"...ขณะนี้เกมการต่อสู้ทางการเมือง เกิดขึ้นระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ภายหลังมีความขัดแย้งทางหลายอย่างไม่ตรงกัน แม้ที่ผ่านมาจะมีการพบปะหารือกันทั้งทางแจ้ง-ทางลับ ระหว่างหัวขบวน ‘ค่ายแดง-น้ำเงิน’ แต่ก็เหมือนจะตกลงรายละเอียดกันไม่ได้ ทั้ง 2 ก๊กต่างมี ‘ดาบ’ เป็นของตัวเองที่พร้อมทิ่มแทงศัตรูตลอดเวลา..."
สงคราม ‘3 ก๊ก’ การเมืองไทย เริ่มปะทุขึ้นอย่างเป็นทางการ
เริ่มจาก ‘ก๊กส้ม’ เปิดฉากรุกไล่เตรียมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในช่วงต้นเดือน มี.ค.นี้ เบื้องต้นวางคิวซักฟอก 10 รัฐมนตรี ในสารพัดประเด็นต่าง ๆ ทั้งเงื่อนปม ‘ชั้น 14’ นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ฯลฯ
@ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน
แต่ที่ร้อนแรงและสปอร์ทไลต์ทางการเมืองกำลังฉายไปตอนนี้คือ สงครามระหว่าง 2 ก๊กใหญ่ ที่เป็นขั้ว ‘พรรคร่วมรัฐบาล’ เปิด ‘ศึกใน’ ใส่กันเอง ระหว่าง ‘ก๊กแดง’ ที่มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน คุมเสียงข้างมากใน ‘สภาฯล่าง’ กับ ‘ก๊กน้ำเงิน’ แม้มี สส.ในสภาฯลำดับ 3 แต่มีบทบาทและอิทธิพลต่อ ‘สภาฯสูง’ รวมถึง ‘องค์กรอิสระ’ บางแห่ง
โฟกัสประเด็นล่าสุด คือการขยายแผลผลการเลือก สว.ปี 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า เป็นการเลือก สว.ที่น่าจะ ‘ฉาวโฉ่’ ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะถูกครหาว่าอาจมี ‘ขบวนการเบื้องหลัง’ จัดตั้ง ‘กลุ่มคน’ เข้าไปล็อบบี้เพื่อโหวตเลือกคนของตัวเองเข้าไปมีตำแหน่งแห่งที่ในสภาฯสูง
แม้ที่ผ่านมาจะมีสารพัดเรื่องร้องเรียนเข้าไปสู่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะผู้มีอำนาจจัดการเลือก สว.หลายเรื่องก็ตาม แต่จนถึงขณะนี้ผ่านการเลือกมาราว 8 เดือนเศษแล้ว เรื่องราวยัง ‘คาราคาซัง’ ว่า ตกลงสำนักงาน กกต.รับเรื่องไหนไว้พิจารณาบ้าง
เงื่อนปมของเรื่องนี้กลับมาบนหน้าสื่ออีกครั้ง พลันที่มี ‘เอกสารลับ’ หลุดจาก ‘กรมสอบสวนคดีพิเศษ’ (ดีเอสไอ) ว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนปมฮั้วเลือก สว.มาตั้งแต่ปลายปี 2567 และทำหนังสือไปถึง กกต.เพื่อขอทราบความคืบหน้าว่า กกต.ได้ดำเนินการไต่สวนไปแล้วหรือไม่ แต่ปรากฏว่าผ่านมาราว 5 เดือน ‘แสวง บุญมี’ เลขาธิการ กกต.กลับตอบว่า เนื่องจากเรื่องดังกล่าวไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเรื่องไว้พิจารณาแล้วหรือไม่ จึงยังไม่ได้เสนอเรื่องให้ที่ประชุม กกต.พิจารณา ตาม พ.ร.บ.กกต. มาตรา 49
ต่อมาเมื่อดีเอสไอ ดำเนินการสอบสวน และรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้น ‘อธิบดีดีเอสไอ’ คอนเฟิร์มในเอกสารลับว่า คดีดังกล่าวมีมูล เพราะมีพฤติการณ์ว่ากระทำการกันเป็นขบวนการเพื่อ มี ‘โพยล็อค’ จำนวน 2 ชุด ชุดละ 7 ใบ ซึ่งตรงกับผลการเลือก สว.ที่เข้าไปจำนวน 138 คน และอยู่ในบัญชีสำรอง 2 คน โดยการกระทำข้างต้นอาจเข้าข่ายความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (3) มาตรา 209 รวมถึง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. มาตรา 77 (1) และผิดฐานฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ฟอกเงินฯ อีกด้วย
อย่างไรก็ดีในเรื่องนี้ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันในข้อกฎหมายว่า ปมฮั้วเลือก สว.เป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานใดในการสอบสวน แม้ว่ารัฐธรรมนูญไทยปี 2560 จะบัญญัติให้ กกต.มีอำนาจหน้าที่ในการไต่สวน หรือเอาผิดบุคคลหรือคณะบุคคลที่กระทำการให้การเลือกตั้ง หรือเลือก สว.ไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมก็ตาม โดยที่ผ่านมาในการสืบสวนปมฮั้วเลือก สว.ของ กกต.นั้น ได้เชิญเจ้าหน้าที่ดีเอสไอมาเป็นส่วนหนึ่งในคณะทำงานด้วยตาม พ.ร.บ.กกต.มาตรา 49 แต่ดีเอสไออ้างจากหนังสือตอบกลับของ เลขาธิการ กกต.ทำนองว่าดีเอสไอมีอำนาจในการสอบสวนเช่นกัน และให้แจ้งผลการสอบสวนกลับไปยัง กกต.ตาม พ.ร.บ.กกต.มาตรา 49
บอร์ดดีเอสไอชุดปัจจุบันมี ‘ภูมิธรรม’ แกนนำอาวุโสพรรคเพื่อไทย กุนซือคนสนิท ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกฯ เป็นประธานบอร์ด มี ‘พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง’ รมว.ยุติธรรม จากพรรคประชาชาติ อดีตอธิบดีดีเอสไอยุค ‘รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช’ อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ยุค ‘รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ เป็นรองประธานบอร์ด นั่นจึงทำให้กูรูการเมืองวิเคราะห์กันว่าเป็น ‘เกมเอาคืน’ ค่ายน้ำเงิน ที่กำลังหลงระเริงอำนาจต่อรองทางการเมืองหรือไม่?
@ ทักษิณ ชินวัตร
ต้องไม่ลืมว่าขณะนี้เกมการต่อสู้ทางการเมือง เกิดขึ้นระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ภายหลังมีความขัดแย้งทางหลายอย่างไม่ตรงกัน แม้ที่ผ่านมาจะมีการพบปะหารือกันทั้งทางแจ้ง-ทางลับ ระหว่างหัวขบวน ‘ค่ายแดง-น้ำเงิน’ แต่ก็เหมือนจะตกลงรายละเอียดกันไม่ได้
ทั้ง 2 ก๊กต่างมี ‘ดาบ’ เป็นของตัวเองที่พร้อมทิ่มแทงศัตรูตลอดเวลา เริ่มจาก ‘ก๊กแดง’ ที่ค่อนข้าง ‘ฟูลพาวเวอร์’ เมื่อ ‘นายใหญ่’ พ้นโทษทัณฑ์ออกมาโลดแล่นบนยุทธจักรการเมืองอีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีอีกหลายปมขัดแย้งที่ก๊กแดงกุมอำนาจการตรวจสอบ ‘ที่ดินเขากระโดง’ ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดของกระทรวงคมนาคม มี ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ เป็นรัฐมนตรีว่าการ แน่นอนว่าในจำนวนเอกสารสิทธิกว่า 5 พันไร่บริเวณเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ มีที่ดินราว 2 ร้อยแปลงที่ถูกระบุว่าอยู่ในชื่อของคนหรือนิติบุคคลของ ‘ตระกูลชิดชอบ’ รวมอยู่ด้วย
อีกประเด็นคือกรณีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มี ‘นฤมล ภิญโญสินวัฒน์’ หัวหน้าพรรคกล้าธรรม เป็นรัฐมนตรีว่าการ คอการเมืองน่าจะทราบดีว่า ‘สมาชิกระดับนำ’ ของพรรคนี้ มีสายสัมพันธ์อันดีและแนบแน่นกับ ‘นายใหญ่’ เดินหน้าลุยสอบรีสอร์ทดัง-สนามกอล์ฟหรูรุกที่ดิน ส.ป.ก.บริเวณเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา กว่า 4 หมื่นไร่ ในจำนวนนี้ปรากฏชื่อของ ‘แรนโช ชาญวีร์’ สนามกอล์ฟของ ‘น้องสาว’ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย รวมอยู่ด้วยเช่นกัน
ด้านดาบของ ‘ก๊กน้ำเงิน’ กุมความลับเงื่อนปม ‘สนามกอล์ฟอัลไพน์’ เอาไว้ สนามกอล์ฟแห่งนี้เป็นอีกหนึ่งตำนานในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ถูกเรียกขานกันว่า ‘ที่ดินธรณีสงฆ์’ พัวพันยาวนานตั้งแต่ยุค ‘ทักษิณ’ จนมาถึงยุค ‘ลูกอิ๊งค์’ แพทองธาร ชินวัตร
เมื่อปี 2563 ศาลฎีกาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาจำคุก 2 ปีไม่รอลงอาญา ‘ยงยุทธ วิชัยดิษฐ์’ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เมื่อครั้งเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบในการพิจารณาอุทธรณ์และสั่งเพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน โดยมีเจตนาช่วยเหลือบริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท จำกัด (ปัจจุบันชื่อบริษัท ราชธานี พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด) และบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด และผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในเวลาต่อมาให้ได้รับประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
โดย ‘แพทองธาร’ มีการโอนหุ้นบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด จำนวน 22.41 ล้านหุ้น มูลค่ากว่า 224.1 ล้านบาท คิดเป็น 30% ของทุนจดทะเบียน ให้แก่ ‘คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์’ มารดา เมื่อ 4 ก.ย. 2567 เรื่องนี้เกิดขึ้นภายหลังเธอได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกฯคนที่ 31 เมื่อ 18 ส.ค. 2567 แล้ว
ดังนั้นหากเกิดข้อผิดพลาดใด ๆ ขึ้นในอนาคต ชื่อของ ‘แพทองธาร’ ในฐานะ ‘อดีตหุ้นใหญ่’ บริษัทดังกล่าว ย่อมต้องถูกนำไปพัวพันในคดีความต่าง ๆ อย่างแน่นอน จึงทำให้ ‘ก๊กน้ำเงิน’ เชื่อว่าหากโจมตี ‘หัวใจชินวัตร’ ย่อมคุมความได้เปรียบไว้ต่อรองทางการเมืองได้
อีกเงื่อนปมหนึ่งที่กำลังร้อนแรงในสภาฯ และมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสังคม นั่นคือกรณีการจัดทำ ‘เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์’ ที่รัฐบาลเพื่อไทยค่อนข้างหนุนเต็มตัว ทว่ามีการคัดค้านจาก ‘ค่ายน้ำเงิน’ โดยว่ากันว่าอาจเป็นเพราะแบ่งเรื่อง ‘พื้นที่’ ไม่ลงตัว ทำให้การจัดทำร่างกฎหมายฉบับนี้ยังค้างเติ่งในสภาฯ และยังไม่มีวี่แววว่าจะกลับมาพิจารณากันในเร็ว ๆ นี้
นี่ยังไม่นับเรื่องบทบาทและอิทธิพลต่อ ‘สภาฯสูง’ ที่ ‘ก๊กน้ำเงิน’ กุมความได้เปรียบไว้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการคัดกรองผ่านร่างกฎหมายฉบับต่าง ๆ รวมถึงการโหวตให้ความเห็นชอบบุคคลไปดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรอิสระต่าง ๆ ซึ่งหมายรวมถึงกรรมการ ป.ป.ช.ที่ยังต้องสรรหาอีก 3 คน โดยผ่านความเห็นชอบจาก สว.ไปแล้ว 1 คน เท่ากับว่าหากสภาฯสูงเห็นชอบกรรมการ ป.ป.ช.อีก 3 คนจะครบ 4 คน เมื่อรวมกับกรรมการ ป.ป.ช.ที่ได้รับการสรรหาจาก 250 สว.ยุค คสช. ซึ่งยังมีวาระ และปฏิบัติหน้าที่อยู่ตอนนี้อีก 4 คน (ไม่นับรวมยุค สนช. ที่หมดวาระแต่รักษาการ) เท่ากับว่า ‘สภาฯสูง’ ผ่านกรรมการ ป.ป.ช.มาถึง 4 คนด้วยกัน
แถมยังมีปัจจัยอีก 1 คนที่ยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่ง ทั้งที่ผ่านมาราว 1 ปีเศษแล้ว หากคนดังกล่าวชิงลาออกก่อนได้รับการโปรดเกล้าฯ สภาฯสูงจะมีสิทธิโหวตเห็นชอบกรรมการ ป.ป.ช.เพิ่มอีก 1 คน เท่ากับว่าจะมีกรรมการ ป.ป.ช.ที่ได้รับความเห็นชอบจาก 200 สว.ชุดนี้มากถึง 5 คน เป็น ‘เสียงข้างมาก’ ในองค์กรอิสระอันดับ 1 ของประเทศนี้เลยทีเดียว
คดีสำคัญที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้ ทั้ง 2 ก๊ก ‘แดง-ส้ม’ ต่างโดนกันถ้วนหน้า 1.คดีกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐอย่างน้อย 12 ราย ส่อเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้ ‘ทักษิณ’ ได้พักรักษาตัวชั้น 14 รพ.ตำรวจ โดยมิชอบหรือไม่ และ 2.คดี 44 สส.ก้าวไกล ถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม กรณียื่นเสนอแก้ไขร่างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
นอกจากนี้ในศึกการเลือกตั้ง อบจ.เมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่ามนต์ขลัง ‘ทักษิณ’ เสื่อมลงไปอย่างมาก โดยมีหลายจังหวัดที่เขาลงพื้นที่เอง แต่กลับ ‘พ่ายแพ้’ กระแส ‘น้ำเงิน’ จนถึงขนาดให้สัมภาษณ์สื่อแบ่งรับแบ่งสู้ว่า “เพราะนกไม่มีขน คนไม่มีเพื่อนไม่ดี ต้องมีเพื่อน” ฉีกหน้าที่ก่อนหน้านี้ประกาศจะคว้าชัยทุกสนามเลือกตั้ง ต่อยอดไปยันเลือกตั้งใหญ่ปี 2570 กวาดเกิน 200 ที่นั่ง จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว
เหมือนดั่งที่ ‘อนุทิน’ เคยให้สัมภาษณ์ไว้เช่นกันว่า “ท่านบอกว่าไม่ได้อยู่ในประเทศไทยมา 17 ปี แต่พวกเราอยู่การเมืองมาโดยตลอด เราจึงมีความรู้สึกชินว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนตามสภาวการณ์ทางการเมือง แต่ท่านเพิ่งกลับมา อาจจะยังไม่ทันใจ เพราะท่านเป็นคนทำงานเร็ว ตัดสินใจเร็ว อีกสักพักทุกคนก็จะต้องปรับตัว”
@ อนุทิน ชาญวีรกูล
ชี้ให้เห็นว่า ‘ก๊กน้ำเงิน’ มิใช่ ‘เบี้ยล่าง’ ในกระดานการเมืองเหมือน 10 กว่าปีที่แล้ว แต่ตอนนี้กลายเป็นพรรคใหญ่ เป็นสถาบันทางการเมืองแห่งหนึ่ง มีที่ยืนในทุกสนามการเลือกตั้งนับจากนี้
แต่ที่แน่ ๆ ผลของสงครามครั้งนี้ ก๊กที่น่าจะได้ประโยชน์ที่สุดหนีไม่พ้น ‘ก๊กส้ม’ ที่สามารถกุมความได้เปรียบทางการเมือง เก็บรวบรวมข้อมูลนำไปใช้ในการยื่นซักฟอกต้นเดือน มี.ค.ได้ไม่มากก็น้อย