"...แม้หลายคนคาดกันว่า ‘นายกฯอิ๊งค์’ จะฝ่าสมรภูมิศึกซักฟอกครั้งนี้ไปได้ แต่ภาพลักษณ์ที่อาจถูกปล่อยให้ ‘โดดเดี่ยว’ มีแค่องครักษ์ ‘ค่ายแดง’ เท่านั้นที่คอยอุ้มชูช่วยเหลือ อาจทำให้ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2570 ได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งอาจเข้าทาง ‘ค่ายน้ำเงิน’ ได้เปรียบในทางการเมืองไม่มากก็น้อย..."
เข้าสู่เดือน มี.ค. ที่อุณหภูมิทางการเมืองเข้าสู่จุดร้อนแรง เพราะช่วงปลายเดือนนี้ จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเป็นครั้งแรก ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 ผ่านนายกรัฐมนตรีมาแล้วถึง 2 คนคือ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกฯคนที่ 30 มาถึง ‘แพทองธาร ชินวัตร’ นายกฯคนที่ 31 ซึ่งรับไม้ต่อบริหารราชการแผ่นดินมาราว 6 เดือน
ประเด็นที่น่าสนใจในศึกซักฟอกดังกล่าว ‘ฝ่ายค้าน’ ซึ่งนำโดยพรรคประชาชน (ปชน.) เก็บข้อมูลไว้เตรียมอภิปรายนายกฯ พ่วงด้วยรัฐมนตรี รวม 10 คน อย่างไรก็ดีด้วยความไม่เป็นเอกภาพของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ทำให้มีการแอบ ‘ส่งข้อสอบ’ ออกไปให้สื่อมวลชนเผยแพร่ก่อนกำหนด ซึ่งถือว่าผิดประเพณีทางการเมืองอย่างร้ายแรง ปชน.จึงแก้เกมด้วยการยื่นซักฟอก ‘นายกฯแพทองธาร’ คนเดียว ในช่วงโค้งสุดท้าย ก่อนที่จะยื่นญัตติซักฟอกต่อประธานรัฐสภาอย่างเป็นทางการเมื่อ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา
ประเด็นที่น่าสนใจ การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ‘นายกฯ’ เพียงคนเดียวนั้น เคยเกิดขึ้นมาแล้วบนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย 5 ครั้ง (รวมกรณีนายกฯแพทองธาร)
ครั้งแรกเกิดขึ้นในสมัยนายกฯคนที่ 15 คือ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งนายกฯภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2520 การยื่นซักฟอกของฝ่ายค้าน (ขณะนั้น) เกิดขึ้นเมื่อ 3 มี.ค. 2523 นำโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ร่วมกับพรรคชาติไทย (พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร แกนนำกลุ่มซอยราชครู) พรรคประชาธิปัตย์ (พ.อ.พิเศษ ถนัด คอมันตร์) พรรคประชากรไทย (สมัคร สุนทรเวช) และพรรคสยามประชาธิปไตย (พ.อ.พล เริงประเสริฐวิทย์) โดยเนื้อหาในการอภิปราย กล่าวหาว่า รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ป้องกันและปราบปรามปัญหาอาชญากรรมให้ลดลงได้ โดยบทสรุปของการซักฟอกครั้งนั้น จบลงด้วย ‘พล.อ.เกรียงศักดิ์’ ชิงลาออกจากตำแหน่ง ก่อนที่จะอภิปรายเสร็จสิ้น
ครั้งที่สอง เกิดขึ้นเมื่อ 29 พ.ค. 2528 ฝ่ายค้านขณะนั้นนำโดยพรรคชาติไทย (พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร) ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกฯคนที่ 16 อย่างไรก็ดีการอภิปรายไม่ไว้วางใจดังกล่าวไม่เกิดขึ้น เพราะญัตติไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และ พล.ต.ประมาณ มิได้ออกมาชี้แจงแก้ข้อเท็จจริง ส่งผลให้ญัตตินี้ถูกตีตกไป
