตรวจสอบผลกระทบจากการออกกฎหมายหลังจากที่มีผลบังคับใช้ไปแล้ว 5 ปี อย่างไรก็ตาม ทาง OECD ได้มีการออกคำแนะนำและหลักการเพื่อให้การทบทวนกฎหมายในระยะยาวมีความเหมาะสมดังนี้
@ ข้อแนะนำ
-เฝ้าจับตาและประเมินผล กระบวนการทำ RIA รวมถึงแผนงานปฏิบัติในระยะยาวเพื่อที่จะให้การวิเคราะห์กฎหมายของกระบวนการ RIA นั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในหน่วยงานต่างๆนับแต่กระทรวงลงมา และในอนาคตนั้นก็ควรที่จะมีการพัฒนาการทำ RIA ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
-การปฏิบัติเต็มรูปแบบ เป็นเครื่องมือที่สำคัญโดยต้องกระทำควบคู่ไปกับการกำหนดช่วงวัน และเวลาการจัดทำกฎหมายใหม่ชัดเจน ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นเป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมาย และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562
-การใช้ประโยชน์ เป็นขั้นตอนหลังจากการทบทวนกฎหมายผ่านพ้นไปแล้ว จะมีการประเมินผลการทบทวนกฎหมายดังกล่าวนั้นเพื่อให้มีการประเมินว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไข หรือทำให้กฎหมายนั้นดีขึ้นอย่างไรบ้างเพื่อจะใช้เป็นประโยชน์ต่อไป
หมายเหตุวิกิพีเดีย : องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ โออีซีดี (อังกฤษ: Organisation for Economic Co-operation and Development - OECD) เป็นองค์กรระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และยอมรับระบอบประชาธิปไตยและเศรษฐกิจการค้าเสรีในการร่วมกันและพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคยุโรปและโลก แต่เดิมองค์กรนี้ได้ถูกก่อตั้งขึ้นในนามองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจของยุโรปหรือโออีอีซี (Organization for European Economic Co-operation : OEEC) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 เมษายน ค.ศ.1948 (พ.ศ. 2491) ในช่วงสมัยสงครามเย็น วัตถุประสงค์คือเพื่อร่วมมือกันฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจของประเทศยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้กลับคืนมาและคงไว้อย่างมั่นคงตามแนวทางเศรษฐกิจทุนนิยมโดยแผนการมาร์แชลล์ สัญญาในการก่อตั้งองค์การนี้ได้มีการลงนามกัน ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 16 เมษายน ค.ศ.1948 โดยมีสมาชิกประเทศยุโรปตะวันตกจำนวน 19 ประเทศ เป็นผู้ลงนาม ได้แก่ ออสเตรีย,เบลเยี่ยม, เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, กรีซ, ไอซ์แลนด์, ไอร์แลนด์,อิตาลี, ลักเซมเบิร์ก, นอร์เวย์,เนเธอร์แลนด์ ,โปรตุเกส,อังกฤษ,สวีเดน,สวิตเซอร์แลนด์,ตุรกี,สหรัฐอเมริกา,เยอรมนีตะวันตกและแคว้นอิสระของตรีเยสเต
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage