"....ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าผู้เสนอแต่งตั้งไม่ซื่อสัตย์สุจริตและฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เมื่อมาตรฐานทางจริยธรรมที่ใช้บังคับกับนายกรัฐมนตรีกับที่ใช้บังคับกับกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นมาตรฐานอย่างเดียวกัน จึงทำให้กรรมการในคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยซึ่งให้ความเห็นชอบและปฏิบัติหน้าที่อยู่ภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรมเดียวกันนี้ ย่อมจะต้องมีผลลัพธ์เช่นเดียวกัน..."
กฎหมายเขียนไว้ชัด ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 15 (11) ว่า กรรมการบริหารพรรคการเมือง ต้องมีมาตรฐานทางจริยธรรมเช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และต้องกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมไว้ในข้อบังคับของพรรคการเมืองด้วย
โดยเป็นมาตรฐานจริยธรรมเดียวกันกับที่ทำให้ นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คือ มาตรฐานทางจริยธรรมของ ตุลาการศาลรัฐธรรมนญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดให้ใช้บังคับกับ ส.ส., ส.ว. และ ครม.ด้วย ขณะเดียวกัน พรป.พรรคการเมือง ก็กำหนดให้กรรมการบริหารพรรคการเมือง ต้องมีมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างน้อยเทียบเคียงได้กับที่ใช้บังคับกับ ส.ส. ก็คือต้องใช้บังคับมาตรฐานทางจริยธรรมนี้กับกรรมการบริหารพรรคการเมืองด้วย
ขณะที่ข้อบังคับพรรคเพื่อไทย พ.ศ.2561 กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของกรรมการบริหาร ไว้ในข้อ 114 ให้นำมาตรฐานทางจริยธรรมที่ใช้บังคับกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาใช้กับกรรมการบริหารพรรคด้วย
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายเศรษฐาฯ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยรู้หรือควรรู้ถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับพฤติการณ์ของนายพิชิต ชื่นบาน แต่ยังเสนอแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แสดงให้เห็นว่า นายเศรษฐาฯ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) ย่อมเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม หมวด 1 ข้อ 8 ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งถือว่ามีลักษณะร้ายแรง อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) ด้วย จึงทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐาฯ สิ้นสุดลง หรือต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากการขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญทั้งสองอนุมาตรา
การกระทำของนายเศรษฐาฯ ที่ฝ่าฝืนต่อมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ในการเสนอแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี จะเป็นเพียงการกระทำของนายเศรษฐาฯ โดยลำพังหรือไม่ จะต้องย้อนกลับไปดูว่าก่อนที่นายเศรษฐาฯ จะใช้อำนาจนายกรัฐมนตรี เสนอแต่งตั้งนายพิชิตฯ เป็นรัฐมนตรี นายเศรษฐาฯ ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย จะต้องดำเนินการอะไรบ้าง
ข้อบังคับพรรคเพื่อไทย พ.ศ. 2561 เรื่องการคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กำหนดไว้ในข้อ 112 ว่า “ การคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะกรรมาธิการและกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี ที่ปรึกษา เลขานุการรัฐมนตรี และข้าราชการการเมืองอื่น ให้พิจารณาจากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมกับตำแหน่ง ซื่อสัตย์สุจริตและมีคุณธรรม จริยธรรม โดยให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการบริหารกําหนด ”
ดังนั้น การเสนอแต่งตั้งนายพิชิตฯ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย
ศาลรัฐธรรมนูญฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า นายเศรษฐาฯ เข้าพบบุคคลซึ่งหมายถึงนายทักษิณ ชินวัตร ที่นายพิชิตฯ เป็นหัวหน้าทนายความประจำตัว จึงเป็นมูลเหตุจูงใจทำให้นายเศรษฐาฯ ต้องการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทักษิณฯ และหลังจากนายเศรษฐาฯ เข้าพบนายทักษิณฯ แล้ว นายเศรษฐาฯ นำความกราบบังคมทูลเพื่อเสนอแต่งตั้งนายพิชิตฯ เป็นรัฐมนตรี
แต่เมื่อข้อบังคับของพรรคเพื่อไทยกำหนดให้การแต่งตั้งรัฐมนตรีจะต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย นายเศรษฐาฯ จึงไม่อาจดำเนินการเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรีได้โดยลำพัง แต่จะต้องนำเอาความต้องการของนายทักษิณฯ แจ้งต่อคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ที่มีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นกรรมการบริหารพรรคในตำแหน่งหัวหน้าพรรค ซึ่งหากคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย พิจารณาและตรวจสอบคุณสมบัติของนายพิชิตฯ อย่างละเอียดรอบคอบโดยไม่เกรงใจนายทักษิณฯ ที่ชี้นำผ่านมาทางนายเศรษฐาฯ ก็ย่อมจะต้องเห็นว่านายพิชิต ฯ ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นรัฐมนตรี เช่นเดียวกับเมื่อครั้งแรกที่จัดตั้งรัฐบาลซึ่งจะแต่งตั้งนายพิชิตฯ เช่นกัน