ครั้งที่สาม เกิดขึ้นเมื่อ 18-20 ก.ย. 2539 ฝ่ายค้านขณะนั้นนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ (ชวน หลีกภัย) ยื่นซักฟอก ‘บรรหาร ศิลปอาชา’ นายกฯคนที่ 21 เพียงคนเดียว ลากยาวถึง 3 วัน 2 คืน โดยหลังจบการอภิปราย ช่วงก่อนลงมติไม่ไว้วางใจนั้น พรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรคคือ พรรคความหวังใหม่ (พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ) พร้อมด้วยพรรคนำไทย และพรรคมวลชน ได้เจรจาต่อรองกับ ‘บรรหาร’ ลาออกใน 3 วัน แลกกับการลงมติไม่ไว้วางใจ 207 ต่อ 180 เสียง ทว่าถัดมาราว 1 สัปดาห์ เมื่อ 27 ก.ย. 2539 ‘บรรหาร’ ตัดสินใจแก้เกมเรื่องนี้ด้วยการ ‘ยุบสภา’
ครั้งที่สี่ เกิดขึ้นเมื่อ 25-27 ก.ย. 2540 หรือราว 1 ปีถัดมาหลังรัฐบาลบรรหาร โดยคราวนี้เป็น ปชป.เจ้าเดิม (ชวน หลีกภัย) ยื่นซักฟอก พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกฯคนที่ 22 โดยซัดข้อกล่าวหากรณีบริหารราชการแผ่นดินผิดพลาด ทำประเทศล้มละลายจนต้องไปกู้เงิน IMF แต่การซักฟอกครั้งนั้น พล.อ.ชวลิต รอดพ้นการไม่ไว้วางใจมาได้ แต่ต้องเผชิญแรงกดดันจากภาคเอกชน และประชาชน ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงแสนสาหัส ทำให้อีกราว 1 เดือนเศษถัดมา 6 พ.ย. 2540 ‘บิ๊กจิ๋ว’ ต้องลาออกจากตำแหน่ง
หากเทียบบริบททางการเมืองที่น่าสนใจ สถานการณ์ของ ‘พรรคเพื่อไทย’ ในฐานะแกนนำรัฐบาลปัจจุบัน คล้ายคลึงกับ ‘พรรคชาติไทย’ ของ ‘บรรหาร’ เมื่อปี 2539 ไม่มากก็น้อย เพราะต้องเผชิญแรงกดดันจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง เขย่าเสถียรภาพการบริหารราชการแผ่นดิน
@ บรรหาร ศิลปอาชา
โดยเมื่อปี 2538 ‘มังกรเติ้ง’ ก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ หลังจากพรรคชาติไทย ได้รับชัยชนะการเลือกตั้งด้วยจำนวน สส. 97 คน ส่วน ปชป.ตกเป็นฝ่ายค้าน เนื่องจากมี สส.เป็นที่สองด้วยจำนวน 86 คน มีพรรคความหวังใหม่ยุค ‘บิ๊กจิ๋ว’ ตามมาเป็นลำดับ 3 ด้วยจำนวน 57 สส. ซึ่งต่อมาพรรคนี้ไปร่วมกับพรรคชาติไทย ในการจัดตั้งรัฐบาล
แม้ว่าผลงานของรัฐบาลบรรหาร จะได้เสียงตอบรับจากประชาชนค่อนข้างดี โดยเฉพาะนโยบายการปฏิรูปทางการเมือง จนนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ได้รับการยกย่องว่าดีที่สุดนับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญมาก็ตาม แต่ด้วยรัฐบาลผสมหลายพรรค ทำให้เกิดแรงต่อรองทางการเมืองค่อนข้างมาก ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินหลายอย่างไม่ราบรื่น
โดยเมื่อปี 2539 ‘ชวน หลีกภัย’ ผู้นำฝ่ายค้าน ได้ยื่นซักฟอก ‘บรรหาร’ เพียงคนเดียว ขึงพืดอภิปราย 13 ประเด็น ลากยาว 3 วันระหว่าง 18-20 ก.ย. 2539 ทั้งประเด็นการกล่าวหาว่าเขาแปลงสัญชาติ (อ้างว่าเป็นคนจีน มิใช่คนไทยแต่กำเนิด) กรณีอดีตรัฐมนตรี ‘กลุ่ม 16’ ได้รับเงินสนับสนุนจาก ‘ราเกซ สักเสนา’ ผู้ต้องหาคดียักยอกเงินธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ หรือ “บีบีซี” เป็นต้น
