"...บทบาทในสภาฯของ ‘วันนอร์’ หลังการเลือกตั้งปี 2566 เป็นไปอย่างราบรื่น แทบไม่ปรากฏข่าวเชิงลบออกมา กระทั่งมี ‘มือมืด’ ปล่อยคลิปฉาวอ้างว่า ‘สุชาติ ตระกูลเกษมสุข’ กรรมการ ป.ป.ช. (ขณะนั้น ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการ ป.ป.ช.) และ ‘พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล’ อดีตรอง ผบ.ตร. ไปพบ ‘วันนอร์’ ที่บ้านพักส่วนตัวของเขา อย่างไรก็ดี ‘วันนอร์’ ยืนยันว่า มีการมาพบจริง แต่ไม่ได้หารือเรื่องคดี ขณะที่ ‘บิ๊กโจ๊ก’ อ้างว่า มิได้ไปพบแต่อย่างใด..."
ต้นเดือน มี.ค. 2568 สงคราม ‘3 ก๊กการเมือง’ กำลังระเบิดศึกหลายพื้นที่
หลังรูดม่านเปิดฉากสงครามระหว่าง ‘ก๊กแดง’ และ ‘ก๊กน้ำเงิน’ ไปแล้วในเรื่องการตรวจสอบคดี ‘ฮั้วเลือก สว.’ แบ่งกันคนละครึ่งทาง
กล่าวคือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบในประเด็นการเลือก สว.ไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม
ส่วนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบความผิดมูลฐานฟอกเงิน จากการฮั้วเลือก สว.ดังกล่าว โดยเปิดช่องให้ขยายผลไปยังคดีอาญาอื่น เช่น คดีอั้งยี่ซ่องโจรได้ โดยไม่ต้องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) เพื่อลงมติ
ถึงคราว ‘ก๊กแดง’ เปิดฉากรบ ‘ก๊กส้ม’ อีกครั้ง ในวาระการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ หลังจาก ‘เท้ง’ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะ ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ ในสภาผู้แทนราษฎร ยื่นญัตติเปิดซักฟอก ‘แพทองธาร ชินวัตร’ นายกฯคนที่ 31 อย่างเป็นทางการเมื่อ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยเป็นการเปลี่ยนเกมแก้แผนหลังพบพฤติการณ์พรรคร่วมบางพรรค ‘เกลือเป็นหนอน’
ดูผิวเผินวาระยื่นซักฟอกดังกล่าวเหมือนจะไม่มีอะไร กระทั่ง ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ ประธานสภาฯ ตีกลับญัตติดังกล่าวไปยัง ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ ขอให้แก้ไขตัดชื่อ ‘บุคคลภายนอก’ ในญัตตินั้น โดยยืนกรานว่า หาก ‘ฝ่ายค้าน’ ไม่ตัดชื่อออก จะไม่ยอมให้บรรจุวาระซักฟอก เท่ากับว่า ‘ฝ่ายค้าน’ เหลือเวลาแก้ไขอีกราว 1 เดือน เพราะราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.ฎ.ปิดประชุมสภาฯ ไปแล้ว กำหนด 11 เม.ย.นี้
อย่างที่ทราบกันว่า ‘บุคคลภายนอก’ ที่ ‘ประธานวันนอร์’ ให้ตัดชื่อคือ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ที่ปรากฏตอนหนึ่งในญัตติยื่นซักฟอก ‘นายกฯอิ๊งค์’ ว่า นายกรัฐมนตรีสมัครใจยินยอมให้นายทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นบิดา ชี้นำ ชักใย ให้กระทำการหรืองด เว้นกระทำการอันเป็นเรื่องสำคัญของชาติบ้านเมือง ประพฤติตนเป็นเสมือนนายกรัฐมนตรีหุ่นเชิด โดยมีบิดา เป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริงที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจ
เบื้องต้นบรรดาแกนนำพรรคส้ม ต่างยืนกรานเอกสิทธิ์ในการยื่นญัตติซักฟอกดังกล่าว โดยอ้างถึงระเบียบการประชุมสภาฯ และรัฐธรรมนูญว่า สามารถใส่ชื่อบุคคลภายนอกได้ แต่หากถูกฟ้องร้อง เอกสิทธิ์ สส.มิได้คุ้มครอง ซึ่งบรรดาขุนพลพรรคส้ม ‘ยอมรับความเสี่ยง’ ตรงนี้เอง
โดย ‘รังสิมันต์ โรม’ ถึงกับบอกว่า ‘วันนอร์’ กังวลถ้าปล่อยญัตติซักฟอกมีชื่อ ‘ทักษิณ’ แล้วกลัวตัวเองถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 1 ทั้งที่หากไม่บรรจุญัตติดังกล่าว ไม่กลัวบ้างเหรอว่าจะถูก ปชน.ฟ้องข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
เงื่อนปมนี้จะไปจบที่ตรงไหน คงต้องรอการหารือภายใน ปชน.กันอีกครั้ง โดยขณะนี้มีทางออก 3 ทางคือ
1.ยอมถอย แก้ไขญัตติตามที่ประธานสภาฯบอก โดยอาจเปลี่ยนจากชื่อ ‘ทักษิณ’ ไปใช้คำอื่นลักษณะพูดไปแล้วคนเข้าใจได้ว่าคือ ‘ทักษิณ’ แต่ต้องต่อรองเพิ่มวันซักฟอกจากเดิมวันเดียว เป็น 2 หรือ 3 วันตามที่เคยร้องขอไปก่อนหน้านี้
2.ไม่ยอม ยังยืนกรานในญัตติเดิม แต่อาจส่งผลให้ญัตติซักฟอกไม่ถูกบรรจุในวาระประชุม และอาจอดซักฟอกในสมัยประชุมนี้ได้ เนื่องจากมี พ.ร.ฎ.ปิดสมัยประชุมฯ กำหนด 11 เม.ย.นี้แล้ว ดังนั้น ปชน.ยังมีเกมให้แก้เรื่องนี้กันอีกราว 1 เดือน
3.ยื่นญัตติซักฟอกใหม่ โดยเพิ่มเติมรัฐมนตรีเข้าไป และขอวันเพิ่มเติมเป็น 5 วัน เหมือนกับ ‘ดราฟต์แรก’ ตามเดิม เพื่อลดแรงกดดันทางการเมืองที่เกิดขึ้น แต่แนวโน้มนี้โอกาสเกิดได้ยาก เพราะ ครม.ต้องมาเคาะหาวันกำหนดเพื่อมาชี้แจงอีกครั้ง เพราะก่อนหน้านี้ตอนยื่นญัตติซักฟอกนายกฯคนเดียว บรรดารัฐมนตรีคนอื่น ได้วางแผนการทำงานไว้หมดแล้ว
ล่าสุด ‘ณัฐพงษ์’ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ทำหนังสือแย้ง ‘วันนอร์’ ยืนยันว่า ยังคงเดินหน้าซักฟอก ‘ทักษิณ’ เหมือนเดิม โดยไม่แก้ไขหรือตัดชื่อออกในญัตติ โดยยกเหตุผล 3 ข้อ เช่น 1.ไม่มีข้อกฎหมายใด หรือรัฐธรรมนูญมาตราใดห้ามซักฟอกคนนอก 2.ที่ผ่านมาในการอภิปรายในสภาฯ มีการอ้างชื่อ ‘คนนอก’ ในญัตติหลายครั้ง แม้แต่ญัตติของ ‘วันนอร์’ เองเมื่อปี 2562 เป็นต้น 3.หนังสือแจ้งให้แก้ไขญัตติของ ‘วันนอร์’ ส่อไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากตามข้อบังคับสภาฯ ข้อ 176 นั้นไม่เป็นไปตามกรอบที่กำหนด คือไม่ได้แจ้งมาภายใน 7 วันนับแต่รับญัตติซักฟอก
ดังนั้นต้องรอดูว่า ‘วันนอร์’ จะไฟเขียวให้ ‘ฝ่ายค้าน’ ได้ซักฟอก หรือว่าจะไม่ยอมบรรจุวาระอภิปรายไม่ไว้วางใจเข้าที่ประชุม ซึ่งยังเป็นเกมที่มีเวลาเล่นกันอีกหลายยก
แต่สิ่งที่หลายคนสนใจคือ เหตุใด ‘วันนอร์’ ที่ก้าวขึ้นเป็นประธานสภาฯครั้งที่ 2 ภายหลังการเลือกตั้งปี 2566 มีความแก่พรรษาทางการเมือง และภาพลักษณ์ค่อนข้างดูดี ถึงออกตัวปกป้อง ‘นายใหญ่’ มากขนาดนี้?