แต่ขณะนั้นนายทักษิณฯ ยังคงมีสถานะเป็นผู้ต้องขังถูกควบคุมตัวอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจ ไม่อาจชี้นำได้อย่างเต็มที่ จึงทำให้มีการถอนชื่อนายพิชิตฯ ออกจากบัญชีรายชื่อรัฐมนตรี ส่วนในครั้งนี้คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยได้ให้ความเห็นชอบก็เนื่องจากนายทักษิณฯ ได้ถูกปล่อยตัวกลับออกมาอยู่ที่บ้านจันทร์ส่องหล้าแล้วจึงสามารถผลักดันได้อย่างเต็มที่ โดยในวันที่ 16 เมษายน 2567 นายเศรษฐาฯ ได้เข้าไปพบนายทักษิณฯ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อรดน้ำดำหัวเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่จะมีการปรับ ครม. หลังจากนั้นอีกประมาณ 10 วัน นายเศรษฐาฯ ก็ได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อเสนอแต่งตั้งนายพิชิตฯ ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าผู้เสนอแต่งตั้งไม่ซื่อสัตย์สุจริตและฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
เมื่อมาตรฐานทางจริยธรรมที่ใช้บังคับกับนายกรัฐมนตรีกับที่ใช้บังคับกับกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นมาตรฐานอย่างเดียวกัน จึงทำให้กรรมการในคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยซึ่งให้ความเห็นชอบและปฏิบัติหน้าที่อยู่ภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรมเดียวกันนี้ ย่อมจะต้องมีผลลัพธ์เช่นเดียวกัน
หากเรื่องนี้ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ก็ย่อมจะใช้แนวการวินิจฉัยในทำนองเดียวกับการวินิจฉัยกรณีของนายเศรษฐาฯ แต่อาจจะเริ่มวินิจฉัยจากการฝ่าฝืนต่อมาตรฐานทางจริยธรรมก่อน แล้วจึงวินิจฉัยว่าไม่มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ เพราะน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมของกรรมการบริหารพรรคมาก่อนที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
โดยศาลรัฐธรรมนูญอาจจะวินิจฉัยเหมือนกันกับกรณีนายเศรษฐาฯ ว่า กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยแต่ละคนย่อมรู้หรือควรรู้ถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับพฤติการณ์ของนายพิชิตฯ แต่ยังคงเห็นชอบให้นายเศรษฐาฯ เสนอแต่งตั้งให้นายพิชิตฯ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงฝ่าฝืนต่อมาตรฐานทางจริยธรรมของกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ที่เทียบเคียงกับมาตรฐานทางจริยธรรมที่ใช้บังคับกับ ส.ส.ในหมวด 1 ข้อ 8 ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตในฐานะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย โดยจะต้องไม่นำเอาการชี้นำจากบุคคลภายนอกมาใช้พิจารณาให้ความเห็นชอบให้นายเศรษฐาฯ เสนอแต่งตั้งนายพิชิตฯ เป็นรัฐมนตรี
หากพิจารณาได้ว่านายกอุ๊งอิ๊งซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยได้ฝ่าฝืนต่อมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงในการปฏิบัติหน้าที่กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยในครั้งนั้น ย่อมทำให้มิใช่เป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์มาก่อนที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อันเป็นคุณสมบัติสำคัญของความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) จึงอาจทำให้เก้าอี้นายกรัฐมนตรีสั่นคลอนได้
วิบากกรรมของนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย จะทำให้รัฐบาลชุดนี้อายุน้อยตามไปด้วยหรือไม่ ต้องติดตามกันว่าจะมี ส.ส ซัก 50 คน หรือ ส.ว.ซัก 20 คน ยื่นผ่านประธานสภาของตนไปยังศาลรัฐธรรมนูญอีก หรือไม่
ส.ส. หรือ ส.ว. ผู้กล้าคนไหนบ้างจะร่วมกันลงชื่อยื่นต่อประธานสภา ?????
*******************
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
มาตรา 15 ข้อบังคับอย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้
(11) มาตรฐานทางจริยธรรมของกรรมการบริหารพรรคการเมืองและสมาชิก โดยมาตรฐานทางจริยธรรมของกรรมการบริหารพรรคการเมืองอย่างน้อยต้องเทียบเคียงได้กับมาตรฐานทางจริยธรรมที่ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
มาตรา 21 พรรคการเมืองต้องมีคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย นโยบาย และข้อบังคับของพรรคการเมือง มติของที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง รวมตลอดทั้งระเบียบ ประกาศ และคำสั่งของคณะกรรมการ ซึ่งต้องกระทำด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน และต้องให้สมาชิกมีส่วนร่วมและรับผิดชอบอย่างแท้จริงในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และการคัดเลือก สมาชิกหรือบุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรม จริยธรรม เข้าสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือตำแหน่งอื่น หรือเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองประกอบด้วย หัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก และกรรมการบริหารอื่นตามที่กำหนดในข้อบังคับ