ด้วยการซักฟอกลากยาวถึง 3 วัน เขย่าเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างหนัก ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลสบช่อง เตรียมผลักดัน ‘บิ๊กจิ๋ว’ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ เป็นนายกฯแทน ‘บรรหาร’ โดยรวมตัวกัน 3 พรรคได้แก่ พรรคความหวังใหม่ พรรคนำไทย (อำนวย วีรวรรณ) และพรรคมวลชน (ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง) โดยในวันที่ 21 ก.ย.ซึ่งเป็นวันต้องลงมติไม่ไว้วางใจ 3 พรรคดังกล่าวได้ถกลับกับ ‘บรรหาร’ เรียกร้องให้ลาออกจากเก้าอี้นายกฯ แลกกับลงมติไว้วางใจ ซึ่งตอนแรก ‘บรรหาร’ รับปาก โดยเขาได้รับเสียงไว้วางใจ 207 เสียง ไม่ไว้วางใจ 180 เสียง
แต่สมฉายา ‘มังกรการเมือง’ บรรหาร กลับลำแก้เกมความทะเยอทะยานของพรรคร่วมรัฐบาล ด้วยการ ‘ยุบสภา’ เมื่อ 27 ก.ย.แทน โดยนัยว่า ถ้าลาออกแล้ว พรรคร่วมที่ต้องการเป็นนายกฯ จะไม่ต้องเผชิญความลำบากในการเลือกตั้ง แต่ถ้ายุบสภาฯ จะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งเป็นที่หวาดกลัวของพรรคการเมือง ที่จะต้องหาเงินสนับสนุนมาใช้ในการเลือกตั้งอีกรอบ อย่างไรก็ดีผลการเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2539 พรรคความหวังใหม่ได้รับเสียงข้างมาก และผลักดัน ‘บิ๊กจิ๋ว’ เป็นนายกฯสำเร็จอยู่ดี
หากเทียบกับยุคปัจจุบัน รัฐบาลพรรคเพื่อไทย มีพรรคร่วมรัฐบาลรวม 10 พรรค 321 เสียง ได้แก่ พรรคเพื่อไทย 142 เสียง พรรคภูมิใจไทย 69 เสียง (ยอดเต็ม 71 เสียง) พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 25 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง พรรคประชาชาติ 9 เสียง พรรคชาติพัฒนา 3 เสียง พรรคไทรวมพลัง 2 เสียง พรรคกล้าธรรม 24 และพรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 รวม 321 เสียง
แต่ความขัดแย้งระหว่าง ‘เพื่อไทย-ภูมิใจไทย’ กลายเป็นชนวนสำคัญที่สร้างแรงกระเพื่อมในพรรคร่วมรัฐบาลอย่างรุนแรง ‘ค่ายแดง’ คือแกนนำบริหารราชการแผ่นดิน และคุมเสียงในสภาฯล่าง ส่วน ‘ค่ายน้ำเงิน’ มีบทบาทและบารมีในสภาฯสูง รวมถึงองค์กรอิสระบางแห่ง
ยิ่งในช่วงเวลานี้ต่างฝ่ายต่างฮึ่ม ๆ ใส่กันแทบตลอดเวลา เพราะแต่ละฝ่ายล้วนมี ‘เครื่องมือ’ ไว้ใช้เล่นงานฝั่งตรงข้ามได้ทุกเมื่อ ทำให้การเจรจาต่อรองทางการเมืองของทั้ง 2 พรรคยังคงไม่ได้บทสรุปใด ๆ ออกมา แม้ว่าฉากหน้า ‘ภูมิใจไทย’ ยืนยันจะยกมือโหวตไว้วางใจ ‘นายกฯอิ๊งค์’ แต่หลังฉากไม่มีใครทราบได้
ดังนั้นตัวแปรสำคัญของ ‘เพื่อไทย’ ขณะนี้ มิใช่พรรคฝ่ายค้านที่รวมเสียงกันได้ราว 172 เสียง และหากนับโดย ‘พฤตินัย’ อาจได้น้อยกว่านั้นอีก แต่คือ ‘ภูมิใจไทย’ ที่เป็นพรรคลำดับ 3 ในสภาฯ ที่ปัจจุบันแผ่บทบาทมีอิทธิพลไปหลายวงการด้วยกัน
ภาพ ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร จาก www.innnews.co.th
แม้หลายคนคาดกันว่า ‘นายกฯอิ๊งค์’ จะฝ่าสมรภูมิศึกซักฟอกครั้งนี้ไปได้ แต่ภาพลักษณ์ที่อาจถูกปล่อยให้ ‘โดดเดี่ยว’ มีแค่องครักษ์ ‘ค่ายแดง’ เท่านั้นที่คอยอุ้มชูช่วยเหลือ อาจทำให้ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2570 ได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งอาจเข้าทาง ‘ค่ายน้ำเงิน’ ได้เปรียบในทางการเมืองไม่มากก็น้อย
ส่วน ‘ปชน.’ จะสรรหาข้อมูล-หลักฐานมาซักฟอก ‘นายกฯอิ๊งค์’ ได้มากน้อยแค่ไหน จะหวือหวาเหมือนยุค ‘อนาคตใหม่-ก้าวไกล’ หรือไม่ ต้องติดตาม!