@ วันมูหะมัดนอร์ มะทา
‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ หรือที่หลายคนเรียกขานว่า ‘อาจารย์วันนอร์’ ก่อนก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมือง เคยเป็นข้าราชการครูมาก่อน โดยก้าวไปถึงตำแหน่งรองอธิการบดี วิทยาลัยครูสงขลา (ชื่อขณะนั้น) ต่อมาได้เริ่มต้นบนถนนการเมือง โดยลงสมัคร สส.ครั้งแรกกับ ‘พรรคกิจสังคม’ และได้รับชัยชนะการเลือกตั้งปี 2522 ต่อมาได้ร่วมกันตั้ง ‘กลุ่มวาดะห์’ เพื่อขับเคลื่อนภารกิจทางการเมืองใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับ ‘เด่น โต๊ะมีนา-วีระกานต์ มุสิกพงศ์’ และพรรคพวก โดยทั้งหมดย้ายไปสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในการเลือกตั้งในปี 2529 ต่อมาปี 2531 ได้นำกลุ่มวาดะห์ไปเข้าสังกัดพรรคความหวังใหม่ โดยกลุ่มวาดะห์ครองความยิ่งใหญ่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส มายาวนานเกือบ 20 ปี
‘วันนอร์’ เติบโตทางการเมืองอย่างมากภายหลังการเลือกตั้งปี 2538 พรรคความหวังใหม่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคชาติไทย เขาได้รับการแต่งตั้งเป็น ‘รัฐมนตรีว่าการ’ ครั้งแรกคือ รมว.คมนาคม ซึ่งถือเป็น ‘กระทรวงเกรดเอ’ สะท้อนความยิ่งใหญ่ของ ‘กลุ่มวาดะห์’ ได้เป็นอย่างดี
จุดสูงสุดของเขาเกิดขึ้นภายหลัง ‘บรรหาร ศิลปอาชา’ ยุบสภาฯ จัดการเลือกตั้งใหม่ปลายปี 2538 และพรรคความหวังใหม่จัดตั้งรัฐบาลได้ในปี 2539 นายกฯคือ ‘บิ๊กจิ๋ว’ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ตำแหน่งประธานสภาฯก็ตกเป็นของ ‘วันนอร์’ ที่เป็นเลขาธิการพรรคความหวังใหม่ขณะนั้น โดยตำแหน่งนี้ถือเป็น ‘ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ’ เทียบเท่ากับ ‘นายกฯ’ ที่เป็นประมุขฝ่ายบริหาร และ ‘ประธานศาลฎีกา’ ที่เป็นประมุขฝ่ายตุลาการ
@ ทักษิณ ชินวัตร
กระทั่งในปี 2545 เมื่อพรรคความหวังใหม่ไปควบรวมกับ ‘พรรคไทยรักไทย’ ชีวิตทางการเมืองของ ‘วันนอร์’ ก็โรยด้วยกลีบกุหลาบ เขานั่งเก้าอี้รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และเป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวง ได้แก่ รมว.คมนาคม (สมัยที่ 2) รมว.มหาดไทย รองนายกฯ รมว.เกษตรและสหกรณ์ อยู่จนจบสมัยรัฐบาลไทยรักไทย 1 แสดงให้เห็นถึงความไว้วางใจของ ‘ทักษิณ’ ในตัว ‘วันนอร์’ เป็นอย่างดี
แต่จุดหักเหทางการเมืองของ ‘วันนอร์’ เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ ‘ปล้นปืน’ ที่นราธิวาสปี 2547 ส่งผลให้คนมุสลิมเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และชื่อของ ‘ทักษิณ-ไทยรักไทย’ กลายเป็นที่เกลียดชังของชาว 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทำให้ในการเลือกตั้งปี 2548 เป็นต้นมา ‘กลุ่มวาดะห์’ สอบตกเป็นหนแรกในรอบ 20 ปี รวมถึง ‘วันนอร์’ เองด้วย หลังจากนั้นเกิดการรัฐประหารปี 2549 และมีศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคไทยรักไทยปี 2550 ส่งผลให้ ‘วันนอร์’ ถูกตัดสิทธิทางการเมืองปี 5 ตามรอย ‘บ้านเลขที่ 111’ และชื่อของเขาก็เริ่มเงียบหายไปตามกาลเวลา
