"...จากรายงานการสืบสวนของดีเอสไอ และการสอบปากคำพยาน ได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการใช้เงินเกี่ยวกับขบวนการเลือก สว. มากเกิน 300 ล้านบาท ตั้งแต่ช่วงก่อนการเลือก สว. ระดับอำเภอ และต่อเนื่องไปจนถึงหลังจบการเลือก สว. ระดับประเทศ ทั้งยังหมายรวมถึงการเตรียมทรัพย์สินไว้สำหรับใช้กระทำความผิด ทั้งการใช้หรือผลตอบแทนที่ได้รับกลับมาด้วย จึงได้มีการวินิจฉัยในวันนี้ของกรรมการให้รับคดีฟอกเงินไว้เป็นคดีพิเศษ ด้วยมติชี้ขาด 11 เสียง จากทั้งหมด 18 เสียง ไม่เห็นชอบ 4 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง..."
รูดม่านเปิดฉากอย่างเป็นทางการ!
สำหรับการตรวจสอบเชิงลึก ‘ขบวนการฮั้วเลือก สว.’ ที่นำโดย ‘ดีเอสไอ-กกต.’ จับมือคนละครึ่งทาง แบ่งกันสอบคนละประเด็น หลังจากเมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา การประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) จะมีมติข้างมากจำนวน 11 เสียงจากทั้งหมดของผู้ร่วมประชุม 18 เสียง (จำนวน กคพ.ทั้งหมด 22 คน) รับดำเนินการความผิดฐานฟอกเงิน เนื่องจากเชื่อได้ว่ามีพฤติการณ์ในการใช้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจูงใจในการเลือก สว. ไว้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ 2547 มาตรา 21 วรรค 1 โดยว่ากันว่า ในพยานหลักฐานของดีเอสไอ บ่งชี้ว่า มีเส้นทางการเงินเกี่ยวพันกับ ‘พรรคการเมืองใหญ่’ บางพรรคด้วย
ทำให้ประเด็นสำคัญของคดีอย่างการสืบหาว่าเกิดการ ‘ฮั้วเลือก สว.’ ขึ้นจริงหรือไม่ ตีกลับมายังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เป็น ‘ต้นเรื่อง’ อีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้เกิดข้อพิพาททางกฎหมายกันว่า กกต.ดำเนินคดีดังกล่าวล่าช้า และใกล้ครบกำหนดตามกรอบเวลา คือต้องสอบสวนภายใน 1 ปีภายหลังการประกาศผลการเลือก สว. กล่าวคือจะครบกำหนดในเดือน ก.ค. 2568 ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนเท่านั้น
เท่ากับว่าข้อเท็จจริงขณะนี้คือ ‘กกต.’ มีอำนาจไต่สวนและวินิจฉัย ‘ขบวนการฮั้วเลือก สว.’ ตามมาตรา 77 (1) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ส่วน ‘ดีเอสไอ’ ดำเนินการสอบสวนในความผิดฐานฟอกเงิน ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ซึ่งคดีดังกล่าวอยู่ในบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ
หลังฉากที่ประชุม กคพ. ที่มีมติเห็นชอบให้รับคดีความผิดฐานฟอกเงิน จากการเลือก สว.ไว้พิจารณา แบ่งเป็น ผู้ลงเสียงเห็นด้วย 11 คนคือ 1.นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี 2.พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม 3.นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม 4.พล.อ.พิสิษฐ์ นพเมือง เจ้ากรมพระธรรมนูญ 5.นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ 6.พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดี 7.นางดวงตา ตันโช กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ 8.นายชาติพงษ์ จีระพันธุ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย 9.นายนรินทร์พงศ์ จินาภักดิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย 10.นางทัชมัย ฤกษะสุต กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย 11.นายณปกรณ์ ธนสุวรรณเกษม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการธนาคาร
ผู้ที่ลงเสียงไม่เห็นด้วย 4 คน ได้แก่ 1.นายนพดล เกรีฤกษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (ผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา) 2.นายจิรานุวัฒน์ ธัญญะเจริญ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกฎหมาย (ผู้แทนผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย) 3.นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมการปกครอง (ผู้แทนปลัดกระทรวงมหาดไทย) 4.พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการปราบปรามผู้มีอิทธิพล
งดออกเสียง 3 คน ได้แก่ 1.นายณรงค์ งามสมมิตร ที่ปรึกษากฎหมาย (ผู้แทนปลัดกระทรวงพาณิชย์) 2.นางเยาวลักษณ์ นนทแก้ว อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ (ผู้แทนอัยการสูงสุด) 3.นายอรรถพล อรรถวรเดช ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง (ผู้แทนปลัดกระทรวงการคลัง)
ไม่เข้าร่วมประชุม 4 คน แบ่งเป็น ออกจากการประชุม 1 คน คือ นายเพ็ชร ชินบุตร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์ ระบุเหตุผลว่าต้องไปภารกิจที่ต่างประเทศ ส่วนอีก 3 คนที่ไม่เข้าร่วมประชุมคือ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ส่งผู้แทนเนื่องจากติดภารกิจ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และ พล.ต.อ.สุทิน ทรัพย์พ่วง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสอบสวนคดีอาญา
เบื้องหลังเหตุผลที่ประชุม กคพ.มีมติรับไว้เป็น ‘คดีฟอกเงิน’ เนื่องจากในที่ประชุมได้ยกข้อหารือเมื่อการประชุม 2/2568 เมื่อ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่า ลักษณะของคดีความผิดอาญาฐานฟอกเงิน ถือเป็นความผิดตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ให้เป็นคดีพิเศษได้ด้วยอำนาจอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือเสียงเกินกึ่งหนึ่งของกรรมการที่มี โดยเฉพาะถ้าเป็นการชี้ขาดว่าให้เป็นความผิดฐานฟอกเงินทางอาญา แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เพราะเข้าเงื่อนไขกรณีที่มีทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตั้งแต่ 300 ล้านบาทขึ้นไป เป็นความผิดตามบัญชีท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 อยู่แล้วนั้น จะเป็นคดีพิเศษได้โดยไม่ต้องอาศัยมติบอร์ด
โดยจากรายงานการสืบสวนของดีเอสไอ และการสอบปากคำพยาน ได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการใช้เงินเกี่ยวกับขบวนการเลือก สว. มากเกิน 300 ล้านบาท ตั้งแต่ช่วงก่อนการเลือก สว. ระดับอำเภอ และต่อเนื่องไปจนถึงหลังจบการเลือก สว. ระดับประเทศ ทั้งยังหมายรวมถึงการเตรียมทรัพย์สินไว้สำหรับใช้กระทำความผิด ทั้งการใช้หรือผลตอบแทนที่ได้รับกลับมาด้วย จึงได้มีการวินิจฉัยในวันนี้ของกรรมการให้รับคดีฟอกเงินไว้เป็นคดีพิเศษ ด้วยมติชี้ขาด 11 เสียง จากทั้งหมด 18 เสียง ไม่เห็นชอบ 4 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง
ส่วนการสอบสวนคดีพิเศษหลังจากนี้ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ จะเป็นผู้แต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่น เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์ต่อการทำสำนวนคดี โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะนำสืบเส้นทางการเงิน และอาจนำไปสู่การขยายผลเพื่อ ‘อายัดทรัพย์’ บุคคลที่เกี่ยวข้องในขบวนการ ‘ฮั้วเลือก สว.’ เพื่อตรวจสอบเป็นการชั่วคราวด้วย
ทั้งนี้หากมีการขยายผลสอบสวน แล้วพบความผิดทางอาญาฐานอื่น เช่น ความผิดอั้งยี่ (มาตรา 209) หรือความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ (มาตรา 116) อธิบดีดีเอสไอ สามารถรับเพิ่มไว้ดำเนินการได้ เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวพันกัน โดยต้องนำเข้าที่ประชุม กคพ.อีกแล้ว ส่วนความผิดตามมาตรา 77 (1) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. เป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.ดำเนินการ เพื่อให้เกิดการทับซ้อน หรือขัดแย้งทางข้อกฎหมายระหว่าง 2 หน่วยงาน
ตัดภาพกลับมาที่ กกต. ล่าสุด ‘อิทธิพร บุญประคอง’ ประธาน กกต. เปิดเผยเรื่องราวการตรวจสอบขบวนการ ‘ฮั้วเลือก สว.’ ว่า คำร้องเรื่องเลือก สว.มีกว่า 500 เรื่อง โดยเป็นคำร้องเกี่ยวกับมาตรา 77 (1) กว่า 200 เรื่อง ทำเสร็จไปแล้วกว่า 100 กว่าเรื่อง แต่ที่อยู่ในกระบวนการตรวจสอบเชิงลึกราว 122 เรื่อง อย่างไรก็ดีขั้นตอนการสืบสวนไต่สวนต้องใช้เวลา เพราะเป็นกระบวนการเกี่ยวข้องทั้งระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ฉะนั้นคนที่เกี่ยวข้องมันเยอะและเป็นกระบวนการซึ่งเป็นระบบยุติธรรม จะต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่ถูกร้อง ให้เขามีโอกาสทราบ รับรู้ชี้แจง แก้ข้อกล่าวหา
“จนคนลืมไปแล้วว่า เอ๊ะ กกต.ทำอยู่หรือเปล่าที่เขาร้อง ๆ กัน ซึ่งก็ยังทำอยู่ แล้วเรื่องมาถึงคณะอนุฯของเราก็เยอะ แต่ดีเอสไอเท่าที่จำได้ มีคำร้อง 3 เรื่อง ที่เขาจะรับหรือไม่รับ แต่ของเราที่ตรวจสอบล่าสุดมี 122 เรื่องที่มีความเข้มข้นหมายถึงว่าผ่านคณะสืบสวนไต่สวนมาแล้ว สิ่งเหล่านี้ถ้ามีระบบแสดงความเคลื่อนไหวของกระบวนการพิจารณาของเราให้คนได้รับรู้ รับทราบว่ากระบวนการคำร้องของ กกต.มันมีกี่ขั้น” นายอิทธิพร กล่าว
@ อิทธิพร บุญประคอง
กรณี กคพ.มีมติสอบความผิดฐานฟอกเงิน กรณีที่เกี่ยวกับการเลือก สว. และ กกต.ดำเนินการไต่สวนการฮั้วเลือก สว.นั้น สอดรับกับความเคลื่อนไหวทางการเมืองนับตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ ‘ก๊กแดง’ และ ‘ก๊กน้ำเงิน’ ฮึ่ม ๆ ใส่กันในทางลับ โดยเฉพาะสารพัดนโยบายที่เห็นแย้ง และต่างฝ่ายต่างมี ‘เครื่องมือ-อาวุธ’ เป็นของตัวเอง
โดยเฉพาะประเด็นใส้ในร่างกฎหมาย ‘เอ็นเตอร์เทนมนต์คอมเพล็กซ์’ และกรณีล่าสุดการจัด MotoGP ที่สะท้อนถึงความขัดแย้งกันของ 2 ศาสดาเบื้องหลัง ‘ก๊กแดง-น้ำเงิน’ ดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้มีรายงานว่า 4 ผู้มากบารมีทางการเมืองไทย อย่าง ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกฯ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ บุตรสาวที่เป็นนายกฯปัจจุบัน จะไปหารือกับ ‘เนวิน ชิดชอบ’ ครูใหญ่ค่ายน้ำเงิน และ ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่โรงแรมพูลแมน ซอยรางน้ำ ซึ่งในทางการเมืองทราบกันว่าเป็น ‘ฐานที่มั่นค่ายน้ำเงิน’ อย่างไรก็ดีการพบกันวันดังกล่าวก็ไม่เกิดขึ้น เนื่องจากมีการปล่อยข่าวจาก ‘มือมืด’ หวังให้ ‘ดีลล่ม’
ต่อมาปรากฏรายงานข่าวว่า ‘อนุทิน’ พา ‘เนวิน’ ไปรับประทานอาหารที่ ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ อันเป็น ‘ฐานที่มั่นทางการเมือง’ ของ ‘ทักษิณ’ เมื่อ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยว่ากันว่า ‘นายใหญ่’ ส่งสัญญาณไปถึง ‘ครูใหญ่’ ว่า ครั้งนี้จะเป็นการหารือครั้งสุดท้าย ขอให้พูดคุยตรง ๆ อย่าตุกติก
รายงานข่าวจากการหารือกันของ 4 ผู้มากบารมีทางการเมืองวันนั้น ได้เคลียร์เงื่อนปมคาใจกันบางอย่าง โดยในวงหารือมีการเอ่ยถึงการสอบสวนขบวนการฮั้วเลือก สว.ด้วย แต่เอ่ยถามเพียงเล็กน้อย มิได้พูดคุยกันลงลึกในรายละเอียด แต่ได้หารือกันใน 4 เรื่องหลัก เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ สถานบันเทิงครบวงจร การพนันออนไลน์ และกฎหมายทรัพย์อิงสิทธิเช่าที่ดิน 99 ปี เป็นต้น
ที่น่าสนใจ หลังการหารือในวันดังกล่าว มีความเคลื่อนไหวจากทั้ง กกต.และดีเอสไอ ในประเด็นการสอบฮั้วเลือก สว. ที่สุดท้ายตกลง ‘พบกันครึ่งทาง’ คือให้ กกต.สอบสวนในความผิดฐานฮั้วเลือก สว.ตามมาตรา 77 (1) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ส่วนดีเอสไอสอบความผิดฐานฟอกเงิน จากการกระทำผิดในการฮั้วเลือก สว.แทน ซึ่งในวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา ผลการประชุม กคพ.ก็เป็นไปดังคาด
มีการประเมินกันว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้การเจรจาที่ ‘จันทร์ส่องหล้า’ วันดังกล่าว ไม่ได้หารือเรื่อง ‘ฮั้วเลือก สว.’ เพราะเป็นประเด็นสาธารณะ ที่ประชาชนทั่วไปรับรู้โดยทั่วกันแล้ว ที่สำคัญเรื่องเข้าสู่กระบวนการทางยุติธรรม มีสื่อติดตามจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในสมการเข้าไปเกี่ยวข้อง หากทำอะไรผลีผลามยากที่จะเยียวยาแก้ไขภายหลังได้ จึงทำให้ไม่ได้หารือในประเด็นนี้กัน เช่นเดียวกับกรณี ‘เข้ากระโดง’ หรือกรณี ‘สนามกอล์ฟอัลไพน์’ ที่ต่างฝ่าย ต่างดำเนินการควบคู่กันไป หรืออาจเรียกได้ว่า ‘คุยไป รบไป’
ล่าสุด มีความเคลื่อนไหวจาก สว.ชุดปัจจุบันอย่าง ‘บิ๊กเกรียง’ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง เดินทางมากระทรวงมหาดไทย พบกับ ‘เสี่ยหนู’ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ภายหลัง กคพ.มีมติรับสอบคดีฟอกเงินเพียงไม่กี่ชั่วโมง โดย ‘บิ๊กเกรียง’ อ้างว่ามารับประทานอาหารด้วยกันเท่านั้น มิได้หารือในประเด็น กคพ.สอบฐานฟอกเงิน คดีฮั้วเลือก สว. และไม่ได้ตั้ง ‘วอร์รูม’ ที่ มท. เพื่อสู้รบกับ ‘ดีเอสไอ’ ในเรื่องนี้แต่อย่างใด
ทั้งหมดคือความเคลื่อนไหวทั้งฉากหน้า-เบื้องหลังการสอบสวนขบวนการ ‘ฮั้วเลือก สว.’ บทสรุปสุดท้ายจะตามสาวถึงต้นตอ หรือเป็นแค่ ‘มวยล้มต้มคนดู’ ต้องติดตามกันต่อไป
อ่านประกอบ :