อย่างไรก็ดี ช่วงปี 2561 ยุคปลายของรัฐบาลรัฐประหารโดย คสช. ‘วันนอร์’ ร่วมก่อตั้ง ‘พรรคประชาชาติ’ พร้อมกับชวนกลุ่มวาดะห์ที่แตกกระจายไปหลายพรรคกลับมารวมกันอีกครั้ง ซึ่งพรรคนี้ถูกฝ่ายต่อต้าน ‘ทักษิณ’ มองว่า เป็นหนึ่งในพรรคที่อยู่ในยุทธศาสตร์ ‘แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย’ ของ ‘นายใหญ่’ เหมือนกับพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช. ต่อมาถูกยุบพรรค) และพรรคเพื่อชาติ เป็นต้น
โดยในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคประชาชาติได้รับเลือกตั้ง สส.เขต 6 เขต อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ทั้งหมด และ สส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 ที่นั่งคือ ‘วันนอร์’ ซึ่งในช่วงเวลานั้นเขาต้องตกเป็นฝ่ายค้านร่วมกับ ‘เพื่อไทย’ เนื่องจากฝ่ายสืบทอดอำนาจรัฐประหารนำโดย พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยังมีกระแสสูงอยู่ และจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ
กระทั่งการเลือกตั้งปี 2566 พรรคประชาชาติได้ลืมต้าอ้าปากในทางการเมือง ได้ สส. 9 ที่นั่ง และอยู่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย-ก้าวไกล (ชื่อขณะนั้น ต่อมาถูกยุบพรรค) โดยในระหว่างการยื้อแย่งเก้าอี้ประธานสภาฯว่าจะเป็นของคนจาก ‘เพื่อไทย’ หรือ ‘ก้าวไกล’ สุดท้ายเพื่อลดความขัดแย้ง ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ ได้ข้อยุติว่าจะเสนอ ‘วันนอร์’ กลับมาเป็นประธานสภาฯเป็นหนที่ 2 ในรอบ 27 ปี ถือเป็นประธานสภาฯ 2 สมัยตามรอย ‘ชวน หลีกภัย’ ที่ทำได้เมื่อปี 2562
ขณะที่ ‘พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง’ หัวหน้าพรรคประชาชาติ อดีตอธิบดีดีเอสไอยุค ‘สมัคร สุนทรเวช’ อดีตเลขา ศอ.บต.ยุค ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม
แต่บทบาทการจัดตั้งรัฐบาล ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ ก็ไม่เกิดขึ้น ด้วยเล่ห์กลทางการเมือง และกลไกทางรัฐธรรมนูญขณะนั้น รวมถึงตัวแปรสำคัญคือ 250 สว.ยุค คสช. ส่งผลให้ ‘ก้าวไกล’ ถูกขับไสไปเป็นฝ่ายค้าน แม้จะมี ‘ปดิพัทธิ์ สันติภาดา’ สส.พิษณุโลก เป็นรองประธานสภาฯคนที่ 1 ก็ตาม
บทบาทในสภาฯของ ‘วันนอร์’ หลังการเลือกตั้งปี 2566 เป็นไปอย่างราบรื่น แทบไม่ปรากฏข่าวเชิงลบออกมา กระทั่งมี ‘มือมืด’ ปล่อยคลิปฉาวอ้างว่า ‘สุชาติ ตระกูลเกษมสุข’ กรรมการ ป.ป.ช. (ขณะนั้น ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการ ป.ป.ช.) และ ‘พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล’ อดีตรอง ผบ.ตร. ไปพบ ‘วันนอร์’ ที่บ้านพักส่วนตัวของเขา อย่างไรก็ดี ‘วันนอร์’ ยืนยันว่า มีการมาพบจริง แต่ไม่ได้หารือเรื่องคดี ขณะที่ ‘บิ๊กโจ๊ก’ อ้างว่า มิได้ไปพบแต่อย่างใด
จนล่าสุด ในการยื่นญัตติซักฟอกโดยฝ่ายค้าน ‘วันนอร์’ กลายเป็น ‘หัวหอก’ ที่ออกมากางโล่ปกป้อง ‘นายใหญ่’ โดยแจ้งให้ตัดชื่อ ‘คนนอก’ ในญัตติซักฟอก ขณะที่ฝ่ายค้านยืนยันว่า ญัตติดังกล่าวชอบด้วยข้อบังคับฯ และรัฐธรรมนูญ หากโดนฟ้องก็พร้อมต่อสู้คดี แต่ไม่มีสิทธิที่จะให้ตัดชื่อออก
นับเป็นเกมการขบเหลี่ยมเฉือนคมกันอีกครั้งระหว่าง ‘ก๊กแดง-ก๊กส้ม’ บทสรุปสุดท้ายจะออกมาหน้าไหน ต้องติดตาม!
ภาพจาก : ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา